top of page
312345.jpg

EEC ใส่เกียร์เดินหน้าต่อ...เรียกต่างชาติกลับมาลงทุนในไทย


สัมภาษณ์ : ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี


ต่างชาติมั่นใจไทยคุมโควิด-19 ได้ดี เริ่มกลับมาสนใจลงทุนเพิ่มใน 4 เรื่อง คือ เทคโนโลยี 5G โลจิสติกส์ การแพทย์ และอาหาร แต่เม็ดเงินลงทุนทั้งปี 63 ลดลงแน่นอน โดยเฉพาะไตรมาส 2 ช่วงล็อกดาวน์เป็นช่วงหนักที่สุด รอความชัดเจนมาตรการรองรับ Business Bubble เพื่อรับนักลงทุนต่างชาติมาไทยตามกระบวนการคัดกรอง-ป้องกันของภาครัฐ หวังโครงการ EEC โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อเส้นทางสนามบินจะเดินหน้าได้ช่วงปลายปีนี้

ทางอีอีซีมีการประเมินผลหลังเกิดโควิด-19 อย่างไร

ถามว่าองค์กรหยุดทำงานหรือไม่ ก็คือไม่ได้หยุดทำงาน นายกรัฐมนตรีของไทยก็นั่งเป็นประธานการประชุมทุกเดือน ขณะเดียวกันเรื่องโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ ๆ ที่เราจำเป็นต้องทำก็ไปได้เรื่อย ๆ เพิ่งลงนามเรื่องสนามบินไปท่ามกลางโควิด-19 เลย ก็คือทำงานโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างใหญ่ ๆ นี้ไปได้ ที่จะถูกกระทบก็จะมีเรื่องการลงทุน เพราะตอนนี้โดนกันหมดทั่วโลก ทุกคนก็กลับไปดูแลบ้านตัวเอง ตอนนี้ไม่มีใครไปลงทุนในประเทศอื่น เพราะเดินทางก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ก็จะลำบากหน่อย แต่ว่าทาร์เกตนี้ไม่ได้เปลี่ยนไป หลังโควิด-19 เราก็จะเร่งทำงาน

ขณะเดียวกัน เรื่องของการลงทุนจะมีแนวโน้มแปลก ๆ มา เช่นแนวโน้มความสนใจกับประเทศไทยมากขึ้น เพราะเราดูแลเรื่องโควิด-19 ค่อนข้างดี ถ้าเทียบกับประเทศอื่นเราค่อนข้างทำได้ดี ก็เลยมีคนที่สนใจจะเข้ามาลงทุน 4 หลักใหญ่ ก็คือ

1. เรื่อง 5G เรื่องนี้เราได้วางแผนไว้แล้วในอีอีซีว่าจะต้องมีพื้นที่ Cover เรื่อง 5G ประมาณ 50% ภายในปลายปีนี้ ซึ่งเขาก็ทำงานกันอย่างแข็งขันกันอยู่ ปลายปีนี้คงได้แน่ สำหรับเรื่อง 5G ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน นักลงทุนต่างชาติก็ได้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเยอะ

ส่วนเรื่องที่ 2 คือเรื่องที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ เนื่องจากเราทำสนามบินแล้ว ตอนนี้รถไฟ สนามบินเสร็จแล้ว ท่าเรือก็เหลืออีกนิดเดียว ท่าเรือมาบตาพุดเสร็จแล้ว ก็จะเหลือท่าเรือแหลมฉบังที่อีก 1 เดือนเสร็จ การลงทุนด้านโลจิสติกส์ โมเดิร์นโลจิสติกส์ใหม่ ก็จะเกิดขึ้น ส่วนนี้ก็มีคนสนใจติดต่อโทรมาหาเราเยอะ

เรื่องที่ 3 คือเรื่องการแพทย์มีคนสนใจมองไทยเป็นฐานด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาลและอุปกรณ์การแพทย์ที่ดีได้ในอนาคต

ส่วนเรื่องสุดท้ายคือเรื่องอาหาร เนื่องจากว่าเราดูแลได้ดี คนก็สนใจว่าประเทศไทยน่าจะเป็นฐานการผลิตอาหารรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่สามารถที่จะช่วยเหลือโลกในเรื่องความสะอาดได้ ระบบสาธารณสุขของเราค่อนข้างดี

ตรงนี้เป็นแนวโน้มใหม่ ขณะที่เรื่องเก่าก็ยังดีอยู่ ดังนั้น แม้การลงทุนจะลากยาวออกไป เราก็ไม่ต้องตกใจ เรายังดีกว่าประเทศทั่วโลกเยอะ เราปิดเมือง เราดูแลโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี

มีความจำเป็นหรือไม่ว่าจะต้องดำเนินไปตามทาร์เก็ตเดิม หรือจะต้องมีการปรับใหม่ ให้เป็น New Normal

คิดว่าน่าจะมีการปรับแผนบ้าง แต่เรื่องปริมาณ จำนวนเงิน การลงทุน เรายังคงไว้เหมือนเดิม คิดว่าช่วงปลาย ๆ โควิด-19 แล้วคงจะเร่งการลงทุนที่ทำไม่ได้ในช่วงนี้ ส่วนใหญ่การลงทุน นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนของไทยบอกว่าตอนนี้ต้องเลื่อนออกไปหน่อย หมายความว่าสักพักหนึ่งพอเริ่มโควิด-19 ซา ๆ ค่อยมาคุยกันใหม่ ที่เคยสัญญาว่าจะลงทุน ก็คงจะลงทุนเหมือนเดิม


เพราะเห็นตัวเลขไตรมาสที่หนึ่ง ก็ยังดูดี


ต้องบอกว่าตัวเลขที่เห็น 3 เดือนแรกคือเรายังเจอโควิด-19 ไม่เยอะเท่าไหร่ การลงทุนที่ขอไว้ในปีก่อน ๆ ก็เข้ามาลงทุนโดยปกติ แต่ว่าช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นผลกระทบของโควิด-19 ต้องบอกตรง ๆ ว่าที่หนักที่สุดคือช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากเราต้องปิดเมือง ปิดประเทศ มันแรงมาก เพราะฉะนั้นปลายปีจะมีผลของไตรมาส 2 มากระทบบ้าง ถือว่าเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

บางคนบอกถึงขนาดว่า หยุดไปเลยดีไหม

จริง ๆ ถ้าเทียบดูแล้วอีอีซีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เยอะมาก ส่วนงบประมาณและส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในอีอีซีของไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข เรื่องการลงทุนในพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เรื่องการศึกษา เรายังทำเหมือนเดิม ส่วนที่โดนกระทบจริง ๆ คือนักลงทุนจากต่างประเทศ

แม้ว่าจะขาดหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่างดร.สมคิดไป ก็ไม่กระทบใช่ไหม

ต้องบอกว่าอีอีซีมี พ.ร.บ.ของตัวเอง และมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ ฉะนั้นใครที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นประธานคณะกรรมการต่อไป หลัก ๆ ของอีอีซีก็ยังคงเดินต่อไปได้ ส่วนดร.สมคิดท่านเป็นคนช่วยทำเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เสียใจด้วยที่ท่านไม่อยู่ แต่อย่างไรก็ตามอีอีซีจะต้องเดินหน้าต่อไป

เรื่องที่คุยกันไว้ว่าจะทำ Business Bubble ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

เราเสนอไปแล้ว จริง ๆ แล้วมีนักลงทุนจากต่างประเทศหลาย ๆ บริษัทโดยเฉพาะญี่ปุ่นบอกว่ามีผู้บริหารจากทางญี่ปุ่นหลายคนต้องมารับตำแหน่งที่เมืองไทย แต่มาไม่ได้ เราก็เลยขอทางศูนย์โควิดให้ทำหลักเกณฑ์ให้หน่อยว่าถ้ากลุ่มนี้จะเข้ามา ต้องตรวจสุขภาพมาก่อน ซื้อประกันมาแล้ว ใช่หรือไม่ เข้ามาแล้วต้องอยู่ในโรงพยาบาล อยู่ในที่รัฐบาลจำกัดไว้ให้หรือไม่ เขาจะทำงานได้บ้างหรือไม่ คือขอให้ได้เห็นว่าแนวทางการกำกับดูแลคนที่เข้าประเทศเป็นอย่างไร โดยหลักการต้องไม่น้อยกว่าคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศ ก็เลยขอไป แต่ว่าท่านจะอนุมัติว่าจะเป็นประเทศไหน หรือว่าจะเป็นเมื่อไหร่ ก็แล้วแต่ทางศูนย์โควิด

แต่เราก็แจ้งไปว่ามีความจำเป็น พร้อมเมื่อไหร่ก็บอกมา แต่ก่อนจะอนุมัติขอให้เห็นชัดๆ นิดนึงได้ไหม เพราะว่าคนที่จะเดินทางมาก็ต้องขออนุญาต ส่วนทางเราอีอีซีก็ต้องเตรียมตัว อย่างเช่นว่าเราจะจัดคนกำกับเลย คนนี้เข้ามาจะมีคนของเราคอยจำกัดไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เหมือนกรณีของอียิปต์หรือลูกทูต ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่ ประเทศใด ก็แล้วแต่ท่าน


ที่ผ่านมายังไม่เคยอนุญาต ให้กลุ่มธุรกิจไหนเข้ามาเลย

ยัง ที่คุยกันก็คุยกันว่าขั้นตอนที่เหมาะสม คืออะไร เช่นเข้ามาแล้ว ก่อนมาจะต้องตรวจสุขภาพมาใช่ไหม มาถึงแล้วจะต้องตรวจซ้ำอีกรอบใช่ไหม ตรวจแล้วก็ต้องเข้าไปกักตัวในสถานที่ที่ทางเราจัดให้ แล้วก็ดูแลเป็นอย่างดีใช่หรือไม่ ตอนนี้ก็เลยเพิ่มอีกข้อหนึ่งคือตั้งแต่ลงเครื่องบินมา จะต้องมีคนคอยกำกับดูแลตลอดเวลา ก็ต้องมานั่งคุยกันว่ากระบวนการตรงนี้เป็นอย่างไร ถ้ากระบวนการตรงนี้ชัดเจนเราก็บอกกับนักลงทุนต่างชาติได้ว่า ถ้าคุณจะมาทุกอย่างต้องเป็นแบบนี้ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำในเรื่องนี้เลย

ยืนยันได้ไหมว่าไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลกรณีที่ระยอง จะทำให้โครงการอีอีซีหยุดไปด้วย


ไม่เกี่ยวเลย เราคิดว่าตอนนี้เราอยู่ในกระบวนการที่ดีพอ ซึ่งกรณีของระยองที่เกิดขึ้นยิ่งดีใหญ่ ทำให้เราระวังตัวมากขึ้น

อีกกรณีที่เกิดขึ้น ที่เป็นเครือข่ายชุมชน 3 จังหวัดอีอีซี

คือเรื่องนี้เป็นอย่างนี้ ตอนที่เราทำอีสเทิร์น ซีบอร์ด เมื่อ 30 ปีก่อน ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราดูแลเรื่องเกี่ยวกับเมืองน้อยเกินไป ดูแลเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองน้อยเกินไป ก็เลยมีปัญหาตามมา คราวนี้เราก็เลยขอกรรมการอีอีซีว่าขอวางผังพื้นที่ ซึ่งกระบวนการวางผังพื้นที่ เราให้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นคนทำ เราไม่ได้ทำเอง กรมโยธาธิการที่ทำเรื่องนี้มา ทำถูกต้องตามหลักวิชาการ เสร็จแล้วก็มีกรณีที่เราลงไปฟังความเห็น ทำความเข้าใจกว่า 40 ครั้ง ก็พบว่าการร้องเรียนในพื้นที่ที่ทำไม่เยอะ มีทั้งหมดแค่ประมาณ 10 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ เราก็ตอบคำถามตรงนั้นหมดไปแล้ว จึงได้ทำประชาพิจารณ์ ทำอะไรเสร็จแล้ว เสร็จแล้วออกไปลงราชกิจจาเรียบร้อยแล้ว ถือว่าจบกระบวนการไปแล้ว

แต่หลังจากนี้เราก็ยังรับฟังถ้ามีคนร้องเรียน เรื่องอะไรที่เดือดร้อนเราก็รับฟัง จะจัดทีมเข้าไปดูแลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่การวางผังพื้นที่ไว้ก่อนการพัฒนาพื้นที่มันดูไม่เหมาะสม เราจำเป็นต้องวางให้ชัดว่า 20 ปีข้างหน้าจะมีคนเข้ามาอยู่กี่คน แล้วจะอยู่กันอย่างไร อย่าไปยุ่งเกี่ยว อย่าไปทำอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้ชุมชน อยู่ใกล้สิ่งแวดล้อม จะเป็นปัญหานะ แต่ว่าแผนผังที่ออกมาหลัก ๆ ก็คือว่า 1. เราไม่ยุ่งกับป่าเลย 2. พื้นที่ที่เป็นเกษตรกรรมชั้นดีเราเก็บหมด ไม่เดือดร้อนกับเกษตรกร 3. เอาเรื่องพื้นที่เมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนชนบทที่กลายเป็นเมือง และในอีอีซีมันเป็นเมือง แถวพัทยา แถวปลวกแดงบ้าง มาพัฒนาเป็นพื้นที่เมืองสมัยใหม่ พื้นที่เมืองสมัยใหม่ เราก็เอากลับเข้าไป แหล่งน้ำทั้งหมด ติดกับแม่น้ำติดกับคลอง ห้ามทำอะไร เราทำ Buffer Zone กับกรมโยธาธิการและผังเมืองทั้งหมดเลย เราก็เลยคิดว่าถ้าเราทำกันได้แบบนี้ก็น่าจะดีกว่าผังเก่าอยู่แล้ว และจะรองรับอนาคตข้างหน้า 20 ปี อย่างน้อยเราไม่ต้องมาทะเลาะกันในอนาคตว่าทำอีอีซีแล้วมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องการใช้ชีวิต ก็ต้องยอมรับว่าคงจะไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หมายความว่าถ้ามีปัญหาที่จะต้องแก้ไข เราลงไปช่วยแก้ปัญหาให้ได้

ในปีนี้โครงการอีอีซีจะช่วยดึง GDP ของประเทศได้บ้างไหม

กำลังดึงอยู่ เพราะตอนนี้รถไฟความเร็วสูงก็เชื่อม 3 สนามบิน และสนามบินอู่ตะเภาก็ประมูลเสร็จแล้ว ได้เอกชนมาร่วมลงทุนแล้ว เขาก็จะเริ่มลงทุนช่วงปลายปี แต่ว่าก่อนปลายปีเรามีโครงการหลายโครงการทำในพื้นที่ เป็นการลงทุนที่ทำในพื้นที่เกี่ยวกับการพัฒนาตลาดการพัฒนาห้องเย็นเพื่ออาหารผลไม้และอาหารทะเล เราก็จะรีบทำโดยเร็วที่สุด และช่วงปลายปีนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ ๆ ได้ลงหมดแล้ว เราตอกเสาเข็มแล้ว ก็น่าจะไปได้ดี

263 views
bottom of page