top of page
312345.jpg

ธุรกิจแบกรายจ่ายหลังแอ่น...คนทำมาค้าขายยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ


Interview : คุณสุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร


ภาวะผิดปกติจากพิษโควิดในยุค New Normal ทำผู้ประกอบการระส่ำ ส่วนใหญ่รายได้เป็นศูนย์ ต้องแบกรายจ่ายหลังแอ่น หวั่น...วิกฤตโรคร้ายลุกลาม กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ โดมิโนกระทบกลายเป็นวิกฤตการเงินที่เลวร้าย ติง...มาตรการซอฟต์โลนของรัฐใช้เงื่อนไขการปล่อยกู้วิธีเก่าๆ แต่หวังให้เกิดผลบวกที่มหัศจรรย์ ซึ่งไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาในภาวะไม่ปกติ ยืนยัน...ผู้ประกอบการยอมให้คิดดอกเบี้ยเงินกู้เกิน 2% เพื่อสร้างความมั่นใจให้แบงก์ในการปล่อยกู้ ดีกว่าดอกเบี้ยแค่ 2% แต่ปล่อยกู้แค่จิ๊บๆ ให้ผู้ผ่านเกณฑ์แค่ไม่กี่ราย

ได้ยินสัญญาณจากผู้ประกอบการบ้างไหมว่ากำลังเดือดร้อนหนัก

พอดีผมโชคดีที่เข้าไปเป็นคนช่วยในอนุกรรมการชุดนึงของสภาอุตสาหกรรม ก็จะได้ยินเสียงของผู้คนที่ทำมาค้าขายซึ่งอาจจะเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เรื่องตอนนี้ได้รับผลกระทบ ส่วนที่ได้รับข้อมูลโดยตรงคือเรามีคล้ายเว็บไซต์เวลาใครมาเปิดเครดิตบูโรแล้วมีปัญหาอะไรเขาก็จะเขียนถามเข้ามาทางอีเมล รวมทั้งมีบทความ ข่าว ไปลง อย่างเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้นมีเรื่องการปฏิเสธสินเชื่อที่อ้างเครดิตบูโร เราก็ทำหนังสือเรียนไปยังสมาชิกพวกเราต่างๆ ปรากฏข่าวนั้นก็ขึ้นเป็นท็อปนิวส์ที่คนให้ความสนใจ และผมก็ลงไปตอบสิ่งที่เขาค้างคาใจ ตอบแบบภาษาบ้านๆ ตรงไปตรงมา ก็มีเรื่องสอบถาม เรื่องร้องเรียนเข้ามาเยอะในช่วงผ่านมา

ต้องยอมรับว่าในวิกฤตด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของความเป็นความตาย และส่งผลว่าวิธีแก้ในการป้องกันไม่ให้ตัวเองเจอปัญหาสุขภาพคือต้องหยุดอยู่เฉยๆ ห้ามทำอะไร การหยุดเฉยๆ มันบีบให้คนกลั้นหายใจทางธุรกิจ มันมีขีดจำกัดของมัน เพราะถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยนหรือไม่มีการทำธุรกรรมทางธุรกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็เกิดไม่ได้เพราะเงินไม่หมุนเวียน พอเราจะขับเคลื่อนมันก็ย้อนกลับมาว่าแล้วมันจะเกิดการระบาดเฟส 2 ไหม เพราะรูปแบบแต่ละธุรกิจมีการสัมผัสหรือพบเห็นต่อหน้า เผชิญหน้า มากน้อยต่างกัน และยังมีส่วนที่มองไม่เห็น มันเลยเกิดคำ 2 คำ กลัวตายก็กลัว กลัวอดก็กลัว พอถึงจุดๆ นึงมันต้องหาความสมดุลว่าจะไปตรงไหน

มาตรการภาครัฐที่ออกมาในช่วงแรกจะเรียกว่าเติมเงินคือให้เงินเต็มๆ ลดต้นทุนชีวิต เช่นค่าน้ำค่าไฟ จ่ายเงินคืนมิเตอร์ทุกอย่าง รวมถึงการรักษาเครดิต คนที่มีหนี้ก็ให้แขวนต้นแขวนดอกไม่ต้องจ่ายโดยไม่ถือว่าเป็นการค้างชำระ พอเลยมาถึงจุดหนึ่งคือตอนนี้เราจะเริ่มเปิดกิจการต่างๆ เพราะเราคุมสถานการณ์ได้ดี แต่คนที่กลั้นหายใจทางธุรกิจมันมีแรงกลั้นหายใจไม่เท่ากัน ตัวไม่เท่ากัน ปอดไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกว่าสายป่าน แล้วถังออกซิเจนจะมาทันไหม ถังออกซิเจนในทางธุรกิจคือสิ่งที่เรียกว่าสภาพคล่อง ถ้ามีลูกน้อง 20 คน ต้องจ่ายเงินเดือนเขา สมมุติคนละ 10,000 บาท ก็ 200,000 บาท แต่รายได้เป็นศูนย์ เลือดไหลออก 200,000 บาท เมื่อก่อนเคยมีรายได้ 400,000 บาท จ่าย 200,000 บาท แต่ตอนนี้รายได้เป็นศูนย์ เราก็เอาเงินบุญเก่ามาจ่าย บุญเก่าก็เริ่มร่อยหรอ หรือลูกหนี้เราไม่มาจ่ายแต่เจ้าหนี้เราต้องจ่ายไหม เจ้าหนี้ ลูกจ้าง สภาพกระเด็นกันไปกระเด็นกันมา ถ้าไม่มีการเติมเงินหรือสภาพคล่องเข้ามาในที่สุดจะลามจากวิกฤตทางด้านสาธารณสุขไปสู่วิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ แล้วจะไปลามไปวิกฤตด้านการเงินซึ่งเราไม่ต้องการให้ไปถึงตรงนั้น เพราะปี 2540 เป็นบทเรียนแล้วว่าวิกฤตสถาบันการเงินจะทำความเสียหายมหาศาล บรรยากาศก็ประมาณนี้

เห็นภาพชัดไหมในปัญหาเรื่อง NPL ที่จำเป็นต้องเติมเรื่องซอฟต์โลนมาให้

ลูกหนี้ที่กู้ยืมอยู่และที่จะเข้าถึงซอฟต์โลนเขากำหนดเกณฑ์ว่าต้องไม่ใช่ลูกหนี้ NPL เพราะฉะนั้นคนที่เป็น NPL ไม่เกี่ยว คนที่ไม่ใช่ NPL มีหลายเกรด ดี1 ประเภท 1 คือดีมากไม่ค้างอะไรเลย หรือคนไม่เคยกู้เลยกู้และปิดเงินกู้ไปแล้ว คนเหล่านั้นพอจะเข้าถึงซอฟต์โลนได้ ได้สินเชื่อ 20% แต่คนที่กู้ไม่ได้ก็มีสาเหตุเพราะตัวเองอาจจะเป็น ดี2 ประเภท 2 หลักประกันสินเชื่อปริ่มๆ หรือหลักประกันขาดอยู่แล้วแต่เดิม เคยปรับโครงสร้างหนี้บ้าง เคยผิดนัดชำระบ้างแต่กลับมาได้ ลูกหนี้ที่มีตำหนิเหล่านี้พอไปเจอกับเงื่อนไขของคนให้กู้ที่ยกระดับขึ้นไปจากเกณฑ์ปกติก็จะมีปัญหา คือปกติก็กู้ยากอยู่แล้ว พอยกระดับขึ้นเขาก็กลัว ประกอบกับมันประเมินไม่ได้ว่าธุรกิจจะกลับมาดีได้เมื่อไหร่ ยกตัวอย่าง มีใครประเมินได้บ้างว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาได้เมื่อไหร่ มีใครประเมินได้บ้างว่ากิจการที่ทำทัวร์เอาต์บาวนด์หรือทำทัวร์เอาต์บาวนด์ในแถบยุโรปมาหลายปี ลูกค้าเราเยอะ แล้วเราเจอปัญหานี้ แล้วเราจะไปกู้เพิ่ม มันจะประเมินไม่ได้ว่าตกลงเราจะกลับเข้ามาทำธุรกิจแบบนี้ได้อีกเมื่อไหร่

ผลต่างๆ เหล่านี้ทำให้เฉพาะคนที่เป็นคลีนหรือคนที่อยู่ข้างบนไม่มีไฝฝ้าของ SME กลุ่ม ดี1 ประเภทแรกก็จะได้สินเชื่อก้อนนั้นไป ได้พอบ้างหรือไม่พอบ้าง เพราะกู้เพิ่มได้แค่ 20% แต่คนที่ไม่มีสถานะเป็น SME ที่ดี แล้วไม่มีสินเชื่อเลยเพราะอาจจะเคยมีสินเชื่อแล้วปิดไปแล้ว คนเหล่านั้นไม่มียอดสินเชื่อก็เข้ามาตรการไม่ได้อีก กลายเป็น Good Negative เป็นคนดีแต่เราให้ไม่ได้ ไม่เข้าตามเกณฑ์ แล้วเงื่อนไขของซอฟต์โลนบางข้อ เช่นต้องคิดดอกเบี้ยแค่ 2% อันนี้เป็นความหวังดี แล้วเงินกู้อายุ 2 ปี ซึ่ง 6 เดือนแรกหลวงจ่ายให้ไม่ต้องส่งดอก ในอีกปีครึ่งหลังต้องส่งดอก เกิดผมเป็นคนได้สินเชื่อของก้อนนี้แล้วดอกเบี้ย 2% ปรากฏ 6 เดือนแรกมีคนจ่ายดอกเบี้ยให้ พอถึงเดือน 12 ผมกลายเป็นหนี้มีปัญหาผิดนัดชำระ ปกติจะมีเบี้ยปรับ แต่ห้ามคิดดอกเบี้ยผิดนัด หมายความว่าคนให้กู้ก็ต้องอยู่กับดอกเบี้ย 2% แต่ต้นทุนในแง่ความเสี่ยงมันพุ่งสูงเกิน 2% ไปไกลมาก และคนให้กู้ต้องแบกหนี้ก้อนนี้ไว้จนครบ 2 ปี แล้วค่อยไปขอชดเชยคืน การขอชดเชยก็ไปผูกพันกับสำรองที่เพิ่มและก็ไปผูกพันกับหลักประกันที่มี มันก็วนกันไปกันมา เบ็ดเสร็จอาจจะกู้ได้ไม่เยอะ โดยสรุปความเสี่ยงมันสูงเกินกว่าที่สถาบันการเงินที่ใช้เกณฑ์ปกติบวกความเข้มขึ้นไปอีกนิดนึง มันจึงได้ประมาณแสนล้านในเวลานี้

ถ้าอยากจะช่วยต้องช่วยแบบ New Normal คือไม่ปกติ ต้องเป็น Abnormal ไป

มีหลายคนบอกว่าในยามไม่ปกติ หากเราใช้วิธีการปกติ มันไม่มีทางจะได้ผลแบบปกติ คืออยากได้อะไรที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ แต่ใช้วิธีเก่า แล้วจะมหัศจรรย์ได้อย่างไร มันไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ยถูกอย่างเดียว สิ่งที่สมาชิกสภาอุตสาหกรรม คือฝั่งคนขอกู้ต้องทำคือไปบอกทางผู้กำกับดูแลว่าให้ขึ้นดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินเพื่อให้พ้นความเสี่ยงของฉัน แล้วฉันจะได้เงินกู้ เราจะเห็นภาพแบบนี้ไหม ก็ไม่เคยเห็น พอเขาไปกู้นอกระบบก็หนักกว่านี้


ตั้งแต่ 27 เมษายน เริ่มมีซอฟต์โลน 500,000 ล้าน มีคนเข้ามาขอตรวจเครดิตบูโรมากไหม

เราไม่รู้เพราะการยื่นขอซอฟต์โลนยื่นขอกับสถาบันการเงิน แต่การที่สถาบันการเงินเข้ามาตรวจข้อมูลในเครดิตบูโรเนื่องจากเป็นการให้กู้กับลูกค้าเก่า สถาบันการเงินจะใช้วิธีรีวิวลูกค้า เดือนเมษายนมีการทำเครดิตรีวิวลูกค้า คือดูลูกค้าเก่า 10 ล้านครั้ง จากปกติในแต่ละเดือนจะมีการดูลูกค้าเก่าประมาณ 3 ล้านครั้ง ในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่เริ่มต้น 10 ล้านครั้ง สแกนว่าลูกค้าเป็น NPL ไหม เป็นดี1 ประเภทไหน ดูทุกอย่าง สถาบันการเงินมีความพยายามจะเลือกลูกค้า ถ้าสังเกตซอฟต์โลนของออมสินหมดในเวลารวดเร็ว เงินค้ำประกันของบสย. GPS 8 หมดรวดเร็ว แสดงว่าการปล่อยกู้มีความเสี่ยงแต่เอา บสย.มาช่วยค้ำ ถ้าเราเห็นภาพนี้ว่าถ้าบสย.ค้ำก็มีการปล่อยกู้ แต่ทำไมซอฟต์โลนฝั่งนี้กองเป็นภูเขาแต่ไม่มีคนมาโกยไป มันต้องมีอะไรไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

27 views
bottom of page