บล.แอพเพิลเวลธ์ ชี้ Fund Flow ต่างชาติไหลเข้ากลุ่ม TIP ในช่วง 2 เดือนแรกของปี โดยมียอด ซื้อในตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ 543 ล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย 726 ล้านดอลลาร์ แต่ซื้อหุ้นไทย 108 ล้านดอลลาร์ สาเหตุมาจากประเด็นการเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งนักลงทุนต่างชาติยังรอดูผลการเลือกตั้งและเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ ขณะที่ยังมีประเด็นเจรจาการค้าสหรัฐกับจีน และ Brexit ทำให้ตลาดชะลอการลงทุน หลายฝ่ายประเมินหลังเลือกตั้งไม่มีฮันนีมูนพีเรียด ...ด้าน FETCO ระบุนักลงทุนคาดหวังในเชิงบวกจากการเข้าสู่การเลือกตั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมีนาคมระบุใน 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค. 62) อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง
บรรยากาศตลาดหุ้นไทยเมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงบรรยากาศเดือนของการเลือกตั้งใหญ่ของไทย 24 มีนาคม ซึ่งก่อนหน้านี้หลายฝ่ายมองว่า บรรยากาศก่อนวันเลือกตั้งตลาดหุ้นน่าจะดีและหุ้นเดือนมีนาคมก็น่าจะดีด้วย เนื่องจากก่อนการเลือกตั้งหุ้นมักจะขึ้น และหลังวันเลือกตั้งหุ้นจะลง จนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลได้หุ้นจึงขึ้นอีกครั้งด้วยบรรยากาศฮันนีมูนพีเรียดของรัฐบาลใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านหนึ่งสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมานี้ สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยกลับมีอาการน่าเป็นห่วง ดัชนีหุ้นปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมากจากปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยดัชนีหุ้นหลุดแนวรับที่สำคัญลงมา โดยหลุดแนว 1,650 จุด และทดสอบ 1,630 จุด หากหลุดก็จะลงไปถึง 1,600 จุด ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจ และโดยรวมแล้วยังไม่ได้กลับมาซื้ออย่างจริงจัง แม้สถานการณ์โลกจะหนุนให้เงินทุนหรือฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาที่ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ กลุ่ม TIP มากขึ้น ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 แต่จะเห็นว่า ต่างชาติซื้อหุ้นไทยน้อยที่สุด และน้อยมากเมื่อเทียบกับ 2 ประเทศในกลุ่ม
นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แอพเพิลเวลธ์ ให้ข้อมูลว่า Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดแถบอาเซียน (TIP) ในช่วง 2 เดือนแรก มียอดซื้อสุทธิในตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ 543 ล้านดอลลาร์, ซื้อหุ้นอินโดนีเซีย 726 ล้านดอลลาร์ แต่ซื้อหุ้นไทย 108 ล้านดอลลาร์...
“จะเห็นได้ชัดว่าน้ำหนักการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยช่วง 2 เดือนแรกยังต่ำกว่า เมื่อเทียบตลาดหุ้นอื่นในกลุ่ม TIP สาเหตุน่าจะมาจากประเด็นการเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติอาจจะยังรอดูผลการเลือกตั้งและเสถียรภาพรัฐบาลใหม่”
ด้าน ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร KTBST ให้ความเห็นว่า ปัจจัยเรื่องการยุบพรรคการเมืองวันที่ 7 มีนาคม ทำให้ตลาดชะลอการลงทุน แม้ตลาดได้รับรู้ข่าวไปบ้างในระดับหนึ่งแล้ว และผลการตัดสินที่ออกมาจึงไม่ทำให้ตลาดปรับตัวลงไปมากนัก แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่ของการหาเสียงและเลือกตั้งอาจมีผลทำให้นักลงทุนจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ ขณะที่รอผลการเจรจาทางการค้าของสหรัฐกับจีน ภายในเดือนมีนาคม ที่แม้จะเลื่อนกำหนดมาตรการภาษี แต่ยังไม่มีการลงนามข้อตกลงส่งผลให้ในช่วงนี้นักลงทุนจึงชะลอการลงทุนเพื่อเลี่ยงความเสี่ยง
“อีกปัจจัยหนึ่ง คือการรายงานกำไรไตรมาส 4 ของตลาดที่ออกมาไม่ดีนัก โดยผลกำไรอยู่ที่ 1.61 แสนล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบปีต่อปี และลดลง 39% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ขณะที่ระดับค่า P/E ของตลาดอยู่ที่ 17.6 เท่า ทำให้แนวโน้มที่ตลาดจะเดินหน้าต่อไปนั้นค่อนข้างยากขึ้นยกเว้นจะได้แรงหนุนจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาในเชิงมีเสถียรภาพและบริหารได้ราบรื่น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดได้”
สำหรับเรื่องของช่วง Honeymoon Period นั้น นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า หลังเลือกตั้งครั้งนี้ คงไม่น่าเกิดขึ้น ซึ่งดูแล้ว รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม อาจจะค่อนข้างมีปัญหา
SCB CIO Office Investment House view ให้ข้อมูลว่า สำหรับปัจจัยต่างชาติที่ยังต้องจับตาคือ เหตุการณ์สำคัญ ที่เป็น KEY EVENTS คือ ข้อตกลงระหว่าง ทรัมป์ กับ สี จิ้นผิง ในรัฐฟลอริดา สำหรับการลงนามในช่วงกลางเดือน มีนาคม และกรณี Brexit ที่ เทเรซา เมย์ ได้เลื่อนการลงมติของรัฐสภาต่อข้อตกลง Brexit ออกไปเป็นวันที่ 12 มีนาคม โดยหากรัฐสภามีมติคว่ำข้อตกลง Brexit อีกครั้ง เมย์ จะเสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้มีการลงมติว่า อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไร้ข้อตกลง หรือจะมีการเลื่อนกำหนดเวลาในการแยกตัวจากเดิม วันที่ 29 มีนาคมนี้ออกไป รวมถึงรัฐบาลแคนาดาเริ่มกระบวนการส่งตัว เหมิง หวันโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่านการเงิน (CFO) และลูกสาวประธานบริษัทหัวเว่ยไปสหรัฐ ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว เพื่อดำเนินคดีฐานฉ้อโกงละเมิดการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ
ด้าน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมีนาคม 2562 ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวผันผวนตามปัจจัยทางการเมืองและข่าวการเลือกตั้ง และจากผลสำรวจทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ชี้ว่านักลงทุนคาดหวังในเชิงบวกจากการเข้าสู่การเลือกตั้ง และความเชื่อมั่นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจชะลอตัวจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่นักลงทุนบางส่วนกังวลทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ว่ามีทิศทางผลการเจรจาในเชิงบวก และเสถียรภาพของรัฐบาลในประเทศหลังการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนติดตามมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม FETCO ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค. 2562) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”