top of page
312345.jpg

ศึกหนักครึ่งหลัง ปี '64...คาดเงินเฟ้อทะยาน-สภาพคล่องหด


Interview : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยการลงทุน

บล.ไทยพาณิชย์


ครึ่งหลังปี 64 กระแสลมปะทะหน้าเต็มๆ ความเสี่ยงระดับโลกยกขบวนมากันพร้อม ทั้งดอกเบี้ยที่จ่อคิวปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาด เงินเฟ้อทะยานพุ่งสูง ปริมาณ QE มีท่าว่าจะลดลงทำสภาพคล่องหดหาย กระทบตลาดหุ้นเต็มๆ รวมถึงอเมริกาที่จับมือพันธมิตรทั้ง G7 และนาโต้ร่วมกันอัด-กดดันจีนอีกรอบจะสร้างปัญหาให้โลกอีกครั้ง ส่วนไทยรับความเสี่ยงทุกองศา ทั้งความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ-การเงินโลก ความอ่อนแอของเศรษฐกิจ-การเงินของไทยเอง ที่หนักสุดคือความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์อินเดียและอังกฤษรุมกระหน่ำไทย ทำให้ GDP เก่งสุดอยู่ที่ 2% นักท่องเที่ยวต่างชาติมากสุดแค่ 5 แสนคน ต่อให้มีโครงการ Sandbox ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก ด้านตลาดหุ้นไทยก็เสี่ยงไม่แพ้กัน ทุกวันนี้พอจะยืนอยู่ได้เพราะนักลงทุนรายย่อยของไทยเอง แต่ที่สุดแล้วจะไปไหนไม่ได้ไกล เตือน...ต้องเลือกหุ้นและระมัดระวังขั้นสูงสุด


เหตุการณ์ที่มีการคุมเข้มกทม.และปริมณฑล และจังหวัดภาคใต้สุดด้ามขวาน มีคำสั่งปิดแคมป์คนงานกว่า 400 แห่ง ร้านอาหารถูกสั่งห้ามนั่งกินในร้าน มองสถานการณ์นี้ว่ามีผลต่อหุ้นอย่างไร

มองเห็นว่ามันชัดเจนแล้วว่าครึ่งปีหลังมันเป็นภาพลมปะทะหน้าไปแล้ว เพราะความเสี่ยงมีมากขึ้นหลังจากเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน ซึ่งจริงๆ สัญญาณเตือนมีก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน สิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นคือพันธบัตร 10 ปีของอเมริกาไม่ได้ไปไหน แทนที่จะวิ่งขึ้นกลับลงมาด้วยซ้ำ และพันธบัตร 2 ปีขึ้น ยิ่งทำให้ตัวผลต่างของพันธบัตร 2 ปี และ 10 ปีที่เอาไว้ชี้วัดในเรื่องภาพเศรษฐกิจมันยิ่งลดลงค่อนข้างเร็ว ภาพแบบนี้เป็นสัญญาณเตือนบ่งชี้ว่าความเสี่ยงในอนาคตมีมากขึ้น

ถ้าเราไปดูเรื่องเศรษฐกิจตัวเลขต่างๆ ในอเมริกา จีน จะเห็นสัญญาณว่าเริ่มนิ่งแล้ว และถ้าตัวเลขประกาศออกมาไม่เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดก็จะเป็นตัวเลขที่ผิดคาด พอภาพเป็นแบบนี้ยังพอไปได้ แต่เริ่มนิ่งๆ และเป็นขาลงหน่อยๆ ขณะที่เงินเฟ้อที่ขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ในการประชุมเฟดก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเงินเฟ้อที่ขึ้นแรงมันผิดคาดเหมือนกัน เมื่อผิดคาดเขาก็ส่งสัญญาณมาอย่างนึงคือดอกเบี้ยต้องมีการปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งถ้าดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็ว QE ต้องลดลงเร็ว ก็ทำให้สภาพคล่องค่อยๆ หาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ตอนนี้ แต่เขาก็ต้องประกาศเพิ่มขึ้นต่อไป พอตลาดหุ้นได้ข่าวก็ตกใจ ตกลงมามาก เจอโรม พาวเวลลื ถึงออกมาพูดว่ายังไม่รีบ เพื่อคานตลาดให้สบายใจ

แต่จริงๆ ภาพต่อไปคือสภาพคล่องจะไม่เหมือนเดิม ผมไปลองดูช่วงในอดีต QE สมัยหลังแฮมเบอร์เกอร์ มี QE1 QE2 QE3 ตัวเลขหลังการทำ QE คือการลดทอน QE สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลตอบแทนพันธบัตรมันลง แปลว่าตลาดเริ่มมีความกังวลมากขึ้นว่าก่อนหน้านี้มีปัจจัยลบอะไร ถ้าสภาพคล่องมา ตลาดยังไปต่อได้แน่นอน แต่ถ้าสภาพคล่องเริ่มหมด เรื่อง bond yield เริ่มลดลง และ ตอน QE1 ปี 2010 QE2 ปี 2011 ตอนนั้นหุ้นลงด้วยแต่ QE3 ตอนนั้นเฟดถอนเงินเหมือนกัน ค่อยๆ ลดทอนการอัดฉีดและในที่สุดถอนเงิน แต่หุ้นยังไปได้ต่อ

เมื่อถอนสภาพคล่องออก ภาพหุ้นในตลาดโลกในตลาดอเมริกาคือมันเริ่มเสี่ยงมากขึ้น จะลงทุนต้องดูปัจจัยพื้นฐานว่ายังไปได้หรือไม่ นอกเหนือจากนั้นเป็นเรื่องนโยบายการคลังของอเมริกา คือรัฐบาลไบเดนจะขึ้นภาษี อันนี้ของจริง พยายามเน้นเรื่องการขึ้นภาษีอย่างเยอะโดยเฉพาะภาษีนิติบุคคลอย่างไรอย่างน้อยต้องจ่าย 15% จากรายได้ ดังนั้น นโยบายภาษี นโยบายการคลัง นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงปัจจัยอีกอย่างคือเรื่องของท่าทีอเมริกาที่อัดจีนแรงขึ้น และไม่ใช่แค่ตัวอเมริกาเอง แต่ดึงพันธมิตรในกลุ่ม G7 รวมถึงนาโต้ที่มีการประชุมในช่วงที่ผ่านมาที่พยายามอัดจีนมากขึ้นมีท่าทีแข็งกร้าวกับจีนมากขึ้น ภาพพวกนี้เป็นความเสี่ยงในระยะต่อไป คือ เป็นภาพของโลกโดยรวมทั้งหมด


แล้วไทยจะเป็นอย่างไร

ในส่วนของไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น เดิมทีเรามีการปรับประมาณการลง เพราะเศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากการระบาดรอบ 3 ตั้งแต่เมษายนมันรุนแรง และเป็นการระบาดของสายพันธุ์อังกฤษซึ่งมันค่อนข้างคุมยาก สำหรับสายพันธุ์อังกฤษต้องไปดูที่อังกฤษปีที่แล้วซึ่งกว่าจะหายยากมากเลย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ปีที่แล้วนายกฯ อังกฤษก็ติดโควิดไปด้วย คราวนี้ยากกว่านั้นเพราะสายพันธุ์อินเดียเข้ามาอีก เดลตา พลัส ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะสายพันธุ์นี้โหดกว่าสายพันธุ์อังกฤษอีก ติดง่าย อยู่ในตัวนาน ติดแล้วอาการรุนแรงโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ความเสี่ยงจึงมีมาก

มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นค่อนข้างยากแล้ว ตัว GDP อย่างดีที่สุดอยู่แถว 2 และนักท่องเที่ยวอยู่แถว 500,000 คน ต่อให้มีโครงการแซนด์บอกซ์ต่างๆ นักท่องเที่ยวก็คงยังไม่เข้ามาถ้าบ้านเราติดขนาดวันละ 3,000-4,000 แบบนี้ ถึงแม้บ้านเขาฉีดวัคซีนแล้วกลับไปก็ต้องกักตัวเพราะประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยง รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจีนด้วย เขาปิดประเทศไม่ให้คนออกไป อยากเที่ยวก็เที่ยวแต่ในจีน

ตอนนี้วัคซีนที่จะฉีดในไทยยังน้อยอยู่ ตอนนี้ทางแก้ทางเดียวคือต้องล็อกดาวน์เหมือนปีที่แล้ว ถ้าไม่ล็อกดาวน์ก็จะติดกันแบบนี้ ต่อให้ยิ่งปิดแคมป์ก็ไม่ได้ผล ต่อให้ปิดแคมป์แรงงานก็กลับต่างจังหวัด ก็จะเหนื่อย มีการหนีกันมากมาย มันคุมค่อนข้างลำบาก เหมือนเราอยู่ห้องแอร์แต่ถ้าเราปิดประตูไม่สนิทมันก็ไหลออกได้ ปิดไม่สนิทยิ่งทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้วย ถ้าคิดจะปิดก็ปิดไปเลยแล้วล็อกดาวน์แบบคราวที่แล้ว และอัดมาตรการการเงินการคลังแบบสุดๆ ซึ่งก็ไม่กล้ากันทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ คือไม่อยากกระตุ้นมากแล้วเพราะกลัวเรื่องวินัยการเงินการคลัง ใช้คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ คนยังไม่เข้ามาลงทะเบียนมากนัก ในฝั่งนโยบายการเงินใช้เรื่อง soft loan ใหม่คนก็ไม่มาใช้มากนักเหมือนกัน เพราะแบงก์ก็ไม่อยากปล่อย เพราะกลัวความเสี่ยง ทุกอย่างมันหนักหน่วงจะไปทางไหนก็ไม่ได้ ถ้าไม่ปิดไปเลยก็ปล่อยแบบนี้ไปเลย ไม่ต้องไปกันเขามากเพราะคุมอะไรไม่ได้มาก ต่อให้คุณเอาทหารไปคุม แต่จะไปคุมทุกที่หรือทุกโรงงานนั้นจะมีแผนอย่างไร รวมถึงมีหลายคลัสเตอร์ อย่างวันก่อนได้ยินเป็นร้อยคลัสเตอร์ ก็ต้องทนแบบนี้ต่อไปเหมือนอังกฤษตอนที่เขาเป็นจนคนเขาชิน บุคลากรทางการแพทย์รับไม่ไหวก็ไปพักอยู่บ้านกัน

สถานการณ์มันแย่ เศรษฐกิจก็ยังไปไม่ได้อยู่ดี ก็เข้าใจและเห็นใจ แต่ถ้าไม่ล็อกดาวน์เต็มที่ก็ไม่ล็อกดาวน์เลยดีกว่า ในมุมมองของผมนะ


มองว่าหุ้นครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร

ถ้ามองเรื่องตลาดหุ้น ความเสี่ยงก็มีมากขึ้น เมื่อมองจากภาพเศรษฐกิจโลก ปัจจัยบวกมีปัจจัยเดียวคือส่งออกที่ดีมาก โต 40% และยิ่งเงินบาทอ่อนยิ่งเป็นตัวช่วยให้รายได้ประเทศมากอยู่ แต่ส่งออกก็เริ่มมีความเสี่ยงเพราะสินค้าเกษตรหลัก เช่น เนื้อหมูแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องเริ่มติดลบ เพราะเขากลัวที่บ้านเรามีการระบาดของโควิด-19 ก็อาจจะต้องระมัดระวัง ก็ถือว่าไปได้ในเรื่องส่งออก แต่ภาพอื่นๆ ในเชิงปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังไปไม่ได้ขนาดนั้น

ที่เห็นว่าหุ้นเราไปช่วงที่ผ่านมาที่ไปต่อได้หลักๆ คือการเทรดของรายย่อยในประเทศทั้งนั้นเพราะสภาพคล่องที่ยังค่อนข้างสูง ก็ยอมรับว่าส่วนนึงเกิดจากแบงก์ชาติระบายสภาพคล่องโดยพฤตินัย ใช้สภาพคล่องโดยการไม่ออกบอนด์ ผมดูตั้งแต่ปีที่แล้วเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบันแบงก์ชาติออกพันธบัตรลดลง 900,000 ล้าน แสดงว่าสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ก็จะไปแมตช์กับกระทรวงการคลังที่เขาออกบอนด์มากขึ้นเพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ แต่เงินสภาพคล่องที่มากขึ้นก็ไหลไปตลาดหุ้นตัวที่ 1 ตัวที่ 2 คือเงินของคนที่ยังเป็นพนักงานประจำซึ่งรายได้ไม่กระทบจากโควิด ไม่ได้ทำอะไรเพราะออกไปไหนไม่ได้มาก ก็หันมาเล่นหุ้นบ้าง เราจะเห็นคริปโทฯ ยังไปต่อได้

ภาพโดยรวมจริงๆ ปัจจัยพื้นฐานเรามีความเสี่ยงมากขึ้นในครึ่งปีหลังอย่างแน่นอน ตัวผลประกอบการที่เอามาใช้คำนวณใช้ปี 2022, 2023, 2024 ด้วยซ้ำ มอง 3-4 ปีข้างหน้ากว่าโควิดหายไป แต่ถามว่าจะหายใกล้ๆ ไหม มันยังไม่หายแน่นอน จากนี้ไปถึงสิ้นไตรมาส 3 การลงทุนยังมีความเสี่ยงมากขึ้น ต้องระมัดระวังมากขึ้น เราคิดว่าคงอยู่แถวนี้ ไม่ได้ขึ้นไปไกลมากเท่าไหร่ อาจจะต้องมีการเลือกหรือระมัดระวังในการลงทุน

19 views
bottom of page