top of page
327304.jpg

Anti Globalization คือ New World Order ?


ท่ามกลางกระแส New Nomal ขณะนี้โลกกำลังหันกลับไปพูดกันถึง อโลกาภิวัตน์และระเบียบโลกใหม่หลังถูก Covid-19 เข้ามาขัดจังหวะเสียหลายเดือน

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาโลกตกอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ อะไร อะไรก็โลกาภิวัตน์

โลกาภิวัตน์ เป็นคำเดียวกับโลกานุวัตร (globalization) ในวันนี้ หมายถึงการที่ทุกดินแดน ทุกชาติพันธุ์ สามารถเชื่อมต่อสื่อสารทั้งโลกถึงกันได้หมดด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศ เช่นอินเทอร์เน็ต ระบบดิจิทัล...ทำให้การเดินทาง การคมนาคม ขนส่ง สู่กัน ทั้งเฉพาะบุคคล ชุมชน สังคม รัฐบาล หน่วยธุรกิจ สามารถเชื่อมสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมถึงกันหมด

ทั้งโลกกลายเป็นโลกไร้พรมแดน ก่อเกิดความเจริญเติบโตในทุกๆ ด้าน

อย่างไรก็ดี การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และบางด้านเป็นแบบเร่งรีบ เร่งรุด ทำให้เกิดความลักลั่น เหลื่อมล้ำ สับสน ปรวนแปร ในหลายๆ ด้าน

ในการประชุมขององค์กรโลกในหลายๆ ด้าน เช่นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มีการพูดถึงการจัดระเบียบใหม่ของโลก (New World Order) เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบในระบบ เกิดความลงตัว ลดความเหลื่อมล้ำและสับสน

ครั้งหนึ่ง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ต่างอยู่กันเป็นสัดส่วนของตนเอง แต่เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นตัวเชื่อม กิจกรรมเหล่านั้นกลับแปรปรวน หันเหเข้ามาเชื่อมกันโดยเสรีไม่เป็นระบบ


สงครามการค้าและสงครามเงินตรา เป็นตัวอย่างที่ดี ที่มีการนำการเมืองเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจ จนเกิดการกีดกันทางการค้า กระทบกระทั่งกันระหว่างฝักฝ่าย


New World Order คือการจัดระเบียบโลกใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเจริญแล้วกับประเทศล้าหลัง หรือประเทศที่ยังต่ำระดับต่อประเทศเจริญแล้ว

แนวคิดก็คือ การถือเป็นภาระของชาติที่เจริญแล้ว ต้องเข้าไปช่วยเหลือประเทศที่ล้าหลังทั้งด้านอารยธรรมเพื่อก้าวสู่โลกใหม่ในอุดมคติ


ความคิดเรื่องระเบียบโลกใหม่นี้ แบ่งเป็น 3 ยุค คือยุคแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เกิดความแตกแยกด้วยลัทธิมาร์กซิสม์ จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1

ความคิดในการจัดระเบียบโลกใหม่ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ราวทศวรรษ 1990 อันเป็นช่วงสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีกับโลกสังคมนิยม โดยมุ่งหวังขจัดความขัดแย้งทางการเมืองเป็นหลัก จนถึงขนาดจะจัดตั้งองค์กรโลกที่เรียกว่า "รัฐบาลโลก"

ท้ายสุดกลายเเป็นองค์การสหประชาชาติ

สหประชาชาติเป็นจุดกำเนิดขององค์กรทางการเงินระหว่างประเทศ...โดยแนวคิดด้านการจัดระเบียบโลกทางการเงินนี้ขยายตัวออกไปจากกลุ่มนักธุรกิจและชนชั้นขุนนางที่ต้องการผลประโยชน์ เช่น เกิดการรวมตัวขององค์กรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ธนาคารโลก ”World Bank” (1944) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ “IMF” (1945)

หลังจากนั้นได้เกิดตลาดร่วมยุโรป ที่ต่อมาพัฒนามาเป็น EU (ประชาคมยุโรป) จนในที่สุดเกิดองค์การการค้าโลก “World Trade Organization” หรือ “WTO” (1995)

เมื่อจัดระเบียบทางการเมืองระหว่างประเทศได้แล้ว ก็หันมามองด้านวัฒนธรรม จนขณะนี้มองด้านเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาติและกลุ่มความเชื่อ โดยองค์กรด้านวัฒนธรรมโลกในสหประชาชาติจะแก้ไขปัญหาด้านนี้และเป็นกันชนระหว่างคู่ขัดแย้ง

การปะทะกันระหว่างอารยธรรมและการจัดระเบียบโลกใหม่” (The Clash of Civilization and the remaking of the New World Order) เกิดขึ้นช่วงสงครามเย็น...ครั้งนั้นเชื่อว่า จะเกิดการปะทะกันระหว่างคริสเตียนกับอิสลาม เหตุจากสงครามตะวันออกลาง แต่ข้อเท็จจริงคือ สงครามตะวันออกกลางมิใช่สงครามศาสนาหรือสงครามศักดิ์สิทธิ์เหมือนยุคโบราณ หากแต่เป็นสงครามผลประโยชน์ด้านน้ำมันดิบ


แต่สิ่งที่มิได้คาดฝันหรือคิดกันก็คือ การกีดกันทางด้านเชื้อชาติ

การเหยียดผิว เหยียดชนชาติ เกิดขึ้นในแดนศิวิไลซ์ ทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป

โดยเฉพาะสหรัฐนั้นยังมีความเหลื่อมล้ำและเหยียดชนชาติ ซึ่งมีรากเหง้ามาแต่ยุคประวัติศาสตร์ มาปะทุเอาในวันนี้ ทั้งจากเหตุตำรวจผิวขาวฆ่าคนผิวดำ และจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คนสีผิว ไม่ว่าจะผิวดำหรือผิวสีชาติเอเชียที่ได้รับการดูแลรักษามาตรฐานต่ำกว่าคนไข้ผิวขาว

Trade War และ Currency War ก็เป็นความขัดแย้งและการปะทะกันระหว่างสหรัฐกับจีนและลุกลามมาถึงชาติเอเชียอื่นๆ ที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ และ EU

การกีดกันทางการค้าเกิดขึ้น จนทำให้เกิดความรู้สึกว่า โลกาภิวัตน์เป็นตัวการสำคัญ จึงเกิดคำใหม่มาแทนที่ Anti-globalization จะเรียกว่าปฏิโลกาภิวัตน์ หรือการต่อต้านโลกาภิวัตน์ หรือ "อโลกาภิวัตน์" ก็ได้

แต่แรกใช้ เป็นคำปฏิเสธบทบาททางการเมืองของบุคคลและกลุ่มที่ต่อต้านเสรีนิยมแนวใหม่ (neoliberal) ในนามของโลกาภิวัตน์ แต่วันนี้ กลับมามุ่งด้านเศรษฐกิจ กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านบรรษัทนิยม หรือขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านระบบทุนนิยม เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับโลกที่มีความแตกต่างหลากหลาย


การเกิดขบวนการนี้ ส่งผลถึงการรวมกลุ่มกัน เช่นการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของการประชุมทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น G8, IMF, EU, ASEM ฯลฯ

หลังการระบาดของโควิด-19 เราคงจะได้เห็นความเคลื่อนไหวในการต้านโลกาภิวัตน์ชัดเจนขึ้น...จากนั้น ต้องมาคิดใหม่ที่เป็น Rethink ไม่ใช่ New Normal ว่าเราจะปรับตัวให้อยู่ได้อย่างไรในระเบียบใหม่ของโลกใบเก่านี้

1,349 views
bottom of page