top of page
312345.jpg

สินทรัพย์ดิจิทัลโตยาก...ภาษี-กติกาโหด...นักลงทุนมีความเสี่ยงสูง


ภาคเอกชนยอมรับ กฎหมาย ICO ที่มี ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานกำกับดูแลเป็นเรื่องดี แต่ต่อรองขอทบทวนเรื่องของภาษีและข้อกำหนดหลายประการที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตการลงทุนในโลกอนาคตแบบใหม่ Crypto/ICO ยืนยันไทยหนีกระแสการลงทุนแบบนี้ไปไม่พ้น แต่ขณะเดียวกัน Crypto/ICO ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่นักลงทุนต้องพร้อมเจ็บและพร้อมรับมือหากเงินลงทุนนั้นเป็นศูนย์

นายศตพล จันทร์ณรงค์ นายกสมาคมการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว เจ้าของบริษัท ETA Money กล่าวให้ความเห็นหลังจากที่ มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวกับการซื้อขายและลงทุนในเงินดิจิทัล และ ICO นั่นคือ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีผลตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2561 ในฐานะที่อยู่ในภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงว่า มองเป็นเรื่องดี เห็นด้วย และสนับสนุนกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ที่จะมีการตีกรอบให้ชัดเจน แต่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.จัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีผลบังคับใช้พร้อมกัน เพราะกลับจะเป็นการปิดกั้นและเป็นอุปสรรคมากกว่า

“ต้องบอกว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์สำหรับผู้ประกอบการ ที่ออก พ.ร.ก. ที่ครอบคลุมทุกมิติ และกำหนดว่าใครคือ ผู้กำกับดูแลที่ชัดเจน บอกได้เลยว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลกนี้ แต่ในมุมมองผู้ประกอบการมี 2 ส่วนคือ สนับสนุน และเห็นต่าง

เราต้องมองว่าการออกกฎหมายแบบนี้ดีมาก เพราะในโลกนี้ยังไม่มีที่ใดออกกฎหมายมาควบคุมแบบนี้ นั่นหมายความว่าถ้าข่าวนี้แพร่ออกไปว่าเรามีกฎหมายควบคุม แล้วเรายืดหยุ่นทางด้านภาษี หรือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆให้น้อยลง มันจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

ข้อกฎหมายของไทยมันเอื้อมาก ถ้าไม่มีข้อจำกัดด้านภาษี มันจะดึงดูดผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาในไทย"

ทั้งนี้หลังจากทีการพูดกันมากว่า การสร้างเหรียญ หรือ เงิน Crypto และระดมทุนรูปแบบใหม่คือ ICO เป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับการรองรับ และมีความเสี่ยงสูง ขณะที่ภาคเอกชนให้ความสนใจในเรื่องนี้กันมากขึ้น มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลายแห่งจ่อออกเหรียญและโทเคนระดมทุน ICO แต่ก็ต้องแตะเบรกไว้ก่อน แต่เมื่อในที่สุด ได้มีการออก พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้มีความชัดเจนขึ้น ก็คาดว่าจะมีคนออก ICO เยอะขึ้น แต่กลับมาเจอกับดักในเรื่องของภาษี

“ถ้าเราไม่พูดเรื่องกฎหมายภาษี แรกเลยนั้นเราคิดว่าการระดมทุนนี้เป็นช่องทางใหม่ แต่วันนี้มีเรื่องภาษีเข้ามาหลายคนต้องคิด เพราะถ้าเข้ามาตลาดนี้แล้วมีต้นทุนสูงกว่าไปทางตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนรายใหญ่อาจต้องคิดเยอะ

วันนี้กฎหมายเองมีปัญหา เพราะตอนร่างกันมานั้น คณะกรรมการอาจพิจารณาจากพื้นฐานองค์ความรู้เดิมๆ กฎระเบียบบางอย่างที่ออกมาจึงไม่สอดคล้องและบางอย่างล้าสมัยอยู่ ต้องมีการพุดคุยเรื่องนี้กันเยอะ วันนี้ที่เทรดกันส่วนใหญ่มันอยู่ในกระดานต่างประเทศ เวลาคนสร้างเหรียญมีมูลค่าอยู่ในกระดานต่างประเทศอยู่แล้ว จะมามีผลตอนที่เขาเอาเงินออก เช่นเอาเหรียญบิทคอยน์มาเปลี่ยนเป็นไทยบาท ซึ่งตรงนี้แหละที่ ก.ล.ต.จะเข้ามามีส่วนกำกับดูแลควบคุมได้ ซึ่งมันก็ยังมี อุปสรรคอยู่ คือลักษณะการเทรดแตกต่างกัน มันไม่ได้เทรดบนกระดานเดียวเหมือนหุ้น ลักษณะมันแตกต่างกันมาก”

นายศตพล กล่าวอีกว่า การออกมาตรการภาษีของ สรรพากร กระทรวงการคลังมีผลกระทบไม่แค่เรื่อง VAT เพราะจริงๆแล้วยังมีภาษีรายได้ ภาษีเหมาจ่าย 20%

“รวมๆกันแล้ว ถ้าบริษัทตั้งใหม่จะมีต้นทุนภาษีเท่ากับ 27+1 8eว่า 27+1 คืออะไร แน่นอนจะมีเรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ภาษีรายได้ของนิติบุคคล 20% ส่วนอีก +1 นั้น ถ้าเราไปดูร่างที่ ก.ล.ต. ทำเฮียริ่ง คือค่าธรรมเนียมในการค้าขาย 1% ถ้าเปรียบเทียบกับการระดมทุนในต่างประเทศนั้นเราถือว่า สูงมาก รวมๆ แล้วมีต้นทุนทางการระดมทุนเกือบ 30% ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นระดับที่สูง ไม่น่าสนใจแล้ว สำหรับผู้ประกอบการ ที่จะลงทุน”

นอกจากเรื่องของ ภาษี ที่แสดงความห่วงใยแล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง ที่ฝ่ายเอกชนเห็นว่า น่าเป็นห่วง คือ การกำหนดกรอบของผู้มาขอระดมทุนหรือออก ICO เช่น นิติบุคคลต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 5 ล้านบาท การจำกัดสิทธิของการขอรับการระดมทุนได้ 4 เท่าของมูลค่าที่จดทะเบียน หรือกำกับคนที่มาลงทุนว่า ถ้าเป็นประชาชน ลงทุนได้ไม่เกิน 3 แสนบาท

“พวกนี้เป็นข้อจำกัดนอกจากตัวภาษีที่เป็นต้นทุนทางการเงินที่สูง ยังมีข้อจำกัดในมุมผู้ลงทุน ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ต่อไปจะเป็นปัญหา และอุปสรรคพอสมควร

ในฐานะคนไทย เราก็ไม่ได้อยากทำสิ่งที่คนในอุตสาหกรรมนี้พูดกันว่า การออกข้อกำหนดมาแบบนี้ เป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยหนีออกไประดมต่างประเทศกลายๆ คือเงื่อนไขไม่ได้เอื้อให้ทำในประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ภาษีอยู่ดี

ต้องย้อนกลับไปถึงการทำเงินดิจิทัล หรือไอซีโอ ว่าเป็นเครื่องมือใหม่ ช่องทางใหม่ ทำให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้เข้าถึง ผมมองว่าการทำแบบนี้เป็นการกำจัดสิทธิ์ หรือสร้างความยุ่งยาก ทำให้ไม่สามารถระดมทุน หรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ในลักษณะแบบนี้ ท้ายที่สุดผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะคิดแบบนั้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการส่งเสริม”

อีกประเด็นหนึ่งคือ ข้อกำหนดเรื่องของตัวผู้บริหาร ที่ไม่สามารถมาดูแลเกี่ยวกับการออกหรือซื้อคอยน์ได้

“ผมได้ฟังว่า ได้ยกกฎของตลาดหลักทรัพย์มาอ้างอิง ซึ่งอันนี้อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าวิธีการสร้างเหรียญกับ ออกหลักทรัพย์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในมุมของคนที่ทำหลักทรัพย์ ผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องต้องไม่อินไซด์และเทรดไม่ได้ ... ถูกต้อง ... แต่ผู้ผลิตเหรียญ และ ICO ไม่มีใครรู้ดีในเรื่องของการสร้างนิเวศของเหรียญนั้นให้เติบโตได้เท่าผู้สร้าง ดังนั้นการที่ออกกฎว่า ผู้สร้างเหรียญไม่มีสิทธิซื้อขาย ตรงนี้แหละสมาคมเป็นห่วง เพราะเราไม่ได้แยกกันสิ้นเชิงแบบนี้ ซึ่งเราต้องขอชี้แจง ก.ล.ต.ในเรื่องนี้ต่อไป”

นายศตพล กล่าวย้ำอีกว่า เรื่องของข้อกำหนดต่างๆที่เป็นอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่อยากให้ปรับเปลี่ยน เพราะมีความน่าห่วงใยมากกว่า เรื่องของการกำหนดบทลงโทษหากทำผิดกฎเสียอีก

“โทษ 2-5 ปี ปรับไม่น้อยกว่า 5 แสนสูงสุด 20 ล้าน จริงๆ เป็นตัวเลขที่ผู้ประกอบการที่ทำอะไรไม่ถูกต้องก็ต้องพิจารณา เพราะว่าหนักพอสมควร

แต่เรื่องกฎหมายบทลงโทษ เราผู้ประกอบการไม่ได้กังวลอะไรเลยนะครับ เพราะคนที่กังวลคือคนที่เขาทำไม่ถูกต้อง ในส่วนของสมาคมฯ กับ อีทีเอมันนี่ ยึดถือความถูกต้อง ดังนั้นประเด็นนั้นดีด้วยซ้ำ เพราะจะได้สกรีนพวกที่ทำผิดออกไป สกรีนพวกแชร์ลูกโซ่ที่เอาแนวคิดเรื่องคริปโตไปทำมาหากินผิดๆ จะได้มีความชัดเจน”

ทั้งนี้สำหรับในส่วนของนักลงทุน ที่สนใจลงทุนใน เงินดิจิทัล หรือ คริปโต และ ICO นั้น นายศตพลให้คำแนะนำว่า คริปโต มีความมีผันผวนด้านราคาสูงมาก

“ที่ว่ากันว่า การลงทุนมีความเสี่ยง แต่คริปโตเสี่ยงมากกว่าการลงทุนทุกประเภท เพราะการซื้อขายไม่มีปัจจัยทางธุรกิจมาเกื้อหนุนเงินคริปโตเลย ไม่เหมือนหุ้นที่มีเรื่องผลประกอบการ คริปโตเป็นเรื่องบุคคลกับบุคคล พอใจจับคู่ซื้อขาย ทำให้ราคาในกระดานทุกสกุลเงินขึ้นลงสูงมาก นี่แหละครับคือลักษณะพิเศษของคริปโต คือเราไม่มีราคากลางในกระดาน แล้วแต่พอใจตั้งขายตั้งซื้อกัน

คนที่จะมาเทรดผมจึงแนะนำอย่างนี้ครับว่า ต้องพร้อมว่าเงินก้อนที่มาลงทุนนั้น..ตีเป็นศูนย์ได้”

8 views
bottom of page