ภาพรวมผลงานแบงก์พาณิชย์ปี 62 แทบหากำไรสุทธิไม่เจอ ถ้าไม่ขายบริษัทลูกทิ้ง หลังเผชิญเศรษฐกิจชะลอลง สินเชื่อหดตัว รายได้ดอกเบี้ยหดตาม แถมหนี้เสียเพิ่มขึ้น เว้นกรุงศรีกับซีไอเอ็มบี ไทย ผงาดกำไรสุทธิ-สินเชื่อโตสูง ขณะที่ทีเอ็มบีกำไรหด 37.7% เหตุมีรายการพิเศษขาย บลจ.ทหารไทยในปีก่อนหน้า
BBL สินเชื่อหด 1% กำไรโต 1.4%
ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานผลการดำเนินงานสำหรับปี 2562 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร จำนวน 35,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% จากปีก่อน โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 3.3% เป็นผลจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคาร และบริการกองทุนรวม ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.35% รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 52.3% จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับทรงตัว ธนาคารมีการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในปี 2562 เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ทางบัญชีซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการกันสำรองที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 0.4% จากปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับดีที่ 41.1%
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,061,309 ล้านบาท ลดลง 1.0% เทียบกับสิ้นปี 2561 สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.4% ขณะที่เงินสำรองอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 220.2% ของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ
SCB ได้ SCBLife ช่วยกำไรโต 0.9%
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานผลประกอบการ ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ จำนวน 40,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากปี 2561 ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมี จำนวน 95,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.9% จากปีก่อน เป็นผลมาจากกำไรพิเศษจากการขาย บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ ซึ่งสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่วนในไตรมาส 4/2562 กำไรสุทธิลดลง 22.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นจำนวน 5,506 ล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในปี 2562 เติบโต 3% จากปีก่อนเป็นจำนวน 99,402 ล้านบาท แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 อยู่ในช่วงขาลง โดยยอดสินเชื่อรวมลดลง 1.3% จากปีก่อน ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อน เป็นจำนวน 66,696 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากกำไรของเงินลงทุนที่เกิดจากการขายหุ้นของธนาคารในบมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในช่วงปลายเดือนกันยายน 2562 หากไม่รวมกำไรพิเศษดังกล่าว รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 2% จากปีก่อน โดยรายได้ประเภท recurring ปรับตัวดีขึ้น และในไตรมาส 4/2562 ธนาคารมีการรับรู้รายได้ใหม่จากความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรด้านประกันชีวิต
ด้านอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 3.41% เพิ่มขึ้นจากประมาณ 3% ในครึ่งแรกของปี และจาก 2.85% เมื่อสิ้นปี 2561 จากคุณภาพสินเชื่อลดลงตามความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 36,211 ล้านบาท ในปี 2562 และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 134%
KTB กำไรโต 2.8% สินเชื่อโต 3.2%
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยผลการดำเนินงานสำหรับปี 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 29,284 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่มาจากการได้รับเงินบางส่วนจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันจำนองจำนวน 3,899 ล้านบาทในไตรมาส 1/2562 และการเพิ่มขึ้นของกำไรจากเงินลงทุนสุทธิ แม้ว่าค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของธนาคารเพิ่มขึ้น จากการกันสำรองด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามเกณฑ์ของ ธปท. และการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานในไตรมาส 3/2562 หากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้น 18.2% จากปี 2561
ส่วนเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารและบริษัทย่อย เท่ากับ 2,089,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากสิ้นปี 2561 โดยเพิ่มจากลูกค้ารายย่อยหลักทุกกลุ่ม ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกค้าภาครัฐ ขณะที่ธนาคารมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 131.76% จาก 125.74% ณ 31 ธันวาคม 2561 โดยมี NPLs Ratio-Gross เท่ากับ 4.33% ลดลงจาก 4.53% ณ 31 ธันวาคม 2561 และมี NPLs Ratio-Net อยู่ที่ 1.83% ลดลงจาก 1.94% ณ 31 ธันวาคม 2561
KBANK กำไร 0.70% สินเชื่อโต 4.59%
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 38,727 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.70% จากปี 2561 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,150 ล้านบาท หรือ 4.21% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน โดยสินเชื่อรวมเติบโต 4.59% ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.31% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 858 ล้านบาท หรือ 1.51% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง รวมทั้งการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล
ส่วนผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 4/2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 8,802 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 1,149 ล้านบาท หรือ 11.55% สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.34% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 148.60% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 160.60%
BAY สินเชื่อโต 8.7% กำไรโต 8.6%
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รายงานผลประกอบการในปี 2562 มีกำไรสุทธิสูง 3.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.0% จากปี 2561 (หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 2.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% จากปี 2561) จากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ 8.7% หรือจำนวน 1.46 แสนล้านบาท จากสิ้นปี
ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.60% ปรับลดลงจาก 3.81% ในปี 2561 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 31.9% จากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 42.9% ปรับดีขึ้นจาก 47.2% ในปี 2561(หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในปี 2562 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของปี 2562 อยู่ที่ 45.1%)
ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.98% ปรับดีขึ้นจาก 2.08% ในปี 2561 อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 163.8% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง อยู่ที่ระดับ 16.56%
TMB สินเชื่อโตเท่าตัว/กำไรหด 37.7%
ดร.ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี (TMB) หรือธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2562 มีกำไรสุทธิ 7,222.48 ล้านบาท ลดลง 37.7% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,601.24 ล้านบาท สาเหตุหลักจากรายการพิเศษการขาย บลจ.ทหารไทย (TMBAM) ในปี 25621 ขณะที่ในส่วนของกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2562 อยู่ที่ 1,615 ล้านบาท ลดลง 23.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการซื้อหุ้นธนาคารธนชาต (TBank) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ในงบการเงินรวมของทีเอ็มบีได้รวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตในฐานะบริษัทย่อยเข้ามา โดยด้านงบดุลจะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาต ณ สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2562 ขณะที่งบกำไรขาดทุนจะรวมผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาตเฉพาะช่วงวันที่ 4-31 ธันวาคม 2562 ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2562 ทีเอ็มบีมีสินทรัพย์ ตามงบการเงินรวม จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 0.9 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2561
ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.6 ล้านล้านบาท จากผลของการรวมกิจการ ส่วน ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จาก 0.7 ล้านล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อของธนาคารธนชาตที่รวมเข้ามา ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับรายย่อยของทีเอ็มบีก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ในส่วนของรายได้จากการดำเนินงานรอบ 12 เดือน ปี 2562 ตามงบการเงินรวม อยู่ที่ 39,821 ล้านบาท ลดลงจาก 48,042 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดลงมีสาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการเปรียบเทียบกับฐานสูงในปี 2561 ซึ่งในปีดังกล่าว ทีเอ็มบีมีการบันทึกรายได้พิเศษจากการขายหุ้น TMBAM 65% จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท จึงทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (งบการเงินรวม ) ในปี 2561 อยู่ที่ 23,545 ล้านบาท สูงกว่า 12,956 ล้านบาท ในปี 2562 หากตัดรายการพิเศษดังกล่าวออกไป รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 11% เมื่อประกอบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 9.7% มาอยู่ที่ 26,865 ล้านบาท จากรายได้จากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยการให้เช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงินจากธนาคารธนชาต จะทำให้รายได้จากการดำเนินงานในปี 2562 ปรับตัวดีขึ้น 10% โดยประมาณ
ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกรรมการขายหุ้น บลจ.ธนชาต หรือ TFUND สำหรับทีเอ็มบีจะรับรู้รายการขายดังกล่าวจากธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นบริษัทลูก แต่ทีเอ็มบีจะไม่มีการบันทึกกำไรจากรายการนี้ เนื่องจากในการรวมกิจการ ทีเอ็มบีดำเนินการบันทึกและรับรู้มูลค่าของ TFUND เข้ามาด้วย Fair Value แล้ว ดังนั้น การที่ธนาคารธนชาตขายหุ้น TFUND ออกไป 25.1% ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4/2562 จึงไม่มีการบันทึกกำไร โดยสำหรับ TFUND ส่วนที่เหลือ 49.9% ที่ธนาคารธนชาตถืออยู่ ทีเอ็มบีจะรับรู้รายได้เข้ามาจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม (Profit sharing from associate company)
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (งบการเงินรวม) อยู่ที่ 20,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3% จากปีก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายของธนาคารธนชาต ประกอบกับในปี 2562 มีค่าใช้จ่าย one-time หลายรายการ เช่น ค่าใช้จ่าย Employee Retirement Benefit ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาโครงการรวมกิจการ (Advisory Fee) เป็นต้น
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นตามแผน โดยในส่วนของทีเอ็มบี (งบการเงินเฉพาะ) สามารถลดสัดส่วนหนี้เสียลงมาอยู่ที่ 2.33% จาก 2.76% ในปีที่แล้ว ส่วนอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย ซึ่งสะท้อนความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอยู่ที่ 140% (งบการเงินเฉพาะ) เป็นไปตามเป้าหมายที่ทีเอ็มบีตั้งไว้ สำหรับงบการเงินรวม สัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 2.30% และอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 120%
CIMBT กำไรโต 216 เท่า
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับปี 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,501.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,494.7 ล้านบาท หรือ 216 เท่า เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2561 สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 48.7% ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารและการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน 3.5% สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 14.1%
รายได้จากการดำเนินงาน มีจำนวน 1.42 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 472.5 ล้านบาท หรือ 3.5% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2561 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจเช่าซื้อและรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 362.3 ล้านบาท หรือ 20% เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้
เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 2.421 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับสิ้นปี สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 1.13 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ 4.6% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 อยู่ที่ 4.3% เป็นผลจากลูกหนี้ภาคธุรกิจบางรายและรายย่อย อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 93.7% ลดลงจากสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 107%
KKP กำไรสุทธิลด 0.9%
ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) หรือกลุ่มธุรกิจากการเงินเกียรตินาคินภัทร รายงานผลการดำเนินงานสำหรับปี 2562 มีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 5,988 ล้านบาท ลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 6,042 ล้านบาทในปี 2561 สำหรับกำไรเบ็ดเสร็จรวมของปี 2562 เท่ากับ 5,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% จากจำนวน 5,123 ล้านบาทในปี 2561 โดยกำไรเบ็ดเสร็จรวมได้รวมผลจากการวัดมูลค่าหลักทรัพย์เผื่อขายอันเป็นผลจากความผันผวนของตลาดทุน ในส่วนรายได้จากการดำเนินงานที่จำนวน 19,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% โดยหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 9.4% ตามการเติบโตของสินเชื่อ รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 0.2% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้น โดยหลักจากในส่วนของการขาดทุนจากการขายสินทรัพย์รอการขาย
ทางด้านสินเชื่อของธนาคารสำหรับปี 2562 มีการขยายตัว 4.2% จากสิ้นปี 2561 โดยมาจากการขยายตัวในสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีการหดตัว ในด้านคุณภาพสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.0% ปรับลดลงจากสิ้นปี 2561 ที่อยู่ที่ 4.1%
LHFG กำไรสุทธิโต 3.4%
บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) บริษัทแม่ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2562 มีกำไรสุทธิ จำนวน 879.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2561 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ 56.7%
ส่วนผลการดำเนินงานประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิจำนวน 3,214.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% เทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวน 3,108.2 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ 51.6%
Comments