top of page
312345.jpg

ธกส.หยั่งเชิงลองของใหม่ 'สินเชื่อกัญชา' 5,000 ล้าน0 มองเป็นโอกาสสร้างอาชีพยั่งยืน


Interview : คุณสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)


ธ.ก.ส.นำร่องส่งเสริมการปลูก แปรรูปกัญชา สร้างองค์ความรู้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมเติมทุนด้วยโครงการ “สินเชื่อเพื่อผลิตกัญชา” วงเงิน 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ 3 กลุ่มหลัก คือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มสหกรณ์การเกษตร เน้นผู้เกี่ยวข้องต้องไม่เคยมีประวัติด้านยาเสพติด ใส่ใจให้ความสำคัญกับกฎหมายกัญชาเสรี เชื่อ...ถ้าเริ่มต้นได้ดี ต่อยอดได้ถูกทาง ทั้งกัญชาและกัญชงจะเป็นความหวังใหม่และเป็นโอกาสสร้างอาชีพให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน แต่ที่สุดแล้วยังต้องยึดหลักการเกษตรผสมผสาน ไม่ทุ่มกับกัญชาจนหมดหน้าตัก ไม่กระโจนสุดตัวแบบผลีผลาม เพราะอาจเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟและตายกันเป็นเบือได้


ธ.ก.ส.มีมุมมองเรื่องกัญชาเสรีอย่างไร

ต้องเรียนว่า พืช 3 ก. คือกัญชา กัญชง และกระท่อม เป็นส่วนหนึ่งที่มีหลายมุมมอง ทั้งส่วนที่ควรระมัดระวัง และส่วนที่ต้องให้ความรู้ ทางธ.ก.ส.เอง ก็มีการศึกษานำร่องไปแล้วก่อนหน้า ก่อนที่จะมาถึงวันที่ 9 มิถุนายน ว่าเราควรจะต้องเข้าไปมีส่วนอย่างไรในฐานะสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่ากัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ การนำผลิตภัณฑ์มาแปรรูปในเรื่องของสุขภาพและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออกตลาดโลก จากข้อมูลในปี 2563 มูลค่าการค้าของกัญชาเป็นตัวเลขไม่น้อยเลย ประมาณ 8 แสนล้านบาท

ขณะนี้ ธ.ก.ส.มีผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับเป็นแหล่งทุนเรียกว่าโครงการสินเชื่อเพื่อผลิตกัญชาที่เสนอคณะกรรมการไปแล้ว ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 มีอายุโครงการ 3 ปี จนถึง 31 ธันวาคม 2568 วงเงินรวมกำหนดไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เป็นการกำหนดไว้ในเบื้องต้น


เป็นสินเชื่อลักษณะไหน

โครงการดังกล่าวจะเน้นกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม และกลุ่มสหกรณ์การเกษตร ปัจจัยหลักก็คือเรายังจำเป็นต้องใช้ระบบกลุ่มที่มีการรวมกลุ่ม มีการรับรอง มีการจัดตั้งที่ทางราชการให้การรับรอง จากนั้นคือการพิจารณาคุณสมบัติและเงื่อนไขการดำเนินงานของกลุ่มทั้ง 3 กลุ่ม ต้องมีผู้ผลิต ต้องได้รับความรู้และผ่านการอบรม ถือว่าเป็นหลักเบื้องต้น รู้กฎแล้วก็มีทุน

ส่วนที่สองย้ำเน้นเลยว่าต้องไม่มีประวัติเรื่องของยาเสพติด

เรื่องที่สามกลุ่มต่างๆ ต้องมีเอ็มโอยู บันทึกความร่วมมือว่าจะปลูกส่งให้ใคร อาทิ มีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา หรือ อย. หรือองค์การเภสัช ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนที่กำหนดไว้เพื่อดูห่วงโซ่การผลิต

ส่วนที่สี่เป็นเรื่องที่จะต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับ อาทิ ไม่ใช่เป็นการปลูกผัก ปลูกข้าวทั่วไป หรือแบบสวนครัว ตรงนี้จะมีการควบคุมการเพาะปลูก การรักษา การเก็บ การควบคุมการทำบัญชี การขนย้าย ตลอดจนการทำลาย ตรงนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและป้องกันที่เหมาะสม โดยมีป.ป.ส.เข้ามาดูในสถานการณ์ต่างๆ

นอกจากนั้น ในเอ็มโอยูต้องบอกว่าผู้ผลิตเองต้องมีแผนธุรกิจ ผลิตที่ไหน การตลาดเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่งช่วงส่งออก เอาไปให้สถาบันการศึกษา หรือไปใช้ในทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น เรามีกรณีศึกษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่ปราจีนบุรี จะมีพี่น้องเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจปลูกส่ง ทีนี้ก็จะมีความชัดเจนว่าต้นทางผลิตเท่าไหร่ ไม่ใช่ระหว่างทางหายไปส่วนหนึ่ง แล้วก็ส่งปลายทาง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องควบคุมกัน เหล่านี้ก็จะเป็นภาพรวมๆ ที่ธ.ก.ส.เองคิดว่าสำคัญๆ

อย่างน้อยพี่น้องเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ ก็สามารถที่จะมีรายได้ และทั้งกัญชา หรือกัญชงก็ดี จะเป็นโอกาสสร้างอาชีพ สร้างธุรกิจชุมชน เกิดการจ้างงานและยกระดับการสร้างมูลค่า

สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นภาพรวมที่ทางเราเตรียมไว้ก่อนวันที่ 9 มิถุนายนที่มีการปลดล็อก


เจ้าหน้าที่ธ.ก.ส.มีความพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อกัญชา จากที่ไม่เคยปล่อยมาก่อน

ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราก็สร้างบุคลากรเรา ฉะนั้นที่ศูนย์ธุรกิจเองจะมีส่วนหนึ่งที่อาจจะต้องนำพนักงานไปเพื่อให้รู้เงื่อนไข เพื่อให้รู้คุณสมบัติ เราคิดว่าเรื่องของการวิเคราะห์สินเชื่อก็เป็นเรื่องที่ต้องหาความรู้เนื่องจากไม่มีราคาอ้างอิง ไม่มีบอกว่าพื้นที่ขนาดนี้จะได้กัญชาเท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ และหลังจากนั้น การพิจารณารายได้ จำนวนปริมาณผลผลิตตลาดรองรับที่ไหนอย่างไร ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่มีโครงการนำร่อง

นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่จะต้องคอนเฟิร์มอย่างยิ่งคือเรื่องของกฎหมายที่จำเป็นจะต้องให้พี่น้องในวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร ต้องรู้ต้องใส่ใจ ตรงนี้ยังเป็นภาพรวมที่พนักงานและพี่น้องเกษตรกรผู้ร่วมโครงการต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ในส่วนการค้นหาเราคิดว่ามีกลุ่มวิสาหกิจต่างๆ เราคิดว่ากระบวนการนี้มีความสำคัญ สถาบันการศึกษาตลอดจนอะไรต่างๆ จะเข้ามาสู่กระบวนการที่สอง ก็คือค้นหาพี่น้องเกษตรกรที่มารวมกลุ่มกันแล้วจะพัฒนาความรู้อย่างไร ความรู้เรื่องการผลิต ความรู้เรื่องของธุรกิจ ความรู้เรื่องของแสง ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ไปละเมิดศีลธรรม ไปละเมิดต่อกฎหมาย

แล้วเราก็คิดว่าองค์ประกอบที่สามคือต้องมีการประสานความร่วมมือ ตอนนี้ทางธ.ก.ส.เองร่วมมือกับทางสถาบันการศึกษา หรือแม้แต่กระทั่งโรงพยาบาล สถานประกอบการต่างๆ แพทย์แผนไทย ซึ่งธ.ก.ส.ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องในฐานะของแหล่งทุนน่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ฉะนั้นการค้นหา การพัฒนา การประสานความร่วมมือ และเติมทุน เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการอำนวยสินเชื่อเพื่อการผลิตกัญชา เหล่านี้คือภาพรวมที่เราต้องให้ความสำคัญ และต้องถือว่าเป็นวาระที่ต้องเติมเต็มความรู้เหล่านี้


ถึงตอนนี้มีคนมาขอรับสินเชื่อมากน้อยขนาดไหน

ณ ตอนนี้ ที่เราอำนวยทุนไปมี 4 ศูนย์วิสาหกิจ จ่ายเงินสินเชื่อไปแล้ว 7.1 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เรามีข้อมูลที่มีผู้ขอใบอนุญาตผลิตกัญชาอยู่ระหว่างมาขอ 397 ราย เป็นวิสาหกิจชุมชน แล้วมีจำนวนสถานที่ 569 แห่งที่จะปลูก คิดเป็นพื้นที่ที่จะปลูกกัญชา 797,900 ตารางเมตร ตรงนี้เป็นส่วนที่เราได้ข้อมูลมา เมื่อเราได้ข้อมูลมาแบบนี้แล้วเราก็จะพัฒนาต่อ ที่ดำเนินการไปมีวิสาหกิจที่ผลิตกัญชาเป็นสมุนไพรที่ชายทุ่งที่ หนองกี่ บุรีรัมย์ ส่วนที่สองคือที่ปราจีนบุรี วิสาหกิจชุมชนที่ทำเรื่องกัญชาคือวิสาหกิจชุมชนบ้านพระ จะเป็นกลุ่มหนึ่งที่ภาคตะวันออก แล้วที่อีสานตอนบนที่ร้อยเอ็ดปทุมรัตน์ หรือที่โคราชก็จะมีรัฐวิสาหกิจชุมชนเป็นต้นแบบที่เราเตรียมไว้ คิดว่าจะมีการกระจายไปภูมิภาคต่างๆ เมื่อมีความชัดเจน และที่ค้างท่ออยู่ วันนี้ก็จะได้มีการไปประสานเพื่อที่จะได้เติมทุน


กระแสอยากปลูก เหมือนตื่นขุมทอง พอทางการเปิดให้ลงทะเบียนในวันแรกถึงกับเว็บไซต์ล่ม ขณะที่เศรษฐกิจไม่ดี คนกลับบ้านต่างจังหวัดกันมาก และให้ความสนใจอยากปลูกกัญชา ทางธ.ก.ส.จะให้คำแนะนำอย่างไร

ในกลไกดีมานด์ซัพพลาย ก็จะเป็นเหมือนกับพืชสินค้าเกษตรทุกตัว เมื่อเกิดเป็นกระแส เราคงต้องให้กลุ่มวิสาหกิจดังกล่าวมีเรื่องของแผนการตลาด นั่นก็คือตลาดนำการผลิต แล้วก็สิ่งที่จะทำให้ซัพพลายที่มีอยู่ไปตอบสนองกับกลไกตลาด ก็เป็นเรื่องที่เหมือนจัดการความเสี่ยง เราคิดว่าแรกๆ เลย ช่อดอกราคาที่คาดการณ์กันไว้ประมาณ 40,000-50,000 บาท เกรดดี 37,000 บาทถึง 43,000 บาท เราก็จะให้ข้อมูลกับพี่น้องเกษตรกร และคิดว่าต้องมีการจัดการความเสี่ยงในเรื่องกลไกราคา

สิ่งที่กังวลมากกว่านั้นคือความแรงของกระแส ซึ่งเรากังวลเหมือนกันเรื่องของต้นทุน เรากังวลตั้งแต่ซื้อต้นกล้า จะเห็นเลยว่าหลายแห่งเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ หลายแห่งเก็บสต็อกเหล่านี้ไว้ แล้วพี่น้องเกษตรกรไปซื้อก็ตามกระแส ดังนั้น ต้องมีการควบคุม ให้ข้อมูล และมีแผนการตลาดที่ชัดเจน และที่สำคัญยิ่งก็คือ การเผื่อเหลือเผื่อขาด ไม่ควรให้เกษตรทั้งหมดมารวมไว้ที่กัญชา พี่น้องเกษตรกรก็คงจะต้องมีเรื่องของการทำสมุนไพรตัวอื่น หรือมีเกษตรผสมผสานในรูปแบบอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงไป ซึ่งเราก็จะเตือน และคิดว่าต้องการทำการศึกษา-วิจัยของโครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ ก็จะประเมินเรื่องเหล่านี้เพื่อเป็นข้อมูล โดยจะมีศูนย์วิสาหกิจให้คำปรึกษา แล้วก็จะบอกว่ามีข้อควรระมัดระวังอย่างไรบ้าง แล้วก็ให้สติ

คิดว่าการดำเนินการเบื้องต้นจะไม่ค่อยให้กู้เป็นรายคน เราให้กู้เป็นกลุ่ม เป็นวิสาหกิจ เพื่อประโยชน์ในการจัดการ ที่สำคัญคือเครือข่ายที่ทำสำเร็จก็มาบอกกัน ไม่สำเร็จก็ต้องมาบอกกันว่าให้ระมัดระวังตัวไหน แล้ววันนี้ช่องทางที่ดี คือหลายส่วนเข้ามาเอื้อประโยชน์ มาให้ความรู้บ้าง มาขายเมล็ดพันธุ์บ้าง ก็จะกลายเป็นว่ามีการให้ข้อมูลแก่พ่อแม่พี่น้องเกษตรกรเรา แต่เราก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันว่า อย่าเพิ่งเห็นราคาแค่นี้แล้วตาโต แล้วกระโจนไป เดี๋ยวจะเป็นแมงเม่า และท้ายที่สุดก็จะเทกระจาดกันเหมือนกับพืชเกษตรอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องให้ความรู้คู่ทุน

46 views
bottom of page