top of page
327304.jpg

อัพเดท ธนาคารประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3 ประเภท...เพื่อสนับสนุนกลไกภาครัฐ ลดต้นทุนและแบ่งเบาภาระลูกค้า



ธนาคารกรุงเทพ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท เหลือต่ำสุด 5.25% ธนาคารกรุงเทพ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท เหลือต่ำสุด 5.25% โดยเอ็มแอลอาร์ เหลือ 5.25% เอ็มโออาร์ เหลือ 5.875% และเอ็มอาร์อาร์ เหลือ 5.75% เพื่อสนับสนุนกลไกภาครัฐ และช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนลดต้นทุนทางการเงินรับมือโรคโควิด 19 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ 3 ประเภท ลงเหลือต่ำสุด 5.25% โดยเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) เหลือ 5.25% เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) เหลือ 5.875% และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) เหลือ 5.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนกลไกภาครัฐ และให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนการดำเนินธุรกิจและลดภาระของประชาชน เพื่อเสริมศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 "ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนสามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพได้ให้การดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน และช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนมาตรการของภาครัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)" นายสุวรรณ กล่าว

 

กรุงไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3 ประเภท ช่วยผู้ประกอบการและประชาชน

ธนาคารกรุงไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125-0.40% ต่อปี เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและสนับสนุนกลไกของภาครัฐในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน  โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563


นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการเร่งกิจกรรมและกิจการทางเศรษฐกิจ ตลอดจนลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการและประชาชนทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR   ลง 0.125% ต่อปี เหลือ 5.25% ต่อปี  MOR ลดลง 0.40% ต่อปี เหลือ 5.82% ต่อปี และ MRR ลดลง 0.125% ต่อปี  เหลือ  6.22% ต่อปี  โดยมีผลตั้งแต่วันที่  22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป


ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน นอกเหนือ จาก 5 มาตรการเยียวยาที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19  เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย  การสนับสนุน  Soft Loan ในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ  ทั้งนี้ เพื่อดูแลลูกค้าของธนาคารให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ รวมทั้งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

 

กรุงศรีประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR มีผล 21 พ.ค. นี้

กรุงเทพฯ (21 พฤษภาคม 2563) -- นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรุงศรีพร้อมสนับสนุนนโยบายทางการเงินของภาครัฐผ่านกลไกการทำงานของธนาคาร เพื่อลดผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจและภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าอันเนื่องมาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และปัจจัยลบที่ตามมา ดังนั้น กรุงศรีจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR ลงอีก หลังจากที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อไปแล้ว 3 ครั้ง ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 24 มีนาคม และ 10 เมษายน 2563 นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19


การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อของกรุงศรีมีอัตราดอกเบี้ยดังต่อไปนี้

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate หรือ MLR) ปรับลดลงจาก 5.83%  เป็น 5.58%

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate หรือ MOR) ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 5.95%

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate หรือ MRR) ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 6.05%

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่ดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

 

ไทยพาณิชย์เดินหน้าบรรเทาปัญหาลูกค้าทุกกลุ่มก้าวผ่านวิกฤต COVID-19  ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.35% มีผล 22 พฤษภาคม 2563

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยเข้าสู่ช่วงสภาวะปกติ เพื่อเร่งการฟื้นตัวของฐานะการเงินในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้กลับมาโดยเร็ว ธนาคารฯ จึงได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าธนาคารฯ โดยเร่งด่วน นับเป็นการลดดอกเบี้ยติดต่อกันต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนด้านสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด Covid-19  ในหลายเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทแบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) หรือ MLR ปรับลดจาก 5.375% เป็น 5.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) หรือ MOR ปรับลดลงจาก 6.095 % เป็น 5.845% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR ปรับลดลงจาก 6.345 % เป็น 5.995 % ซึ่งปรับลดลงมากที่สุดในระบบธนาคาร

ธนาคารฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าสินเชื่อรายย่อยมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และช่วยให้ลูกค้าสามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ในที่สุด ทั้งนี้นอกจากมาตรการลดดอกเบี้ยแล้ว ธนาคารฯ ยังสนับสนุนแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ และการให้สภาพคล่องเพิ่มเติมผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่นี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

 

ออมสิน ปรับลดดอกเบี้ยสอดคล้อง กนง.

ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.25% ไม่ปรับดอกเบี้ยเงินฝาก

ธนาคารออมสิน ลดดอกเบี้ยสอดคล้องทิศทางนโยบายดอกเบี้ยของ กนง. ร่วมบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 พร้อมดูแลลูกค้ารายย่อย ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.25% มีผลวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากไม่ปรับลดเพราะมุ่งส่งเสริมการออมต่อเนื่อง


ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ด้วยภารกิจหลักของธนาคารออมสินในการเป็นกลไกส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้สถานการณ์และสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมถึงมุ่งให้ความสำคัญต่อสภาวะการดำรงชีพในการช่วยแบ่งเบาภาระลูกค้าและประชาชน ธนาคารฯ จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลด 0.125-0.25% ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา หรือ MLR (Minimum Lending Rate) ปรับลดลงจาก 6.275% เป็น 6.150% (ปรับลด 0.125%) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR (Minimum Overdraft Rate) ปรับลดลงจาก 6.245% เป็น 5.995% (ปรับลด 0.25%) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) ปรับลดลงจาก 6.370% เป็น 6.245% (ปรับลด 0.125%)


สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด โดยธนาคารออมสินในฐานะสถาบันการเงินเพื่อการออม ยังคงส่งเสริมภาคการออมต่อเนื่องต่อไป หรือภายหลังจากการประชุมครั้งต่อไปของ กนง. ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งธนาคารจะมีการพิจารณาทบทวนการปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง


ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ และยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก นั้น ธนาคารฯ ยังต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้อยู่  แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอลดการนำเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนปรนให้ลดการนำเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)  ซึ่งการได้ลดเงินสมทบเข้ากองทุนฯ (SFIF) จะสามารถนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้  จึงหวังว่าจะได้รับการผ่อนปรนในระยะอันใกล้นี้เช่นกัน


“ปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ธนาคารออมสินจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและลูกค้าของธนาคารฯ ได้ไม่มากก็น้อย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด.

49 views
bottom of page