top of page
358556.jpg

บัวหลวงแนะลงทุน DR หนีจีดีพีไทยเติบโตต่ำ

บล.บัวหลวง ในฐานะผู้ออก DR เจ้าแรกของไทย แนะนักลงทุนหาทางเพิ่มผลตอบแทนในยุคจีดีพีไทยเติบโตต่ำ ผ่านการลงทุน DR อ้างอิงดัชนีหุ้นเวียดนามชั้นนำ 30 ตัว รับอานิสงส์เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเฉลี่ยปีประมาณ 6-7% หนุนด้วยยอดส่งออกที่ขยายตัวทุกปี ขณะที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่อง หลังรัฐบาลเตรียมเสนอร่างกฎหมายพัฒนาตลาดทุน เอื้อประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ


นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง ให้ความเห็นว่า ในยุคที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทยเติบโตค่อนข้างจำกัด หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพี ปี 63 อยู่ที่ 1.5-2.5% จากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.7-3.7% เมื่อเทียบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามที่ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยทางการเวียดนามคาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะโตที่ระดับ 6.3% ดังนั้นการกระจายการลงทุนไปในเวียดนาม ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว


โดยเฉพาะการลงทุนใน “ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ” (Depositary Receipt) หรือ DR ที่มีหลักทรัพย์ที่รับฝากเป็นกองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงกับดัชนี VN30 Index สะท้อนหุ้นชั้นนำ 30 บริษัทของตลาดหุ้นเวียดนาม และเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม บริหารจัดการ โดย Viet Fund Management หรือ VFM ซึ่งหลักทรัพย์บัวหลวงเป็นผู้ออก DR เจ้าแรกของไทย ใช้สัญลักษณ์ว่า “E1VFVN3001” ที่เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561


นายบรรณรงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน DR “E1VFVN3001” ได้รับความสนใจลงทุนจากนักลงทุนอย่างมาก เห็นได้จากมูลค่าตลาด (Market Cap) ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากกว่า 600 ล้านบาท มาอยู่ระดับ 1,447 ล้านบาท (ณ 4 ก.พ. 2563) โดยดัชนี VN30 ของตลาดหุ้นเวียดนาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนสูงถึง 11.8% ชนะตลาดหุ้นไทยที่ให้ผลตอบแทนเพียง 3.5%


“ค่าเงินบาทในปี 2563 มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเฉลี่ย 3-4% ส่งผลบวกต่อ DR E1VFVN3001 ฉะนั้นถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนระยะยาว เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต โดยในปีที่ผ่านมาเวียดนามเนื้อหอมมาก เห็นได้ชัดจากการที่ผู้ประกอบการจากประเทศจีนย้ายโรงงานการผลิตมายังเวียดนามจำนวนมาก และหากร่างกฎหมายหลักทรัพย์ของเวียดนามได้รับการแก้ไขจะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามยิ่งน่าสนใจมากขึ้น”


สำหรับปัจจัยบวกที่สนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม มีด้วยกันหลากหลายประเด็น คือ


1. เศรษฐกิจเวียดนามมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 6-7% เมื่อเทียบกับไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำ หนุนโดยภาคอุตสาหกรรม ,ภาคการผลิตที่เติบโตโดดเด่น รับอานิสงส์ค่าแรงระดับต่ำ 180 บาทต่อวัน และภาคการบริโภคที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง เพราะเวียดนามมีประชากรมากถึง 97 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างมาก สอดคล้องกับรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ Moody’s ที่คงอันดับความน่าเชื่อถือเวียดนามระดับ Ba3 ขณะที่ Fitch Ratings และ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือเวียดนามระดับ BB


2. ยอดส่งออกของเวียดนามในปี 2563 อาจขยายตัวต่อเนื่อง จากปี 2562 ที่เติบโตมากถึง 8.4% แซงหน้าส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะเดียวกันในอนาคตเวียดนามมีแนวโน้มจะเป็น ผู้นำส่งออกในตลาดยุโรป หลังรัฐสภาสหภาพยุโรป (อียู) อนุมัติข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับเวียดนาม ซึ่งจะ เอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกสิ่งทอ รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนามไปยังยุโรป โดยข้อตกลงดังกล่าวจะยกเลิก การจัดเก็บภาษีสินค้าประมาณ 99% ที่มีการส่งออก เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค.นี้


3. เม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติหน้าใหม่มีโอกาสไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามเตรียมเสนอร่างกฎหมายพัฒนาตลาดทุน เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ และรองรับการ Upgrade เป็น “ตลาดเกิดใหม่” (Secondary Emerging market) ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เช่น การปรับ foreign limit เป็น 100% และการออก NVDR เป็นต้น ซึ่งในปี 2562 เวียดนามมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (FDI) เติบโตเฉลี่ย 7.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไหลเข้าภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด


4. รัฐบาลเวียดนามเตรียมพัฒนาประเทศต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก รองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ ปี 2564 คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 6.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 16% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 5. การเมืองมีเสถียรภาพ แม้ภายในปี 2563 จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ด้วยระบบการเมืองที่มีความคล้ายคลึงกับประเทศจีนจึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น


“แม้ในระยะสั้นตลาดหุ้นเวียดนามยังไม่ได้ถูกปรับอันดับขึ้น แต่การที่ตลาดหุ้นคูเวตได้เลื่อนชั้นจากกลุ่มประเทศตลาดชายขอบ Frontier Market ไปอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ Emerging Markets จะส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามได้เพิ่มสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI กลุ่ม Frontier Market จากสัดส่วน 12.3% ขึ้นเป็น 30% สูงกว่า 1 เท่าตัว” นายบรรณรงค์ กล่าว

13 views

Comments


bottom of page