top of page
312345.jpg

แนะรัฐ-แบงก์ ต่อมาตรการพักต้นพักดอก...ป้องกันปัญหา NPL-ธุรกิจปิดตัว-การเลิกจ้างงาน


Interview : คุณสนั่น อังอุบลกุล

รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม

แนะ...รัฐ-แบงก์ ต่อมาตรการพักต้น พักดอก เพื่อป้องกันปัญหา NPL-ธุรกิจปิดตัว-การเลิกจ้างงาน เพราะโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงเหนือการควบคุม เชื่อ...ไตรมาส 4 ปีนี้เศรษฐกิจยังอึมครึม แม้จะเป็นช่วงเทศกาลรื่นเริง แต่รายจ่ายไม่สะพัดเหมือนห้วงเวลาปกติ ภารกิจสำคัญของภาครัฐคือใช้ยาแรงในการแก้ปัญหาว่างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรอบนี้ภาคเอกชนหมดแรงในการขับเคลื่อนแทบทุกมิติ


มาตรการรัฐบาลกระตุ้นการจ้างงานที่รัฐช่วยออกค่าจ้างให้นายจ้างครึ่งหนึ่งเพื่อจ้างงานคนที่เพิ่งจบการศึกษา มาตรการนี้เข้าตาหรือไม่

เข้าตา ส่วนตัวมองว่าจะช่วยได้เยอะ เป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่มีความพร้อมและมีการปรับโครงสร้างการบริหารของบริษัท แล้วต้องการคนรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มาแสดงความสามารถ มองว่าดี อีกประการหนึ่งก็จะทำให้เด็กรุ่นใหม่มีงานทำด้วย และเด็กกลุ่มนี้มีเงินเท่าไหร่ก็มักใช้หมด ดีทั้งบริษัทผู้ประกอบการและดีสำหรับเด็กนักศึกษาด้วยจะได้ไม่ว่างงาน และยังจะทำให้เกิดกำลังซื้อตามมา ถือว่าน่าชื่นชม

คิดว่าทางภาคเอกชนจะสนใจจ้างเด็กหรือไม่ เพราะอาจไม่มีประสบการณ์เมื่อเทียบกับคนเก่าที่เพิ่งเออร์ลีรีไทร์

คือแบบนี้ ที่บริษัทเขามีการปรับตัวคิดว่าตั้งแต่ต้นปีแล้ว โดยเฉพาะภาคบริการเขาก็คงมีการปลดพนักงานใน 2 ส่วน คือส่วนที่ทำงานแล้วแต่ไม่เข้าตา อีกส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ฉะนั้นงานจะน้อยมาก เรียกว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความจำเป็น ไม่มีงานที่จะให้ทำแล้ว คนเหล่านี้ถูกสั่งพักงานหรือถูกปลดออกไปแล้ว ส่วนตัวคิดว่าที่คนเหล่านี้ต้องมาดูว่ามีธุรกิจอะไรใหม่ๆ ต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เช่น สายวิศวะ พวกทางภาคบริการอะไรต่างๆ คิดว่าส่วนนี้ก็ไม่ได้เป็นภาระกับเขา เท่ากับว่าเขาได้รับเด็กเข้ามาเพื่อเรียนรู้งาน และมีโอกาสที่จะคัดเลือกหลังจากจบโครงการ 1 ปีแล้ว อย่างเช่นรับมาสัก 1,000 คน หลัง 1 ปี อาจจะรับให้ทำงานต่อสัก 100 คน ปัจจุบันต้องบอกว่าเด็กสมัยนี้เก่ง ถ้ารู้จักสอนเขา

มาตรการพักต้น พักดอก จากนี้เห็นว่าจะไม่มีแล้ว มองว่าจะแก้วิกฤตตรงนี้อย่างไร

ส่วนนี้แม้ว่ารัฐบาลคือทางแบงก์ชาติจะมีโครงการที่เรียกว่า DR BIZ Program เข้ามา ให้แบงก์ต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้มารวมกัน แล้วเอาแบงก์หนึ่ง เป็นหลักในการเจรจาปรับเรื่องโครงสร้างหนี้ต่างๆ กับลูกหนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐพยายามจะช่วย แต่ก็เกรงว่าในส่วนนี้คงจะช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีการยืดระยะพักหนี้ก็เป็นห่วงว่าพวกเอสเอ็มอีทั้งหลายจะเดือดร้อนกัน เพราะจะไปกู้หนี้ใหม่คงจะลำบากมาก เพราะแต่ละแบงก์ก็คงติดเรื่องกลัวว่าจะถูกตั้งสำรองตามมาตรฐานใหม่ มองว่าส่วนนี้ก็น่าเป็นห่วง เอกชนกลัวว่าโควิด-19 จะลากยาวต่อ คงยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าโควิด-19 รอบสองจะไม่เกิดขึ้น เรื่องพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่สร้างความกังวล

ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ทางภาครัฐหรือพวกสถาบันการเงินมีการยืดเวลาเรื่องพักชำระหนี้ พักดอกเบี้ยอะไรต่างๆ ให้กับพวกลูกค้า ก็อยากจะให้ทางเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการต่างๆ อย่านิ่งนอนใจ คืออย่างไรก็ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ไปเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออก ส่วนตัวเชื่อเหลือเกินว่าแบงก์ก็พยายามที่จะช่วย เขาไม่อยากจะให้เกิดเป็น NPL ขึ้นมา ต่างคนต่างช่วยกัน ดีที่สุด ก็คือตอนนี้ต้องพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว

รัฐบาลต้องช่วยเต็มที่ และเจ้าหนี้ ลูกหนี้ต้องหันหน้าเข้าหากัน

ถูกต้อง และเรื่องการว่างงานของคนในชาติเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง รัฐบาลต้องช่วยในสิ่งนี้อย่างเต็มที่ อย่างที่ออสเตรเลีย ประเทศในยุโรป หรือแม้แต่อังกฤษเอง รัฐบาลเขาออกมาพยุงเกี่ยวกับเศรษฐกิจของภาคเอกชนในช่วงโควิด-19 ได้น่าทึ่งมาก เขาถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญของประเทศที่จะต้องทำ คือเอกชนก็คงไม่มีแรงพอที่จะมาพยุงเรื่องเศรษฐกิจ การช่วยเหลือของรัฐในลักษณะนี้อย่างเช่นพวกผู้ประกอบการจะต้องไม่ไล่คนออก โดยรัฐบาลในยุโรปจะจ่ายเงินเดือนให้ 75% ที่อังกฤษจ่ายเงินเดือนให้ถึง 80% ส่วนนี้เป็นการที่จะช่วยเศรษฐกิจ ประชาชนคนในชาติ ก็เป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี และยิ่งขณะนี้การเมืองก็มีปัญหาและมีการชุมนุมกันอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงนอกเหนือจากโควิด-19 ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี การประท้วงคงจะไม่ได้หยุดแบบง่ายๆ ตรงนี้น่าเป็นห่วง

ไตรมาสสี่จะเป็นอย่างไร

การที่หลายคนวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 จะฟื้นนั้น ไม่น่าจะเชื่อได้ แต่เราต้องชมว่าทางรัฐบาลเองมีความตั้งใจสูงมาก พยายามที่จะหามาตรการต่างๆ มากระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งที่ทำให้คิดกันว่าไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้นก็เนื่องจากปกติเป็นเทศกาลที่จะมีการใช้เงิน มีการไปฉลองงานต่างๆ แล้วยังมีมาตรการให้มีวันหยุดยาวขึ้น มีมาตรการกระตุ้นให้คนไปเที่ยว มีเงินอุดหนุนอะไรต่างๆ ในส่วนนี้คงจะช่วยได้ และข่าวดีคือเราเริ่มจะปล่อยให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น มองว่าส่วนนี้ก็ช่วยได้ ถ้าต่างชาติเข้ามาใช้จ่าย ของเขาต่อคนประมาณ 5 หมื่นบาทได้ นอกจากค่าห้องพักก็มีค่าใช้จ่ายในเรื่องกิน ช้อปปิ้งอีก คิดว่าจะช่วยได้มาก แต่ถ้าพึ่งแค่นักท่องเที่ยวคนไทยเอง การใช้จ่ายจะต่ำ อย่างมากคนละ 1 หมื่นบาท ตอนนี้รัฐบาลเราสามารถที่จะดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับโควิด-19 ได้แล้ว ดังนั้นทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน แล้วก็ไปลงในเชิงลึก อันไหนที่จะผ่อนปรนเพื่อให้คนเข้ามาในประเทศของเราได้ คิดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วมาก อย่างประเทศใกล้เคียงของเราและหลายประเทศก็เริ่มเปิดแล้ว โควิด-19 รอบสองมาเขาก็ยังกล้าเปิดเลย คิดว่าของเรามีอะไรที่ไทยเราเก่งเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เขามาก็รู้สึกว่าปลอดภัยด้วย และนอกจากมาท่องเที่ยวแบบปกติแล้ว เขาอาจมาในรูปของการท่องเที่ยวควบคู่กับการดูแลสุขภาพ อะไรพวกนี้ ก็จะช่วยได้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศไทยโชคดี มีความแข็งแกร่งมาก และอีกประการหนึ่งคือสถาบันการเงินของเรา ได้เรียนรู้มาแล้วในรอบต้มยำกุ้ง ทำให้ตอนนี้เราเข้มแข็งมาก แต่อย่างไรก็ต้องมาช่วยกัน เพราะพวกเอสเอ็มอีเรายังมีปัญหา และจำนวนธุรกิจส่วนใหญ่ของไทยก็คือเอสเอ็มอี แล้วคนรากหญ้าเราจะทำอย่างไร คิดว่าทางภาครัฐยังมีมาตรการที่จะทำได้ดีกว่านี้อีก ยังใส่ยาแรงกว่านี้ได้อีก ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น

23 views
bottom of page