“มงคล ลีลาธรรม” กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank คว้ารางวัลเกียรติยศ Banker of the Year 2018 จากผลงานโดดเด่น ยกระดับบริการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อและองค์ความรู้ด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม จัดหน่วยรถม้าเร็วเคลื่อนที่บริการแบบเข้าถึงทุกหัวระแหง อุดช่องว่างแบงก์สาขาน้อย ช่วยเพิ่มช่องทางตลาดให้เอสเอ็มอีอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการค้าขายบนเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ ทั้งยังเป็นผู้บริหารที่สุจริตโปร่งใส นำพาองค์กรก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
กองบรรณาธิการ นิตยสาร “ดอกเบี้ย” และหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ประกาศยกย่อง มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) ให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ นักการธนาคารแห่งปี 2561 ... Banker of the Year 2018
ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลมีมติเป็นเอกฉันท์ หลังพิจารณาผลงานตลอดทั้งปี 2561 ผู้บริหารสูงสุดของธนาคารแห่งนี้เป็นผู้ที่ทำงานตามพันธกิจของธนาคารอย่างเข้มแข็งเต็มความสามารถ ทั้งยังตอบสนองนโยบายของรัฐบาลได้ครบถ้วนสมบูรณ์ มีความเป็นผู้นำทั้งการกำหนดแนวทางและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจนมีงานหนักไม่น้อยไปกว่าผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างทุกคน
ขณะที่ในการพัฒนาองค์กรและลูกค้า ได้มีการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้ผสานไปกับการ “อุดช่องว่าง” การเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างชาญฉลาด ทั้งที่เป็นธนาคารที่มีสาขาน้อย รวมทั้งยังมีการส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างหลากหลาย และที่สำคัญ เป็นผู้บริหารที่มีความโปร่งใส นำพาองค์กรภายใต้การบริหารมุ่งสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
สำหรับผลงานที่โดดเด่นของ มงคล ลีลาธรรม ในปี 2561 คือ การทำให้เกิด SME D Bank ดิจิทัล แพลตฟอร์ม สอดรับการนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง SME Development Bank ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ต้องตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งกระแสการเปลี่ยนแปลงของของโลกที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทั้งลูกค้าประชาชน และ มงคล สามารถทำได้ดีจนเรียกได้ว่า “น่าทึ่ง” เมื่อ SME D Bank ที่น่าจะเป็นเพียงแพลตฟอร์มเล็กๆ ตอบสนองการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ หาก SME D Bank กลับกลายเป็นแพลตฟอร์มขนาดมหึมาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในทุกมิติ แตกต่างจากแพลตฟอร์มของสถาบันการเงินเอกชนที่มุ่งให้บริการ e-Payment การทำธุรกรรมออนไลน์ (Transaction) และการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ หรือ Digital Lending เป็นหลัก
แพลตฟอร์ม SME D Bank ในรูปแอปพลิเคชันบนโมบาย ดีไวซ์ อย่างสมาร์ทโฟน บรรจุทั้ง
1.ระบบยื่นขอสินเชื่อออนไลน์
2.การเป็นกล่องเครื่องมือ (Tools Box) ดิจิทัล ช่วยยกระดับธุรกิจของเอสเอ็มอีรายย่อยเข้าสู่ยุค 4.0 จากการรวบรวมแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้เอสเอ็มอียกระดับและลดต้นทุนทางธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการแล้วกว่า 140 แอปพลิเคชัน
และ 3.บริการข้อมูลความรู้ ข่าวสาร และ How to ในการประกอบธุรกิจ ในรูปแบบ e-Library โดยจะมีการอัพเดทข้อมูลให้ทันสมัยเสมอ เหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใช้งานจริง ปัจจุบันมีให้สืบค้นข้อมูลได้แล้วกว่า 2,000 องค์ความรู้ และเพื่อจูงใจให้มีการดาวน์โหลดและใช้งานแพลตฟอร์มอย่างสม่ำเสมอยังเสริมบริการพิเศษ SME Privilege ด้วยการแจกคะแนนสะสมเมื่อมีการเปิดใช้งานแอปฯ เพื่อนำไปใช้แลกสินค้าและบริการคล้ายกับการคะแนนสะสมของธุรกิจบัตรเครดิตสถาบันการเงินเอกชน
ขณะเดียวกันที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกอย่าง คือ การเปิดหน่วยบริการเคลื่อนที่ในชื่อโครงการ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น” ซึ่งเป็นธนาคารเดียวที่เปิดให้บริการในรูปแบบนี้ โดยจะทำงานผสานแนบสนิทไปกับระบบยื่นขอสินเชื่อออนไลน์บนแพลตฟอร์มของธนาคาร ดังที่ว่าอุดช่องว่างการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี เพราะด้วยความที่ว่าธนาคารมีสาขาทั่วประเทศเพียง 95 แห่ง ทำให้บริการได้ไม่ทั่วถึง โดยเมื่อผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านทางแอปพลิเคชัน SME D Bank บนโทรศัพท์มือถือ หน่วยรถม้าเติมทุนฯ ที่ธนาคารวางเป้าหมายทั่วประเทศกว่า 1,000 คัน จะวิ่งออกไปให้บริการ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเข้าพบผู้ประกอบการถึงสถานที่ประกอบกิจการจริง เพื่อยืนยันตัวตนและตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร พร้อมเก็บข้อมูล และเอกสารของสถานประกอบการ เพื่อบันทึกเข้าสู่ระบบ สำหรับพิจารณาอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วันถัดไป และการบริการทั้งหมดจะไม่เกี่ยวข้องกับเงินสดใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อจะมีการโอนเงินเข้าบัญชีตามที่ระบุไว้
ดังนั้น รถม้าเติมทุนฯ จึงไม่มีเงินสดที่เสี่ยงต่อการถูกจี้ปล้น
ทั้งนี้ การผสานการทำงานระหว่าง SME D Bank และรถม้าเติมทุนฯ ยังอุดช่องว่างในเรื่องของเวลาการทำงาน โดยแพลตฟอร์ม SME D Bank 24x7 คือ ทำงาน 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน และหน่วยรถม้าเติมทุนฯ 8-8-7 คือ ทำงาน 8 โมงเช้า ถึง 20.00 น. หรือ 2 ทุ่ม ตลอด 7 วัน ซึ่ง กรรมการผู้จัดการ ธพว. เคยกล่าวว่า ผู้ประกอบการมักจะเปิดแอปฯ และกดขอสินเชื่อกันตอน ตี 2 ตี 3 เนื่องจากตอนกลางวันยุ่งกับการทำงานจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้ SME D Bank ตอบโจทย์เรื่องเวลาของเอสเอ็มอีได้เป็นอย่างดี
จุดสำคัญอีกเรื่องที่ทำให้ มงคล ลีลาธรรม ได้รับรางวัล เนื่องจากหากไม่มีความเป็นผู้นำที่ดี ผู้ตามไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับรองลงไป หรือพนักงานคงไม่เอาด้วย เมื่อเขาจัดให้มีกิจกรรม “จิตอาสา หน่วยรถม้าเติมทุน เดินหน้าทั่วไทย” ซึ่งเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของบุคลากรทุกคนของ ธพว. ตั้งแต่กรรมการผู้จัดการ ไล่เรียงไปผู้บริหารจนถึงพนักงานทุกระดับกว่า 3,000 ชีวิต แบ่งทีมกระจายกำลังลงพื้นที่ตลาดชุมชน แหล่งการค้า และย่านเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ จังหวัดละ 4-5 จุด รวมแล้วประมาณ 400 จุดทั่วประเทศ เพื่อแนะนำผู้ประกอบการรายย่อย เข้าใช้บริการแพลตฟอร์ม SME D Bank
ทั้งนี้ พนักงานที่มี “จิตอาสา” หรือ “จิตสาธารณะ” ยินดีทำงานในวันหยุดโดยไม่ได้รับผลตอบแทนพิเศษ หากทุกคนเต็มใจทำหน้าที่ เพราะตระหนักว่า เอสเอ็มอีคือฐานรากของเศรษฐกิจไทย และกลุ่มเอสเอ็มอีคนตัวเล็กที่มีกว่า 3 ล้านรายยากที่จะเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทำให้ภารกิจนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากสามารถสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าไปใช้แพลตฟอร์ม SME D Bank จะช่วยเสริมแกร่ง เติมทุนคู่ความรู้ ช่วยยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศ และคนในชุมชนโดยรอบให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ ก่อประโยชน์เชื่อมต่อไปยังเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศให้เติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนตามไปด้วย โดยธนาคารตั้งเป้าว่า พนักงาน 1 คน สามารถเชิญชวนผู้ประกอบการโหลดแพลตฟอร์ม SME D Bank อย่างน้อย 30 ดาวน์โหลด ซึ่งจะทำให้ยอดรวมทะลุ 100,000 ดาวน์โหลด หลังจากเปิดตัวเพียง 4 เดือน
ขณะที่เมื่อมีช่องทางดิจิทัลเข้าถึงสินเชื่อ มงคล ยังออกสินเชื่อที่ดีมารองรับ โดยเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อคิดดอกเบี้ยถูกเพียง 1% - 3% ต่ำกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ มอบให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และมีหลากหลายผลิตภัณฑ์แยกตามกลุ่มเป้าหมายและประเภทธุรกิจจนนับกันไม่ถ้วน เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan)” วงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือธุรกิจ SMEs เสริมสภาพคล่อง เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน ลงทุนขยายหรือปรับปรุงกิจการในธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน และธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) สำหรับบุคคลธรรมดา อนุมัติวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 2 ล้านบาท หากเป็นบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือจดทะเบียนนิติบุคคล อนุมัติวงเงินสูงสุดต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 3 ปีแรกคงที่ 3% ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียมคำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 4 ปีแรก สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ของกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับนิติบุคคล คิดดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี และสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว สำหรับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล คิดดอกเบี้ย 3% ต่อปี หรือการสนับสนุนสังคมผู้สูงอายุ อย่างสินเชื่อสินเชื่อสร้างอาชีพวัยเก๋า สำหรับผู้สูงวัยอายุไม่เกิน 75 ปี เป็นต้น
ส่วนเมื่อให้สินเชื่อหรือเงินทุนไปแล้วก็ไม่ทิ้งขว้างผู้ประกอบการ ธนาคารมีการจัดหาช่องทางตลาด เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการด้วย อย่างเช่น การจัดตลาดนัดประชารัฐให้ลูกค้าธนาคารไปวางขายสินค้า การร่วมมือกับ ปตท.ให้เอสเอ็มอีสามารถนำสินค้าไปขายในปั๊มน้ำมัน ปตท. และที่สำคัญการค้าขายออนไลน์ที่มาแรง ได้มีการร่วมมือกับเว็บไซต์ e-Commerce ชั้นนำระดับโลกอย่าง อาลีบาบา (Alibaba.com) และอื่นๆ ที่เล็กลงมา เช่น ช็อปปี้ (Shopee) นำผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านจริงยกระดับขึ้นไปขายออนไลน์ ด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรม และจัดเวิร์กช็อป ให้ผู้ประกอบการได้ทดลองขาย ก่อนขึ้นไปขายจริงบนเว็บไซต์เหล่านั้น
การช่วยเหลือเอสเอ็มอีในเชิงพัฒนาผู้ประกอบการให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ขึ้นมา ซึ่ง มงคล ลีลาธรรม ดำเนินการจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีตลอดปี 2561 จนในที่นี้อยากสร้างคำขวัญประจำธนาคารให้ว่า “กู้ง่าย ขายคล่อง ไม่พร่ององค์ความรู้” ซึ่งหมายถึงกู้เงินจากธนาคารได้ง่ายผ่านแอปฯ SME D Bank และยังได้รับดอกเบี้ยถูก ขายสินค้าได้ดีขึ้น เพราะธนาคารช่วยหาตลาดให้ด้วยทั้งตลาดบนดิน และตลาดบนอากาศ (ออนไลน์) รวมทั้งภายนอกแพลตฟอร์มยังมีการจัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ และภายในแพลตฟอร์มได้จัดองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นทั้งการให้บริการและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ
ขณะเดียวกัน มงคล ลีลาธรรม ได้มีการบริหารงานอย่างซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส นำพาธนาคารเติบโตก้าวหน้ามีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
กับผลงานทั้งหมดของ มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) ในปี 2561 เขาจึงเหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับการรับรางวัลเกียรติยศอันน่าภาคภูมิใจ นักการธนาคารแห่งปี 2561 หรือ Banker of the year 2018
อนึ่ง สำหรับรายละเอียดผลงานต่างๆ ที่ทำให้ มงคล ลีลาธรรม ได้รับรางวัล Banker of the year 2018 สามารถติดตามได้จาก นิตยสาร “ดอกเบี้ย” ฉบับ 450 ประจำเดือนธันวาคม 2561