top of page
347550.jpg

เตือนไทยแล้งน้ำหนัก....'นาปรัง' เสียหายกว่าครึ่ง



ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ


100 วันอันตราย! แล้งหนักถึง เม.ย. ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู หนักสุด เหตุเขื่อนอุบลรัตน์แห้งขอด ทั่วประเทศเจอวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ มีน้ำแค่ 17-27% น้อยกว่าปี 2558 ที่ถือว่าเคยแล้งจัดมาแล้ว พื้นที่เพาะปลูกข้าวภาคกลางถูกกระทบจังๆ นา 4.5 ล้านไร่จะได้ผลผลิตแค่ 2 ล้านไร่ เสียหาย 2.5 ล้านไร่ วอนนาข้าวที่ปลูกเดือน พ.ย.-ธ.ค. งดสูบน้ำเข้านา เพื่อให้ข้าวที่ปลูกมาก่อนและกำลังออกรวงโตได้เต็มที่ เชื่อรัฐจะเข้ามาเยียวยาชาวนาที่ได้รับความเสียหาย ส่วนน้ำกิน-น้ำใช้ ต้องช่วยกันประหยุดสุดฤทธิ์ คนปลายน้ำ-ห่างไกลแหล่งน้ำชลประทานควรสำรองน้ำใส่ตุ่มใส่ถังไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน


ประเมินสถานการณ์น้ำในปีนี้อย่างไร


ฝนมีปริมาณน้อย ถ้ารวมมาตลอดปีที่แล้ว ฝนโดยทั่วไปตกน้อยกว่าปกติไป 20% หมายถึงว่าตกไปเพียง 80% สิ่งที่น่าตกใจอย่างยิ่งคือภาคกลางของเราปกติจะอุดมสมบูรณ์กว่าภาคเหนือ มากกว่าภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปรากฏว่าภาคกลางมีฝนตกน้อยกว่าปกติ 30% ฉะนั้น น้ำฝนก็เหลือน้อยกว่าปกติ เหลือเพียง 70% ปัญหาก็อยู่ที่ว่าน้ำฝนน้อยมารวมกันกับปัญหาหน้าแล้ง เท่ากับว่า 100 วันอันตราย


เราดูแล้วเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ภาคเหนือก็แล้งกว่าปกติแต่ก็ไม่มาก แต่ก็ประสบภาวะน้ำน้อยอยู่แล้ว ขณะที่ภาคอีสานในบางพื้นที่เช่นพื้นที่ที่อยู่บริเวณขอนแก่น มหาสารคาม เดิมเขาใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ แต่ปรากฏน้ำในเขื่อนดังกล่าวตอนนี้ไม่มีเลย ทั้งที่เรามีพายุมา 3 ลูก แต่ปรากฏว่าจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดฝนตกเป็นหย่อมๆ หนักเป็นหย่อมๆ อย่างที่ขอนแก่นมีพายุวิภาเข้ามา และยังมีพายุอีกลูกเข้ามา ปรากฏว่าด้านตะวันออกของขอนแก่นฝนตกเยอะ บางพื้นที่น้ำท่วม แต่ด้านตะวันตก ทางชุมแพ ภูเวียง ฝนไม่ตกเลยทั้งที่มีพายุเข้า ตรงนี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ตอนนี้ผลเลยมาออกตอนฤดูแล้ง 100 วันอันตราย ดังนั้นพี่น้องที่อยู่แถวชัยภูมิ หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม ก็จะหนักแน่ๆ เพราะหวังจะใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์นั้น ตอนนี้ไม่มีเลย แห้ง ส่วนที่บุรีรัมย์อีกแห่งที่จะแล้งหนักด้วยเช่นกัน

ส่วนภาคกลางที่ว่าน่าตกใจเพราะฝนมาน้อยกว่าปกติ 30% และภาคเหนือฝนน้อยกว่าปกติ 20% ซึ่งภาคกลางมีการปลูกข้าวถึง 8 ล้านไร่ และปลูกในฤดูแล้งครึ่งหนึ่งคือ 4 ล้านไร่ ในฤดูแล้ง ภาคกลางจะใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสัก คือเอา 3-4 อ่างมารวมๆ กัน ปรากฏว่าปีนี้น้ำที่มีอยู่ในอ่างน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพลมีน้ำเพียง 17% เขื่อนสิริกิติ์มี 27% เขื่อนแควน้อยมีเยอะหน่อย 40% หน่อย ส่วนเขื่อนป่าสักที่มีความสำคัญ คือหากน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีน้อยและส่งมาช้าจะต้องเอาน้ำจากเขื่อนป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักมีน้ำแค่ 22% เท่านั้น ตอนนี้เลยเป็นปัญหาหนัก


กระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวแค่ไหน


หลังจากดูภาพถ่ายดาวเทียม ปรากฏว่าพื้นที่ปลูกข้าวนับถึงสิ้นปีคือ 31 ธันวาคม 2562 ยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวหน้าแล้งอยู่ 4.5 ล้านไร่ ไล่ตั้งแต่สุโขทัยลงมา มีพิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อยุธยา ปทุมธานี ทั้งหมดต้องขอความร่วมมือกันจริงๆ ว่าใครที่ปลูกข้าวนาปรังเริ่มปลูกเมื่อไหร่ หากปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ตอนนี้ต้องขอความร่วมมือเลยว่าอย่าไปสูบน้ำเลย อย่าไปขอน้ำจากชลประทานมาเลย เพราะน้ำไม่มีให้ท่านแน่ๆ หรือท่านที่มีเงินมีทอง สามารถจะสูบน้ำจากตรงนั้นตรงนี้ บอกเลยขอให้งด อย่าสูบเลย เพราะมันจะไปแย่งตัวข้าวที่เขาปลูกมาแล้ว 3 เดือนซึ่งใกล้จะออกรวงแล้ว คาดว่าจะมีข้าวที่ได้ผลเพียง 2 ล้านไร่ และจะเสียหายไป 2.5 ล้านไร่ ดังนั้นต้องเห็นใจกัน เป็นเพื่อนเกษตรกรกันทั้งนั้น หากใครปลูกข้าวเดือนพฤศจิกายนกับเดือนธันวาคม ขอให้งดสูบน้ำเลย เพราะสูบไปท่านก็แย่งน้ำคนอื่น และท่านก็ไปไม่รอดหรอก เพราะเดือนหน้าจะมีข้าวที่ตายหมด เพราะฉะนั้นจะต้องให้คนที่ปลูกข้าวมาก่อนหน้าแล้วคือ 2 เดือนขึ้นไปมีโอกาสได้สูบน้ำไปเลี้ยงเพื่อพอจะได้ผลผลิตบ้าง ไม่เช่นนั้นผลผลิตข้าวจะเสียถึง 4 ล้านไร่ ก็ต้องทำใจ เพราะมันเป็นอย่างนี้จริงๆ เกษตรกรที่ปลูกข้าวช้ากว่าเพื่อนต้องเสียสละ ใครที่ปลูกยังไม่เกิน 2 เดือนก็ต้องยอมให้ข้าวตายไปเลย ส่วนรัฐบาลจะมาชดเชยอะไร ก็ต้องเป็นกระบวนการต่อไป


น้ำกิน-น้ำใช้ก็มีปัญหา


เป็นส่วนของน้ำเพื่อการบริโภค ทุกคนมองว่ามีน้ำเค็มขึ้น ก็ยังถือเป็นปกติ ช่วงนี้ในกรุงเทพฯ น้ำเค็มขึ้นสูงอีกในช่วงวันที่ 20 กว่าเป็นต้นไปของเดือนมกราคม ตั้งแต่วันที่ 23-31 มกราคม 2563 เป็นอีกช่วงหนึ่งที่น้ำเค็มจะขึ้น วันหนึ่งจะขึ้น 2 ครั้ง ทางประปานครหลวงก็อกสั่นขวัญแขวนว่ามันจะไหวไหม เราก็ต้องเห็นใจ เพราะน้ำมันอาจจะมีรสชาติเฝื่อนๆ บ้าง เพราะน้ำทะเลขึ้นไปถึงปทุมธานีเลย ทางกรมชลประทานก็พยายามจะเอาน้ำดีมาไล่น้ำเค็ม ซึ่งถ้าจะเอาน้ำดีมาไล่ให้เพียงพอ จะต้องใช้ 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีถึงจะเพียงพอ แต่ปัจจุบันสูบน้ำมาเพียง 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ขาดไปสัก 20 ก็เลยมีบ้างในช่วงเช้าๆ ที่การประปานครหลวงก็พยายามประคับประคองเอาน้ำตอนเช้ามาทำประปา คือ 2-3 ชั่วโมองพอไหว แต่หลังจากนั้นน้ำประปาก็ต้องมีรสชาติกร่อยบ้าง


เห็นว่าจะพยายามผันน้ำจากแม่กลอง จากท่าจีนไหวไหม


ตอนนี้ทั้งกรมชลประทาน การประปานครหลวงก็ร่วมมือกันในการที่จะผันน้ำ ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลอง คลองจระเข้สามพราน คือเดิมผันมา 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็เหลือ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะพ่อแม่พี่น้องเขาก็ใช้น้ำด้วย ส่วนคลองประปาผันเพิ่มเข้ามา 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตอนนี้ถือว่าจากการผันน้ำมาจากหลายคลองก็ได้ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยกันดันน้ำในตอนล่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแถวบางบัวทอง แถวบางกอกน้อย ไม่ให้น้ำเค็มลงไป กรมชลประทานแถวๆ คลองลัดโพธิ์ก็ต้องเปิดอีกบานประตูเป็นจังหวะๆ พอช่วงเช้าน้ำขึ้น 3 ชั่วโมง เขาก็จะปิด พอน้ำลง ก็พยายามไล่น้ำเค็มลงไปอีก


แต่ว่าน้ำที่จะปล่อยจากอ่างเก็บน้ำหลักทั้งหลายมาไล่น้ำเค็ม 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ต้องถนอม จะปล่อยไปถึง 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีก็ไม่ไหว เพราะน้ำจะมีใช้ไม่ถึง 100 วัน


สถานการณ์วิกฤตของน้ำที่เป็นอยู่ จะนานแค่ไหน


ปัจจุบันน้ำฝนที่ตกลงมาทุกเม็ด เราเองก็อยากจะเก็บ พื้นที่ที่มีอ่าง พอที่จะสร้างอ่างได้ดีมีไม่มาก ปัจจุบันเราเก็บน้ำได้ 25% ของปริมาณน้ำท่าที่ตกลงมา คือน้ำฝนที่ตกลงมา 100% จะตกไหลลงแผ่นดินซึมลึกไปบ้างก็จะเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วเราก็จะเก็บมาครึ่งหนึ่งคือ 50% เราเองมีโอ่งมีอ่างขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เก็บไว้อีกครึ่งหนึ่งก็ได้เพียง 25% ที่เหลือน้ำก็จะไหลทิ้งลงทะเลไป เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งก็คือการที่จะทำแก้มลิงต่างๆ เพื่อเก็บน้ำไว้ปลายฤดูฝนจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันเก็บเล็กผสมน้อยในที่ของตัวเอง ใครมีที่ที่เหมาะสมพยายามสร้างสระเก็บน้ำในไร่นาของตัวเอง สระเก็บน้ำประจำหมู่บ้าน ประจำตำบล ต้องช่วยกัน


หากฝนไม่ตก จะทำอย่างไร


พี่น้องที่อยู่ในเขตที่ปากคลองต่างๆ สามารถส่งน้ำได้ ทางกรมชลประทานเองจะพยายามจัดสรรน้ำให้ได้ 100 วันคือถึงเดือนพฤษภาคม รอฝนตก ถ้าปีนี้ฝนตกล่าช้าไปกว่า 21 พฤษภาคม ก็ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดไปให้ถึงช่วงฝนตก ที่สำคัญคือพี่น้องที่อยู่นอกเขตชลประทาน คือพื้นที่ไม่ได้อยู่ใกล้คูคลอง ตรงนี้ก็เป็นปัญหาอย่างยิ่ง เพราะต้องอาศัยแหล่งน้ำของตัวเอง เช่นในไร่นา สระประจำหมู่บ้าน และอีกอย่างหนึ่งคือกลุ่มน้ำบาดาลก็ระดมไปรื้อฟื้น พยายามรีบซ่อมในทุกหมู่บ้าน และนอกจากน้ำบาดาลก็ต้องเป็นการขนน้ำของกระทรวงมหาดไทย ตอนนี้ก็เตรียมรถไว้เต็มที่ในการที่จะขนน้ำจากแหล่งที่มีไปให้พ่อแม่พี่น้องในหมู่บ้าน แต่จะให้เขาขนทุกวันคงไม่ไหว สัปดาห์หนึ่งคงจะได้ 2 ครั้ง ดังนั้นพ่อแม่พี่น้องจะต้องมีโอ่งที่บ้านเป็นของตัวเอง


น้ำในเขื่อนที่เหลือในขณะนี้ ถือว่าน้อยกว่าทุกปีหรือไม่


ถ้าเทียบกับปีที่แห้งแล้งจัดคือปี 2558 ตอนนั้นเรามีน้ำในเขื่อนภูมิพล 24% แต่วันนี้เรามีน้ำในเขื่อนภูมิพล 17% ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ ปี 2558 จะมีอยู่ 45% แต่ตอนนี้มี 27% หรือมีไม่ถึงครึ่งของปี 2558 ซึ่งขณะนั้นถือว่าแล้งหนัก จากค่าตัวเลขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำฝน น้ำท่า น้ำที่เอามาใช้จัดสรร แต่ตอนนี้เรามีน้ำประมาณครึ่งหนึ่งของปี 2558 เพราะฉะนั้นตัวนี้เป็นตัวอันตรายเลยแม้แต่ในพื้นที่ชลประทานที่มีคูคลองต่างๆ ในการจัดสรรน้ำส่งน้ำได้ ก็ยังมีน้ำครึ่งหนึ่งของปี 2558 เท่านั้น ดังนั้นพ่อแม่พี่น้องนอกเขตชลประทาน จะทุกข์หนักกว่าในเขตชลประทานแน่


100 วันอันตราย นับตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน


นับจากเดือนมกราคมไปถึงสิ้นเดือนเมษายน ก็ต้องไปนั่งรอลุ้นว่าฝนจะตกวันที่ 15-21 พฤษภาคมไหม เพราะปกติหลังสงกรานต์พอจะมีฝนให้ชื่นใจบ้าง แต่ก็ไม่พอกินพอดื่มหรอก ซึ่งพ่อแม่พี่น้องต้องเก็บน้ำเป็นของตัวเอง ในแต่ละบ้านต้องเก็บน้ำไว้ต่อคนประมาณ 200 ลิตรก็ประมาณถังน้ำมัน เพราะแม้แต่มหาดไทยก็ไม่สามารถส่งน้ำได้ทุกวัน ดังนั้นเราต้องเก็บพอไว้ใช้ไว้ดื่ม มองว่าน่าจะหนักกว่าปี 2558 ซึ่งต้องช่วยกันประหยัดตั้งแต่ภาคเกษตรกรที่ปลูกข้าว

6 views
bottom of page