top of page
312345.jpg

ค่าเงินบาท แข็งค่าฝืนธรรมชาติ


ค่าเงินบาทไม่เต็มบาทมานานแล้ว เพราะแข็งค่าฝืนธรรมชาติ ด้วยเหตุยังฝันร้ายในพิษต้มยำกุ้งปี 2540 ไม่สร่างจึงตุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเต็มพิกัด กลายเป็นสกุลเงินแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพที่สุดในเอเชีย

ค่าบาทในตะกร้าต้นสัปดาห์ที่แล้ว USDTHB 31.275-31.31 อ่อนค่าเล็กน้อยตามสถานการณ์ระบาดโควิด-19

แต่โดยความเป็นจริงแล้ว แข็งกว่าค่าแท้จริงมาก เพราะหากคำนวณด้วยดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate, NEER) กับดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate, REER)แล้ว จะไม่ใช่ระดับ 31.00-32.00 ตามที่เป็นอยู่

หากใช้ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยย้อนหลัง25 ปี (2537-2562) จะได้ค่าเฉลี่ยแท้จริงของดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในระดับ 38.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) จะอยู่ในระดับที่ 35 บาท

ค่าบาทตามตลาดโลกยามนี้จึงสูงกว่าที่ควรจะเป็นมาก ทำให้ไทยเสียเปรียบด้านการค้ากับเพื่อนบ้านและคู่ค้าทั่วโลกมาก

การที่ดัชนีค่าเงินบาทสูงขึ้น แสดงถึงความแข็งแกร่งของเงินบาทที่เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่ง 25 สกุลเงินตรา/ประเทศ ทำให้เราเสียเปรียบด้านราคามาก

อัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทย (GDP) พึ่งพาปัจจัยภายนอกถึงกว่า 90% โดยการส่งออกมีสัดส่วน 72% ของจีดีพี การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 13%

ค่าบาทเป็นตัวแปรด้านราคามากถ้าค่าบาท แท้จริง 35 บาท/ดอลลาร์คู่ค้าต่างประเทศจะซื้อสินค้าไทยได้ 5 ชิ้น แต่เมื่อเป็น 30 บาท/ดอลลาร์ พวกเขาจะซื้อได้แค่ 4 ชิ้น

นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวเมืองไทยก่อนเกิดระบาดโควิด-19 ปีละ 40 ล้านคน เคยแลกได้ 7 หยวนเมื่อค่าเงิน 35 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้ต้องใช้ 7.78 หยวนต่อ 35 บาท/ดอลลาร์

การที่ค่าบาทแข็งเป็นเวลาถึง 22 ปีต่อเนื่องนับแต่ฟื้นจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้าไปมาก

ทางสมาคมและองค์กรการค้าระหว่างประเทศของไทยได้เคยเสนอค่าบาทที่เหมาะสมที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของไทยกับคู่ค้าไว้ที่ 34 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าบาทแท้จริง (REER) มาก แต่ธปท.ไม่กล้าทำให้ค่าบาทอ่อนลงได้เหตุผลคือเสถียรภาพของเงินบาท

ปี 2540 ที่ค่าเงินบาทถูกโจมตีจนเกิดวิกฤตการณ์เงินบาทแผ่ขยายผลไปยังเศรษฐกิจโดยรวมเสียหายยับเยินเป็น วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งที่เป็นฝันร้ายของผู้บริหารการเงินการคลังของไทยมาจนทุกวันนี้

แม้จะมองว่าค่าบาทแข็งแสดงถึงพื้นฐานและโครงสร้างเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เหตุผลคือไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด

ค่าบาทแข็ง เพราะสำรองเงินตราระหว่างประเทศของเราหนุนค่าเงินมากกว่าเหตุผลอื่น

ช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยขาดเงินออมทั้งภาคเอกชนและภาครัฐและสำรองเงินตราต่างประเทศมาก อันเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐขณะนี้ ทำให้ต้องเปิดรับดอลลาร์ไหลเข้ามาทั้งในรูปการลงทุนในตลาดทุนและการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จนมีอิทธิพลต่อค่าเงินบาท

นักลงทุนต่างชาติสามารถปั่นค่าเงินบาทได้ตามที่ต้องการทั้งด้วยเงินสดและตราสารอนุพันธ์ ครอบงำเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ที่แม้ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

นับแต่สิ้นปี 2562 เป็นเวลา 6 เดือน ฝรั่งทำธุรกรรมอนุพันธ์ดอกเบี้ยมูลค่า 650,000 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยทำแค่ 1100,000 ล้านบาทเท่านั้น

เงินที่ไหลเข้ามาลงทุนและนำกำไรกลับไปนี้ หนุนให้ค่าบาทแข็งขึ้นมา 1.3% นับแต่ 31 ธันวาคม 2563

นี่คือโจทย์การบ้านข้อสำคัญสำหรับผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ ในยามที่สึนามิเศรษฐกิจกำลังก่อตัวในขณะนี้

42 views
bottom of page