top of page
312345.jpg

ฝันร้ายผู้ถือหุ้น AOT...เจออุ้มผู้ประมูล-คู่ค้า ถามหาจริยธรรม-ธรรมาภิบาล?


Interview : คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

อดีตสมาชิกวุฒิสภา

'เรืองไกร' เกาะติด จับผิดสัญญา AOT-คิงเพาเวอร์ เพื่อป้องกันผลประโยชน์รัฐ สร้างความเป็นธรรมให้เอกชนในระบบการประมูลสัมปทานภาครัฐ พุ่งเป้าประเด็นเจรจาต่อรองปรับเงื่อนไขสัญญาว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยจริยธรรม ชอบด้วยหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ยืนยัน...จะใช้กระบวนการสภาผู้แทนตรวจสอบต่อ ไม่ว่า สตง.จะสรุปผลอย่างไร

เรื่อง AOT กับคิงเพาเวอร์ตอนนี้เป็นอย่างไร

ส่วนตัวก็ตามข่าวอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือข่าวจากสื่อมวลชน พร้อมกับอดีตรัฐมนตรีคลังก็เคยโพสต์ เคยส่งมาให้ดู ทีนี้พอดูแล้วเราก็สงสัยว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่เฉยได้อย่างไรในเรื่องนี้ เพราะเราพูดถึงผู้ที่มีส่วนได้เสียกันทั้งหมด แล้วประเด็นใหญ่ๆ 2 ข่าวที่ส่วนตัวส่งให้ สตง. ก็เชื่อมสัมพันธ์กัน และก็พูดเรื่องสัญญาใหม่ที่เริ่มปลายเดือนกันยายนนี้ ไปเจรจาอ้างเหตุผลต่างๆ พอดูเรื่องนี้แล้วเราก็ติดใจ ไม่มีใครพูดถึงสัดส่วนของกระทรวงการคลังที่จะต้องสูญเสียไปซึ่งส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งๆ ที่ข้อมูลนี้อยู่ในเว็บตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง พอขึ้นมาปุ๊บพูดถึงหุ้นใหญ่ก็กระทรวงการคลังเลย ส่วนผู้ถือหุ้นลำดับที่ 5 ก็จะเป็นสำนักงานประกันสังคม ถามว่าการที่ไปคุยกันอย่างนี้ จะทำให้ผลประโยชน์ของกระทรวงการคลัง กับสำนักงานประกันสังคมถูกกระทบแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหุ้นที่ลดลงหรือเงินปันผลที่จะได้รับต่อไป ก็จะต้องลดลง ซึ่งเราบอกว่าทำไมไม่ตรวจสอบเรื่องนี้

ขณะที่การไปเจรจากันเอง ก็ถามกรรมาธิการสภาว่ามีการเรียกไปสอบหรือไม่ เขาก็บอกสอบ พอสอบเสร็จก็มีการไปชี้แจงรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน แล้วมีการถามว่าผ่านมติครม.หรือไม่ ทาง AOT หรือ ทอท.ก็ยังชี้แจงไม่ค่อยชัด และส่วนตัวได้ขอรายงานการประชุมของกรรมาธิการสภาผู้แทนมาดู แล้วก็ให้กรรมาธิการงบประมาณเชิญ AOT มา แล้วให้ถามด้วย เขาก็ตอบไม่ชัด พอตอบไม่ชัด ส่วนตัวก็ร้อง สตง. ให้ สตง.ไปสอบว่าจริงๆ แล้วผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะผู้ถือหุ้นใหญ่กระทรวงการคลังเขาได้รับผลกระทบอย่างไรหรือไม่

ปัจจุบันประเทศเรา ฐานะการเงินการคลังเราก็รู้อยู่แล้ว คือมันทำให้หน่วยงานของรัฐเสียประโยชน์อย่างไร เราก็นึกย้อนไปถึงสมัยที่ปฏิวัติปี 2549 แล้วตั้ง คตส. คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ส่วนตัวก็ใช้คำนี้มาร้อง สตง.ในฐานะที่เคยตรวจสอบในช่วงนั้นมาก่อน

ในหลักการตามปกติแล้ว เมื่อคิงเพาเวอร์ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ประมูลงานได้ทั้งหมด จะต้องทำอย่างไร

เรื่องนี้สัญญากำลังจะเริ่มปลายเดือนกันยายนนี้ การไปเจรจาลดผลประโยชน์ ปัญหาหนึ่งที่ส่วนตัวเคยให้ข้อมูลเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ที่ สตง.ไปแล้วว่า นอกจากกระทรวงการคลังแล้ว เราก็ถามต่อว่า การไปปรับเงื่อนไขสัญญากันเองอย่างนี้ ทำให้คนที่เขาร่วมแข่งขันประมูลกันก่อนหน้านี้เขาได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นอีกมิติหนึ่ง ก็ต้องรอดูว่า สตง. จะดูประเด็นนี้อย่างไร แต่เขาขอมาอันหนึ่ง พอเราเล่าถึงว่าเราดูรายงานของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดูข้อมูลของกรรมาธิการงบประมาณ เขาบอกว่าถ้าส่วนตัวได้ข้อมูลก็ให้ส่งให้ด้วย เพราะน่าจะได้เร็วกว่าที่เขาจะไปขอมา ส่วนตัวก็ตอบไปว่ายินดี และส่วนตัวก็มีประชุมบางส่วนที่กำลังรวบรวมอยู่ คือขอข้อมูลเพื่อน ส.ส.มา

เรื่องนี้ต้องดูให้มันกว้างขึ้น การตกลงกับเอกชนรายใหญ่ ก็ต้องเป็นธรรมกับผู้ถือหุ้น และคู่แข่งขันรายอื่นที่เข้ามา ถ้าวันนี้ในสถานการณ์เดียวกันคือโควิด-19 มันควรจะมาแข่งขันกันใหม่หรือไม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ผลประโยชน์อาจจะดีกว่าที่คุณไปตกลงกันเอง ก็ต้องดูว่า AOT เขาจะชี้แจงอย่างไร

มีตัวเลขจากผลการศึกษาหรือไม่ว่างานนี้ทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ไปเท่าไหร่

ในข่าวเขาก็เขียนของเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวที่ลงชื่อท้ายหนังสือชื่อนิตินัย ข่าวนี้พูดถึงได้อยู่แล้ว เพราะอยู่ในเว็บของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง AOT จะต้องให้คำตอบกับสังคม กับชาวบ้าน

คิดว่าเรื่องนี้ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร

จริงๆ แล้วสนามบินสุวรรณภูมิเปิดหลังจากปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ส่วนตัวเป็นคนยืนยันว่าจะต้องเปิดสนามบิน ตอนนั้นทางคณะ คมช. มีการเสนอว่าไม่ให้เปิด แต่เรายันคือจะเปิดก็เปิดไป จะสอบก็สอบไป เราก็เลยตั้งเรื่องสอบขึ้นมา หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องผลประโยชน์ของร้านค้า พื้นที่ เราก็ตามมาตลอด จนกระทั่งหมดสัญญาเดิม สมัยพล.อ.ประยุทธ์ก็ไปต่อสัญญานี้โดยใช้คำสั่ง ม.44 เราก็ติดตาม และส่วนตัวก็เป็นคนประท้วงทีโออาร์ครั้งแรก ทำเรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์ ทำถึง สตง.ด้วย

ทีนี้คุณนิตินัยก็ตอบหนังสือผมมาตอนท้วงครั้งแรก ทีโออาร์นั้นล้มไป รัฐบาลมีทีโออาร์ปัจจุบันที่มีการทำสัญญาไปแล้ว และจะเริ่มสัญญาปลายเดือนนี้ อันนี้มันมาเกิดเหตุการณ์ ถึงได้ติดตามว่ามันเป็นธรรมหรือไม่ คือเราติดตามมาตั้งแต่สัญญาเดิมตอนเปิดสนามบินแล้ว ตรวจมาถึง สตง.ตั้งแต่เรื่อง Point of Sale เรื่องคนไปซื้อของแล้วได้เหล้าเกิน 1 ขวด 1 ลิตรหรือไม่ เราเคยเรียกตรวจมา รวมถึงอีกหลายเรื่องเราก็เรียกตรวจสอบ ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร เราก็ให้ความเป็นธรรมทั้งเอกชนทั้ง AOT ก็ว่ากันไป

แต่ว่าครั้งนี้เราก็มองในมิติว่า 1. ทีโออาร์มันถูกต้องหรือไม่ เน้นถึง สตง.เราเท้าความไปด้วย 2. การเจรจาหลังเซ็นสัญญาไปแล้วตกลงกัน กระทำได้โดยชอบหรือไม่ และมีใครเสียผลประโยชน์หรือไม่

เรื่องนี้ถ้า สตง.ตอบออกมาว่าปกติ จะดำเนินการใดๆ ต่อ

ไม่เป็นไร เพราะจะมีกรรมาธิการสภาผู้แทนตามอยู่ เราก็ตรวจสอบได้ ถ้าเห็นว่า สตง.ตรวจแล้วยังไม่ได้ข้อมูลเพียงพอ เราอาจจะขอเสนอเอกสารเพิ่มเติมและทักท้วงได้ เรื่องนี้ยังไม่จบภายในปีสองปีนี้เพราะสัญญามันยาว ตรงนี้ยังตรวจสอบกันได้อยู่

เรื่องนี้มันเป็นเรื่องหนึ่งหรือไม่ที่ว่าคุณปรีดี ดาวฉายไม่กล้าเซ็น รวมทั้งที่ลาออก เพราะต้องไปเซ็นต่อสัญญาบีทีเอสออกไป 30 ปี เลยไม่เอาดีกว่า

ส่วนตัวไม่มีข้อมูล คือนักการเมืองเราเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เราต้องดูพยานหลักฐาน อย่างกรณี AOT เราเอาข่าวที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์เป็นเกณฑ์ ไม่ได้เอาข่าวจากสื่อมวลชน เราต้องดูตัวนั้นเป็นหลักฐาน อย่างเรื่องคุณปรีดีเราก็ติดตาม เข้าใจว่าเป็นประเด็นเกี่ยวกับโผแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีปัญหากัน เรื่องเก้าอี้อธิบดีสรรพสามิตมีปัญหาสับเปลี่ยนกัน ตรงนี้เป็นข่าวค่อนข้างชัด และรองวิษณุก็ทักท้วง แล้วก็มาจบกันวันอังคารถัดมา เป็นวันที่ประชุมเสร็จคุณปรีดีก็เซ็นใบลาออก เราก็เช็กกับข้าราชการประจำ ทั้งผู้ใหญ่ใกล้ชิดเขา ก็มีการยืนยัน ส่วนเรื่องรถไฟฟ้าไม่น่าจะใช่

55 views
bottom of page