top of page
312345.jpg

ทำความรู้จัก THOR…อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ของไทย


ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

  • การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับบริบทใหม่ของโลกการเงินที่จะไม่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารในกรุงลอนดอน (LIBOR) เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับธุรกรรมทางการเงิน เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลภาคการเงินของหลายๆ ประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น การเริ่มเผยแพร่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ที่เรียกว่า THOR ของธปท. เมื่อเดือนเมษายน 2563 นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะข้ามคืนสำหรับการกู้ยืมในสกุลเงินบาท ที่มีความสอดคล้องกับแนวทางในต่างประเทศ

  • ธปท. พัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THBFIX ของไทยที่จะสิ้นสุดลง ณ สิ้นปี 2564 ตามการยกเลิก LIBOR โดยอัตราดอกเบี้ย THOR มีจุดเด่นกว่า THBFIX ตรงความสามารถในการสะท้อนภาวะสภาพคล่องของเงินบาทในตลาดการเงินของไทย ผันผวนน้อย และมีทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากกว่าอัตราดอกเบี้ย THBFIX ซึ่งถูกคำนวณขึ้นจากปัจจัยที่สะท้อนสภาพคล่องเงินดอลลาร์ฯ เป็นหลัก ดังนั้นคาดว่า อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR จะมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินของไทย และช่วยลดความเสี่ยงที่ต้นทุนการกู้ยืมในรูปเงินบาทจะได้รับผลกระทบจากการพลิกผันของสภาพคล่อง/ต้นทุนการกู้เงินในรูปดอลลาร์ฯ เหมือนเช่นกรณีของอัตราดอกเบี้ย THBFIX ในบางช่วง

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราดอกเบี้ย THBFIX ที่จะทยอยมีบทบาทน้อยลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดให้สัญญาสินเชื่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ จะต้องอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยตัวอื่นมากขึ้น (จากปัจจุบัน ประเมินว่า สินเชื่อธุรกิจที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 8% ของพอร์ตสินเชื่อธุรกิจโดยรวม) โดยสำหรับผู้ประกอบการภาคธุรกิจแล้ว อาจต้องเตรียมทำความรู้จักกับอัตราดอกเบี้ย THOR ที่คาดว่าจะใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในสัญญาสินเชื่อแทนที่ THBFIX มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จะถูกกำหนดขึ้น ณ วันสิ้นงวด รวมถึงค่า spread ที่จะสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ อย่างไรก็ดี ความนิยมแพร่หลายของอัตราดอกเบี้ย THOR ในระยะถัดไป คงต้องฝากความหวังไว้ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งธปท. หน่วยงานของทางการ สถาบันการเงิน ตลอดจนภาคธุรกิจ ที่จะต้องร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาด และเพิ่มปริมาณธุรกรรมเพื่อสนับสนุนให้ตลาดมีสภาพคล่องมากขึ้นในอนาคต

31 views
bottom of page