Interview: คุณอนินทิตา เพราแก้ว ผู้จัดการงาน ฝ่ายแผนและบริหาร บริษัทในเครือสายการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นักวิเคราะห์น้ำมันฟันธง! เที่ยวนี้ราคาน้ำมันดิบดีดตัวปรับขึ้นไม่ถึง 100 ดอลล์/บาร์เรล เพราะมีผู้พร้อมผลิตเพิ่มมาขายฟันเงินเข้ากระเป๋า เตือนเมืองไทย/คนไทยเตรียมเผชิญน้ำมันราคาแพงหลังสหรัฐอเมริกาเลิกมาตรการผ่อนปรนซื้อ/ขายน้ำมันอิหร่าน 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป กระทบราคาน้ำมันโลก กับกระทบกระเป๋าตังค์ไทยต้องซื้อน้ำมัน 85% จากตลาดโลก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เผยการใช้น้ำมันของคนไทยเพิ่มพรวดหลังน้ำมันราคาตก ดังนั้นถึงเวลาต้องตั้งหลักประหยัดกันใหม่ได้แล้ว เพราะราคาน้ำมันดิบไม่หลุด 60 ดอลล์/บาร์เรล แน่นอน
-4-6 เดือนมานี้ ราคาน้ำมันค่อนข้างหวือหวา
ในช่วงที่ผ่านมาร้อนแรง แต่เมื่อวันศุกร์ 26 เมษายนศกนี้ ราคาร่วงหลุดลงมาถือเป็นข่าวดีของผู้บริโภค ผู้ใช้หลายๆท่าน
คือในส่วน Brent น้ำมันดิบหลักของยุโรป...WTI ของ อเมริกา ย่อตัวลงมาประมาณ 3% WTI ปิดที่ 63 เหรียญ Brent ปิดที่ 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาบ้านเราที่ดูไบก็ลดลงเหรียญกว่าอยู่ที่ 73.43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกิดจากข่าวที่ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาขอความร่วมมือกับกลุ่มโอเปกให้ช่วยลดความร้อนแรงของตลาดให้กลับมาผลิตเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดูเหตุว่าทำไมถึงขึ้นทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ปลายปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง จริงๆแล้วก็ไม่หนีท่านประธานาธิบดีทรัมป์เป็นเหตุ เพราะว่าก่อนหน้านี้ทรัมป์ออกมายกเลิกการผ่อนผันให้อิหร่านส่งออกน้ำมัน แต่ประเทศผู้ซื้อเคยได้รับการผ่อนผันให้นำเข้าได้ตั้งแต่พฤศจิกายนที่ผ่านมาจนสิ้นสุดพฤษภาคมนี้ และอยู่ๆ ท่านประธานาธิบดีได้ออกมากล่าวว่าการที่ผ่อนผันนี้จะไม่ผ่อนผันแล้ว ทางการสหรัฐเรียกร้องให้ประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านยุติการซื้อทั้งหมดภายในวันที่ 1 พฤษภาคม
ตรงนี้ตลาดก็กังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านจะลดลงอีกแล้ว ถ้าเป็นอิหร่านประเทศเดียวยังไม่ต้องวิตกกังวลมาก แต่ประจวบเหมาะต่อเนื่องมาจากเวเนซุเอลามีเหตุการณ์ไม่สงบ ยังมีประธานาธิบดีจริงและรักษาการประธานาธิบดี ผนวกกับเหตุการณ์สู้รบในลิเบียกันอย่างไม่หยุดหย่อนซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ตรงนี้เป็นการสู้รบกันในลิเบียระหว่างรัฐบาลกับผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติที่ขัดแย้งกันในประเทศ แม้การผลิตในลิเบียตอนนี้ยังไม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ส่อสัญญาณที่ไม่ดีให้มีความเสี่ยงด้านอุปทานเพิ่มขึ้น ตลาดเลยร้อนแรงแบบกระทิง ราคาปรับขึ้นไปสูงสุด
นอกจากนั้นความต้องการการใช้น้ำมันในช่วงนี้เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะอากาศในภาคพื้นยุโรปและสหรัฐเริ่มอุ่นขึ้น สหรัฐมีฤดูขับขี่ท่องเที่ยวซึ่งจะเริ่มในปลายเดือนพฤษภาคม
เพื่อนบ้านเรามีการเลือกตั้งหลายแห่งที่นอกจากไทยแล้ว ก็จะมีอินเดีย อินโดนีเซีย และยังมีเทศกาลถือศีลอด ซึ่งหลังเทศกาลนี้จะมีการขับขี่ท่องเที่ยวเยี่ยมญาติอีกเหมือนกัน ความต้องการใช้น้ำมันก็เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นช่วงที่โรงกลั่นของเราปิดซ่อมบำรุงสูงสุดในเดือนเมษายนปิดถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวันและพฤษภาคมมีโรงกลั่นในเอเชียปิดอีก 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือว่าสูงทีเดียว ตรงนี้เป็นปัจจัยที่ผลักดันราคาน้ำมันอยู่
-ราคาน้ำมันจากต้นปีมานี้ทำสถิติสูงสุดสมเหตุสมผลไม่ได้เกิดจากแรงเก็งกำไรใช่ไหม
ใช่...ปัจจัยพื้นฐานของตลาดมีปัจจัยสนับสนุนอย่างเด่นชัด แต่ถามว่าการเก็งกำไรการเข้าซื้อในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ถ้าเข้าไปดูในสถิติสัญญาซื้อขายยังต่ำกว่าสถิติสูงสุดของปีที่แล้ว ตอนนี้นักลงทุนซื้อขายตลาดล่วงหน้ายังมีโอกาสที่จะเข้ามาซื้อเพิ่มยังมีอยู่ถ้าเทียบกับสถิติเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ราคาจะสูงอย่างเดียวไม่ได้ต้องติดตาม เพราะว่ามีปัจจัยที่สามารถกดให้ราคาลดลงได้นอกจากที่ทรัมป์ออกมาทวิตเตอร์บ่อยๆ
ในส่วนของสหรัฐ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถ้าเทียบกับปีก่อนหน้านี้ปรับขึ้นมาถึง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการส่งออกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาสหรัฐผลิตสูงขึ้นจริงแต่การส่งออกทำได้ต่างกัน เพราะระบบการขนส่ง ระบบท่อ หรือ ระบบถัง ในประเทศยังไม่พร้อม ก็ต้องติดตามช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะมีท่อขนส่งน้ำมันเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะทำให้ความสามารถในการส่งออกของสหรัฐ จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.5-3 ล้าน ก็อาจจะขึ้นไปถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็ต้องติดตามกัน
ราคาที่ปรับลดลงมาเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายนนั้นมีโอกาสที่จะลงต่อไปมากน้อยแค่ไหน
อันนี้สำคัญมาก จะมีการประชุมของกลุ่มโอเปกที่จะประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคม เป็นการประชุมกลุ่มย่อยก่อนที่จะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน อันนี้เราพอจะเห็นสัญญาแล้วว่ากลุ่มผู้ผลิตจะลดกำลังการผลิตต่อไหม เพราะว่าปัจจุบันราคาสูงในระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตโอเปกและพันธมิตรรัสเซียกังวลคือ กำลังการผลิตจากสหรัฐ ออกมาค่อนข้างค้านกัน กลุ่มหนึ่งพยายามลด กลุ่มหนึ่งพยายามเพิ่ม ตรงนี้ก็ต้องดูผลการประชุมที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมด้วย แต่รัสเซียก็เริ่มส่งสัญญาณบ้างแล้วว่าตลาดน่าจะสมดุลบ้างแล้ว รัสเซียอาจจะไม่ลดการผลิต อาจจะกลับมาผลิตที่ระดับปกติ ตรงนี้ช่วยผ่อนคลายความกังวล อุปทานก็จะตึงตัว
ในส่วนประเด็นเศรษฐกิจอย่างสหรัฐและจีน GDP สหรัฐล่าสุดในไตรมาสแรกออกมาที่ 3.2 สูงกว่าคาดการณ์ที่ 2.5 จีนยังโตได้ที่ 6.4 ในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ Trade Talk จะมีข้อสรุปชัดเจนแค่ไหน Brexit จะออกมารูปไหน ตรงนี้จะสะท้อนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกและจะกระทบต่อผู้ค้าในตลาด นักลงทุน และผู้บริโภค อย่างไร
ในกรณีของอิหร่านคิดว่ามีผลมากน้อยแค่ไหนว่า 1 พฤษภาคม ชาติพวกนี้ห้ามซื้อขายกับอิหร่าน พวกนี้ต้องไปหาซื้อในตลาดอื่นใช่ไหม
ใช่ ประเทศที่นำเข้ามากที่สุดหลักๆ มี จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตุรกี กรีซ และ อิตาลี ที่ผ่านมาถึงแม้จะได้รับการผ่อนผัน แต่ที่นำเข้าน้อยหรือแทบจะไม่นำเข้าแล้ว คือ อิตาลี กรีซ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็พยายามลดลงมาเรื่อยๆ ที่นำเข้าสูงสุดจากอิหร่านยังเป็นจีนอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน หรือร้อยละ 6 ของการนำเข้าน้ำมันดิบของเขาทั้งหมด ในส่วนของจีนยังหาทางเลือกอื่น
น้ำมันดิบที่ใกล้เคียงของอิหร่านก็จะเป็นกลุ่มในประเทศตะวันออกกลางด้วยกัน รวมถึงน้ำมันดิบในโซนอเมริกาใต้ก็จะเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่โรงกลั่นค่อนข้างทันสมัยรับน้ำมันดิบได้หลากหลายประเภท ก็อาจจะรับจากรัสเซียแทนบ้าง หรือรับจากแอฟริกาตะวันตกเพิ่มบ้างก็เป็นความสามารถในการรับที่ครอบคลุม
หากมาดูว่าของอิหร่านที่เคยส่งออกอยู่ที่ประมาณ 2.5-2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะลดลงต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือลดลงเหลือศูนย์แล้ว ส่วนที่ผลิตเพิ่มขึ้นมาได้ถ้าดูตามสถิติซาอุดีอาระเบียสามารถชดเชยได้ เพราะซาอุดีอาระเบียเคยผลิตเหนือระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันผลิตอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวันต่ำกว่าเป้าเยอะ เพราะว่าตั้งใจลดกำลังการผลิตตามข้อตกลง ในส่วนของซาอุดีอาระเบียสามารถชดเชยแทนได้ แต่ความกังวล คือ พันธมิตรที่ใกล้อิหร่านคงมีแต่ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐที่เพิ่มขึ้นจะเป็นน้ำมันดิบชนิดเบา ก็ต้องติดตามกันว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ไทยไม่มีการซื้อ/ขายธุรกรรมเรื่องน้ำมันกับอิหร่านใช่ไหม
ผลกระทบทางตรงไม่มีเพราะเราไม่ได้นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน แต่ถ้าผลกระทบทางอ้อมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะไทยเป็นผู้นำเข้าอยู่ดี เพราะความต้องการใช้ของเราในประเทศอยู่ประมาณ 150-160 ล้านลิตรต่อวัน เทียบเป็น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เราผลิตได้แค่ 15% เท่านั้นอยู่ที่ 23 ล้านลิตรต่อวัน ที่เหลือเราต้องนำเข้าทั้งหมด ตรงนี้ทำให้ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากตลาดโลกราคาปรับขึ้นไป
จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นและรวมถึงเรื่องห้ามซื้อ/ขายน้ำมันอิหร่าน ไทยต้องเตรียมรับมืออย่างไร เพราะต้องพึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ 80%
ในระยะสั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นได้ว่าราคาหน้าปั๊มจากการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ทาง PTTOR มีการปรับราคาขายปลีกขึ้นไป โรงกลั่นในภูมิภาคก็ปิดซ่อมบำรุงอีกทำให้อุปทานในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูปก็ลดลง แต่ความต้องการจริงไม่ลด ความต้องการตามฤดูกาลมี ตรงนี้ทำให้ตลาดในภูมิภาคค่อนข้างตึงตัว
ในส่วนของน้ำมันดีเซลโรงกลั่นเราผลิตได้ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 75 ล้านลิตรต่อวัน แต่ใช้จริง 68-69 ล้านลิตร ยังมีส่วนเกินที่ส่งออกได้นิดหน่อย ในส่วนของเบนซินผลิตได้เท่าไหร่เราใช้หมด ตรงนี้อยากให้ผู้ใช้ช่วยกันใช้พลังงานอย่างประหยัดยิ่งตอนนี้ราคาปรับสูงขึ้นไป ก็ต้องชะลอการใช้หรือใช้ให้คุ้มที่สุด
สังเกตได้ว่าช่วงที่ราคาน้ำมันถีบขึ้นไประดับสูงในช่วงต้นปี 2014 ช่วงนั้นน้ำมันอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล การใช้ของเราค่อนข้างเป็นไปตามอุปสงค์อุปทาน แต่เมื่อราคาทิ้งดิ่งลงมา 20-40 ดอลล์ ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศเราเพิ่มขึ้นสูงมาก ตอนนี้เป็นอีกช่วงหนึ่งเพราะด้วยราคาที่ถูกก็ดึงดูดคนที่ไม่ค่อยขับรถก็เอารถออกมาขับมากขึ้น จากที่เคยนั่งแท็กซี่ก็ขับเองคุ้มกว่า
ตอนนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันมีความต้องการไม่แน่นอนสูง ราคาผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยภายนอกไม่ว่าเป็นนโยบายภาครัฐของสหรัฐ เศรษฐกิจ หรือ สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตของโลกพวกนี้เป็นตัวแปรมากขึ้น ผนวกกับเศรษฐกิจที่มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ตรงนี้ทำให้ราคาขึ้นลงอย่างรวดเร็ว อย่างราคาเฉลี่ยของปีที่แล้วดูไบอยู่ที่ประมาณ 60-70 ดอลล์ ตอนนี้ปรับขึ้นมาแตะ 75 ดอลล์แล้ว จนกว่าผลประชุมจะออกมาชัดเจนว่าถ้ารัสเซียไม่ร่วมที่จะลด คือ จะกลับมาผลิตเพิ่ม ตรงนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ราคาน่าจะย่อตัวลงมาได้ ช่องทางสหรัฐพร้อมส่งออกซัปพลายในตลาดมากขึ้น ตรงนี้มีส่วนทำให้ผู้บริโภคสามารถมีความหวังว่าราคาน่าจะย่อลงมา
อย่างไรก็ตามข่าวพวกการเมือง เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในลิเบีย จะเกิดสงครามกลางเมืองอีกไหม เวเนซุเอลาจะมีบทสรุปอย่างไรตรงนี้เป็นความเสี่ยงที่เราต้องยอมรับกัน ก็ต้องเฝ้าระวังของพวกเรากันเอง ถ้ารักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ต้องใช้อย่างประหยัด ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า
ก็ต้องเริ่มต้นกลับมาตั้งหลักใหม่เรื่องการใช้พลังงานอย่างประหยัด เพราะมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นมาในเวลานี้ค่อนข้างเห็นชัดว่าอาจจะไม่หลุด 60 ดอลล์ใช่ไหม
ใช่ ระดับ 60 ดอลล์ ถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างปกติเมื่อเทียบกับปีที่แล้วถือว่าต่ำ เพราะเฉลี่ยปีที่แล้วอยู่ที่ 70 และในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นเกือบ 75 ถ้าเราดูราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูไบอยู่ที่ระดับ 71 ดอลล์ ถ้าเฉลี่ยในช่วง 65-75 จะเป็นช่วงที่ราคาแกว่งตัวอยู่ได้ค่อนข้างนานสำหรับในช่วงที่ผ่านมาตั้แต่ต้นปี
ถ้าให้ฟันธงคิดว่าน้ำมันจะขึ้นไปถึง 100 ดอลล์ต่อบาร์เรลไหม
จากปัจจัยที่เห็นในปัจจุบันไม่น่าเป็นไปได้เพราะว่าผู้ผลิตพร้อมที่จะผลิต เพียงแต่มีนโยบายเฉพาะกลุ่มบ้างที่จะชะลอการผลิตเท่านั้น แต่ความต้องการใช้ยังเติบโตอยู่มากกว่า 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งการผลิตได้เติบโตดีกว่าแน่ ในสหรัฐถ้ามองย้อนไปการเติบโตของการผลิตสูงถึง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาจึงไม่น่าถึง 100 ดอลลาร์