Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์มหภาค
ผลงานด้านเศรษฐกิจ ‘ชินโซ อาเบะ’ ดี...แต่ไม่ดีมาก เหตุโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นล้าหลังตามสไตล์อนุรักษนิยม อีกทั้งพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศมากเกินไป เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงถูกกระทบอย่างจัง ส่วนจุดเด่นของ ชินโซ อาเบะ คือเสถียรภาพการเมืองมั่นคง ทั้งการเมืองในพรรคแอลดีพี และพรรคการเมืองระดับชาติ ตลอดจนการมีบทบาทบนเวทีประชาคมโลก ต่างจากนายกฯ ญี่ปุ่นรุ่นก่อนๆ ที่ไม่ชอบยุ่งเรื่องนอกบ้าน จับตานายกฯ คนใหม่จะคุมเกมการเมืองได้อยู่หมัดแบบ ชินโซ อาเบะ หรือไม่ จะให้ความสำคัญกับนโยบายระหว่างประเทศแค่ไหน และจะเอาใจอเมริกาด้วยการลงทุนทางการทหารเหมือนยุค ชินโซ อาเบะ หรือเปล่า ถ้าใช่...จะเห็นญี่ปุ่นเดินหน้าเสริมศักยภาพทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่อไป
มองกรณี ชินโซ อาเบะ กับนโยบายเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” อย่างไร
หลักๆ เป็นรัฐบาลทั่วไป คือมี 3 ด้าน ด้านการเงิน การคลัง และด้านโครงสร้าง ก็เป็นไปตามตำรา ไม่ใช่อะไรที่พิสดาร ไม่ได้เป็นความคิดครั้งแรกในโลก เป็นวิธีคิดทั่วไปคือด้านการเงิน การคลัง และโครงสร้าง ซึ่งด้านโครงสร้างจะเป็นระยะยาว คือปรับเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ให้ผ่อนคลายขึ้น ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาว ส่วนสองเรื่องแรกเป็นระยะสั้น ซึ่ง ชินโซ อาเบะ เป็นคนเก่ง รู้จักใช้คำ เขาใช้คำว่าลูกศรสามดอก ดอกแรกคือการคลัง ดอกที่สองคือการเงิน ซึ่งก็ดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลก็ดูด้านการคลัง ขณะที่โครงสร้างก็เป็นอะไรที่ไม่ค่อยชัดนัก ทั้งหมดนี้ไปได้ในส่วนของการเงินกับการคลัง การเงินก็ทำสุดลิ่มทิ่มประตู ได้ผู้ว่าฯคู่ใจ และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศแรกของโลกที่ทำ QE และสหรัฐอเมริกาก็มาเลียนแบบ ส่วนด้านการคลังก็เห็นใจเพราะรัฐบาลเป็นหนี้สาธารณะเยอะมากเลย ก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก คือเป็นมาตรการระยะสั้นที่ทำไปมากมาตลอดนับ 10 ปี ในสมัยอาเบะก็ทำมากขึ้น
ส่วนการเมืองในญี่ปุ่นก็ถือว่ามีเสถียรภาพมากขึ้น มากกว่าสมัยก่อน เพราะอาเบะเติบโตมาจากพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี ซึ่งเป็นพรรคสำคัญที่ก็กลับมามีอำนาจ เป็นพรรคที่ครองอำนาจทางการเมืองมานาน ช่วงที่มีวิกฤตก็หลุดไปสั้นๆ แล้วก็กลับมาใหม่ และมีความแข็งแรงมากในสมัยอาเบะ เพราะเป็นตระกูลนักการเมือง พ่อของเขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศก่อนจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี 2 คน 3 เจเนอเรชัน แล้วยังมีลูกอีก ซึ่งลูกกำลังมีบทบาทในพรรคแอลดีพี
นอกจากนั้น ชินโซ อาเบะ ยังอยู่ในตำแหน่งช่วงระยะเวลาที่การเมืองพรรคแอลดีพีไม่มีปัญหา ก็อยู่ได้นาน รัฐบาลจึงมีเสถียรภาพตามที่คนญี่ปุ่นต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เดินหน้าไปได้ในส่วนของนโยบายระยะสั้นคือนโยบายการเงินการคลัง แต่ที่เป็นนโยบายปรับโครงสร้าง ก็ไปได้ไม่ชัดมากนัก อาเบะก็พยายามเน้นให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานมากขึ้น ส่งเสริมให้ครอบครัวคนญี่ปุ่นมีงานทำมากขึ้น
แต่มันก็ลำบาก เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ถือว่าไม่มีโชคเหมือนกัน เพราะตอนที่เศรษฐกิจกระตุ้นขึ้นมาถึงจุดๆ หนึ่ง เศรษฐกิจโลกกลับมีปัญหา พอมีปัญหา นโยบายต่างๆ ก็เดินหน้าไปได้ยาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นมันยังไม่ดีนัก เขาพึ่งต่างประเทศมากไป เพราะฉะนั้นเวลาเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เขาจะได้รับผลกระทบไปด้วย ก็จะเป็นอะไรที่อาเบะโนมิกส์ ไม่ป๊อปปูลาร์เท่าที่ควร
ถ้าให้คะแนน
ก็ดีกว่าปกติ ถ้าเป็นเกรดก็บีบวก ถือว่าทำได้ดี โครงสร้างของญี่ปุ่น ไม่ได้ดีมาแต่ต้น ตั้งแต่สมัยเศรษฐกิจรุ่งมากๆ ส่งออกไปทั่วโลก ตอนหลังสหรัฐอเมริกาเข้ามาบี้มาก พอบี้มากก็ฟุบ ฟุบประมาณ 1990-1992 เศรษฐกิจเขาเริ่มแย่ ตอนแรกมองว่าคงเป็นปัญหาระยะสั้น เพราะเศรษฐกิจเขาค่อนข้างแข็ง แต่เป็นการประเมินสถานการณ์ผิด ก็แย่มาเรื่อยๆ จนมาแย่มากช่วงปี 2008-2009 เขาร่วงลงแรงมากตามเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป
คือญี่ปุ่นเศรษฐกิจเขาค่อยเป็นค่อยไป และนักการเมืองก็เป็นนักการเมือง คือทำไปเรื่อยๆ มีแนวคิดโดยรวมแบบอนุรักษนิยม คือทำอะไรก็ได้ ขอให้ราบรื่น ไม่เน้นที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงเป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีการปรับโครงสร้างเลย โครงสร้างทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่เหมือนช่วงยุค 1970-1980 ช่วงที่มีวิกฤต ตอนนั้นญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากในเรื่องนวัตกรรม เช่นการผลิตรถที่มีขนาดเล็กลง ประหยัดน้ำมัน พวกนี้เขาพัฒนาไปเร็วมาก และทำให้ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมออโต้และอิเล็กทรอนิกส์อย่างมากในช่วงทศวรรษนั้น และหลังจากนั้นก็หมดแล้ว ถูกยึดพื้นที่หมด
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาที่ดูแย่ กลับดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจดีกว่าญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเขาไม่ได้ปรับโครงสร้างเลย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไปเรื่อยๆ ไม่มีปฏิรูปเลย ตรงนี้ก็ทำให้อาเบะไม่ป๊อปปูลาร์เท่าที่ควรในหมู่คนญี่ปุ่น เวลาที่เขาทำโพลล์ คะแนนนิยมของเขาไม่ค่อยดีนัก ก็ไปเรื่อยๆ แต่โชคดีที่ในพรรคไม่มีปัญหา สามารถคุมพรรคได้ดี เขามีฐานหนาแน่นในพรรค แต่ว่าหลังจากอาเบะก็ไม่แน่แล้วว่าคนที่ขึ้นมาแทนจะคุมเสียงในพรรคได้ดีแค่ไหน
สำหรับคนที่จะมารุ่งๆ หน่อยจะเป็นลูกของ คุสึเนะ ชินจูโร ที่เป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม แต่ว่าโดยรวมความหวังของคนญี่ปุ่นที่มีต่อการเมืองญี่ปุ่น ส่วนตัวว่าไม่น่าจะสูง เท่าที่สังเกตมาการเมืองญี่ปุ่นเป็นแบบไปเรื่อยๆ ทุกอย่างแล้วแต่ราชการทำ เหมือนหลงจู๊ ค่อยๆ ดูแลไป แต่ว่าไม่ได้มีสิทธิ์อะไรที่เรียกว่าจะต้องไปปฏิรูปบางจุดให้ทันในระยะยาวต่างๆ ดังนั้นญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ว่าระยะยาวน่าเป็นห่วง ต้องไปชิงดำกับยุโรปว่าใครจะแย่กว่าใครในระยะยาว ชิงดำในทางบ๊วย คือเป็นประเทศที่โครงสร้างไม่ค่อยดี ตรงนี้ไม่ได้พูดถึงประเทศไทยนะ ระหว่างญี่ปุ่นกับยุโรป เขาชิงดำในเรื่องความเป็นบ๊วยในอนาคต เป็นประเทศที่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีอุตสาหกรรมที่เชิดหน้าชูตาหรือมีประสิทธิภาพสูงพอที่จะดูแลประเทศได้ ไม่เหมือนยุคที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์อะไรต่างๆ สมัยก่อนญี่ปุ่นสุดยอดเลยเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ตอนนี้ไม่มีแล้ว ตอนนี้ยากแล้ว
หลังอเมริกาถอนตัวจาก TPP ทางญี่ปุ่นก็พยายามเข้ามามีบทบาทในการตั้ง CPTPP
เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก คือในอดีตที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเขาไม่เน้นงานต่างประเทศ เขาเป็นประเทศเน้นค้าขายอย่างเดียวเลย เพราะว่าเขาได้รับผลกระทบ มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉะนั้นคนในประเทศไม่อยากจะให้ยุ่งกับโลกภายนอก แต่อาเบะมีอายุการทำงานที่ยาวขึ้นก็หันไปสนใจเรื่องระหว่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นบทบาทของอาเบะในเรื่องระหว่างประเทศก็คือว่าพยายามเป็นสัมพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ตรงนี้คือสิ่งที่ต่างจากนายกรัฐมนตรีรุ่นก่อนอาเบะ รุ่นก่อนอาเบะไม่อยากยุ่งกับโลกภายนอกมาก ถ้าจะมีก็อยู่แบบเป็นเพื่อนกันเฉยๆ อยากเน้นภายในประเทศมาก แต่อาเบะจะมีระหว่างประเทศมากขึ้น และพยายามเข้าไปร่วมเปิดประชาคมโลก ฉะนั้น TPP อะไรต่างๆ อาเบะก็จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกาในเอเชียแปซิฟิก คือบทบาทของเขาพยายามที่จะช่วยเหลือกัน ถ้าสหรัฐอเมริกาไม่อยู่ก็คงจะไม่เป็นอะไร ไม่เหมือนยุคก่อนอาเบะ สหรัฐอเมริกาจะทำอะไรก็ต้องคุยกับญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นก็ไม่ง่าย ญี่ปุ่นเขาก็ไม่ตอบสนองสหรัฐอเมริกาเท่าไหร่
ส่วนอีกเรื่องก็คือเรื่องที่เกี่ยวกับการทหาร เป็นสงครามเย็นยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นมา สหรัฐอเมริกามีนโยบายจะให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียลงทุนทางการทหารแทนสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาเบะก็ตอบสนองสหรัฐอเมริกาในเรื่องการลงทุนทางการทหาร เพราะฉะนั้นช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลงทุนทางการทหารเยอะมาก และก็มีการทำความร่วมมือทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารร่วมกัน แต่จากนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ต้องมาดูกันว่าคนใหม่มาจะเดินนโยบายระหว่างประเทศแบบอาเบะหรือไม่ ถ้าดำเนินตามก็หมายถึงว่า ญี่ปุ่นจะต้องมีขีปนาวุธเป็นของตัวเอง ก็จะมีอะไรต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น
Photo Credit : https://pixabay.com/photos/abe-shinzo-person-portrait-face-867816/
Comentários