เคยไหมที่ตัดสินใจซื้อสินค้าเพียงเพราะบรรจุภัณฑ์
“บรรจุภัณฑ์” หรือ “แพคเกจจิ้ง” เปรียบเสมือนประตูด่านแรกของการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคโดยเฉพาะกับแบรนด์สินค้าที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ตลาด และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โดยจากงานวิจัยของ C Space ที่ปรึกษาด้านธุรกิจในบอสตันระบุว่า ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ มักตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และให้คุณค่ากับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ในระดับที่ใกล้เคียงกับคุณภาพและประโยชน์ของสินค้าดังกล่าว
ขณะที่ผลการสำรวจของ Bizongo ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อผู้บริโภคพบว่า กว่า 63% ของผู้บริโภคมีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าจากแพคเกจจิ้งที่น่าดึงดูด แม้ว่าการเติบโตของการสั่งซื้อของออนไลน์ หรือ e-Shopping จะเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบัน แต่กว่า 79% ของผู้บริโภคยังคงต้องการซื้อสินค้าที่ใช้บริโภค อุปโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน ฯลฯ จากร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต มากกว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยุคใหม่ถึง 46% มีทัศนคติยอมรับและเปิดใจให้โอกาสกับแบรนด์สินค้าหน้าใหม่ในท้องตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ SMEs และสตาร์ทอัพ รวมถึงธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ ให้มีโอกาสก้าวเข้ามาแข่งขันในท้องตลาดได้มากยิ่งขึ้น
นางสาวนลินี ทองแท้ ผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์ด้านการออกแบบกราฟิกเเละผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบัน ‘บรรจุภัณฑ์’ ทำหน้าที่มากกว่าแค่การบรรจุสิ่งของ แต่ถูกนำมาใช้เพื่อการสื่อสารการตลาดมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านของการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์สินค้า (Brand Identity) การสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภค (Intimacy) ไปจนถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเชื่อมการสื่อสารไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ ของแบรนด์ (Integration) โดยคาดว่าเทรนด์การออกแบบมาแรงในปี 2563 ซึ่งน่าจะได้รับกระแสตอบรับและการพูดถึงบนโลกโซเชียลจากผู้บริโภคบ่อยครั้ง ได้แก่
1. มินิมอลดีไซน์ (Minimalism)
ยังเป็นหนึ่งเทรนด์ออกแบบที่ยังคงได้รับความนิยมกับการออกแบบที่คงความเรียบง่าย และสื่อสารได้ชัดเจน โดยมินิมอลดีไซน์ไม่เพียงได้รับการประยุกต์ใช้มากในกลุ่มบรรจุภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงโปรดักต์ดีไซน์ในชีวิตประจำวันรอบตัวก็ยังหยิบเอาเทรนด์มินิมอลไปพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เอาใจคนรุ่นใหม่อีกด้วย ซึ่งมินิมอลดีไซน์ไม่จำเป็นจะต้องจืดชืดไร้สีสันเสมอไป แต่ยังสามารถเติมเต็มความมีชีวิตชีวาด้วยสีสันเข้าไปให้สนุกสนานมากขึ้นได้อีกด้วย
2. การไล่โทนสี และการใช้สีสันฉูดฉาด (Vibrant Gradients)
การไล่เฉดสีเป็นการออกแบบที่เป็นกระแสในการดีไซน์ประเภทอื่นๆ แต่สำหรับงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ยังนับว่ามีให้เห็นน้อยชิ้น ซึ่งคาดว่าในปี 2563 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของวงการออกแบบในประเทศที่หันมาใช้ดีไซน์ไล่เฉดสีมากขึ้น อาทิ การไล่เฉดสีจากอ่อนไปแก่ จากสีหนึ่งเปลี่ยนเป็นอีกคู่สีหนึ่ง หรือจะเน้นไปที่โทนสีนีออน และสีเรืองแสง เพื่อเพิ่มมิติให้กับตัวบรรจุภัณฑ์โดดเด่นสังเกตได้ตั้งแต่ไกล
3. กราฟิกแบน (Flat Illustration)
การออกแบบแนวสองมิติ (2D) ที่เน้นความเรียบง่าย ตัดทอนแสงและเงา และส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป ทำให้ผู้บริโภคสามารถโฟกัสเนื้อหาหลัก และไม่เสียเวลาให้กับรายละเอียดที่ความจำเป็น เช่น ลดลายเส้นที่รกมากจนเกินไป หรือใช้สีที่น้อยลง เป็นต้น เหมาะกับบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการใช้ภาพในการเล่าเรื่องราว แต่ยังคงสื่อสารเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน
4. เน้นตัวอักษรและคำบรรยาย (Big Text & Bold Copies)
การออกแบบโดยใช้การเน้นตัวอักษร และคำบรรยายขนาดใหญ่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกแบบดังกล่าว สามารถดึงดูดสายตาได้ และมักแตกต่างจากแพคเกจจิ้งในท้องตลาดทั่วไปที่ยังคงมีการใช้ภาพร่วมกับตัวอักษร นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบของดีไซน์ดังกล่าวนั่นคือ สามารถสื่อสารไปยังผู้บริโภคได้ครบถ้วน เข้าใจง่ายกว่าการใช้การบรรยายด้วยภาพ
5. ตัวหนังสือและภาพวาดลายเส้น (Doodle & Hand-drawn Lines)
การออกแบบด้วยตัวอักษรและภาพวาดลายเส้น ให้ความรู้สึกลื่นไหล ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกที่เป็นมิตร และความสนุกสนานให้กับผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น เหมาะกับผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผู้บริโภคอยู่ในช่วงเด็กจนถึงวัยทำงาน
6. ดีไซน์ย้อนสมัย หรือ วินเทจ (Vintage)
สไตล์วินเทจเป็นเทรนด์ที่แทบจะอยู่ในทุกงานออกแบบ เพราะเป็นสไตล์ที่มีความคลาสสิกในตัว สามารถใช้ได้ตลอดไม่ว่ายุคสมัยไหน โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สินค้าประเภทงานคราฟต์ หรืองานที่ใช้ขั้นตอนเยอะ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความวินเทจนั้นจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความพิถีพิถัน เพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าได้เป็นอย่างดี
7. วัสดุรักษ์โลก (Eco-Friendly)
ปัจจุบัน ในหลายประเทศเริ่มมีการลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เกิดสังคมที่ปราศจากพลาสติก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณค่า ควรทำมาจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
8. โทนสีขาวดำ (Black & White)
อีกหนึ่งเทรนด์ที่มีความคลาสสิกไม่แพ้กัน โดยเริ่มสังเกตเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของคุณผู้ชาย ที่นิยมออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วยโทนสีขาวดำ เพื่อเพิ่มความหนักแน่นให้กับตัวแบรนด์และตัวสินค้า แต่ปัจจุบัน เริ่มมีการใช้สีขาวดำในสไตล์ที่เรียบง่ายและมินิมอลขึ้น ทำให้เป็นเทรนด์การออกแบบที่สามารถอยู่ได้ในทุกสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์ของผู้หญิงและผู้ชาย
9. การใช้ภาพถ่ายสื่อสาร (Photography)
อีกหนึ่งเทรนด์การออกแบบที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่อง ด้วยการใช้ภาพถ่ายจจริงมาประกอบเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงตัวสินค้า รวมถึงภาพอาหารที่สวยงามเหมาะสม ยังช่วยเพิ่มความอยากอาหาร และสะท้อนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้พบเห็นอีกด้วย
10. สมาร์ทแพคเกจจิ้ง (Smart Packaging)
เทรนด์การออกแบบเชิงฟังก์ชันการใช้งานที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ แต่ยังไม่แพร่หลายมากนักในประเทศไทย โดยเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มาพัฒนาขึ้นเป็นแพคเกจจิ้งที่มีคุณสมบัติการใช้งานเพิ่มขึ้น อาทิ แพคเกจจิ้งที่สามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อผลิตภัณฑ์หมดอายุ หรือแพคเกจจิ้งที่ช่วยบอกความสุกของผลไม้ได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ นักออกแบบ และนักการตลาดต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ร่วมกัน เพื่อให้สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของแบรนด์ และข้อมูลของผลิตภัณฑ์ได้ถูกต้อง ขณะที่ยังคงดึงดูดผู้บริโภคผ่านดีไซน์การออกแบบ นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาไอเดียการทำบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมากกว่าแค่ภาชนะบรรจุสินค้า อาทิ แคมเปญบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มอัดลมชื่อดัง ที่ใช้แนวคิดการสร้างความใกล้ชิดด้วยการพิมพ์ชื่อลงบนบรรจุภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มสำหรับงานสังสรรค์ ที่สามารถเรืองแสงได้เมื่ออยู่ในความมืด เป็นต้น ซึ่งตอบโจทย์การใช้งาน และพฤติกรรมไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ที่สามารถช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์สินค้าได้บนโลกโซเชียลอีกด้วย
ตลาดบรรจุภัณฑ์ในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยพบว่า ประเทศไทย นับว่าเป็นตลาดการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก และคาดว่าความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคจะมีสัดส่วนสูงถึง 40% จากทั่วโลก ในปี 2565 ซึ่งได้รับอานิสงค์จากกลุ่มธุรกิจหลักของประเทศ อย่างอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขณะที่ประเทศยังประสบความท้าทายด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เพื่อก้าวเข้าแข่งขันในตลาดสากล และในเร็วๆ นี้ จะมีการจัดงาน “แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” ซึ่งเป็นมหกรรมจัดแสดงนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย ระหว่างวันที่ 18 - 21 กันยายน ณ ไบเทค บางนา ที่ผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิต นักออกแบบ นักการตลาด ผู้ประกอบการ ฯลฯ ไม่ควรพลาด โดยภายในงานจะรวบรวมนวัตกรรมชั้นนำจากทั่วโลก ที่ช่วยเร่งการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ลดข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี และสร้างโอกาสให้กับการผลิตประเทศ รวมถึงงานสัมมนาอัปเดตเทรนด์ในวงการอุตสาหกรรม และบริการแมทชิ่ง และให้คำปรึกษา ระหว่างคู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และอุตสาหกรรมไทยในอนาคต นางสาวนลินี กล่าวทิ้งท้าย
“แพ็ค พริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล 2019” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pack-print.de หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ PackPrintInternational