top of page
312345.jpg

LTV กระทบกลุ่มซื้อคอนโดสร้างเสร็จ


"นลินรัตน์" ชี้ภาพรวมไตรมาส 1 ปี 2562 ตลาดค่อนข้างคึกคัก ผู้ประกอบการจัดแคมเปญกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ส่วนกลุ่มที่ซื้อคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จ จะได้รับผลกระทบ เพราะต้องวางเงินดาวน์ ฝ่าย "อิสระ" เผยการบังคับใช้มาตรการ LTV จะส่งผลต่อโครงสร้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวในระยะยาว ต้นไตรมาส 2 ยอดอนุมัติสินเชื่อชะลอตัว

นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในภาพรวมว่าในไตรมาสแรกของปี 2562 ภาพโดยรวมของตลาดค่อนข้างคึกคัก เพราะผู้ประกอบการอสังหาฯ มีการจัดแคมเปญกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคออกมาจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากมาตรการไปด้วย และทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีการตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น ส่วนที่ผู้บริโภคที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรก ก่อนการบังคับใช้มาตรการ LTV แต่มาเริ่มตัดสินใจซื้อหลังมาตรการบังคับใช้แล้ว ต้องมีการเตรียมความพร้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านเงินดาวน์ นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ซื้อบ้านหลังแรกโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากยังมีช่วงระยะเวลาผ่อนดาวน์ ก่อนโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น คือกลุ่มผู้ซื้อคอนโดที่สร้างเสร็จแล้ว เพราะจำเป็นต้องหาเงินก้อน มาวางดาวน์ในคราวเดียว เพื่อให้สามารถระบายสินค้าออกได้คล่องตัวขึ้น ผู้พัฒนาโครงการต่างๆได้มีการเปลี่ยนแนวทางช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถกู้ผ่านได้มากขึ้น เช่น การให้รูดบัตรเครดิตผ่อนดาวน์ 0% หรือใช้วงเงินอื่นๆเข้ามาช่วย แต่หากลูกค้าที่เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ แม้ว่าจะเป็นต้องหาเงินก้อนมาเป็นเงินดาวน์ก็จะมีวิธีการของตนเองอยู่แล้ว แต่ในกรณีของกลุ่มลูกค้าที่มีปัญหาเครดิตบูโร กลุ่มนี้จะมีความยุ่งยากในการหาเงินดาวน์มากกว่าลูกค้าที่มีสถานะปกติ

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า การบังคับใช้มาตรการ LTV โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะส่งผลต่อโครงสร้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เกิดการชะลอตัวในระยะยาว เนื่องจากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนหายไปจากระบบ เช่น ผู้ที่เคยกู้ร่วม ซึ่งเข้าเกณฑ์มาตรการ LTV ทำให้ขอสินเชื่อยากขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวสูงจากปกติกว่าเท่าตัว จาก 3 ส่วนคือ 1. การออกแคมเปญเร่งการตัดสินใจซื้อของบริษัทอสังหาฯ เพราะต้องการเร่งลูกค้ารับโอนกรรมสิทธิ์พร้อมๆกันแทบทุกค่าย 2. ธนาคารพาณิชย์ มีการออกแคมเปญเพื่อเร่งปล่อยสินเชื่อ และ 3. การเร่งขอสินเชื่อของกลุ่มผู้บริโภค เพื่อหวังจะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยก่อนประกาศใช้มาตรการ LTV นอกจากจาก 3 ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการขอสินเชื่อและอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวสูงกว่าปกติไม่ต่ำกว่า 100%

นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลลูกค้าในการเลือกและตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค หลังการบังคับใช้ มาตรการ LTV เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า ลูกค้ายังไม่มีความเร่งรีบในการตัดสินใจซื้อ ประกอบกับลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงผลกระทบจากมาตรการ LTV ต่อตัวลูกค้าเอง ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของโครงการต้องมีการให้ข้อมูลลูกค้าเพิ่มมากกว่าช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันสถาบันการเงินต่างๆ มีการชะลอการปล่อยกู้และเข้มงวดเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้ยอดการอนุมัติสินเชื่อหลังการบังคับใช้มาตรการ LTV หดตัวลงอย่างชัดเจนจากไตรมาสแรก อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่อาจนำมาประเมินได้ว่า การหดตัวของการขอและอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังวันที่ 1เมษายน ที่ผ่านมามีผลโดยตรงมาจากการประกาศใช้มาตรการ LTV หรือไม่ เพราะเดือนเมษายนเป็นช่วงที่มีวันหยุดเยอะ และก่อนหน้านี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยถูกอนุมัติไปเป็นจำนวนมากแล้ว จากการเร่งกู้และโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาสแรก ทำให้ในต้นไตรมาสที่ 2 ยอดอนุมัติสินเชื่อชะลอตัวลง

12 views
bottom of page