เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แถลงว่า รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ทำหน้าที่แม่ทัพเศรษฐกิจ พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ 19 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกัน
ประชุมหน้าดำคร่ำเครียดขนาดไหน รายงานข่าวไม่ได้ระบุ แต่ที่แน่ๆ คือ เกิดความวิตกกังวลกันว่าเศรษฐกิจจะมีปัญหา จีดีพีโตต่ำกว่า 3% ในปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีแน่ๆ หากจะบริหารเศรษฐกิจต่อไป
เครื่องสูบเศรษฐกิจ 4 สูบเหลือสูบเดียวที่ยังพอกล้อมแกล้มใช้ได้ นั่นคือ ตัว G การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งดูเหมือนจะฝืดๆ นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้เกิดข้อสรุปจากการประชุมว่า ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และหารือแก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาการเติบโตในไตรมาสที่ 2 และ 3 ปี 2562
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า ในการประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสที่ 2 และ 3 ปี 2562 ให้ได้เพิ่มขึ้นกว่าแผน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพ เช่น บริษัท ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะถูกกระทบจากปัจจัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาปรับเพิ่มโครงการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น บริษัท ทีโอที บริษัท กสท โทรคมนาคม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย
นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะโฆษก สคร. สรุปผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจว่า กรอบลงทุนทั้งปีของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแล มีมูลค่า 333,441 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมปี 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงเมษายน 2562 จำนวน 88,010 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม โดยสามารถสรุปการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมถึง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 ของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง
ทีนี้ก็ขึ้นกับว่าพลังการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจจะดันเศรษฐกิจไทยได้ขนาดไหน
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ไทยในไตรมาส 1/2562 ขยายตัว 2.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือเติบโต 1.0% เทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล
พูดกันตามจริงคือ ตอนนี้ฟากฝั่งภาคเอกชนประเมินว่าเศรษฐกิจไทยคงลำบาก
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) แถลงปรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 3.0% จากเดิมมอง 3.5% เหตุตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/2562 ชะลอมากกว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัดแม้ความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังจากฟอร์มรัฐบาลใหม่ ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกสงครามการค้าถึงทางตัน จึงยากที่จะเห็นเครื่องยนต์ส่งออกกลับมาในปีนี้ พร้อมมองเป็นปีที่ระบบธนาคารเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจชะลอ คาดสินเชื่อทั้งปีโตชะลอลงที่ 4.5% แนะระวังคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย ที่เริ่มเห็น NPL ขยับขึ้นในกลุ่มสินเชื่อรถและบ้าน
อีไอซี แบงกืไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.3% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.6% เนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งมากกว่าที่คาดในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา และยังรวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดด้านสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่กลับมาปะทุอีกครั้ง ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยโดยตรง โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าส่งออกของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าจีนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ หมวดแผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ สงครามการค้ายังส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความตึงเครียดด้านการค้าและการลงทุนของโลกที่เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มเป็นปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทยได้อีกทางหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ อีไอซีจึงประเมินว่าการส่งออกไทยปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ที่ 2.7% ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.6% เหลือขยายตัวเพียง 3.3% ในปีนี้
หากหวังรายได้จากการท่องเที่ยว พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 40.4 ล้านคนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 5.5% ก็จริง แต่มันชะลอลงจากปี 2561 ที่ขยายตัว 7.5% ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มไปในทิศทางแข็งค่าขึ้น