top of page
image.png

ดีมานด์ฟื้นหลังโควิดคลาย..."ไทยกับทอง" ของคู่กัน


สภาทองคำโลกรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำล่าสุดระบุความต้องการทองคำรายปีทั่วโลก ฟื้นตัวขึ้น หลังจากหดตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ลงมาเหลือ 4,021 ตัน ส่วนไทยสะท้อนเด่นชัดความต้องการทองคำของผู้บริโภคแตะระดับ 12 ตัน ในไตรมาสที่ 4/2564 หรือเพิ่มขึ้นถึง 44% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2564

รายงานระบุว่า ความต้องการเครื่องประดับทองรายปีของประเทศไทยอยู่ที่ 8 ตัน เพิ่มขึ้น 38% จาก 6 ตัน ในไตรมาส 4/2563 การใช้เครื่องประดับเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็น 3 ไตรมาสติดต่อกันในการเติบโตแบบปีต่อปี เรียกได้ว่าเป็นไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด และสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยได้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิดอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2564 ประเทศไทยเปลี่ยนจากการถอนการลงทุนสุทธิในทองคำ ไปเป็นการลงทุนเชิงบวกสุทธิในทองคำแท่งการรวมกันระหว่างราคาทองคำที่ลดลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทำให้ความต้องการทองคำแท่งต่อปีแตะ 29 ตัน เทียบกับการขายสุทธิที่ 87 ตัน ในปี 2563

Andrew Naylor ซีอีโอประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า ดีมานด์ทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนจากการถอนลงทุนสุทธิไปเป็นการลงทุนเชิงบวกสุทธิ การรวมกันระหว่างราคาทองคำที่ลดลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและค่าเงินบาทที่อ่อนลงมีบทบาทสำคัญในแนวโน้มการลงทุนนี้เป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ความต้องการทองคำทั่วโลกแตะ 1,147 ตัน ในไตรมาส 4/2564 ซึ่งถือเป็นระดับรายไตรมาสสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2562 เป็นต้นมา และเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานของสภาทองคำโลก

ความต้องการทองคำแท่งเพิ่มขึ้น 31% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ 1,180 ตัน เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยมองหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา

ชุดข้อมูลของสภาทองคำโลกรายงานว่า มีทองคำไหลออกจากกองทุน ETF ที่หนุนด้วยทองคำจำนวน 173 ตันในปี 2564 เนื่องจากนักลงทุนที่ปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะของตลาดบางราย ได้ลดการป้องกันความเสี่ยงในช่วงต้นปี เมื่อประชาชนทั่วไปเริ่มได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้การถือครองทองคำมีราคาแพงขึ้น

อย่างไรก็ตามการไหลออกของทองคำนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวน 2,200 ตัน ที่กองทุน ETF ทองคำได้สะสมไว้ในช่วง5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้ว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับการสะสมทองคำไว้ในพอร์ตการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาถึงความต้องการรายปีของผู้บริโภค ภาคอัญมณีดีดตัวขึ้นไปถึงยอดที่เคยได้ก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2562 ที่ 2,124 ตัน โดยได้รับการหนุนจากไตรมาสที่ 4 ที่แข็งแกร่ง เมื่อความต้องการแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2556 เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่ราคาทองคำต่ำกว่าราคาเปรียบเทียบเฉลี่ยในปี 2564 ถึง 25% ตอกย้ำความแข็งแกร่งของดีมานด์ในไตรมาสล่าสุด

เป็นปีที่ 12 ติดต่อกันที่ธนาคารกลางเป็นผู้ซื้อสุทธิของทองคำ โดยเพิ่มการถือครองทองคำ 463 ตัน ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ถึง 82% กลุ่มธนาคารกลางที่มีความหลากหลายจากทั้งตลาดเกิดใหม่และตลาดที่พัฒนาแล้วได้เพิ่มการสำรองทองคำ ทำให้ยอดรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี

การใช้ทองคำในภาคเทคโนโลยีในปี 2564 เพิ่มขึ้น 9% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ 330 ตัน แม้ว่าความต้องการในด้านเทคโนโลยีค่อนข้างน้อยกว่าภาคส่วนอื่นๆ แต่มีการใช้งานทองคำอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายประเภท ตั้งแต่อุปกรณ์พกพาไปจนถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Telescope) อันล้ำสมัยที่เพิ่งเปิดตัวไป

“คาดว่าทองคำจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายๆ กับปีที่ผ่านมาในปี 2565 นี้ เนื่องจากมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและลดทอนประสิทธิภาพของทองคำ”

ในอีกไม่นานนี้ ราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะปรับตามเงินเฟ้อ โดยจะเป็นไปพร้อมๆ กับการกระชับนโยบายทางการเงินและประสิทธิภาพในการควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางทั่วโลก

ในอดีต การเปลี่ยนแปลงของตลาดเหล่านี้ได้สร้างกระแสต่อต้านทองคำ

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้และความเป็นไปได้ที่ตลาดจะอ่อนตัวลงมีแนวโน้มที่จะรักษาความต้องการทองคำไว้เป็นเครื่องป้องกันความเสี่ยง นอกจากนี้ ทองคำอาจยังคงได้รับการหนุนจากผู้บริโภคและอุปสงค์ของธนาคารกลาง

Louise Street, นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก ให้ความเห็นว่า ผลการดำเนินงานของทองในปีนี้ได้ตอกย้ำคุณค่าของคุณสมบัติทวิภาพที่ไม่เหมือนใครและตัวขับเคลื่อนความต้องการที่หลากหลายอย่างแท้จริง

“ในด้านการลงทุนการยื้อยุดระหว่างอัตราเงินเฟ้อที่คงอยู่และราคาที่สูงขึ้นทำให้เกิดภาพอุปสงค์ที่หลากหลาย ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นกระพือความเสี่ยงในหมู่นักลงทุน ซึ่งสะท้อนให้เห็นในการไหลออกจาก ETF ในทางกลับกัน การมองหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยทำให้มีการซื้อทองคำแท่งและเหรียญเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการซื้อของธนาคารกลาง การลดลงของ ETF จะชดเชยด้วยการเติบโตของดีมานด์ในภาคส่วนอื่นๆ อัญมณีก้าวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบทศวรรษ เนื่องจากตลาดสำคัญๆ เช่น จีนและอินเดีย มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เราคาดว่าการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายๆ กันนี้จะส่งผลต่อทองคำในปี 2565 โดยมีตัวขับเคลื่อนความต้องการที่ผันผวนตามอิทธิพลของตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ วิธีที่ธนาคารกลางจัดการกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสำคัญต่ออุปสงค์ทางสถาบันและการค้าปลีกในปี 2565 ในขณะเดียวกัน ความแข็งแกร่งของตลาดอัญมณีในปัจจุบันอาจต้องหยุดชะงัก หากมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่มาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงของผู้บริโภคอีก หรืออาจจะคงความแข็งแกร่งต่อไป ถ้าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัว”

 

コメント


bottom of page