top of page
379208.jpg

แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2565


แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเป็นอย่างไร นับเป็นเรื่องน่าจับตามอง เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องผจญกับพิษเศรษฐกิจและโควิดมาอย่างหนัก คงต้องฟังคำตอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง


ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์

นายกสมาคมอาคารชุดไทย

เทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 ในส่วนตลาดคอนโดมิเนียมมองว่าจะฟื้นกลับมาจากที่ทุกคนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ดังนั้น คอนโดฯ ต้องกลับมา คนต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองสามารถเดินทางสะดวก ปี 2564 ตลาดคอนโดฯ ติดลบ -30% เทียบปีก่อน ส่วนปี 2565 น่าจะขยายตัวดีขึ้น 10-15% แต่ภาพรวมถือว่ายังติดลบเมื่อเทียบกับยุคก่อนโควิด การฟื้นตัวให้กลับมาบวกน่าจะเห็นในปี 2566 ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ซื้อคอนโดฯ เป็นผู้มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง บางคนมีภาระหนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาเหล่านี้ต้องการเวลาแก้ไขเยียวยากำลังซื้อ ส่วนการเปิดตัวคอนโดฯ ใหม่คาดว่าเริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น เพราะบางบริษัทเหลือสินค้าเพื่อขายน้อยลง ขณะที่การก่อสร้างคอนโดฯ ต้องใช้เวลา 3 ปี ด้านบ้านแนวราบซึ่งเป็นสินค้าทดแทนคอนโดฯ ยุคโควิด หากคอนโดฯ กลับมาฟื้นเชื่อว่าสินค้าแนวราบที่เติบโตอย่างมากในช่วง 2 ปีจะยังโต แต่อาจเติบโตลดลงเพราะเป็นปัจจัย 4 ไม่ว่าอย่างไรก็ยังมีลูกค้าเรียลดีมานด์ที่ซื้อเพื่ออยู่จริง

สำหรับราคาที่อยู่อาศัยปี 2565 ในแง่การแข่งขันลดราคาคงไม่รุนแรงเท่าปี 2563-2564 เพราะสต็อกเหลือน้อยความกดดันก็น้อยลงด้วย คงไม่มีใครยอมขายขาดทุนมาก ประเด็นอยู่ที่สินค้าสร้างใหม่ มีต้นทุนใหม่ ทั้งบ้านแนวราบ และคอนโดฯ ต้องขึ้นราคาเพราะต้นทุนพัฒนาโครงการแพงขึ้น ประเมินว่าราคาที่อยู่อาศัยปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 3-5% ปัจจัยเสี่ยงของภาคอสังหาฯ ปี 2565 ยังเป็นโอไมครอน สิ่งที่เป็นห่วงคือ หากการระบาดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วจนนำไปสู่การล็อกดาวน์อีกครั้ง ปี 2565 คงไม่สดใสเหมือนกับราคาน้ำมันและราคาเหล็กที่แพงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว เมื่อเผชิญกับปัญหาสินค้าราคาแพง ประชาชนระดับกลาง-ล่างคงลำบากมาก รัฐบาลอาจต้องเตรียมมาตรการบางอย่างเพื่อลดความร้อนแรงของการขึ้นราคาไม่ให้สูงจนกระทบค่าครองชีพ ปัจจัยบวกเป็นเรื่องการส่งออกที่มีทิศทางที่ดีมาก ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงาน ภาคการบริการในประเทศ รวมถึงสถิติของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI รอบ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 64) มีผู้มาขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจำนวนมาก แม้จะเพิ่มจากฐานที่ต่ำในปี 2563 แต่ยังดีกว่าไม่เพิ่ม สำหรับคนทำธุรกิจถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี


วสันต์ เคียงศิริ

นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 มีแนวโน้มดีกว่าปี 2564 เล็กน้อย จากการคาดการณ์ตัวเลขของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. (REIC) เฉพาะแนวบ้านราบยอดโอนกรรมสิทธิ์มีการขยายตัว 3% สอดคล้องกับคาดการณ์ GDP ปี 2565 จะขยับเป็น 3-4% คาดว่าปี 2564 ยอดโอนอยู่ที่ 98,000 หน่วย ส่วนปี 2565 เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 หน่วย ในจำนวนนี้ปี 2564 การเปิดตัวใหม่ของบ้านแนวราบมี 25,000 หน่วย ปี 2565 อาจขยายตัว 1 เท่า เพิ่มเป็น 50,000 หน่วย สินค้าที่จะเข้ามาในตลาดปี 2565 ต้นทุนการก่อสร้างทุกอย่างแพงขึ้นหมด ไม่ว่าจะเป็นเหล็กที่ราคาขึ้น 30% วัสดุเกี่ยวกับปูนซีเมนต์ หลังคา สุขภัณฑ์ ขยับ 10% ขึ้นไป ทำให้ต้นทุนบ้านแนวราบเพิ่มขึ้น ค่าขนส่งก็เพิ่มขึ้นจากน้ำมันแพง เทรนด์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจปี 2565 ไม่แน่ใจว่าปัญหาแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาได้ทันความต้องการในไซต์ก่อสร้างหรือไม่ หากแรงงานขาดแคลนยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก แม้ดอกเบี้ยไม่ได้ขยับขึ้นก็ตามส่งผลให้ราคาบ้านแพงขึ้นอย่างน้อย 10-15% ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับดีเวลอปเปอร์เนื่องจากกำลังซื้อของลูกค้ายังไม่กลับมาเพราะยังมีผลกระทบจากโควิด ธนาคารเข้มงวดสินเชื่อ โจทย์ยากเพราะต้นทุนแพงขึ้น แต่ไม่สามารถผลักภาระไปที่ผู้บริโภคได้ทั้งหมด เพราะกำลังซื้อมีอย่างจำกัด

ปัจจัยเสี่ยงหนีไม่พ้นโอไมครอน มีข้อกังวลว่าจะมีการปิดประเทศอีกหรือไม่ ตอนนี้ตั้งความหวังว่าการระบาดไม่รุนแรงเหมือนต้นปี 2564 ที่มีล็อกดาวน์ ทั้งมีปัจจัยคุกคามจากสถาบันการเงินเข้มงวด การปล่อยสินเชื่อซื้อบ้าน-คอนโดฯ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มีความไม่แน่นอนของรายได้ ธนาคารจึงตั้งการ์ดสูง อีกเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน คือ การจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง (property tax) ซึ่งปี 2565 จะต่ออายุมาตรการลดภาษี 90% ให้จ่ายแค่ 10% หรือไม่ ถ้าไม่ต่อจะเป็นภาระผู้ประกอบการและประชาชนจึงอยากให้กระทรวงการคลังออกมาประกาศให้ชัดเจน ถ้ากลับไปเก็บภาษีเท่าเดิม หรือให้จ่าย 100% ขณะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัวรุนแรง ผู้จ่ายจะเหนื่อยมากในปี 2565 เพราะต้นทุนวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนาโครงการ คือที่ดินที่ถือครองไว้ มีภาระต้องจ่ายภาษีในอัตราแพงขึ้น รวมทั้งบ้านหรือคอนโดฯ ที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ได้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

สำหรับปัจจัยบวกมีเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระดับต่ำ ทั้งผ่อนปรน LTV 100% ชั่วคราวทำให้คนที่มีความพร้อมซื้อบ้านสะดวกขึ้น โดยเฉพาะดีมานด์ที่อั้นการซื้อปี 2564 หวังว่าจะกลับมาปี 2565 เศรษฐกิจดีขึ้นสถาบันการเงินอาจผ่อนคลายเรื่องปล่อยสินเชื่อได้บ้าง ทั้งนี้ การผ่อนปรน LTV 100% เริ่มใช้ตั้งแต่ 21 ตุลาคม 2564 ผ่านมา 2 เดือน ยังไม่สามารถวัดได้เต็มที่ เพราะ LTV 100% นำมาใช้ตอนเครื่องยนต์เศรษฐกิจดับแล้ว ฉะนั้นกว่าจะรีสตาร์ตต้องใช้เวลารอประเมินผลลัพธ์ปี 2565 อีกครั้ง


มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ

นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย


ภาพรวมปี 2562-2564 ธุรกิจอสังหาฯ ยอดขายหายไป 20-30% ต่อปี ขณะที่แนวโน้มปี 2565 ดีเวลอปเปอร์วางแผนขยายโครงการมากขึ้น เนื่องจากมองว่ายอดขายจะขยายตัว 40-50% แต่มีข้อสังเกต คือตัวเลขขยายตัว 50% ไม่ใช่ประมาณการยอดขาย เป็นการประเมินว่าดีเวลอปเปอร์แต่ละรายจะผลักดันสินค้าเข้าตลาดเท่าไรจึงเป็นตัวเลขฝั่งซัพพลาย ไม่ใช่ดีมานด์ ฉะนั้นที่มองว่าภาพรวมตลาดจะโต 50% ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL สูงขึ้น ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ ดอกเบี้ยขาขึ้น และสถานการณ์โควิด อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างปี 2565 เป็นขาขึ้นแน่นอนทำให้ต้นทุนสูงทั้งค่าขนส่ง ค่าผลิต วัสดุก่อสร้าง ขณะที่แนวโน้มปี 2565 ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยค่อนข้างลำบาก ถ้าตลาดอสังหาฯ จะดีขึ้นคิดว่าไม่เกิน 10-15%

กรอบของมาตรการทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ต่างจังหวัดได้รับอานิสงส์ไม่มาก ช่วยยอดขายเพิ่มขึ้น 10% มาตรการ LTV 100% มีผลกับกำลังซื้อระดับกลาง-บน โดยต่างจังหวัดหมายถึงกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท ในกรุงเทพฯ 5 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้นข้อเสนอเพื่อกระตุ้นอสังหาฯ ทั่วประเทศอย่างได้ผล รัฐควรพิจารณาลดภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เหลือ 0.01% จะดีกว่า เพราะแม้ภาษีธุรกิจเฉพาะเรียกเก็บจากดีเวลอปเปอร์ แต่ถ้ารัฐยกเว้นให้เชื่อว่าผู้ประกอบการจะนำมาเป็นส่วนลดให้ลูกค้าแน่นอน เพราะการแข่งขันสูง และต้องการระบายสต็อก พร้อมเสนอให้รัฐบาลผลักดันสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพิ่ม โดยนำที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุน เพื่อให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และเสนอให้ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องการที่อยู่อาศัยแต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ ก็ให้คนที่มีเงินฝากในระบบอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท แต่ได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำมาก วิธีการคือรัฐบาลออกกฎหมายสนับสนุนให้คนที่มีเงินฝากเหล่านี้ไปซื้อบ้านลงทุนเพื่อปล่อยเช่า โดยภาครัฐสนับสนุนว่าไม่ต้องเสียภาษี และออกแบบให้ดีเวลอปเปอร์มาลงทุนพัฒนาโครงการบ้านหรือคอนโดฯ รองรับผู้มีรายได้น้อย จะทำให้คนมีเงินหันไปซื้อห้องชุดมาปล่อยเช่า เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ คนก็มีรายได้และกลับมาซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ยุคก่อนโควิดไทยโตต่ำสุดในอาเซียน ช่วงโควิดก็ตกต่ำสุดหลังการฟื้นตัวก็ต่ำสุดในอาเซียน ภาครัฐต้องมีมาตรการที่คิด และทำนอกกรอบ ออกเป็นแอ็กชั่น แพลน ทำให้คนมีรายได้มากขึ้น เมื่อคนมีรายได้มากขึ้นก็จะมาซื้อที่อยู่อาศัยเพราะเป็นปัจจัย 4


นิธิ ภัทรโชค

กรรมการผู้จัดการใหญ่

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

โควิด-19 และโลกร้อนกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการอยู่อาศัย และการก่อสร้างวิถีใหม่ โดยผู้คนต้องการที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย มีสุขอนามัย เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี สะดวกสบาย และตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ทุกคนเริ่มปรับตัว และพัฒนาวิถีชีวิตให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค New Normal ซึ่งบ้านถือเป็น Safe Space ในการใช้ชีวิต และทำทุกกิจกรรมต่างๆ ทั้งทำงาน เรียน พักผ่อน และอีกมากมาย โดยเอสซีจี เชื่อว่านวัตกรรม หรือเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนการอยู่อาศัย และการก่อสร้างสู่อนาคตใหม่ที่ดีกว่า จึงนำปัจจัยเหล่านี้ มาอัพเดตเป็นเทรนด์บ้าน ที่อยู่อาศัย และการก่อสร้าง ที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยในปัจจุบัน และในอนาคต เพื่อเป็นไอเดียให้ทุกคนก้าวสู่การอยู่อาศัยที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

เทรนด์ที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างมาแรง!! Smart Living and Building นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบบ้าน หรือใช้สั่งเปิด-ปิด และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน และอาคาร เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ปลอดภัย และประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียง หรือเซนเซอร์ แอปพลิเคชัน ดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมไปถึงเครื่องใช้ภายในบ้านระบบอัตโนมัติต่างๆ ซึ่งเอสซีจี เล็งเห็นแนวโน้มเหล่านี้จึงได้พัฒนานวัตกรรมสินค้า และโซลูชันสำหรับการอยู่อาศัยมากมาย เช่น ระบบหลังคาโซลาร์เซลล์ สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำอัตโนมัติ ระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ ระบบตรวจจับและส่งข้อมูลไร้สายประสิทธิภาพสูง ระบบปรับอากาศและระบายอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพัฒนา Smart Living Application ระบบที่เชื่อมต่อการทำงานของนวัตกรรมต่างๆ Health & Well-Being ในยุคนี้ เรื่องสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะโควิด-19 ฝุ่น PM 2.5 เชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ต่างก็สร้างความกังวลให้เราทุกคน ดังนั้นคงจะดีไม่น้อย ถ้าเราปรับบ้าน และอาคารให้พร้อมรับมือกับความกังวลเหล่านี้ เพื่อดูแลสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัยในระยะยาว พร้อมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และเด็กเล็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ


วิชัย วิรัตกพันธ์

รักษาการผู้อำนวยการ

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์


กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ แอลทีวี (LTV) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20ตุลาคม 2564 จนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมากนั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 และ 2565 ได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายด้าน จึงขอให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้ การผ่อนคลายแอลทีวี เป็นมาตรการทางการเงินทำหน้าที่กระตุ้นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีความสามารถในผ่อนชำระหนี้ให้มาซื้อและสร้างหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยขึ้น ซึ่งจะช่วยระบายที่อยู่อาศัยใหม่ในโค้งสุดท้ายที่เหลือขายทั้งหมดกว่า 283,500 ยูนิต โดยช่วยยอดขายในปี 2564 ได้เกินกว่า 100,000 ยูนิต คิดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท ไม่นับรวมที่อยู่อาศัยมือสองที่มีอุปทานรอการซื้ออีกมากกว่า 100,000 ยูนิต และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยที่จะช่วยมีมูลค่าในการผลิตสูงเช่นกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกมาก

ดังนั้น มาตรการนี้จะเป็นเสมือนเครื่องมือฉุดเศรษฐกิจที่ติดหล่มกลับขึ้นมาและให้เคลื่อนไปข้างหน้าได้ มาตรการแอลทีวีเพียงมาตรการเดียว คงไม่สามารถช่วยฉุดเศรษฐกิจไทยให้ไปข้างหน้าได้ต้องทำควบคู่กับมาตรการทางการคลังในทิศทางเดียวกัน เช่น การลดค่าธรรมเนียมและค่าภาษีให้กับที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา กล่าวคือ การผ่อนคลายมาตรการแอลทีวีทำให้สามารถใช้ได้กับที่อยู่อาศัยการให้สินเชื่อในทุกระดับราคาและรวมถึงที่อยู่อาศัยมือสองด้วย สำหรับมาตรการด้านการคลังในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าธรรมเนียมการจดจำนองที่ยังคงจำกัดกับกลุ่มที่ซื้อที่อยู่อาศัยใหม่จากผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ซื้อที่ ธอส.ลุยปล่อยสินเชื่อเกินเป้าแล้ว 215,701 ล้านบาท คาดสิ้นปีทะลุ 2.4 แสนล้าน


ประทีป ตั้งมติธรรม

ประธานกรรมการบริหาร

บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

อสังหาฯ ปี 2565 น่าจะดีกว่าปี 2564 เนื่องจากการเปิดประเทศ สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ยิ่งเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการแอลทีวีชั่วคราว รัฐบาลส่งเสริมให้คนต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ เทียบเท่ากับส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างถาวร เสมือนกับเป็นการส่งเสริมการลงทุน โดยชวนคนทั่วโลกเข้ามาลงทุนในเมืองไทย แต่ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวต้องใช้เวลา ที่สำคัญฐานตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคา 1-2 ล้านบาทอยู่ในภาวะซบเซา เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 25-35 ปีประสบปัญหากู้ไม่ผ่านเพราะหนี้เยอะ ทำให้คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะที่ยังไม่แต่งงานหันมาเช่าแทนซื้อ เพราะส่วนหนึ่งเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่

ดังนั้น ศุภาลัย จึงหันมาขยายตลาดคอนโดให้เช่าเป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากโครงการศุภาลัย โอเรียนทัล สุขุมวิท 39 ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของคนต่างชาติและคนไทย พร้อมทั้งกระจายไปยังต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ พัทยาพร้อมกันนี้ได้ขยับมารุกตลาดบ้านราคาแพงมากขึ้น จากเดิมทำบ้าน 2 ชั้น ขยับขึ้นไปทำบ้าน 3 ชั้น เพราะที่ดินราคาสูงขึ้น ล่าสุดเปิดตัวโครงการเอเลแกนซ์ บรมราชชนนี 121 พุทธมณฑล สาย 3 มีพื้นที่โครงการ 34 ไร่ พื้นที่บ้าน 100 ตารางวาขึ้นไป ราคาเริ่มต้น 20-30 ล้านบาท และมีพื้นที่สำหรับติดตั้งลิฟต์รองรับผู้สูงอายุและโครงการศุภาลัย พรีมา วิลล่า พหลโยธิน 50 จากก่อนหน้านี้เคยทำศุภาลัย เอสเซ้นส์ ในย่านลาดพร้าว และย่านสวนหลวง แต่ขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่เท่าโครงการเอเลแกนซ์ ที่ออกมาสร้างจุดขายในเรื่องความคุ้มค่าเมื่อเทียบขนาดพื้นที่ของคู่แข่งในตลาด ถือเป็นความพยายามในการเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดบ้านหรู

ที่ผ่านมาศุภาลัย รุกตลาดต่างจังหวัดมากที่สุด ปัจจุบันมีกว่า 20 จังหวัด และจะเพิ่มเป็น 30 จังหวัดภายใน 3 ปี และสัดส่วนรายได้จาก 30% ของรายได้รวม จะขยับขึ้นเป็น 40% โดยจะกระจายไปในจังหวัดที่เป็นเมืองรองมากขึ้น เนื่องจากเมืองหลักได้ขยายออกไปครอบคลุมแล้ว

ทั้งนี้สำหรับเมืองรองต้องมีศักยภาพพอ โดยดูจากจีดีพีของจังหวัด รายได้ต่อหัว รายได้ต่อครอบครัว จำนวนรถยนต์ จำนวนสินเชื่อเงินฝาก สนามบิน ศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย เป็นต้น สำหรับ 10 เมืองรอง ที่่ซื้อที่ดินไว้แล้ว อาทิ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา ลำพูน นครศรีธรรมราช ทุ่งสง จันทบุรี เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเล ขนาดที่ดินว่าจะเป็นโครงการเดียวหรือหลายโครงการรวมกัน และจะเป็นการลงทุนเองไม่ร่วมทุนกับใครปัจจุบันศุภาลัยมีที่ดินที่สามารถพัฒนาโครงการได้อีก 3 ปี ส่วนยอดขายคาดว่าจะเติบโตได้ 10% ต่อปี



274 views

Comments


bottom of page