นพ. ไพบูลย์ เอกแสงศรี
เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
เลขาฯสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแจง...คิดกำไรค่ายา ค่ารักษา ค่าเวชภัณฑ์ ตามเกณฑ์ปกติที่ต้องบวกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโรงพยาบาลไปด้วย รวม ๆ แล้วกำไรไม่มากแค่ 10% ระบุ...ในบรรดาโรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่ง มีแค่ 70 แห่งที่ค่ายาค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าปกติ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลที่เน้นรับรักษาคนไข้ต่างชาติ พร้อมบอกคนไทยมีสิทธิ์เข้ารับการรักษาฟรีอยู่แล้ว โดยโรงพยาบาลเอกชนเป็นเพียงโรงพยาบาลทางเลือกสำหรับผู้พร้อมจ่ายเพื่อบริการที่พิเศษกว่าโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น ติง...ถ้ารัฐเข้ามาคุมเข้ม ตรวจสอบค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าเวชภัณฑ์ จะกระทบต่อการเป็นเมดิคัลฮับของไทย เพราะโรงพยาบาลเอกชนจำเป็นต้องใช้ปรับลดราคาค่ารักษาพยาบาลตามที่ภาครัฐควบคุม ซึ่งจะมีผลกับกำไรที่จะนำไปยกระดับการให้บริการและพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ด้านกรมการค้าภายในยังยืนยันเดินหน้าให้โรงพยาบาลเอกชนปฏิบัติตามกฎที่ออกมาเมื่อ 30 พ.ค. 62 โดยเฉพาะกำหนดให้ค่ารักษาโรค ค่าเวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาลเข้าอยู่ในบัญชีควบคุมราคา ทั้งนี้ โรงพยาบาลเอกชนต้องแสดงรายละเอียดแยกกันระหว่างค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ อีกทั้งให้โรงพยาบาลเอกชนทำรายการค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ส่งมาให้กรมการค้าภายในเพื่อเผยแพร่ต่อประชาชน หากโรงพยาบาลเอกชนใดไม่ดำเนินการตามระเบียบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เรื่องค่าบริการทางการแพทย์ที่สูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าหนักใจหรือไม่
ไม่หนักใจ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องระมัดระวังในเรื่องการออกข่าว เพราะคนจะสับสน
ประเด็นที่เป็นห่วง
ขอฉายภาพรวมสาธารณสุขไทยก่อน เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจกัน สาธารณสุขไทย จริง ๆ แล้ว คนไทยทุกคนมีสิทธิ์เข้ารับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท ถ้าเป็นข้าราชการก็จะได้รับสิทธิ์ข้าราชการ เป็นคนทำงานบริษัทเอกชนก็มีกองทุนประกันสังคม และอีกส่วนคือไม่มีสิทธิ์อะไรเลย ก็ใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ถ้าไปโรงพยาบาลก็ใช้ได้ตามสิทธิ์อยู่แล้ว จริง ๆ คือไม่ต้องเสียเงินสักบาท ระบบเมืองไทยถือว่าดีที่สุดในโลก คือไม่ต้องจ่ายอะไรเลยก็สามารถที่จะไปโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้
ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เรามีเรื่องของการรักษาฉุกเฉิน ในช่วง 2 ปีตั้งแต่ปี 2560 เรามีเรื่องของการรักษาวิกฤตฉุกเฉิน ตอนนี้คนไทยที่เกิดโรคฉุกเฉิน วิกฤตถึงแก่อันตรายถึงชีวิต ที่เขาเรียกว่าวิกฤตสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล ไม่เฉพาะเอกชน เข้าได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน คืออยู่ตรงไหน ที่ไหน เข้าก่อน เข้าแล้วถึงแม้ว่าจะไม่มีแพทย์เฉพาะทาง เช่นเป็นโรคหัวใจ แล้วไม่มีหมอเฉพาะทาง ก็สามารถดูแลได้ก่อนจนถึงการส่งต่อ ตรงนี้เป็นการช่วยเหลือคนไทยให้ลดความเดือดร้อน ลดอัตราการตายกับการสูญเสียจากการพิการต่าง ๆ ลงได้ ซึ่งตรงนี้ดีอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน เรามีโรงพยาบาลทางเลือกก็คือโรงพยาบาลเอกชน เป็นโรงพยาบาลที่ทำงานในด้านธุรกิจ จะมีแตกต่างจากโรงพยาบาลรัฐก็คือมีเสริมเรื่องของบริการต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ก็จะมีการคิดราคาต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน อย่างของรัฐ ไม่ต้องลงทุนเรื่องที่ดิน ตึก ทุกอย่างเป็นงบประมาณภาครัฐหมด รวมถึงบุคลากร ไม่มีต้นทุน ดังนั้น ราคาของรัฐก็จะเป็นราคาที่เป็นต้นทุนจริง ๆ อย่างยาก็จะเป็นยาบวกกับค่าดำเนินการเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมันเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องคนก็ไม่เกี่ยวอยู่แล้ว
ขณะที่โรงพยาบาลเอกชน ของเรามีพ.ร.บ.สถานพยาบาล โดยออกมาตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเราต้องปฏิบัติตาม และในปี 2561 ก็มีการทบทวนประกาศออกมา สำหรับยาในโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้นทุนที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของตัวยา คือมีตั้งแต่เรื่องของระบบการจัดซื้อ จัดเก็บ การควบคุมเรื่องของอุณหภูมิความชื้น ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนไม่ขายยา จะต่างจากร้านขายยาก็คือว่าเอายามาวางเหมือนสินค้าชิ้นหนึ่ง ต้องการซื้อก็ซื้อไป แต่ต้องพบแพทย์ก่อน สำหรับแพทย์หลังให้การวินิจฉัยแล้วก็สั่งการรักษา ถึงจะจ่ายพวกนี้ไป ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ มีการคุยกันว่าราคามันแพง โดยคิดเฉพาะตัวยาอย่างเดียว แต่ความจริงต้องคิดถึงราคายาบวกกับหลาย ๆ อย่าง อันนี้ที่ทำให้สับสน แต่วันข้างหน้าคิดว่าคงมีความเข้าใจกัน
โรงพยาบาลเอกชนนั้นขึ้นกับทั้งทางกระทรวงสาธารณสุขซึ่งดูแลเรามาโดยตลอด อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องในฐานะที่เราทำทางด้านธุรกิจคือกระทรวงพาณิชย์ ทั้ง 2 กระทรวงต้องมาพูดคุยกันและกำหนดนิยาม กำหนดหมวดหมู่ เพื่อให้ชัดเจน ถ้าทำตรงนี้ เรื่องนี้ก็คงเรียบร้อย คิดว่าเป็นปัญหาช่วงระยะสั้น ซึ่งตอนนี้ออกข่าวทำให้คนสับสน คืออยู่ที่คนออกข่าว ซึ่งว่าเราคงไม่ก้าวล่วง
ข่าวที่ออกมา มองเหมือนโรงพยาบาลเอกชนขูดรีด โหดร้าย คิดค่ายาแพง เป็น 16,000%
เราคิดแบบคนปกติ เราคงไม่ได้ไปทานข้าวแบบว่าจานนึงต้นทุน 10 บาท แล้วเราคิดจานละแสน เราคงไม่ได้ทานแบบนั้น ซึ่งเราก็ไม่ทราบ อยู่ที่คนให้ข่าว และท่านเองต้องเป็นคนชี้แจงประชาชนเองว่าเป็นอย่างไร เพราะเราเองก็ไม่สามารถไปก้าวล่วง
ถ้าภาครัฐจะเข้ามาคุมเรื่องค่าบริการ ค่ายา จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนา หรือให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนไหม
เรื่องของราคามันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ถ้าคุมลงไปเลย ในบางส่วนที่ถูกกดราคาไว้ ตรงนั้นก็ไม่สามารถจะพัฒนาโรงพยาบาลได้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการแข่งขันระดับโลก ตอนนี้เราจัดเป็นอันดับแรกของเมดิคัลฮับที่ลูกค้าต่างชาติเข้ามา
จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะแบ่งราคาสำหรับคนไทยกับต่างชาติที่เข้ามารักษา
ณ วันนี้ โรงพยาบาลที่รับต่างชาติ ก็จะมีราคาที่สูงกว่าคนไทยอยู่แล้ว นอกจากจะมีค่าบริการตามปกติแล้ว ยังมีค่าบริการตั้งแต่บริษัทที่เขารับดูแลในต่างประเทศ ที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนส่งเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งตรงนี้ก็คิดค่าบริการ มารวมอยู่ในหมวดต่าง ๆ ของการรักษาพยาบาล ก็คือราคาที่ต่างชาติที่มีเอเยนซี่เข้ามา ซึ่งราคาสูงกว่าราคาคนไทย
ทีนี้โรงพยาบาลต่าง ๆ แม้กระทั่งราคาของคนไทย แต่ละโรงพยาบาลแม้กระทั่งในเครือเดียวกัน ก็มีราคาที่แตกต่างกัน อย่างโรงพยาบาลที่ส่วนตัวประจำอยู่ก็อาจจะกลาง ๆ ช่วงกลางคืนเราจะมีหมอเฉพาะทางประมาณ 10 ท่าน หมอเวชกรรมทั่วไป 1 ท่าน แต่อีกโรงพยาบาลนึงที่เขามีขนาดใหญ่เขาอยู่กัน 20 กว่าคน เป็นเฉพาะทางทั้งนั้นเลย อีกด้านสำหรับโรงพยาบาลขนาดเล็ก เขาอาจจะมีแค่หมออายุรกรรม หรือหมอเวชกรรมทั่วไปแค่ 1 หรือ 2 ท่าน ส่วนพยาบาลหรือบุคลากรทางสาธารณสุขที่เป็นเจ้าหน้าที่เฉพาะทางจะมีมากน้อยลดหลั่นกันไป พวกนี้จะไปอยู่ในต้นทุน มันจะกระจายต้นทุนเข้าไปอยู่ในเรื่องของยา เรื่องของเวชภัณฑ์ ทำให้โรงพยาบาลแม้กระทั่งในเครือเดียวกันก็มีราคาที่แตกต่างกัน เหล่านี้คือต้นทุนกับราคาขายมันสัมพันธ์กัน
ถ้าเราดูในตลาดหลักทรัพย์ฯ โรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือต้องมีกำไรอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ส่วนที่ขาดทุนเข้าไม่ได้ คืออาจจะไม่ได้กำไรมาก ๆ อย่างมากก็แค่ 10% ดังนั้นจริง ๆ พอเราบอกว่าถูกหรือแพง พอเราดูตัวสุดท้ายที่เขาดำเนินธุรกิจจริง ๆ จะเห็นว่าเขาดำเนินธุรกิจแบบกำไรไม่ได้เอาเยอะ แค่ 10% เอาไปพัฒนาเอาไปสร้างอะไรต่อ
ตรงนี้อยากให้มองภาพใหญ่ขึ้นมาอีกก็คือตอนนี้เราเป็นเมดิคัลฮับ ตอนนี้เราจะมีบริษัทประกันบางบริษัทไปรับประกันที่จีนและอินโดนีเซีย แล้วคนซื้อประกันมารักษาที่เรา ตรงนี้ต้องให้ภาคประชาชนไปถามว่าทำไมถึงรักษา ไปดูได้ว่าค่ารักษาเราถูกว่าที่จีน อินโดนีเซีย เพราะฉะนั้นตรงนี้ พอบริษัทประกันไปรับ เขาก็บอกกับผมเองว่า เขาก็ไปรับนะ ต่อไปนี้ก็คือจะมีในกลุ่มคนไข้ต่างชาติเข้ามา ซึ่งตรงนี้ต้องดูอีก อาจจะต้องมีเรื่องล่ามเรื่องอะไรอีก คือถ้ามาพร้อมล่าม เราก็ไม่มีปัญหา แต่ปกติเราก็ไม่ได้คิดราคาที่แพงเกินควร
โดยสรุปก็คือค่ารักษาพยาบาลจะถูกหรือแพง อยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละคน การที่จะซื้อบริการที่แตกต่างกัน คุณภาพที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเผื่อใครที่ไม่อยากซื้อ ซึ่งจริง ๆ คนไทยทุกคนไม่จำเป็นต้องซื้อหรอกไปรักษาที่ไหนที่ตัวเองมีสิทธิ์ก็ไม่ต้องจ่ายเลยสักบาทนึง อันนั้นก็จะเหมาะที่สุด
โรงพยาบาลเอกชน ถ้าต้องไปเข้าตามกฎเกณฑ์ ถูกควบคุมด้วย ต้องส่งเรื่องโครงสร้างบริหารให้ตรวจสอบ
ไม่มีปัญหา ตรงนี้คือกฎหมาย กรมการค้าภายในขอมา เราก็จัดให้ไป เพราะตรงนี้คือตัวที่บอกว่าต้นทุนเป็นอย่างไร ราคาขายเป็นอย่างไร
มีการออกมาแก้ต่างว่าไม่ใช่โรงพยาบาลเอกชนทั้ง 100% ที่คิดค่ายาแพง
โรงพยาบาลเอกชนมี 300 กว่าแห่ง มี 100 กว่าแห่งที่ราคาต่ำกว่าราคากลาง มี 70 โรงพยาบาลที่ราคาสูงกว่าปกติมาก ที่เหลือก็กลาง ๆ ถ้าจะให้คาดเดา 70 โรงพยาบาลที่ราคาสูงน่าจะเป็นโรงพยาบาลที่รับต่างชาติ พวกนี้เขาจะต้องใช้ราคาที่บวกไปกับคนไทย เพราะมีค่าบริการต่าง ๆ บวกเข้ามาด้วย ตรงนี้คือการคาดเดาจากที่ส่วนตัวไม่มีข้อมูล
ตรงนี้เป็นแนวคิดที่ทางกระทรวงพาณิชย์บอกว่า ถ้าอย่างนั้นควรมีโรงพยาบาลธงฟ้าไหม จริง ๆ ก็คือที่เป็นอยู่ตอนนี้ยิ่งกว่าธงฟ้า ไม่ต้องซื้อเลย ไปรักษาฟรีได้เลย
อย่างโรงพยาบาลประมาณ 100 แห่งที่เขาแจ้งเรามาที่ราคาต่ำกว่าราคากลาง ซึ่งตรงนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องคุยกับโรงพยาบาลเหล่านั้นว่าจะยอมให้ติดธงฟ้าหรือไม่ โรงพยาบาลไม่เหมือร้านโชห่วย เพราะเราต้องใช้ความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาล ไม่ใช่ว่าซื้อถูกหรือแพง ตรงนี้ก็แล้วแต่มุมมอง
ถ้าเจอมาตรการควบคุมเข้มข้น การเกิดของโรงพยาบาลเอกชนก็จะยาก
ไม่หรอก ส่วนตัวยังคิดว่าโลกเราเป็นการค้าเสรีแล้ว คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ต่าง ๆ อยู่แล้ว อย่างภาวะฉุกเฉินต่อชีวิตก็มีระบบรองรับอยู่แล้ว สุดท้ายขึ้นกับรัฐบาลว่า ถ้ายังอยากจะให้เป็นเมดิคัลฮับต่อไป ที่จะนำรายได้เข้าประเทศ ถ้าควบคุมตรงนี้ แม้คนอาจจะแห่กันเข้ามา แต่เราก็ต้องลดคุณภาพบางส่วนลง เช่น คุณภาพการบริการ จะไม่มีเงินไปทุ่มเรื่องเทคโนโลยี วันข้างหน้าก็มีโอกาสที่จะสูญเสียภาวะผู้นำของเมดิคัลฮับ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่กำลังฟอร์มทีมกันอยู่
ถ้าคุมเข้มมาก โอกาสที่จะเกิดสมองไหลไปโรงพยาบาลเอกชนของต่างชาติมีไหม
ที่ผ่านมาจริง ๆ ก็พยายามที่จะดึงหมอไทยไปสิงคโปร์หรือออสเตรเลีย แต่ตามที่ส่วนตัวดู หมอไทยไปน้อยมาก มีแต่หมอฟิลิปปินส์ อินเดีย ที่ไป พวกเราอย่างไร อยู่เมืองไทยก็น่าจะดีกว่า มีความสุข และบ้านเราจะสงบกว่าที่อื่น ชีวิตไม่ยากลำบากเท่าที่อื่น
สรุปหมายเหตุ : ผลการประชุมระหว่างกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กับผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 แห่ง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562
กรณีที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เชิญโรงพยาบาลเอกชน 353 รายทั่วประเทศมาหารือและขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 โดย นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวภายหลังการประชุมถึงเนื้อหารายละเอียดผลการหารือดังกล่าว ว่า จากที่ กกร. เห็นชอบให้นำ ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล เข้าอยู่ในบัญชีควบคุม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ทางภาครัฐจึงกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนแสดงรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลให้ชัดเจน โดยแยกราคายา ราคาเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ออกจากกันไม่ให้นำค่าบริการไปบวกไว้กับค่ายา
ขณะเดียวกัน ให้โรงพยาบาลเอกชนแจ้งราคาซื้อราคาจำหน่าย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 มาที่กรมการค้าภายใน ก่อนวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 จากนั้น กรมการค้าภายในจะจัดทำคิวอาร์ โค้ด ให้โรงพยาบาลนำไปเผยแพร่เฉพาะราคาจำหน่าย ส่วนการเปลี่ยนแปลงราคาจะต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในรับทราบก่อนปรับราคา 15 วัน เพื่อจะแก้ไขข้อมูลทั้งในเว็บไซต์ และคิวอาร์โค้ด หากโรงพยาบาลเอกชนไม่แจ้งตามที่ประกาศกำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ