top of page
312345.jpg

ศึกหนักรอท่าทีมเศรษฐกิจใหม่ : ต้องเก่งรอบด้าน สร้างความเชื่อมั่น ประสานสิบทิศ ถึงชนะได้


Interview : รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์

ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.)

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


ทีมเศรษฐกิจในฝัน ต้องตีโจทย์เป็น แก้โจทย์ได้ สร้างกลไกการเงิน การลงทุน รูปแบบใหม่ในยุค New Normal เน้นดึงเม็ดเงินเข้ามาโดยนักลงทุนไม่ต้องเดินทางมา ต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่น ฝากผีฝากไข้ได้ เก่งด้านบริหาร-จัดการ เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติ ประสานสิบทิศทั้งภาคการเมือง ประชาชน ธุรกิจ ต่างประเทศ สามารถบริหารเม็ดเงินที่มีอย่างจำกัดในภาวะไม่ปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตอนนี้ทุกคนพูดกันว่าเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง คงเห็นไม่ต่างกันใช่ไหม

ดูแล้วก็เป็นปัญหาจากโรคระบาดโควิดซึ่งกระทบต่อเงื่อนไขต่างๆ ของเศรษฐกิจ คือด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพาต่างประเทศเยอะ ทั้งการส่งออกและท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อเกิดโรคระบาดก็เกิดมาตรการป้องกันที่มีผลต่อการเดินทาง สนามบินปิด สายการบินหยุดบิน ธุรกรรมต่างๆ ก็ถูกกระทบ โดยเฉพาะประเทศไทยต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะ ทุกปีเราพึ่งพานักท่องเที่ยว 40 ล้านคนที่เข้ามาใช้เงินในประเทศเฉลี่ยคนละประมาณ 50,000 บาท เมื่อคนต่างชาติมาเที่ยวไทยก็ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เช่นมาพักโรงแรม ทานอาหาร เดินทาง ช่วยให้เกิดการขนส่งต่างๆ สายการบินมีผู้โดยสารก็เกิดการจ้างงาน ทั้งหมดนี้มีผลต่อเศรษฐกิจปีนึง 2 ล้านล้านบาท และมีผู้เกี่ยวข้องกับการจ้างงานประมาณ 7 ล้านคน ส่วนคนไทยเที่ยวไทยด้วยกันเองประมาณ 1 ล้านล้านบาท

แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ข้อจำกัดก็เกิดขึ้น การเดินทางน้อยลง แถมเรามีมาตรการหยุดกิจกรรมเพื่อลดปัญหาการระบาดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมปกติหายไปอีก ร้านค้า ร้านอาหาร ต้องหยุด ห้างก็ปิด กระทบต่อบุคลากร การจ้างงาน ซึ่งแรงงานในระบบก็เดือดร้อนน้อยหน่อย แต่แรงงานนอกระบบที่รับค่าจ้างเป็นรายวันนี่หนักเลย พอหยุดกิจกรรมลูกจ้างรายวันก็ว่างงาน ไม่มีรายได้ พอไม่มีรายได้ก็ไม่ใช้จ่าย ร้านค้าก็เดือดร้อน ตรงนี้ทำให้กิจกรรมต่างๆ หดตัวลงไป เมื่อกิจกรรมธุรกรรมมันน้อย เศรษฐกิจก็ชะลอตัวเข้าสู่การถดถอยคือการขยายตัวติดลบ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาติดลบหนักเนื่องจากว่าเราไปหยุดกิจกรรมต่างๆ เยอะ และประชาชนก็ระวังด้วย ไม่อยากไปไหนและไม่อยากออกจากบ้าน ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาติดลบค่อนข้างจะเยอะเมื่อเทียบตัวเลขกับไตรมาสที่แล้ว ไตรมาส 2 ติดลบประมาณถึง 10% ความหมายง่ายๆ คือปีในไตรมาสที่ 2 ก่อน 100 ปีนี้เหลือ 90 หมายถึงคนมีรายได้หายไป

น่าห่วงตรงคนว่างงาน ความเชื่อมั่นการบริโภคที่น้อยลง เครื่องยนต์ทุกภาคส่วนแทบจะดับสนิทไปหมดแล้ว เหลือแต่การลงทุนภาครัฐ ซึ่งดูแล้วต้องทำอย่างเร็ว ต้องเป็นแบบฟาสต์ฟู้ดแล้ว ไม่ใช่ค่อยๆ บรรจงทำอาหารชาววัง

ใช่ คือภาคประชาชนไม่มีงานทำ รายได้ก็หายไป กำลังซื้อก็ลดลง ธุรกิจส่วนหนึ่งถูกกระทบจากมาตรการปิดเมือง มาตรการเคอร์ฟิว การทำธุรกรรมก็น้อยลง เหลือที่เป็นพระเอกคือภาครัฐซึ่งต้องตัดสินใจให้ถูกว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร ในสถานการณ์ปกติภาครัฐจะมีเงินอยู่ก้อนหนึ่งเรียกว่างบประมาณแผ่นดินซึ่งพอจะขับเคลื่อนใช้จ่ายได้บ้าง แต่ก็มีข้อจำกัดคืองบประมาณแผ่นดินมี 2 ซีก ซีกนึงรายรับ ซีกนึงรายจ่าย รายจ่ายแบ่งเป็นใหญ่ๆ คือรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือน รายจ่ายสำนักงาน สิ่งของที่ใช้ในงานราชการทั้งหมดซึ่งกินพื้นที่ถึง 75% ส่วนรายจ่ายที่มีความสำคัญ ก็ต้องเป็นไปตามกติกาของการทำงบประมาณรายจ่าย เช่นถ้าประเทศมีหนี้ก็จำเป็นต้องกันรายจ่ายส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ การชำระหนี้ทำให้เราเหลือเงินมาใช้จ่ายงบลงทุนน้อย ของไทยงบการชำระหนี้อยู่ที่ 5-6% ของรายจ่ายในปีนั้นๆ ซึ่งระเบียบของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายระบุไว้ว่าการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยห้ามเกิน 12% ของงบรายจ่ายในปีนั้น ซึ่งของเราใช้แค่ 5-6% แต่ในรายจ่าย 75% จะเหลืองบลงทุนแค่ 20% ตรงนี้ค่อนข้างจำกัดมากนี่คือในสถานการณ์ปกติ

ส่วนสถานการณ์ขณะนี้พอมีปัญหาแบบนี้ขึ้นเนื่องจากโควิด กิจกรรมธุรกรรมน้อยลง เพราะฉะนั้นซีกรายได้ก็น้อยลง ภาษีเก็บได้น้อย ประชาชนตกงานก็ไม่ได้จ่ายภาษี รายได้ของรัฐก็จะถูกกระทบ เพราะฉะนั้นในปี 2563 รายรับของรัฐก็จะหายไป ส่วนรายจ่ายจะมีเพิ่มขึ้นเพราะจำเป็นต้องดูแลภาคประชาชนที่เขาเดือดร้อนจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ภาครัฐจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเพื่อช่วยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งตรงนี้ทำให้เงินไม่พอ ต้องมีการกู้ยืมเงิน จึงเป็นที่มาของพระราชกำหนดกู้ยืมเงิน 1 ล้านล้านบาทซึ่งผ่านสภาไปไม่นานนี้ อันนั้นเป็นการกู้ยืมเงินเข้ามาเสริม

เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 6 แสนล้านบาทใช้ในการเยียวยาในช่วงที่เราไปล็อกดาวน์ ไปหยุดกิจกรรม ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ก็เลยเป็นที่มาของมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเยียวยา เช่นเงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน เกษตรกรได้ครอบครัวละ 15,000 บาท ตัวเลขเหล่านี้เป็นมาตรการเยียวยาในระหว่างที่เรามีมาตรการต่างๆ ส่วนอีกก้อน 4 แสนล้านบาทเป็นงบในการฟื้นฟู ความหมายคือหลังจากเยียวยาแล้วเราจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้ง 2 ก้อนนี้บวกกันเป็น 1 ล้านล้านบาท อันนี้เป็นการกู้ยืมเงินเพื่อมาแก้ปัญหาโรคโควิด เพราะฉะนั้นเงินก้อนนี้จึงเป็นที่มาของหนี้สาธารณะของประเทศ เนื่องจากว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังไปขอยืมเงิน ซึ่งยืมเงินจากประชาชนผ่านตราสารหนี้ที่เรียกว่าพันธบัตรรัฐบาลที่นำออกขายให้ประชาชน ประชาชนก็โยกเงินจากธนาคารมาซื้อพันธบัตร ความหมายคือประชาชนให้รัฐยืม รัฐเป็นผู้ขอยืมโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ขอยืม แต่ทั้งหมดตีความเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ คือหนี้ที่รัฐบาลเป็นผู้ก่อขึ้น

ถ้าเป็นแบบนี้เศรษฐกิจก็ไม่เหมือนเดิม ทีมเศรษฐกิจที่ผ่านมาแสดงฝีมือกันมา 4-5 ปี แต่ถึงเวลาต้องเปลี่ยนม้ากลางศึก มองว่าด้วยปัญหาต่างๆ ในขณะนี้ ทีมเศรษฐกิจที่พาเราไปข้างหน้าควรเป็นทีมแบบไหน

ปัญหาครั้งนี้เป็นปัญหาที่มาจากการระบาดของโควิดแล้วมากระทบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาคนละแบบกับปี 40 ทีมเศรษฐกิจใหม่ที่เข้ามา ประการแรกคือ ต้องเป็นผู้มีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการคลัง ประเด็นคือตีโจทย์ถูกหรือผิด ต้องดูปัญหาให้ออกก่อน จำเป็นต้องเป็นผู้รู้และเป็นผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาคกลไกการเงินการคลัง และเข้าใจความซับซ้อนของตลาดทุน ซึ่งทุกวันนี้ตลาดทุนมีบทบาทมาก เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าจะใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรมาแก้ไข ตอนนี้นักท่องเที่ยวก็มาไม่ได้ นักลงทุนก็บินมาไม่ได้ มาแล้วต้องถูกกักตัว 14 วัน เขาก็ลำบาก จะมีวิธีไหนบ้างในการแก้ปัญหานี้ จะมีวิธีไหนบ้างที่เงินมาโดยที่เขาไม่ต้องมา ซึ่งเราต้องสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุน ตลาดทุนเป็นส่วนนึงที่เม็ดเงินผ่านช่องทางนี้ได้ ประเทศเรามีศักยภาพ มีโอกาส เรามีข้อดีหลายอย่าง ถ้าเราต่อท่อโดยใช้กลไกของตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ เงินจะมาได้โดยนักลงทุนไม่ต้องเดินทางมา ไม่ต้องนั่งเครื่องบินมา ฉะนั้นคนที่เข้ามาคุมทีมเศรษฐกิจต้องมีความเข้าใจเรื่องพวกนี้ เพราะมีหลายวิธีที่เราจะสร้างกลไกให้มันขับเคลื่อนได้

ประการที่ 2 นอกจากทีมเศรษฐกิจเข้าใจเรื่องพวกนี้แล้วยังต้องสร้างความเชื่อมั่นด้วย ความหมายคือต้องมีความชำนาญ พูดแล้วต้องมีคนยอมรับ ตรงนี้สำคัญ background มีความสำคัญ เช่น จบด้านนี้มาโดยตรง จบด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการคลัง จบจากสถาบันชื่อดังต่างชาติยิ่งน่าเชื่อมั่น เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ใช่เฉพาะประเทศเราแล้ว เราเป็นระบบเปิด ตลาดทุนต้องพึ่งพาเงินนอกประเทศ เราต้องพึ่งพาต่างชาติในการลงทุน ดังนั้น background จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้อีกทาง คือช่วยประชาคมโลกให้มั่นใจเชื่อมั่น และภาคเอกชนก็เชื่อมั่นด้วย

ประการที่ 3 เคยผ่านงานใหญ่ ซึ่งตรงนี้เป็นการบ่งบอกว่าเขาประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ คือบางคนอาจจะเก่งแต่ขาดทักษะการบริหารการจัดการ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้จำเป็นต้องมีวิธีการจัดการเป็นรูปธรรมเพราะบางทีมันจับต้องไม่ได้ ตรงนี้ความสำคัญคือต้องเก่งในแนวปฏิบัติ


ประการที่ 4 เนื่องจากเรื่องเศรษฐกิจเกี่ยวข้องหลายกระทรวง กระทรวงเศรษฐกิจมีหลายกระทรวง และบางกระทรวงอยู่ในการดูแลของพรรคการเมืองต่างพรรค เพราะฉะนั้นการประสานงานกันไม่ง่าย ผู้ที่เข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีบารมีพอสมควร และต้องสามารถประสานกับพรรคต่างๆ ได้ คือเข้ามาจากคนละพรรคและดูแลคนกระทรวง แต่งานต้องเกี่ยวเนื่องกัน คลังโยงถึงเกษตร พาณิชย์ คมนาคม พูดง่ายๆ ต้องประสานได้ ตรงนี้ค่อนข้างสำคัญเพราะกระทรวง เดียวไม่พอ ต้องเป็นทีม ความจำเป็นตรงนี้คือต้องมีทักษะ ต้องมีบารมี ในเชิงความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทีมเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้สังกัดคนในพรรค ซึ่งอาจจะดีกว่าถ้าเป็นคนนอก อาจประสานง่ายกว่า ถ้าบุคลากรของพรรคมาดูแลเศรษฐกิจการเงินการคลังอาจจะประสานลำบากหน่อย แต่ถ้าได้บุคคลกลางๆ หรือบุคคลภายนอกมาจะช่วยได้ง่ายกว่า

อีกส่วนหนึ่งคือองค์ประกอบของเศรษฐกิจมีหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคต่างประเทศ ผู้ที่มาเป็นทีมเศรษฐกิจต้องดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ ภาคเอกชนให้ความร่วมมือ ภาคเอกชนให้การยอมรับ ส่วนในฟากรัฐบาลมีกลไกของรัฐคือกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีข้าราชการต่างๆ เขาต้องเชื่อมือและยอมรับในทีมเศรษฐกิจด้วย นอกจากนั้นยังมีการทำงานเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือจากต่างประเทศต้องมีด้วย องค์ประกอบเหล่านี้มีความจำเป็น ถ้าได้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนก็จะทำงานง่ายขึ้น

ที่สำคัญคือขณะเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งการตัดสินใจต้องมีนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และมีนโยบายระดับบน คือโครงสร้างภาคประชาชนคล้ายๆ พีระมิด กลุ่มมีรายได้สูง กลาง ต่ำ เราจะดูแลแต่ละกลุ่มยังไง อีกส่วนคือภาคธุรกิจก็เช่นเดียวกันคือมีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง SME ทั้งหลาย เราจะดูแลอย่างไร เพราะฉะนั้นวิธีการเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจมากๆ ในการทอนออกมาเป็นนโยบายและขอความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่ใช่แค่ผ่านภาวะนี้ไป แต่ต้องเตรียมว่าถ้าฟื้นมาจะดันเศรษฐกิจให้โตต่อไปได้อย่างไร คือภายใต้วิกฤตจะมีโอกาสอยู่เสมอ แต่เราจะหาโอกาสนี้ได้ไหม ตรงนี้สำคัญ เรามีข้อดีเยอะ หลังจากเหตุการณ์นี้บอกอะไรหลายอย่างว่าจริงๆ เรามีจุดเด่นเยอะ โลกเปลี่ยน วิถีเปลี่ยน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ตรงนี้เป็นความสามารถของทีมที่จะดึงความร่วมมือจากทุกฝ่าย มองว่าเรามองเป็นอุดมคติหรือเปล่า แต่ถ้าได้แบบนี้ก็จะดี จะช่วยให้นำพาผ่านเศรษฐกิจในช่วงที่ยากลำบากที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราต้องฟันฝ่ากันไป ปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกก็ผ่านมาได้ตลอด ถ้าย้อนไปเศรษฐกิจโลกในปี 1929 เคยตกต่ำใหญ่กว่าครั้งนี้ ก็ฟันฝ่าหลุดรอดมาได้ ในปี 2540 ประเทศไทยก็ประสบปัญหาซึ่งอันนั้นก็เป็นปัญหาอีกแบบนึง ความสำคัญของทีมบริหารคือต้องตีโจทย์ให้แตกว่าปัญหาอยู่ตรงไหนและจะแก้อย่างไร ถ้าตีโจทย์ไม่แตก ไม่จบ ก็ยุ่งเลย อันนี้สำคัญ เราคาดหวังจะได้ทีมที่เป็นผู้เสียสละพอสมควร มารับตำแหน่งช่วงนี้ก็เหนื่อยหน่อย แต่เพื่อประเทศชาติก็ต้องช่วยกัน คาดหวังว่าจะเห็นทีมที่มีความพร้อม

ต้องมีรองนายกฯ เศรษฐกิจไหม

คือมี 2 แบบ รองนายกฯอาจจะมีก็ได้ หรือควบรัฐมนตรีคลังก็ได้ เพราะนโยบายการคลังจะหนักอยู่ที่กระทรวงการคลัง ตอนนี้เครื่องไม้เครื่องมือภาษีต่างๆ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ อาจจะใช้วิธีการรองนายกฯ ควบคลังก็ได้ หรือจะแยกก็ได้ เพียงแต่ต้องประสานกับกระทรวงอื่นได้ ต้องมีบุคลากรที่มีทักษะและมากบารมีหน่อย เป็นผู้ที่สังคมยอมรับ ถ้าได้แบบนี้เชื่อว่างานต่างๆ น่าจะเดินหน้า ตอนนี้ทรัพยากรเงินของเรามีอยู่จำกัด ภาระหนี้ติดเพดานอยู่ เงื่อนไขค่อนข้างเยอะ ปัญหาการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวสำคัญก็ยังไม่ทำงาน น่าจะต้องรอหลังโควิดคือมีการค้นพบวัคซีนจึงจะค่อยๆ ผ่อนคลาย เพราะฉะนั้นช่วง 1 ปีข้างหน้าจากวันนี้อาจจะเป็นภาวะที่ต้องแก้ไข เยียวยา แต่ด้วยจำกัดของเม็ดเงินตรงนี้หวังว่าทีมที่เข้ามาจะเสริมอย่างไร จะต้องพยุงเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตและรอจนกว่ามีการค้นพบวัคซีน ถึงตอนนั้นปัญหาต่างๆ น่าจะเบาลง

 

เครดิตภาพ : Facebook Page รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ (https://www.facebook.com/dr.montreeso/)

46 views
bottom of page