ธนาคารกลางจีนพร้อมออก cryptocurrency ของตนแล้ว เกทับ Libra ว่าไม่ต้องใช้เงินกระดาษค้ำมูลค่า ส่วนเฟซบุ๊กเตรียมแพลตฟอร์มไว้รองรับ Libra ฟาก ECB เตือน เป็นการเอาเปรียบเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ
Cryptocurrency ของธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China-PBOC) ใช้ชื่อว่า Digital Yuan ซึ่ง PBOC คุยว่าเป็นเงินคริปโตที่ไม่มีสกุลเงินกระดาษหนุนมูลค่าเหมือนกับ Libra ที่มีสกุลเงินหลักของโลกหลายสกุลค้ำ
PBOC ได้ทดลองออก Digital Yuan เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 และกำหนดระยะเวลาออกสู่สาธารณชนไว้วันที่ 20 พฤศจิกายน ต่อมาเลื่อนเป็น 10 ธันวาคม แต่ด้วยความไม่พร้อมจึงเลื่อนกำหนดออกมาอีก ยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นเมื่อใด เพียงแต่บอกว่าตอนนี้พร้อมแล้ว แต่ยังไม่กำหนดเวลาแน่นอน
จุดประสงค์ในการออกดิจิทัลหยวนมี 2 ข้อซึ่ง PBOC ระบุว่าเพื่อความสะดวกในการจ่ายโอนรายย่อยและเพื่อเป็นตัวกลางในการโอนข้ามประเทศ ด้วยความรวดเร็วและค่าบริการถูก...ด้วยจุดประสงค์นี้ ทำให้ประชาชนจีนสามารถใช้ได้เหมือนกับเงินสดหรือเงินกระดาษทุกประการ
ทั้งนี้ PBOC ได้ตกลงกับบริษัทเอกชนที่รับชำระราคาสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัลแล้ว เช่น Tencent และ Ant Financial ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการหักโอนชำระราคาสินค้าของ Alibaba
การที่ไม่ใช้สำรองเงินกระดาษค้ำมูลค่าดิจิทัลหยวนนั้น PBOC ชี้แจงว่า จะใช้ฐานะและกลไกของธนาคารกลางจีนค้ำมูลค่าเอง
ตรงข้ามกับ Libra ที่ใช้สกุลเงินหลักของโลกค้ำมูลค่า โดยเข้าไปอยู่ในตะกร้าเงิน ทำให้ มูลค่าของ Libra ผูกกับสกุลเงินที่อยู่ในตะกร้าเงินอันมีสกุลเงินหลักของโลกอยู่ร่วม เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน แม้กระทั่งหยวน ทำให้สามารถซื้อ-ขาย กันได้เหมือนกับสกุลเงินกระดาษทั่วไป
อย่างไรก็ดี การใช้แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้บริการกันทั่วโลกนับพันๆ ล้านคน ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตือนว่าเป็นการเอาเปรียบสกุลเงินคริปโตอื่นๆ
กลไกที่ PBOC เชื่อว่าจะทำให้มูลค่าของดิจิทัลหยวนมีเสถียรภาพก็คือ การไม่ให้ดิจิทัลหยวนเข้าไปอยู่ในตะกร้าเงิน และธนาคารกลางของจีนหนุนหลัง โดยรับประกันการจ่ายโอนระหว่างบุคคลในระดับเดียวกันกับเงินสด และจะควบคุมติดตามมิให้มีการทำผิดกฎหมาย
ดูแล้วไม่ต่างจากการใช้เงินสดชำระราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นบัตรเครดิตรูปแบบต่างๆที่เรียกว่า e-money นัก
ออกจะเป็นการสวนทางกับจุดประสงค์ในการออกเงินคริปโต ซึ่งผู้ให้กำเนิดเงินดิจิทัลเป็นต้นแบบคือบิตคอยน์นั้น ได้แสดงจุดประสงค์ว่า ให้เป็นสกุลเงินทางเลือกในยามที่ผู้บริโภค ผู้ถือเงิน ขาดความเชื่อมั่น ขาดความเชื่อถือในธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์
รวมถึงความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล
เงินคริปโตทั่วไปใช้ทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเงินเสมือนที่มีมูลค่าขึ้นลงตามอัตราซื้อขายแลกเปลี่ยนในตะกร้าเงิน
ปริมาณเงินคริปโตหรือคอยน์ต่างๆ ที่อยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์จะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความต้องการเงินตราของผู้บริโภค...เงินคริปโตที่มีมาตรานับจำนวนเป็นคอยน์นั้นมีจำนวนจำกัด เสมือนทองคำที่ใครต้องการครอบครอง จะต้อง “ขุด” เอาเหมือนกับขุดทองคำ
ธนาคารกลางหลายแห่ง แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พากันศึกษาเรื่องเงินคริปโตและ block chain โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกด้านเงินตรา และเพื่อลดความเสี่ยงในยามที่ค่าบาทผันผวนหรือถูกโจมตีเหมือนครั้งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง
นอกจากนี้ ยังเป็นความปลอดภัยของผู้ใช้และผู้ถือเงินคริปโตอีกด้วย เพราะระบบบล็อกเชนหรือกระเป๋าเงินคริปโตนั้น เป็นระบบที่ปลอดภัย ไม่มีใครสามารถเข้ามาขโมยเงินของเราในบล็อกเชนของเราได้
การออก cryptocurrency ของธนาคารกลาง ยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ธนาคารอีกด้วย เพราะปัจจุบัน ธนาคารกลางได้รับความเชื่อถือน้อยลง
Comments