top of page
327304.jpg

บสย.จัดหนักเติมเงิน 1.5 แสนล้าน ให้แบงก์ช่วย SME


Interview: บรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ( บสย.) และ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.)

กอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ/ธุรกิจไทยครั้งประวัติการณ์ ‘รัฐบาลประยุทธ์ 2’ หนุน บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ SME เต็มที่สุดๆ ‘PGS8’ ฟรีค่าประกัน ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี เสียเพียงดอกเบี้ย 4% ต่อปี ให้ 18 สถาบันการเงินรัฐ/เอกชนปล่อยกู้ 1.5 แสนล้านบาทในเวลา 1 ปี ถ้าปล่อยกู้หมดวงเงินพร้อมเพิ่มเงินให้อีก แถมยังช่วยค้ำกู้เพิ่มเป็น 30% ของเงินกู้ ถือว่าให้มากสุดๆ แบบไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อช่วยธุรกิจ SME มีเงินทุนหมุนเวียนสามารถประกอบกิจการหรือต้องการขยายกิจการก็อ้าแขนต้อนรับทุกรูปแบบ งานนี้มั่นใจได้รับความสนใจล้นหลาม อย่างน้อย 7 หมื่นล้านบาทในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2562

บสย.คืออะไรและทำหน้าที่อะไร

เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ค้ำประกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อให้มีสภาพคล่อง มีเงินไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ขยายงาน ให้คำแนะนำเอสเอ็มอี ให้มีความรู้สู้กับต่างประเทศได้ ที่ผ่านมาในบ้านเราจะมีเอสเอ็มอีประมาณ 5 ล้านราย แต่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้แค่ 5 แสนรายเท่านั้นเอง คือแค่ 10% นอกนั้นต้องพึ่งพาเงินจากญาติพี่น้อง กู้นอกระบบบ้าง ซึ่งเอสเอ็มอีมีความสำคัญถือเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมบ้านเรา เป็นแหล่งจ้างงาน ถ้าเรามองดูในปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายใหญ่ในปัจจุบันก็คือเอสเอ็มอีในอดีต ถ้าเราทำเอสเอ็มอีวันนี้ให้แข็งแรง วันข้างหน้าเชื่อว่าเขาจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยได้

โครงการใหม่ที่ บสย.จะทำล่าสุดนี้ ณ ตอนนี้ บสย.มีการค้ำอะไรไปบ้าง

เรามีโครงการค้ำประกันมาทั้งหมด 7 ครั้ง โดยค้ำไปหลายแสนล้านบาท วันนี้ที่ยังอยู่ในพอร์ตเราเป็นแสนกว่าล้านบาทที่ค้ำอยู่ เป็นลูกค้ากว่าแสนราย วันนี้เราทราบว่าเอสเอ็มอีเรามีปัญหา บสย.โดยกระทรวงการคลัง ร่วมสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่อง สามารถแข่งขันได้มากขึ้น และก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในด้วย

ก่อนหน้านี้ บสย.ช่วยค้ำไปแล้วในวงเงินเท่าไหร่

PGS7 ก็ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แต่เราค้ำไปแล้วประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แต่ PGS7 อันเก่า เทียบกับ PGS8 อัน 8 ดีกว่าเยอะ

ก่อนหน้าที่จะเข้าไปค้ำ ภาวะหนี้ของ บสย.เป็นอย่างไร

ถือว่ามีหนี้เสียน้อย ไม่มาก ถือว่าเอสเอ็มอีไม่ได้เลวร้าย

PGS คือ

เป็นพอร์ต คือตัวย่อ พอร์ตโฟลิโอการันตี มีมา 7 ครั้ง ครั้งนี้ครั้งที่ 8 เอาเป็นว่าเรียกว่าค้ำอันใหม่ก็แล้วกัน ซึ่งบ้านเราเรียกว่า PGS8

วงเงินอายุของโครงการนี้

วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่สำคัญคือฟรีค่าประกัน ฟรีค่าธรรมเนียม การค้ำประกัน 2 ปี ปกติเราคิดค่าธรรมเนียมอยู่ประมาณ 1.75% พอเราฟรี เขาก็เสียค่าดอกเบี้ยแบงก์เท่านั้น ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้เอสเอ็มอีแข็งแรงขึ้น มีความสามารถในการแข่งขัน

จากข้อมูลของ OECD จะเห็นว่าเอสเอ็มอีเราใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันถึง 5 เท่าของสินเชื่อที่เขาได้รับ ซึ่งมันสูงเกินไป ไม่มีใครมีหลักประกันมากมายขนาดนั้นที่จะไปขอสินเชื่อหรอก ดังนั้น บสย.มีหน้าที่หลักอย่างหนึ่งคือออกหนังสือค้ำประกันให้กับเอสเอ็มอีเพื่อเขาไปขอกู้แบงก์ ซึ่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 มีการลงนาม 18 สถาบันหลัก ถือว่าได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน 1.5 แสนล้านบาทไม่ใช่เงินของรัฐบาล เป็นเงินของภาคเอกชนที่ร่วมมือกับทาง บสย. ตามนโยบายที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอี

จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น

ใช่ คือแบงก์เองก็สะดวกใจที่จะปล่อยกู้ เพราะมี บสย.ค้ำ และดอกเบี้ยที่แบงก์คิด โดยกรุงไทยประกาศล่าสุด คือจะคิดดอกเบี้ยเพียง 4% และฟรีค่าธรรมเนียมจาก บสย. 2 ปีแรก แล้วกรุงไทยฟรีค่าธรรมเนียมอีก 2 ปี กลายเป็นฟรีค่าธรรมเนียม 4 ปี เสียดอกเบี้ยแค่ 4% ถือเป็นเรตที่ดี สามารถแข่งขันได้ สามารถเอาไปดำเนินธุรกิจและขยายงานได้

บสย.ค้ำเท่าไหร่ และกู้ได้สูงสุดต่ำสุดเท่าไหร่

เดิม PGS7 อันเก่า กำหนดเพดานกู้ต่อรายไว้ไม่เกิน 40 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ 40 ล้านบาท เอสเอ็มอีมองว่าน้อยไปหน่อย PGS8 อันใหม่จะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทต่อราย เช่นลูกค้าเก่าทำธุรกิจอยู่ใช้ บสย.ค้ำประกัน 40 ล้านบาท แต่อยากจะเพิ่มเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตรงนี้ถือว่าเป็นโอกาส สามารถที่จะเพิ่มกำลังผลิต และจ้างงานเพิ่มเติม สามารถกู้เพิ่มรวมกันของเงินกู้เดิมกับเงินกู้ใหม่ได้ถึง 100 ล้านบาท โดย บสย.ค้ำ 60 ล้านบาทเพิ่มเติมให้

ผู้ประกอบการที่สนใจติดต่ออย่างไร

สามารถติดต่อได้ 2 ช่องทาง คือทางธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งกับ บสย. ซึ่งเรามีสำนักงานอยู่ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และมีสำนักงานต่างจังหวัด 11 แห่ง เช่นที่ เชียงราย เชียงใหม่ อุดรธานี พิษณุโลก โดยทางรัฐมนตรีกับทางบอร์ดได้ให้นโยบายทางท่านเอ็มดีไปว่าให้ลุยทางต่างจังหวัดด้วย เพื่อให้เงินกระจายทั่วถึง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ผู้ประกอบการที่จะมาให้ บสย.ค้ำเงินกู้ในวงเงินใหม่ตามโครงการ 1.5 แสนล้านบาท ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ต้องผ่านการพิจารณาของแบงก์ ได้ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่า ซึ่งลูกค้าเก่าไม่มีปัญหาอะไรเพราะมีประวัติอยู่แล้ว ส่วนลูกค้าใหม่ก็ต้องให้แบงก์พิจารณาตามหลักเกณฑ์ของแต่ละแบงก์ แต่อย่างไรก็ตาม น่าจะมีความยืดหยุ่นพอสมควร เท่าที่ได้คุยกับประธานสมาคมธนาคารไทยซึ่งก็คือเอ็มดีของธนาคารกสิกรไทยก็ยินดีที่จะสนับสนุนเต็มที่ คืออย่างไรก็มาที่ บสย. ซึ่งเราประสานงานกันเรียบร้อยแล้วทั้งระดับล่าง กลาง บน และในวันที่ลงนามทางท่านรัฐมนตรีช่วยคุณสันติ พร้อมพัฒน์ ก็ให้นโยบายว่าพวกสตาร์ทอัพ หรือพวกเด็กจบใหม่ ก็ให้ดูแลเขา ให้คำปรึกษาเพื่อให้เขาเติบโตในวันข้างหน้า ซึ่งจริงๆเรื่องนี้เป็นภาระของประเทศ เป็นหน้าที่ของทุกคนเลย

ส่วนตัวเคยไปดูงาน บสย.ของมาเลเซีย ที่นี่เขามีวงเงินอันหนึ่งที่ที่ใช้ฟูมฟักสตาร์ทอัพหรือเนิร์สซิ่ง ซึ่งสตาร์ทอัพมีแต่ความคิด ไม่มีเงิน ไม่มีประวัติการทำงาน เวลากู้แบงก์ ส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธ แต่ทาง บสย.มาเลเซียจะมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ซึ่งพยายามเลี้ยงดูสตาร์ทอัพให้อ้วนก่อน ให้แข็งแรงหรือช่วยอนุบาล โดย บสย.มาเลเซียสามารถถือหุ้นในสตาร์ทอัพได้ แล้วให้เงินช่วย พอเขาแข็งแรงก็ปล่อยเขา ให้เงินกู้ด้วย ซึ่ง บสย.จะได้อะไร คือได้เงินระหว่างทาง คือได้ดอกเบี้ย แล้วยังมีหุ้น ก็ได้ Capital Gain ตัวหุ้นที่ถือ พอเขาเติบโต ก็ขายหุ้นไป เอาเงินไปช่วยเนิร์สซิ่งรายใหม่

ที่ผ่านมาเคยไปคุยกับทางประธาน และเอ็มดี บสย.ของมาเลเซียที่เขาประสบความสำเร็จ ซึ่งตัวนี้ก็นำมาในแผนธุรกิจของ บสย.ไทย จะเริ่มเป็นตัวเป็นตนสิ้นปีนี้ แล้วก็จะเริ่มดำเนินการในปีหน้า แต่เชื่อว่าทิศทางที่เราไปสำรวจดู บสย.ต้องปรับทิศทางตัวเองให้เป็นเครื่องมือของแล็บที่ดีให้ได้

บรรดาสตาร์ทอัพทั้งหลายที่กำลังคิดอะไรอยู่ ให้ทำแผนมา แล้วมาคุยกับ บสย.

ในแผนธุรกิจ เรากำลังจะทำแพลตฟอร์มว่า เอสเอ็มอีวิ่งมาที่ บสย.ได้เลย บสย.จะมีการให้คำปรึกษา รวมทั้งต่อไปจะวิเคราะห์ความสามารถ วิเคราะห์ธุรกิจเขา อาจจะออกการันตีให้เขาไปช็อปแบงก์ได้เลยในอนาคต แต่วันนี้ขอใช้ตัว PGS8 ไปก่อน

วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท กำหนดเวลาไว้หรือไม่

พยายามให้หมดภายใน 1 ปี ถ้าช้าการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ได้ผล เราตั้งเป้ากันว่าถึงสิ้นปีอย่างน้อย 5-6 หมื่นล้านบาทต้องได้ ซึ่งได้เรียนท่านเอ็มดีไปเมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาว่าขออย่างน้อยสัก 7 หมื่นล้านบาทในช่วง 4 เดือนจากนี้ที่ต้องปล่อยให้ได้ ซึ่งเราไปคุยกับทางธนาคารใหญ่ๆอย่างกรุงไทย กสิกรไทย แล้วจะมีออมสิน จะมีกรุงศรีอยุธยาตามมา เพื่อที่จะทำสัญญาร่วมกันเพิ่มเติม

ด้วยเงื่อนไขดีๆ อย่างนี้ ถ้าวงเงินหมดเร็วจะทำอย่างไร

ส่วนตัวได้รับทราบว่าถ้าเงินไม่พอให้รีบแจ้ง เพื่อจะไปขอขยายวงเงินจากรัฐบาล ตรงนี้คือที่ท่านรัฐมนตรีช่วยบอกมา

เงินที่ปล่อยกู้ เป็นเงินแบงก์ 100%

ใช่ บสย.ไม่ได้ปล่อย เพราะ บสย.ไม่มีเงินเลย เพียงแต่เราออกกระดาษการันตีให้ รัฐก็ไม่ได้ควัก เพียงแต่เราเข้าไปค้ำ ซึ่งจะทำให้แบงก์สบายใจ และแบงก์เองเขาก็มีระบบ เขาไม่อยากให้เกิดหนี้เสีย ต้องมีระบบในการคัดกรองลูกค้า

คนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล จะมาขอใช้สิทธิ์ตรงนี้ได้หรือไม่

เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีถ้าอยู่ที่แบงก์ ทางแบงก์ก็พยายามแก้ไขอยู่ ให้สามารถใส่เงินเพิ่มได้ โดย บสย.ค้ำเพิ่มเติมก็ได้ แล้ว บสย.เองก็พยายามเจรจาช่วยเอสเอ็มอีตลอด ไม่ว่าจะถูกเคลมแล้วหรือยังไม่ถูกเคลม

อะไรที่ดีๆ แบงก์เอาไปหมด แต่อะไรที่เสี่ยง ให้ บสย.เข้ามาช่วย

จริงๆแบงก์เองเขามีระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะปัจจุบันจะไม่เกิดอย่างนั้นหรอก เท่าที่ผ่านมาส่วนตัวได้คุยกับท่านประธานสมาคมธนาคารไทย ท่านบอกจะเต็มที่กับโครงการนี้ แบงก์เองก็จะไม่ทำอย่างนั้น

ถ้าบสย.เกิดความเสียหายจากการเป็นผู้ค้ำประกัน จะเอาเงินจากไหนมาคืนแบงก์

เราเองเป็นองค์กรของรัฐบาล เรื่องกำไรจะมาทีหลัง เรื่องของนโยบายรัฐบาล เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจของประเทศต้องมาก่อนอยู่แล้ว เรื่องฟรีค่าธรรมเนียม ก็เป็นเงิน คือเงินที่หายไป เราไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร เพราะองค์กรนี้ไม่ได้มุ่งหากำไรอยู่แล้ว คือตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยประคับประคองเอสเอ็มอี ถ้าเราห่วงตัวเอง ไปห่วงค่าธรรมเนียมอยู่ ก็ช่วยเขาไม่ได้ ถือว่าขณะนี้เรารุกมากขึ้น ซึ่งภาวะภายในและภายนอกประเทศเราคงทราบกัน คนห่วงแต่ตัวเองก็จะมีความเสียหายไม่ทันการ เราต้องลุยแล้ว

มีคำแนะนำกับแบงก์อย่างไร

ทางธนาคารเขามีระบบป้องกันความเสี่ยงที่ดีอยู่แล้ว มีเครดิตสกอริ่งต่างๆ ตรงนี้ค่อนข้างเข้มอยู่แล้ว ดังนั้นที่เราจะเพิ่มมาตรการอะไรต่างๆ คิดว่าในภาวะแบบนี้ เราคงไม่ทำ

9 views
bottom of page