PwC คาดเศรษฐกิจโลกปี 62 ชะลอตัว หลังมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตเพียง 2.3% ในปีนี้จาก 2.8% ในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมองว่าจะตึงตัว ส่งผลให้ค่าแรงเพิ่ม ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียและฝรั่งเศสจะใหญ่แซงหน้าสหราชอาณาจักรในปีนี้ ด้าน PwC ประเทศไทย มองเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตราว 3.7-3.9% แต่ต้องจับตาเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Global Economy Watch ฉบับล่าสุดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะชะลอตัว โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G7 จะกลับสู่การเติบโตในระดับปกติ ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยในระยะยาว
ทั้งนี้ PwC คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2559 ถึงช่วงต้นของปี 2561 นั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยหลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นทางการคลังของภาครัฐฯ ในช่วงก่อนหน้า มาในปีนี้คาดว่า จะค่อยๆ เริ่มอ่อนแรงลง ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ขณะที่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่ง PwC คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2562 จะเติบโตได้ในระดับปานกลางที่ 2.3% จาก 2.8% ในปี 2561
สำหรับเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีนี้ จะยังคงชะลอตัวเปรียบเทียบกับปี 2561 แม้ว่า รัฐบาลจีนจะได้มีความพยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจของตนชะลอตัวน้อยที่สุด แต่ผลกระทบจากการกีดกันด้านภาษีของสหรัฐฯ และความต้องการในการควบคุมระดับหนี้ น่าจะส่งผลให้การเติบโตลดลงพอสมควรในปี 2562
ด้านตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วคาดว่าจะตึงตัว โดยอัตราการว่างงานจะลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าการสร้างงานจะชะลอตัว ซึ่งนี่จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่กำลังมองหาพนักงานที่มีทักษะมาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน PwC คาดการณ์ว่า ในปี 2562 การว่างงานในสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีจะลดลงเล็กน้อย ในขณะที่อัตราการสร้างงานยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นาย บาร์เร็ต คูเปเลียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของ PwC กล่าวว่า “ข่าวที่ดูเหมือนเป็นข่าวใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา เห็นจะเป็นเรื่องของการจ้างงานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว จำนวนกว่า 4.5 ล้านงาน
“ดังนั้นเราคาดว่า กระแสของการจ้างงานในปีนี้จะแผ่วลง หลังประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเยอรมนีเริ่มแตะเพดานโครงสร้างการว่างงานแล้ว และอัตราค่าจ้างแรงงานน่าจะค่อยๆ เริ่มสูงขึ้น หากเบร็กซิทเรียบร้อยตามแผนที่ได้วางไว้ เราคาดว่า จะเห็นอัตราการว่างงานในสหราชอาณาจักรลดลงอย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้าม หากเบร็กซิทไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อาจนำไปสู่อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน”
รายงานของ PwC ระบุว่า อันดับของสหราชอาณาจักรจะปรับตัวลดลงในการจัดอันดับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยทั้งอินเดียและฝรั่งเศสน่าจะแซงหน้าสหราชอาณาจักร โดยในปี 2562 อันดับขนาดเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะตกลงจากอันดับที่ 5 สู่อันดับที่ 7
ทั้งนี้ อันดับของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสมีการสลับกันไปมามาโดยตลอด เนื่องจากทั้งสองประเทศมีระดับของการพัฒนาและจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกัน ในส่วนอันดับของอินเดียที่ไต่สูงขึ้น มีแนวโน้มที่จะขึ้นถาวร โดย PwC คาดการณ์ว่า ในปี 2562 อัตราการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริง (Real GDP growth) ของสหราชอาณาจักรจะมีการเติบโตอยู่ที่ 1.6% ฝรั่งเศสเติบโต 1.7% และอินเดียเติบโตที่ 7.6%
ด้าน นาย ไมค์ เจคแมน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของ PwC กล่าวว่า “อินเดียถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประชากรที่มหาศาล และมีศักยภาพสูงที่จะโตได้อีก เนื่องจากจีดีพีต่อหัวที่ยังคงไม่ได้สูงมากนัก และน่าจะทำให้อินเดียสามารถไต่อันดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตารางอันดับจีดีพีโลกในช่วงทศวรรษหน้าได้
“ในส่วนของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ไม่แพ้กันและแข่งขันกันอย่างคู่คี่สูสีมาโดยตลอด แต่การเติบโตที่ลดลงของสหราชอาณาจักรในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ น่าจะส่งผลให้ฝรั่งเศสกลับมามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า โดยความแข็งแกร่งของสกุลเงินยูโรเทียบกับเงินปอนด์ ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการปรับขึ้นของฝรั่งเศสด้วย”
นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2562 นั้น น่าจะเติบโตประมาณ 3.7-3.9% จากปีที่ผ่านมา โดยยังคงได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่การท่องเที่ยวน่าจะเริ่มฟื้นตัวจากปีนี้ หลังสำนักวิจัยหลายแห่งคาดว่า นักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยตามปกติ แต่ภาคการส่งออกยังคงเผชิญกับการชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศหลักที่เติบโตช้าลง รวมถึงได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าอีกด้วย อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อในปีนี้คือ เสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และปัจจัยภายนอก