top of page
369286.jpg

มองเศรษฐกิจอเมริกา-ยุโรป จะชะลอตัวลงหลังจบ QE...กระทบภาคส่งออกไทยและเอเชีย


Interview : คุณธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


ภาพลบเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยจะชัดเจน น่าสะพรึงใน 6-12 เดือนข้างหน้า ตัวแปรสำคัญยังเป็นโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกโตเท่าไหร่ก็ไม่เต็มร้อย หนำซ้ำในหลายช่วงถูกโควิด-19 เล่นงานแทบจมธรณี เศรษฐกิจอเมริกา-ยุโรป จะชะลอตัวลงหลังจบโปรแกรม QE ทำให้ภาคส่งออกของไทยและเอเชียที่สว่างวาบแค่ชั่วครั้งชั่วคราวจะกลับมาริบหรี่อีกครั้ง หนี้สาธารณะพุ่งพรวด มองแล้วแทบไม่เห็นทางรอด


ผ่านครึ่งปีแรกอย่างรวดเร็ว ถึงตอนนี้ให้คะแนนบริหารจัดการของรัฐบาลขนาดไหน มีความกังวลหรือมีความหวังในครึ่งปีหลังอย่างไร

การบริหารจัดการเศรษฐกิจขณะนี้ไปพัวพันกับเรื่องบริหารโควิดด้านสาธารณสุขซึ่งรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์พลาดพลั้งในเรื่องของวัคซีน เรื่องบริหารจัดการป้องกันการแพร่กระจาย ซึ่งเวลานี้แนวโน้มจะสะเทือนเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจซึ่งน่าเป็นห่วง ขณะนี้ปัญหาเริ่มรุมเร้าขึ้น ถ้าเรามองไปข้างหน้าอีก 6-12 เดือนน่ากังวลมาก


ความกังวลหมายถึงทุก Sector ใช่ไหม เพราะบางคนบอกว่าการส่งออกน่าจะดีขึ้น

ต้องอธิบายภาษาง่ายๆ ตอนก่อนโควิด เศรษฐกิจอยู่ในระดับ 100 พอหลังโควิดไปแล้วถ้าเราถือหลักว่าโควิดมันไม่ใช่ 12 เดือนจบ และเวลานี้ดูแล้วมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ตอนแรกที่อังกฤษกลายพันธุ์เป็น Alpha ที่อินเดียเรียก Delta ประชากรโลกมี 6,000 ล้านคน กว่าวัคซีนจะกระจายไปทั่วต้องใช้เวลา ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายทุกประเทศสามารถเป็นแหล่งกลายพันธุ์ต่อไป จะเป็น Omega ได้ตลอด มองในแง่นี้ตัวไวรัสเป็นปัญหาที่ต้องบริหารอีก 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย

สมมติถ้าเศรษฐกิจก่อนเกิดโควิดอยู่ในระดับ 100 เวลานี้บางประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว เปิดประเทศแล้ว ถึงแม้จะเปิดอย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นลักษณะที่เราเรียกว่าเศรษฐกิจ 90% อย่างน้อยอีก 2-3 ปี พูดง่ายๆ มีบาง Sector ไม่ฟื้นคืนกลับมาง่าย ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว โรงแรม บันเทิงหมู่ กีฬา จะถูกกระทบหมดเลย

เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าทั่วโลกเป็นลักษณะเดียวกันหมด เวลาเราบอกว่าประเทศ 90% และไปเรื่อยๆ อันนี้กระเทือน แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่มีความรู้สึก เรามีความรู้สึกไม่หนักมากเพราะมีประเทศตะวันตกที่รัฐบาลยอมกู้เงินเป็นจำนวนมหาศาล แล้วเอาเงินมาอัดฉีดมาเป็นนโยบายการคลังแจกเงินให้กับประชาชน ทีนี้พอแจกเงินเข้ามาในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือยุโรป เงินที่แจกมีผลในประเทศแถวเอเชียโดยตรงเพราะทำให้การจับจ่ายใช้สอยในแง่ซื้อสินค้ามันบูม ทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากจีนจากเอเชีย เราจะเห็นตัวเลขส่งออกหลายประเทศรวมทั้งไทยมันวิ่งสูงขึ้น และขณะนี้เกิดปัญหาคอขวดในการส่งสินค้าต่างๆ เวลานี้เศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาและยุโรปพอเขาฉีดวัคซีนพอสมควรเขาก็จะเปลี่ยนจากการอยู่กับบ้านที่เคยไปไหนไม่ได้ จะกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น แม้ว่าใช้ชีวิตปกติมากขึ้น แต่ลักษณะการใช้เงินของเขาเปลี่ยนไป เปลี่ยนจากซื้อสินค้าไปซื้อบริการมากขึ้น การซื้อสินค้าตอนกักตัวอยู่กับบ้านส่วนใหญ่ซื้อสินค้าปรับปรุงบ้านเป็นหลักหรือซื้ออุปกรณ์มาใช้เรื่อง work from home เป็นหลัก พอซื้อไปแล้วการซื้อสินค้าในข้างหน้าจะลดลง เพราะคนไม่มีความจำเป็นที่จะซื้อโซฟารับแขกเป็นชุดที่ 2 ไม่มีความจำเป็น ซื้อโต๊ะอาหารเพิ่มอีก พฤติกรรมการซื้อก็จะเปลี่ยนไปแล้ว ซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กมาใช้พอถึงเวลาก็จบแล้ว เพราะฉะนั้นคนจะเปลี่ยนไปกินไปใช้ลักษณะการซื้อบริการมากขึ้น ซึ่งตัวเลขการสั่งซื้อสินค้าจากเอเชียจะลดลง ภาคส่งออกจะสะเทือน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐหรือยุโรปกำลังจะชะลอเพราะกำลังจะกลับไปสู่เศรษฐกิจ 90% ที่ผ่านมาเศรษฐกิจบูมขึ้นมาระดับ 100 มันมาจากเงินของรัฐบาล แต่เงินรัฐบาลที่ช่วยเข้ามาอย่างเวลานี้สหรัฐช่วยไปแล้ว 3 ระลอกตอนสมัยทรัมป์ 2 ระลอก เวลานี้มาสมัยไบเดนอีก 1 ระลอก แต่เวลานี้เงินที่ช่วยที่เขาทำโปรแกรมเกือบจะหมดแล้ว จากนี้ไปกำลังซื้อของสหรัฐจะลดลง ถ้าเรามองไปข้างหน้า 6-12 เดือนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปชะลอลงแล้วจะส่งผลกระทบมาในแถบเอเชีย ไทยก็จะเจอหนัก เดิมที่ผ่านมาไม่มีการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีกก็เดือดร้อน กลายเป็นร้านเล็กร้านน้อยปิดกิจการเต็มไปหมด แต่ที่ผ่านมาพอประคองได้เพราะมีความต้องการสั่งซื้อออร์เดอร์พวกสินค้าของใช้ แต่ถ้ามองไปข้างหน้าการขยายตัวของสินค้าหมวดของใช้มีแนวโน้มลดลงที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วันจะทำไม่ได้ ฝั่งขายสินค้าจะแผ่วลง ขณะเดียวฝั่งขายบริการยังแย่อยู่ ไม่ได้ฟื้นขึ้น ก็เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง


ดูแล้วท่องเที่ยวไม่น่าจะกระเตื้องภายใน 120 วัน เพราะดูแล้วโควิดยังไม่น่าจบ

ผมดูลีลาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในการบริหารโควิดมันเหมือนสาละวันเตี้ยลง ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจ การจองซื้อวัคซีนก่อนหน้านี้ไม่น่าเชื่อว่าขอประชาชนใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านและเวลานี้ใช้เพิ่มอีก 5 แสนล้าน เป็นเงินมากมายมหาศาล แต่จัดคิวจองซื้อวัคซีนแบบเหลือกินเหลือใช้หน่อย ตอนแรกไม่เร่งซื้อไม่ยอมทำการใช้เงินก็เป็นเงินของประชาชนแท้ๆ ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจ กลายเป็นมาตื่นตัวในช่วงหลัง กว่าจะไปต่อท้ายคิวเขา ไม่ได้เล็งหรือเตรียมวัคซีนให้กระจายหลายยี่ห้อให้เป็นทางเลือก กระบวนการนำเข้าในเรื่องวัคซีนทางเลือกอย่างกรณีการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มแล้วให้เอกชนเป็นคนออกสตางค์บ้าง แบบนี้ก็ไม่ได้คิด เพราะเอกชนเขาพร้อมอยู่แล้ว โชคดีที่สถาบันจุฬาภรณ์ออกมาช่วยเปิดประตูให้มีทางเลือก ก็เรียกว่าดีขึ้น

แต่ผมดูแล้วความสามารถการบริหารของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจ ที่ประกาศว่า 120 วันจะเปิดประเทศดูแล้วยาก ต่อให้เปิดประเทศนักท่องเที่ยวเขาก็ไม่มั่นใจในความปลอดภัยที่จะมาเมืองไทย อาจจะเป็นแค่ภูเก็ตเป็นลักษณะเกาะที่สามารถล้อมได้ง่าย เขามั่นใจอาจจะมาเกาะภูเก็ต สมุย อาจมีความเป็นไปได้ แต่จะมาทั่วประเทศไทยแบบเดิมอาจจะมีจำกัด


ถ้าเป็นแบบนี้รายได้จากขายของน่าจะน้อยลงในช่วงครึ่งปีหลัง ท่องเที่ยวก็จะไม่สำเร็จ ภาพรวมเศรษฐกิจ สภาพคล่องต่างๆ ครึ่งปีหลังยังอยู่ในภาวะที่แย่ ภาคการลงทุนไม่น่าจะมี อย่างนี้ควรมีมาตรการช่วยเหลือไหม

ในแง่การทำธุรกิจ SME แต่ละรายไม่เหมือนกัน บางธุรกิจยังมีช่องทางสดใสอยู่ อย่าง Healthcare การดูแลสุขภาพ เวลานี้คนต้องการวิตามินเสริม รักษาแพทย์แผนไทย ของพวกนี้แต่ละคนต้องมาคำนึงเองว่าแนวโน้มความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลเน้นบริหารทำ 2 อย่าง อย่างนึงคือแจกเงินให้ประชาชนใช้เพื่ออุปโภคบริโภคโดยตรง แจกมากไปแจกกระจายจนบางคนมีเยอะเกินไป จนเวลานี้เงินจะหมดลิ้นชัก แต่ยังไม่ทำให้ประชาชนตั้งหลักยืนบนขาตัวเองได้เลย ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย อีกอย่างคือมาตรการที่เน้นอุปโภคบริโภค มาตรการตลอด 7 ปีของพล.อ.ประยุทธ์แบบ ชิม ช้อป ใช้ คนละครึ่ง พวกนี้ออกมาแล้ว คนที่ไปรอดเป็นพวกนักธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายหรือสาขาเยอะ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือพวกขนาดกลางและขนาดย่อมอาจจะลำบากหน่อย


ออกซอฟต์โลนมาไม่ได้ช่วยใช่ไหม

ขณะนี้ดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรค ออกซอฟต์โลนแล้วดอกเบี้ยน้อย แต่การที่บอกมีการกู้เงินเพิ่ม ภาพขณะนี้คือเปิดวงเงินให้กู้แต่ไม่ใช่เงินให้เปล่า เป็นเงินที่กู้แล้วต้องชำระคืน เงินลักษณะแบบนี้ถ้าเขาเอาไปแล้วมีอนาคต เขาเอาไปทำพลิกแพลงก็มีโอกาสเอาเงินมาชำระคืนหนี้ได้ เขาก็อยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นแบงก์รัฐหรือเอกชนก็อยู่รอด แต่ถ้ากลายเป็นเอาเงินไปซื้อสินค้า กลายเป็นไปจัดวงเงินให้เขาเพื่อให้มีวงเงินหมุนเวียนกันไปในเศรษฐกิจระดับนึง ต้องบอกว่าไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง ผมพยายามให้ข้อมูลว่าในต่างประเทศอย่างในยุโรปเวลาเขาให้เงิน เงินไม่ได้ลงไปที่คนงาน พนักงาน ประชาชน แต่เขาพยายามให้เงินกับนายจ้าง เขาบอกว่าถ้านายจ้างไม่ให้ลูกจ้างออกจากงานบางช่วงรัฐบาลจะช่วยรับภาระเงินเดือนลูกจ้าง 100% ช่วงล็อกดาวน์อาจจะรับภาระแทนให้ 80-90% ก็ว่ากันไป ลักษณะแบบนี้คือผูกโยงสำนักงานกับคนงานเอาไว้กับนายจ้าง ขณะเดียวกันทำให้นายจ้างลักษณะ SME พออยู่ได้ด้วย

แต่มาตรการพล.อ.ประยุทธ์เน้นเอาเงินลงไปค่อนไปทางใช้กับฐานเสียง จึงมีการคิดชื่อโครงการพิสดารและมีกฎซ้อนกฎ เท่าที่ดูแล้วเพลิดเพลิน ทำให้คนไม่ลืมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ว่าจัดเงินมาแจก เปรียบเทียบได้คือแม่วัวรีดนมออกมาเพื่อเลี้ยงลูก ปล่อยให้แม่วัวตายไปหมดแล้ว พอแม่วัวตายก็มีปัญหาขาดนม ก็ต้องไปยืมเงินมากลายเป็นเพิ่มหนี้สาธารณะ กู้เงินมาแจก เพื่อซื้อนมให้ลูก แต่แม่วัวตายไปแล้ว กว่าจะฟื้นมันยาก เขาไม่ได้ทำนโยบายเลี้ยงแม่วัวเพื่อให้แม่วัวมีนมไปเลี้ยงลูกเวลานี้เลี้ยงประชาชน พอเลี้ยงไปเลี้ยงมาแม่วัวที่เคยให้นมเราไม่อยู่แล้ว ก็ลำบาก


มองว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินตึงตัวหรือฝืด เป็นวิกฤตระลอกใหม่ทางเศรษฐกิจเร็วไหม

ผมมองว่าอาการเศรษฐกิจ 90% ของสหรัฐจะเริ่มแสดงอาการชัดขึ้นภายใน 1-2 เดือน มันจะแสดงอาการว่าจริงๆ แล้วเศรษฐกิจไม่ได้ดีอย่างที่คิด และที่เราคิดว่ามันฟื้น ตอนล็อกดาวน์มันลงเหลือ 50 แล้วเราคิดว่ากลับมาฟื้นเป็น 100 เพราะมีการให้กลูโคสจากรัฐบาลเข้าเส้นเลยช่วงนั้น แต่เวลานี้กลูโคสมันหมดแล้ว เหลือแต่ว่าจะออกกลูโคสใหม่ผ่านนโยบายสภาสหรัฐได้ขนาดไหน ผมเดาว่าพออาการชัดเจนว่าพอไม่มีกลูโคสร่างกายซูบผอมกลับมา 90% กลายเป็นการจ้างงานก็แย่ สภาพต่างๆ ก็ไม่ดี ตรงนี้จะเป็นข้ออ้างทำให้พรรคเดโมแครตพยายามเคี่ยวเข็ญวงเงินที่จะใช้จ่ายออกกฎหมายผ่านรัฐสภาอีกก้อน 4-6 ล้านล้าน อีกเยอะเลย เพราะปีหน้าเป็นปีเลือกตั้งมิดเทอมเขาก็พยายามเอาชนะให้เกิน 50 เวลานี้คะแนน 2 พรรคมันแบ่ง 50:50 พอดี เขาต้องเอาให้เกิน 50 ให้ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเราอาจจะเสี่ยงระยะสั้น พอเขามีการใช้จ่ายผลอานิสงส์ก็จะสะสมมาประเทศไทย อาจจะต้องรอถึง 6 เดือนเราถึงจะเห็นชัด

4 views

Comments


bottom of page