top of page
440662.jpg

พ.ร.ก. ฉบับที่ 2 ของแบงก์ชาติมาถูกทาง ช่วยผู้ประกอบการ SME แต่หลักการไม่สำคัญเท่าการปฏิบัติจริง



Interview: คุณเวทย์ นุชเจริญ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย

ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ SME และธุรกิจรายย่อย


นายแบงก์รุ่นเก๋าชี้...พ.ร.ก.ฉบับที่ 2 ของแบงก์ชาติมาถูกทาง ช่วยผู้ประกอบการ SME ทั้งเล็ก-กลาง-ใหญ่ แต่หลักการไม่สำคัญเท่าการปฏิบัติจริง แบงก์ชาติต้องกำหนดกรอบ แนวทาง กฎเกณฑ์การปล่อยกู้ของแบงก์พาณิชย์ให้ชัดเจน ฟากแบงก์พาณิชย์ต้องเข้มข้นและปรับขั้นตอนการทำงาน เพื่อปล่อยสินเชื่อได้ทันท่วงที โละเครื่องมือการวิเคราะห์สินเชื่อในภาวะปกติที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ทำไม่ได้จริงในภาวะวิกฤต พร้อมติง ‘สายเสี่ยง’ ของแบงก์ที่วิเคราะห์สินเชื่อให้ทำงานสอดคล้องกับความเป็นจริง แนะ 4 แนวทางในการดูแลสินเชื่อ SME คือตั้ง Special Team และ Crisis Board ดูแลลูกค้าเป็นกรณีพิเศษ ไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็น NPL โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีโอกาสรอดจากวิกฤตครั้งนี้ จัดลำดับความเดือดร้อนของลูกหนี้ เร่งช่วยลูกหนี้ที่เดือดร้อนสุดก่อน และต้องมีมาตรการป้องกันเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ทำงานอย่างสุจริต ตั้งใจจริง ไม่ต้องรับผิดหากลูกหนี้มีปัญหาในอนาคต


การเป็นผู้ที่มีประสบการณ์แก้ปัญหาตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตหลายอย่าง รวมทั้งเป็นผู้ที่มีบทบาทให้เกิด ‘เงินกำลังจะหมุนไป’ เพื่อช่วยบรรดาธุรกิจและชุมชน มองปัญหารอบนี้อย่างไร

อยากจะย้อนเรื่องโควิด-19 คนรุ่นเราไม่เคยเจออะไรที่รุนแรงแบบนี้ มันหนักกว่าต้มยำกุ้งมาก คนที่ได้รับผลกระทบมี 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย SME ทุกคนได้รับผลกระทบหมด มาตรการที่รัฐบาลออกมารองรับคน 3 กลุ่ม พระราชกำหนดอันแรกเงินกู้ 1 ล้านล้าน แน่นอนช่วยเหลือคนจนเดือนละ 5,000 บาท แต่วิธีการขอไม่พูดถึง เป็นปัญหาค่อนข้างเยอะสำหรับคนจำนวนมาก

ส่วนพระราชกำหนดฉบับที่ 3 ที่เกี่ยวกับเสริมสภาพคล่อง 400,000 ล้าน คนที่ออกหุ้นกู้พวกนี้เป็นคนรวย อันนี้มีการวิเคราะห์แล้วว่าสอดคล้องไหมซึ่งอันนี้ขอเว้นไว้

แต่พระราชกำหนดฉบับที่ 2 เห็นว่ามีความสำคัญมากเพราะเขาออกมาเพื่อรองรับ SME โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มเดือดร้อนที่สุด ทำไปครั้งที่แล้ว 150,000 ล้าน แบงก์ออมสินปล่อยให้แบงก์พาณิชย์กู้ต่อ คิดว่ายังไม่สัมฤทธิผล เพราะมีลูกค้าบ่นมาเยอะมากว่าเข้าถึงแหล่งเงินไม่ได้ แล้วคนที่จะกู้ได้ต้องเป็นลูกค้าชั้นดี ไม่ใช่คนที่เดือดร้อนจริงๆ

สำหรับพระราชกำหนดฉบับที่ 2 ในแง่ส่วนตัวต้องยอมรับว่าแบงก์ชาติมีประสบการณ์จากการที่ช่วยเหลือธุรกิจเป็นจำนวนมากแล้ว ฟังจากที่ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ ผมว่าแบงก์ชาติทำได้ดี เพราะ ดร.รุ่ง เคยไปอยู่แบงก์กรุงไทยมาพักนึงก็คงรู้ด้านธุรกิจมาลึกพอสมควร

พระราชกำหนดฉบับที่ 2 มีสาระสำคัญอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ ให้ Soft Loan วงเงิน 500,000 ล้าน ถ้าเป็นเงินลงไปในกลุ่มที่เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจริง ผมว่าช่วยได้มากพอสมควร เรื่องที่ 2 สินเชื่อ SME วงเงินไม่ถึง 100 ล้าน สามารถเลื่อนกำหนดชำระหนี้ พักต้น พักดอก เป็น Automatic อันนี้ถือว่าไม่เป็น NPL พอไม่เป็น NPL แบงก์ก็ไม่ต้องกันสำรอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก

ส่วน Soft Loan 500,000 ล้าน ลูกหนี้ในกลุ่มนี้ที่เป็น SME มีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านรายที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ละรายต้องไม่เกิน 500 ล้าน อันนี้เยอะพอสมควร ดอกเบี้ยคิด 2% ต่อปี ระยะเวลาเหมือน Soft Loan แบงก์ออมสิน คือ 2 ปี สิ่งที่แบงก์ชาติช่วย คือปลอดดอก 6 เดือนแรก แล้วกู้ได้ไม่เกิน 20% ของ Outstanding คือยอดหนี้คงค้าง หมายความว่าแบงก์ต้องปล่อยกู้ให้ลูกหนี้เก่าที่เขารู้ประวัติดีอยู่แล้วเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน อันนี้เป็นกฎเกณฑ์ที่ออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่ดีกลายเป็น NPL ต้องเป็นลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ค่อนข้างดีพอสมควร อันนี้เป็นเกณฑ์ที่แบงก์ชาติออกมาเพื่อดูแลกลุ่มลูกหนี้ SME ที่ไม่เกิน 500 ล้านที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะเราดูสภาพบ้านเมืองตอนนี้บางธุรกิจหยุดไปแล้ว อันนี้เป็นข้อดีของธนาคารแห่งประเทศไทย

สิ่งที่เขาทำอีกข้อคือชดเชยความเสียหาย ถ้าลูกหนี้ที่ปล่อยไปแล้วครบ 2 ปี เกิดความเสียหายขึ้นมารัฐจะชดเชยให้ถ้าวงเงินไม่เกิน 50 ล้าน ชดเชยให้ 70% หมายความว่าเขาต้องการจะปล่อยลูกหนี้รายย่อย ถ้าลูกหนี้ที่เกิน 50 ล้านขึ้นไปถึง 500 ล้านก็ชดเชยให้ 60% อันนี้เป็นเงินชดเชยสร้างความมั่นใจกับแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อไปแล้วว่าไม่ได้เสียทั้งหมด แต่มีคนมาช่วยดูแลด้วย ที่สำคัญคราวนี้เขารู้ปัญหาจึงให้มีการรายงานทุกสัปดาห์ปล่อยแล้วเป็นยังไง แบงก์ชาติคงจะมีการปรับกระบวนการต่างๆ ที่ดูแลลูกค้าที่เดือดร้อนให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง หัวใจสำคัญของเงินก้อนนี้ คือต้องไม่เคยเป็น NPL มาก่อน ถึงจะค้างผ่อนชำระหนี้ ถ้าเกิน 3 เดือนจะขึ้นเป็น NPL ถ้าไม่เกิน 3 เดือนก็สามารถนำเสนอกับธนาคารได้ อันนี้เขาต้องการออกมาให้เร็วเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบทั้งหมด อันนี้เป็นมาตรการที่แตกต่างจากปี 2540 ที่แบงก์กรุงไทยเคยทำ ครั้งนั้นเราไปขุดคนจากหลุม แล้วดูว่าคนที่ตายไปแล้วมีทางรอด เอามาช่วยเหลือปัดฝุ่น

สำหรับธุรกิจที่มีอนาคต แบงก์ชาติยังออกแนวปฏิบัติ 3 ข้อ ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างดีมาก 1. ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำรงสภาพคล่องต่ำกว่า 100 ได้ ปกติแบงก์พาณิชย์ในระบบทุกแบงก์จะมีอัตราส่วนนี้เกิน 100 ทั้งหมด เฉลี่ยทั้งระบบ 187 การทำให้ต่ำกว่า 100 ได้ ทำให้แบงก์ไม่ต้อง reserve สามารถนำเอาเงินไปปล่อยให้ลูกค้าได้ 2. ให้ธนาคารพาณิชย์นำมูลค่าที่ได้รับชดเชยจากรัฐมาหักลดเครดิตด้านความเสี่ยงได้ และส่วนที่เกินจากการหักลดแล้วก็จะคิดความเสี่ยงแตกต่างอีก เช่น ธุรกิจเอกชนอาจจะ 100% แต่รายย่อยคิดความเสี่ยงประมาณ 70% อันนี้เป็นการชดเชยให้แบงก์พาณิชย์มีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น และ 3. เขาออกเป็นแนวทางปฏิบัติ คือ การให้ Soft Loan ของแบงก์ชาติครั้งนี้ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลดค่าปรับ ค่าบริการ หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ อันนี้เป็นมาตรการให้แบงก์พาณิชย์มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น และยังมีมติครม.ออกมาเพื่อซัพพอร์ต อันนี้ทำให้แบงก์พาณิชย์ลดต้นทุนได้เยอะ วิธีปฏิบัติที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินประมาณ 0.46% แต่ครั้งนี้ลดให้ส่ง 0.23 แปลว่าลดไปครึ่งนึง เงินส่วนที่เหลือเป็นการให้แบงก์มีเงินไปเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าได้ อันนี้เป็นมาตรการที่ดี

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการทุกอย่างด้วยเจตนาที่ดี แต่ไม่ค่อยสำเร็จเพราะไม่ตรงกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย แต่ครั้งนี้ที่แบงก์ชาติลงมาดู คิดว่าเขาทำได้ดี ซึ่งผู้ประกอบการที่เป็น SME วงเงินไม่เกิน 500 ล้านและเป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ควรรีบไปติดต่อ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานิดนึงตามกระบวนการของแบงก์

ดีตรงที่เสริมสภาพคล่องให้สถาบันการเงินด้วย โดยลดการนำเงินส่งเข้าสถาบันประกันเงินฝาก

อันนี้ทำให้แบงก์มีสภาพคล่องปล่อยออกมาสู่ระบบได้มากขึ้น แต่อยู่ที่วิธีปฏิบัติและแบงก์ชาติต้องตามธนาคารพาณิชย์ให้ทัน ปัญหาแรกคือตอนนี้ที่ผมรู้มาจากลูกค้าที่ให้ข้อมูลมา เป็นลูกค้าเก่าที่บ่นมาเยอะมาก คือเรื่องที่เขาไปติดต่อธนาคารแล้วธนาคารบอกยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวปฏิบัติ หลายธนาคารกลัวว่าทำไปแล้วผิกกฎหมายหรือไม่ อันนี้เป็นปัญหาที่แบงก์ชาติต้องรีบเข้าไปดูและเร่งสร้างแนวทางให้ชัดเจนให้กับธนาคารพาณิชย์

เรื่องที่ 2 เป็นหัวใจหลัก ถ้าไม่แก้จะทำอะไรไม่ได้เลย นั่นก็คือเครื่องมือการวิเคราะห์สินเชื่อ ถ้ายังใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์สินเชื่อแบบเดิม ผมคิดว่าจะปล่อยกู้ไม่ได้ เพราะวิเคราะห์แบบเดิมจะต้องดูรายละเอียดข้อมูลที่เยอะมาก ลูกค้าไม่รู้ว่าจะทำแผนการตลาดยังไง เพราะไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบเมื่อไหร่ พรุ่งนี้จะเป็นยังไง ยังทำแผนไม่ได้ เขาอาจดูได้เรื่องลดต้นทุนยังไง ดังนั้น ถ้าเครื่องมือการวิเคราะห์สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ยังใช้การวิเคราะห์เหมือนการปล่อยสินเชื่อแบบปกติมันไม่มีทางที่จะปล่อยกู้ได้ อย่างนายกสมาคมท่องเที่ยวให้สัมภาษณ์ว่าผลที่สุดแล้วเขากู้ไม่ได้ ไปติดต่อธนาคารก็ขอเอกสารเยอะ และที่สำคัญมีกฎอยู่ตัวนึงซึ่งตอนที่ผมทำสินเชื่อเราต้องทำตาม คือต้องดูบัญชีย้อนหลัง 3 ปี และต้องกำไรติดต่อกัน 3 ปี อย่างนี้ก็กู้ไม่ได้ เขาบอกลดลงหน่อยได้ไหม กำไร 1 ปีได้ไหม เรื่องพวกนี้อาจจะต้องผ่อนคลาย ยืดหยุ่นตามที่ลูกค้าเรียกร้องมา ขอมา 10 ข้อ ทำ 5 ข้อได้ไหม อันนี้แบงก์ชาติดูอยู่แล้ว ถ้าสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารพาณิชย์ผมว่าจะช่วยลูกค้าได้มาก

ประเด็นที่ 3 คือธนาคารเขายังมีความกังวลเรื่อง NPL มีคนวิเคราะห์ต่างๆว่ามันจะเสียหายยาวนานหลายปี พอเป็น NPL แม้แบงก์จะได้รับชดเชยส่วนนึง แต่ส่วนนึงแบงก์ก็ต้องรับภาระด้วย อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้คนทำงานที่เข้าใจสภาพของลูกค้าค่อนข้างมาก

อีกประเด็นที่มีปัญหาซึ่งจากการที่ผมเคยทำงานมาคือแบงก์ทุกแบงก์ในระยะหลังเรียกว่าสายเสี่ยง เวลาปล่อยสินเชื่อสายวิเคราะห์ก็วิเคราะห์แล้วส่งมาให้สายเสี่ยงไปรีวิว สายเสี่ยงก็ค้าน ก็ส่งกลับไปกลับมา ตรงนี้สายเสี่ยงป้องกันตัวเองน่าดู พวกสินเชื่อลูกน้องผมบอกช่วงนี้จับสายเสี่ยงไปฆ่าได้ไหม จะได้ปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อันนี้ถ้าไม่ปรับกระบวนการ Operation ที่ดีก็จะช้าเหมือนเดิม

ประเด็นสุดท้ายที่เป็นปัญหาที่แบงก์ชาติอาจจะยังไม่คิด คือกฎระเบียบที่เข้มข้นมากๆ เวลาปล่อยกู้ไปแล้ว ผมมีประสบการณ์ว่าพอเป็น NPL ในอนาคตมันมีกระบวนการตรวจสอบ มีการลงโทษ อย่างนี้จะทำยังไงถึงจะสร้างความมั่นใจให้คนที่ปฏิบัติงานได้ อันนี้เป็นปัญหาลูกค้าบอกมาคิดว่าต้องหาทางร่วมมือแก้ไข

อีกประเด็นที่เป็นปัญหา คือเรื่องการแพร่ระบาดโรคไวรัสตัวนี้มันทำให้การปฏิบัติงานเหมือนเดิมไม่ได้ ส่วนใหญ่ Work from Home บ้าง การประชุมบอร์ดผ่าน Video Conference เลยขาดความเข้มข้นในการทำงาน ทำให้งานออกมาล่าช้า

เรื่องวงเงินที่ให้กู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอด อันนี้น้อยไปไหม

จริงๆต้องดูความจำเป็น ผมว่าบางอุตสาหกรรมมีความจำเป็นมากกว่านี้ คราวนี้ผมยังบอกว่าต้องแยกดูในแต่ละอุตสาหกรรม อย่างธุรกิจโรงแรมทำยังไงก็ไม่ไหว ผมว่าเขาชำระไม่ได้ แล้วโรงแรมทั่วไปในระบบถ้าหากมาขอสินเชื่อกับแบงก์ถ้ามีหนี้สินต่อทุนเกินกว่า 1 จะลำบากมาก ยิ่งมาเจอภาวะแบบนี้ด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องดูเป็นการพิเศษ

การพักชำระเงินต้น ดอกเบี้ยอัตโนมัติ ให้ 6 เดือน พอครบ 6 เดือนแล้วต้องมาจ่ายเพิ่ม

คือแบงก์ชาติก็บอกสามารถมาปรับใหม่ได้ ขยายเวลาชำระหนี้ได้เพื่อให้ผ่อนน้อยลง แต่ไม่ได้ยกให้ลูกหนี้ ลูกหนี้บางคนห่วงถ้าพักแล้วพอมาเริ่มใหม่ต้องชำระมากกว่าเดิมก็จะไม่ไหว อันนี้แบงก์ต้องไปดูแต่ละรายตามความสามารถ ผมคิดว่าถ้า 6 เดือนแล้วภาวะยังแย่อยู่แบงก์ชาติต้องมาดูแลลูกหนี้ ต้องมารีวิวอีกที คิดว่าครั้งนี้ต้องอาศัยคนรู้จริงๆ รู้ลึก ผมอยู่แบงก์ปล่อยสินเชื่อมานานมากกว่า 40 ปี คิดว่าคนที่เดือดร้อนต้องได้รับความช่วยเหลือ


พักเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ภาระยังมีอยู่ พอถึงเดือน 7 ต้องมาเริ่มใหม่จ่ายมากกว่าเดิม ถ้าอย่างนั้นไม่พักดีกว่าไหม


คือแบงก์ชาติเปิดช่องให้


ผู้กู้ควรจะเลือกผ่อนแค่ดอกหรือไม่

ตอนนี้หลายธุรกิจอาจไม่ต้องเต็มขนาดนี้ คำว่าพักเงินต้นหรือดอกเบี้ยคือไม่ต้องชำระเลย แต่ก่อนจะครบกำหนด 6 เดือน ผมคิดว่าเป็นภาระของแบงก์ที่ต้องไปคุยกับลูกค้าว่าพอครบแล้วผ่อนแบบนี้ไหวไหม อาจจะต้องปรับหรือขยายอายุสัญญาออกไปเพื่อให้ผ่อนน้อยลง อันนี้ต้องไปดูแต่ละราย


SME วงเงินไม่เกิน 500 ล้าน อย่างน้อยต้องไปพูดคุยใช่ไหมว่าจะช่วยอย่างไร

แบงก์ชาติที่ออกมาตอนนี้ถ้าไม่เกิน 100 ล้าน เขาเป็น Automatic คือเพื่อให้ลดภาระงานเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ต้องเดินทาง แต่ถ้าเกิน 100-500 ล้าน คิดว่าต้องพูดคุยเพราะมีความซับซ้อน ผมว่าทีมแบงก์ตอนนี้ต้อง alert มากกว่านี้ คือต้องมีใจจริงๆ ที่เข้าไปทำ

ผมอยากฝากข้อเสนอให้แบงก์ชาติหรือแบงก์พาณิชย์คือ 1. ธนาคารพาณิชย์ต้องมี Special Team เป็นบอร์ดสินเชื่อที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ แล้วไม่ใช่ทำแบบเดิมที่บอร์ดธนาคารประชุมเดือนละครั้ง บอร์ดสินเชื่อประชุมอาทิตย์ละครั้ง อาจจะต้องประชุมบ่อยกว่านั้น ต้องเป็น Crisis Board ที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ ระดมคนเข้ามาช่วยทุกภาคส่วน ไม่อย่างนั้นทำไม่ทัน ลูกค้าตายซะก่อนที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคาร

ข้อเสนอที่ 2 ลูกหนี้ที่เป็น NPL ที่ไม่ได้เข้าข่ายรับการช่วยเหลือตรงนี้ คิดว่าน่าจะมีอะไรดูแลเขาด้วย ถ้ามองว่าธุรกิจเขาจะกลับมาดีได้แบงก์ก็ควรจะคุยกับเขา เอาเงินตัวนี้ไปช่วยเขาที่เป็น NPL เพราะมันไม่ไหวจริงๆ ลูกหนี้ NPL อาจจะเกิดจากเศรษฐกิจที่มันแย่มา 5 ปี ถ้ามีเงินตัวนี้มาเขาอาจจะฟื้นได้

ข้อที่ 3 ต้องแยกลูกหนี้ที่เดือดร้อนเป็นกลุ่ม เอากลุ่มที่เดือดร้อนมากต้องได้รับความช่วยเหลือก่อน

ประเด็นที่ 4 เป็นประเด็นสำคัญ คือมีอะไรมาปกป้องคนทำงานสินเชื่อในกรณีอนาคตลูกหนี้เป็น NPL ขึ้นมา ซึ่งฝ่ายสินเชื่อเขาทำด้วยความสุจริตใจ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากจะฝาก

 
 
 

Comments


bottom of page