top of page
312345.jpg

ผวา NPL กระทบสถาบันการเงิน...ห่วงหนี้ 20 ล้านล้าน เจอเบี้ยว


Interview: ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


เตือน...อย่าหลงดีใจกับตัวเลข GDP ที่จะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เพราะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เทียบไม่ได้กับปัญหาหนี้ในระบบทั้งหมดเกือบ 20 ล้านล้านบาท ที่ทำท่าว่าผู้กู้จะหมดปัญญาชำระหนี้สูงถึง 35-36% คิดเป็นมูลหนี้เกือบ 7 ล้านล้านบาท หนักสุดคือลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ระหว่างผ่อนปรนงดชำระทั้งต้นทั้งดอก หวั่น...หมดเขตผ่อนปรนเมื่อไหร่ มีสิทธิ์สะเทือนทั้งระบบ ลากยาวเป็นปัญหาใหญ่ทั้งปิดกิจการ ทั้งเลิกจ้างงาน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ กระทบเต็มๆ กับแบงก์-สถาบันการเงิน ลามเป็นปัญหา NPL ขณะที่ปัญหาอื่นๆ ยังลูกผีลูกคน โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา แจงในวิกฤตนี้ทีมเศรษฐกิจจะเป็นใคร ไม่สำคัญเท่าใครคนนั้นต้องแก้โจทย์ปัญหาได้ตรงเป้า ถูกจุด

ตอนนี้หากจะวัดไข้เศรษฐกิจประเทศไทย อาการเป็นอย่างไรบ้าง

ก็ดูไม่ดีสักเท่าไหร่ มองว่าประเด็นหลักที่พูดกันก็คือตัวเลข GDP ไตรมาส 2 จะติดลบประมาณ 10% กว่า ซึ่งมีการพูดกันว่าตรงนั้นคือจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจแล้ว และน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ส่วนตัวเกรงว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น แม้ว่าตัวเลข GDP จะอยู่จุดต่ำสุดแล้ว และตัวเลข GDP อาจจะดีขึ้น เพราะในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม เราปิดประเทศ ทำให้คนทำมาหากินไม่ได้ รายได้ไม่เข้า ตัวเลข GDP ตกต่ำ ซึ่งปัญหาจะยืดเยื้อต่อมาถึงเดือนกรกฎาคม สิงหาคมและถัดไปอีกหลายเดือน เพราะยังไม่ได้มีการเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

ที่สำคัญที่สุดที่หลายคนยังไม่ได้พูดถึงคือเรื่องของสินเชื่อต่าง ๆ หนี้สินต่าง ๆ ที่กำลังจะมีปัญหาต่อเนื่องไป คงจะจ่ายคืนหนี้ไม่ได้ บริษัทจะมีปัญหาเรื่องหนี้ พร้อมกับมีการปิดตัวกิจการและจะมีปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว แต่ยังไม่มีเงินต่อเนื่อง และแรงกระตุ้นยังไม่เพียงพอ ก็จะยังมีปัญหาต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน

ที่อยู่จุดต่ำสุดแล้ว ก็เหมือนกับอยู่ที่ก้นเหว คาดว่าจะอยู่ที่ก้นเหวอีกนานแค่ไหน

คือจะเป็นคนละลักษณะกับปัญหา คือตัวเลข GDP อาจจะค่อย ๆ ดีขึ้น เราเห็นตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายน ติดลบ 23% แล้วต่อไปเราอาจเห็นตัวเลขการส่งออกติดลบน้อยลง เราจะเห็นยอดขายสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น รัฐบาลกระตุ้นการท่องเที่ยว เราจะเห็นตัวเลขเหล่านี้ค่อย ๆ ดีขึ้น

ถามว่านั่นคือจุดต่ำสุดหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ เพราะตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่สำคัญมาก คือจำนวนคน จำนวนบริษัท ที่ขอผ่อนปรนจ่ายดอกเบี้ย แล้วไม่คืนเงินต้น มีจำนวนมาก ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ดูจากทางเว็บไซต์ของแบงก์ชาติได้ ตัวเลขวันที่ 15 มิถุนายน มีจำนวนบัญชีที่บอกว่าตอนนี้ขอไม่จ่ายดอกเบี้ย และยังไม่คืนเงินต้น 12.627 ล้านบัญชี มูลค่าหนี้ประมาณ 6.74 ล้านล้านบาท ตรงนี้ฟังดูก็รู้ว่าเยอะ แต่ที่สำคัญคือถ้าไปหารกับสินเชื่อที่ปล่อยไปทั้งหมดที่อยู่ในระบบคือธนาคารพาณิชย์และก็ไฟแนนซ์ต่าง ๆ รวมกัน 18.8 ล้านล้านบาท เอาไปหารจะเห็นเปอร์เซ็นต์ออกมาประมาณ 35-36% แปลว่าในประเทศไทย

ตอนนี้มีคนขอผ่อนปรน มีบัญชีขอผ่อนปรนว่าจ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ ประมาณกว่า 1 ใน 3 คือใน 3 คนจะมีหนึ่งคนที่มีปัญหาจ่ายดอกเบี้ย ในส่วนนี้ถ้าเจาะลึกเข้าไปดูจะเห็นว่าส่วนที่มีปัญหามากที่สุด ดูเหมือนว่าจะเป็น SME เพราะในกรณีของ SME มีจำนวน SME ที่อยู่ในขาดการผ่อนตรงนี้ 1.1 ล้านราย มูลหนี้ประมาณ 2.2 1 ล้านล้านบาทจากการปล่อยหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 47%

ปัญหาก็คือ หวังว่ากลุ่ม SME เหล่านี้จะฟื้นได้ และบัญชีอื่น ๆ ก็จะฟื้นได้ แต่ถ้าหากฟื้นไม่ได้ ช่วงนี้ก็จะเริ่มมีปัญหาแล้ว เพราะถ้า SME มีปัญหาแล้วขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้ SME ก็คงจะต้องปลดคนงาน ตอนนี้ก็มีบัญชีของรายย่อย ที่เข้าไปอยู่ในข่ายขอผ่อนปรนประมาณ 11.5 ล้านบัญชี กลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย และกลุ่มนี้ก็มีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งในสามที่เข้ามาอยู่ในมาตรการผ่อนปรนและแบงก์ชาติก็บอกว่ามาตรการผ่อนปรนจะต้องยุติแล้ว ต้องไปหาทางบริหารจัดการ ปรับโครงสร้างหนี้แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ฉะนั้นประเด็นตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา แล้วยังจะมีต่อเนื่องไปอีก แม้ว่าตัวเลข GDP จะดีขึ้น แต่จะยังคงมีปัญหาตรงนี้ก็คือคุณภาพสินเชื่อของธนาคารจะค่อนข้างจะเป็นประเด็นต่อไปข้างหน้า

ปัญหาที่สะสมจะต้องแก้ตรงนี้มากกว่า ไม่เช่นนั้นปริมาณการบริโภค ความเชื่อมั่นในการบริโภค จะยิ่งแย่ไปเรื่อย ๆ

ถ้าเรามานั่งดู ประเมินว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ตัวแปรทางเศรษฐกิจ ที่จะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าประมาณจากวันนี้ไปถึง 3-6 เดือนข้างหน้า จะมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ ข้อที่ 1 ทราบกันอยู่แล้วว่าการท่องเที่ยวคงจะเปิดไม่ได้มาก ซึ่งการท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศรวมกันประมาณ 18% ของ GDP ใน 18% จะมี 12% คือนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและอีก 6% คือนักท่องเที่ยวในประเทศที่เที่ยวกันเอง รัฐบาลพยายามกระตุ้นตรง 8% แต่ก็คงได้ไม่ถึง 8% เพราะพวกเราเองก็ไม่ได้ท่องเที่ยวในไตรมาส 2 ขณะที่ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ก็คงจะท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

ดังนั้น ก็จะมีช่องว่างอยู่ 13-14% ของ GDP ที่มีอยู่ เรามีทรัพยากรรองรับนักท่องเที่ยว นึกภาพว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 40 ล้านคน ใน 40 ล้านคนเมื่อเวลาผ่านไปแล้วครึ่งปี ครึ่งปีหลังปกติจะมาเที่ยว 20 ล้านคนใช่หรือไม่ แต่ครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาได้ไม่ถึง 2 ล้านคน ฉะนั้นลองนึกภาพดูว่าโรงแรมที่สร้างเอาไว้ รถทัวร์ที่มีพนักงานต่าง ๆ ธุรกิจด้านนี้จะไม่มีงานทำ ตรงนี้ตามที่ส่วนตัวบอก จะมี GDP ประมาณ 10% กว่า ช่วงนี้ช่องว่างอยู่ตรงนี้ จะทำอย่างไร ส่วนนี้คิดว่าเป็นมูลค่าเท่าไหร่ GDP ประเทศไทยตอนนี้มีอยู่ประมาณ 17 กว่าล้านล้านบาท ถ้าหายไป 10% ก็จะประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท

ข้อ 2 ก็คือแรงงานจากต่างประเทศ จากที่เราทราบ เราพึ่งแรงงานจากต่างประเทศเยอะมาก ตอนนี้แรงงานต่างประเทศเข้ามาไม่ได้ ดังนั้นธุรกิจบางอย่างที่อยากจะเปิด อยากจะทำ แต่หาแรงงานไม่ได้ ถามว่าส่วนนี้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่าตัวเลขแรงงานที่พูดกันประมาณ 2-3 ล้านคน หรือมากกว่านั้นที่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เราใช้อยู่

ข้อ 3 คือภาคการบันเทิง เราก็รู้ว่าตอนนี้การทำคอนเสิร์ต หรือการทำละครอะไรก็ทำได้ยากมาก ตรงนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของรายได้ที่ทำกันในภาคนี้ รวมทั้งเราเคยมีการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย เคยมีการพูดกันว่าตรงนี้มีรายได้กว่าแสนล้านบาท ก็ผ่านไปหมดเหมือนกัน

ข้อ 4 นักธุรกิจต่างชาติที่มีการลงทุนในประเทศไทย และนักธุรกิจต่างชาติที่เราเชิญให้มาลงทุนในประเทศไทย ตอนนี้เขาเข้าประเทศไทยไม่ได้ ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาการขับเคลื่อนธุรกิจเดิมของเขา และที่สำคัญกว่าก็คือการลงทุน เพราะที่ผ่านมาการลงทุนในประเทศไทย จะต้องอาศัยทุนจากต่างประเทศเป็นตัวจุดชนวน การลงทุนของประเทศไทยคิดเป็น 25% ของ GDP ตรงนี้ก็จะได้รับผลกระทบกัน

ข้อสุดท้าย ก็คือนักศึกษา อย่างที่เราทราบ ตอนนี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีปัญหา นักศึกษาไม่พอ และบางมหาวิทยาลัยก็เพิ่งพานักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเรียนในประเทศไทย ตอนนี้ก็เข้ามาไม่ได้

ฉะนั้น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องโควิด-19 และการเปิดเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ ก็จะมีประมาณ 5 ข้อนี้

สมมุติว่าถ้าเป็นรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อยากจะได้ทีมเศรษฐกิจแบบไหนมาทำงาน เพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรจะทำอย่างไร ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติควรจะเป็นอย่างไร

ต้องเรียนว่าส่วนตัวไม่ได้รู้จักแต่ละท่านที่เป็นข่าว และส่วนตัวอยากบอกว่า ใครจะเป็นใคร สำคัญน้อยกว่าการแก้โจทย์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้ตั้งโจทย์ไว้ให้แล้ว 5 ข้อ การมีโจทย์จะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะรีบทำอะไร ยกตัวอย่าง บอกว่าโจทย์มีตั้ง 5 ข้อ เศรษฐกิจมีแรงขับเคลื่อนตกต่ำเพราะ 5 ข้อนี้ ถามง่าย ๆ ก็อย่างเช่น เงิน 4 แสนล้านบาทจะพอหรือไม่ คือมันไม่มีทางพอ เงินส่วนนี้คือเงินที่รัฐบาลเขามีงบประมาณออกมาเพื่อที่จะให้มีการนำเสนอโปรเจกต์ต่าง ๆ และมีการอนุมัติในคณะรัฐมนตรี เข้าใจว่าล็อตแรกประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ลองนึกภาพว่าจำนวนเงิน 8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ขาด อย่างไรก็ไม่พอ ดังนั้น ส่วนตัวก็เลยนำเสนอว่า ตรงนี้เป็นปัญหา ดังนั้น ทีมเศรษฐกิจจะเป็นใครก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญกว่าก็คือต้องตอบโจทย์ทั้ง 5 ข้อนี้ให้ได้อย่างทันท่วงทีก็แล้วกัน

จะต้องเป็นทีมพิเศษ หรือต่างคนต่างทำ อย่างแบงก์ชาติก็มีอิสระแบบเดิม มองอย่างไร

ส่วนตัวคิดอย่างนี้ ถ้าตามที่เรียนไว้ SME ถ้าเขาขอรับการผ่อนปรน 1.1 ล้านราย มูลหนี้ 2.21 ล้านล้านบาท แบงก์ชาติมีมาตรการซอฟต์โลนให้ SME 5 แสนล้านบาท แต่ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ปล่อยได้แค่ 1 แสนล้านบาท ก็ลองนึกภาพว่าปล่อยสินเชื่อให้ SME ได้ 1 แสนล้านบาทแต่มี SME ที่ขอผ่อนปรนหนี้ถึง 2.21 ล้านล้านบาท ก็ติดประเด็นตรงนี้ว่า จะทำอย่างไร จะช่วยดูแลตรงนี้อย่างไร ต้องให้ SME พวกนี้เขาปิดกิจการไปหรือไม่ แล้วถ้าต้องปิดกิจการ จะต้องมีกระบวนการปิดกิจการอย่างไร เพื่อให้ทรัพยากรที่ถูกสั่งปิดไป ถูกเอาออกมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

ขณะที่พนักงานที่จะตกงานจะทำอย่างไร เพราะตอนนี้สิ่งที่ทำอยู่ก็คือสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าจ่ายเงินให้คนไม่มีงานคนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน ยกตัวอย่างว่าในกรณีที่ทำแบบนี้ เป็นการทำที่แยกให้คนออกจากงาน ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้มีงานทำ หรือแม้กระทั่งในกรณีประกันสังคมก็ต้องบอกว่าถูกเลิกจ้างแล้ว คือแยกคนออกมา แล้วจ่ายเงิน สมมุติว่าพอเงินหมดเขาจะกลับไปที่บริษัทเดิม ไปหางานทำ แต่บริษัทก็มีปัญหาตามที่เล่ามาข้างต้น บริษัทอาจไม่อยู่แล้วก็ได้ และถ้าบริษัทไม่อยู่แล้วจะให้เขาทำอย่างไร เพราะเงินเขาหมดแล้ว มาตรการ 4 แสนล้านบาทที่บอกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจจะสร้างงาน ถ้าดูตัวเลขที่มีการเสนอกันมาว่าจะสร้างงานแค่เป็นพันเป็นหมื่นตำแหน่งเท่านั้นเอง แต่คนที่จะตกงานพูดกันถึง 3-5 ล้านตำแหน่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทีมเศรษฐกิจจะต้องมาดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไร แล้วที่พูดมาไม่ได้พูดถึงตัวเลข GDP แต่พูดถึงเรื่องความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น

ปัจจัยนอกประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกากับจีน

นักลงทุนต้องเข้าใจว่ามันมีความลึกซึ้งมาก อยากจะบอกว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีแค่ 5 ข้อที่กล่าวซึ่งมันเป็นแค่ระยะสั้น ๆ เท่านั้น ยังมีปัญหาระยะกลางและระยะยาวอีกเยอะ แต่ว่าในส่วนตรงนี้เรียนว่านักลงทุนจะมองว่าโอเค สหรัฐอเมริกากับจีนเขามีข้อตกลง ก็ถือว่าสงบศึกกันไปก่อน และก็คิดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่กล้าทำอะไร เพราะไม่อยากให้ตลาดหุ้นตก เดี๋ยวเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ค่อยไปว่ากัน พยายามเจรจาเฟส 2 ของการค้าอะไรก็ว่าไป นั่นคือความเข้าใจของนักลงทุนโดยทั่วไป

พอตอนหลัง มาเห็นการดำเนินการอะไรต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาและจีน ก็ทำให้งงเหมือนกันว่าทำไมจะต้องไปปิดสถานกงสุลกัน ซึ่งอยากเรียนว่าปัญหาลึก ๆ จริง ๆ แล้ว มันมีต่อเนื่องยาวนานมาเป็น 5-6 ปีแล้ว ตั้งแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง รับตำแหน่ง และในสหรัฐอเมริกากระแสความคิดของเขาเปลี่ยนไป จากเดิมที่ยังเคยคาดหวังสมัยตั้งแต่ปี 2000 ที่สหรัฐอเมริกาพาจีนเข้า WTO ซึ่งสหรัฐอเมริกาเข้าใจว่าจะช่วยให้จีนเปลี่ยนเศรษฐกิจของตัวเอง เป็นเศรษฐกิจทุนนิยม และทางด้านการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าสหรัฐอเมริกาต้องการทำให้จีนเป็นเหมือนญี่ปุ่น แต่เวลาผ่านมาหลังจากนั้น หลังจากที่ สี จิ้นผิง เข้ามารับตำแหน่ง มันเป็นอะไรที่ผิดพลาดของสหรัฐอเมริกาอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจจีนเขาโตดี และขนาดของเศรษฐกิจมีความใหญ่เท่ากับของสหรัฐอเมริกา และจีนก็ยังคล้ายกับท้าทายหรือเป็นปรปักษ์สหรัฐอเมริกาทุก ๆ ด้าน

ขณะเดียวกันจีนก็ไม่เอาประชาธิปไตย จีนมีทุนนิยมแบบรัฐบาลขับเคลื่อน และพยายามที่จะมาสร้างบารมีในภูมิภาคนี้ ในทะเลจีนตอนใต้ และจีนต้องการที่จะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีของ 5G เรื่องเหล่านี้ทำให้สหรัฐอเมริกาตื่นกลัวว่าตอนนี้จีนจะมาแทนสหรัฐอเมริกา มาเป็นเจ้าโลกในด้านต่าง ๆ และขณะนี้จีนก็ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา ถ้าดู GDP ของสหรัฐอเมริกาประมาณ 20 ล้านล้าน ของจีนอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านล้าน ก็มีความใกล้เคียงกันมากแล้ว และอนาคตก็ดูจะใหญ่กว่าอเมริกาแล้ว ในด้านของการทหาร จีนก็เริ่มที่จะเข้ามาท้าทายสหรัฐอเมริกาในทะเลจีนตอนใต้แล้ว และกำลังบอกว่าตรงนั้นเป็นของจีน ตรงนี้ก็เป็นของจีน ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ เพราะสหรัฐอเมริกามีฐานทัพที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แล้วก็มีพันธมิตรที่สิงคโปร์และที่อื่น ๆ

ที่สำคัญที่สุดจะเป็นเรื่องของ 5G เพราะใครเป็นเจ้าของ 5G คนนั้นจะเป็นเจ้าโลก ซึ่งตรงนี้คิดว่าในระยะยาวปัญหาของประเทศไทยจะเป็นเรื่องของ 5G เลย เพราะเรื่อง 5G เราใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ย ขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังสร้างแนวร่วมที่จะต่อต้านหัวเว่ยและบางประเทศในภูมิภาคนี้ก็ไม่เอาหัวเว่ยแล้วอย่างเช่น ล่าสุด คือสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะมีท่าทางจะไม่เอาแล้ว ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษก็บอกว่าจะไม่เอาหัวเว่ย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ในระยะยาวสำหรับประเทศไทย เพราะอย่างที่ส่วนตัวได้ย้ำ เราเร่งเทคโนโลยี 5G แต่เรากำลังใช้หัวเว่ย ซึ่งถามว่าหัวเว่ยมีศักยภาพหรือไม่ ก็คือมีศักยภาพในการทำเน็ตเวิร์ก หรือสร้างโครงสร้างเลย แต่ปัญหาของหัวเว่ยก็คือตอนนี้กำลังถูกสหรัฐอเมริกาบล็อกในเรื่องของเทคโนโลยี ในตัวเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยที่ต้องใช้ใน 5G คนที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์หลัก ๆ กลายเป็นควอลคอมม์ กลายเป็นโนเกีย กลายเป็นซัมซุง และบริษัทเหล่านี้ ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ขณะที่อเมริกากำลังแบนไม่ให้บริษัทเหล่านี้ ขายเซมิคอนดักเตอร์ให้กับหัวเว่ยฉะนั้นคนที่เขารู้เรื่องเทคโนโลยี เขาจะรู้ดีว่าขณะนี้หัวเว่ยกำลังมีปัญหา คือไม่สามารถหาเซมิคอนดักเตอร์มาได้ ปัญหาเหล่านี้จะเป็นปัญหาหลักมากกว่าที่เราเห็น การปิดสถานกงสุลนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ เรื่องจริง ๆ คือการช่วงชิงในเรื่องความเป็นมหาอำนาจมากกว่า

ไทยควรวางตัวแบบไหนกับความขัดแย้งนี้

เราวางตัวไปแล้ว เราใช้หัวเว่ยไปแล้ว ฉะนั้นจะมีปัญหาในส่วนนี้ อีกส่วนหนึ่งที่เราจะมีปัญหา และเป็นไปได้ด้วยเมื่อไหร่ที่ โจ ไบเดน ชนะเลือกตั้ง และเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เป็นไปได้สูงมากว่า โจ ไบเดน เขาบอกว่าอยากจะฟื้นฟู TPP กลับมาใหม่ ตอนนี้ชื่อของ TPP คือชื่อ CPTPP ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา เพราะตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับตำแหน่งเขาได้ล้มตรงนี้ไป แต่คนอื่นเขาไม่ล้ม ถ้า โจ ไบเดน เข้ามา แล้วฟื้นใหม่ สมมุติสหรัฐอเมริกาเอาด้วย แล้ว CPTPP เกิดปลายปีหน้า ประเทศไทยจะตกกระป๋องไป เพราะเรายังไม่ได้เริ่มเจรจาเลย แล้วประเทศอื่นก็อยู่ในกลุ่มนี้แล้วโดยเฉพาะเวียดนาม ถ้าเวียดนามสามารถที่จะเข้าไปในกลุ่มนี้และเข้าไปใน supply chain ของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มนี้ได้ ตรงนี้เชื่อว่า 10 ถึง 20 ปีจากนี้เวียดนามจะแซงหน้าเราไปมาก

ย้อนกลับมาในไทย สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องของการเมืองจะเห็นว่าเด็ก ๆ ออกมาชุมนุม มองว่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้เศรษฐกิจถูกกระทบด้วยหรือไม่

ก็เป็นอยู่แล้ว เพราะสะท้อนถึงว่ามีกลุ่มคนอยู่กลุ่มนึงในประเทศไทยมีความไม่พอใจรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และที่จะเป็นความเสี่ยงในช่วง 2-3 เดือนจากนี้คือว่าถ้าเกิดมีปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มเติมมาด้วยอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถ้า 2 เรื่องนี้ผสมกันก็จะเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาล จะเป็นปัญหาต่อการสร้างความมั่นใจให้เศรษฐกิจฟื้นเป็นอย่างมาก เพราะนักลงทุนลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริง ๆ แต่ก็จะต้องดูแล้วว่ารัฐบาลมีคะแนนความนิยมในระดับหนึ่ง และรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ สมมุติว่าถ้าไม่ดีทั้ง 2 ข้อนี้ ใครจะกล้าลงทุนเพิ่ม

ประชาชนคนไทยจะวางตัวอย่างไรกับภาวะเช่นนี้ โดยเฉพาะเรื่องการออมลงทุน

ตอนนี้เดาว่าทุกคนก็คงจะนั่งดูเหตุการณ์ไปก่อน ทุกคนยังไม่กล้าจะทำอะไร อันนี้จะเป็นจุดที่สร้างความหนืดให้กับเศรษฐกิจ เพราะการที่เศรษฐกิจจะดีได้ ประชาชนจะต้องมั่นใจ ประชาชนจะต้องใจกล้าที่จะลงทุน หาทางลงทุน แต่ว่าตอนนี้ทุกคนบอกว่าคอย ๆ ไปก่อนดีกว่า อย่ารีบเลย หลายคนที่เป็นพนักงานต่าง ๆ ก็คงกลัวตกงาน กลัวรายได้ลดลงด้วยซ้ำ ทุกคนก็มีการประหยัดและระวังตัวมากกว่า ส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ในส่วนของเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีใครกล้าทำอะไรก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เศรษฐกิจก็จะแผ่วลงไป ไม่สามารถฟื้นตัวได้

อย่างนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกไป 2 แสนกว่าล้านบาท ก็สะท้อนถึงความไม่มั่นใจ

อย่างที่บอก เราเล่าปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ไปแล้ว พูดตรง ๆ ว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีจุดเด่นอะไรบ้าง ก่อนโควิด-19 ก็จะมีกลุ่มเด่นอยู่ 2 เรื่อง คือการท่องเที่ยวที่ดีมาก แล้วก็เรื่องอีอีซีที่รัฐบาลได้นำเสนอว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ว่าทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและเรื่องอีอีซีของไทยต้องถูกตั้งคำถามในยุคหลังโควิด-19 อีอีซีโปรเจกต์แรกที่รัฐบาลขับเคลื่อน ทั้ง 3 ใน 5 โปรเจกต์ที่ขับเคลื่อนนั้น จะเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสนามบินอู่ตะเภา การให้การบินไทยทำศูนย์การบิน และศูนย์ซ่อมแซมเครื่องบิน และรวมถึงรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเราจะทำไปทำไมตั้ง 3 สนามบิน ในเมื่อเดิมทีมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ตอนนี้ปีนี้ดีไม่ดีไม่ถึง 10 ล้านคน และปีหน้าทางแบงก์ชาติคาดว่าจะเหลือแค่ 16 ล้านคนเท่านั้นเอง

95 views
bottom of page