top of page
358556.jpg

วิกฤต 40 ปี ไข่ไก่...ราคาตกต่ำเป็นประวัติการณ์


เลี้ยงไก่มา 40-50 ปี ไม่เคยพบเคยเห็น วิกฤตไข่ไก่หนักสุดๆ ราคาตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ขนาดถูกแสนถูกยังขายไม่ออก ไข่ไก่ล้นสต็อกบานเบอะ จากซัพพลายที่ล้นตลาด เหตุธุรกิจรายใหญ่แข่งกันเปิดโรงเลี้ยงไก่ เกษตรกรตัวจริง สายป่านสั้น สู้นายทุนไม่ไหว ทั้งเจ็บทั้งเจ๊ง

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงกรณีที่ราคาไข่ไก่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ และการแก้ปัญหาในเรื่องไข่ล้นตลาด จากการบริโภคที่ลดลง ในขณะที่ซัพพลายมีมากขึ้นว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยแก้ไข เช่น การปลดระวางไก่ยืนกรง การหาตลาดใหม่ การเก็บไข่เข้าสต็อก แต่ปัญหายังวนเวียนเป็นวงจรในลักษณะนี้เช่นในอดีตที่ผ่านมา

“อย่างการเชือดไก่ทิ้งก็ทำมาปกติ แต่มติที่ประชุมจะให้ทำมากขึ้นมากกว่าเดิม ในทฤษฎีตัวเลขไก่ยืนกรงมีเท่านี้และไข่ออกมาเท่านี้ ถ้าล้นจำนวนเท่านี้ไข่ที่ออกสู่ตลาดอาจจะน้อยลง ภาวะต่างๆ น่าจะคลี่คลายขึ้น อันนี้ก็เป็นทฤษฎี แต่ข้อเท็จจริงการจะแก้ปัญหาถูกหรือไม่ก็ต้องใช้เวลา เพราะการทำงานต้องค่อยเป็นค่อยไป เรื่องการเชือดไก่ 1 ล้านตัวไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ต้องใช้เวลา”

ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการเร่งส่งออกไข่ไก่ให้ได้ 60 ล้านฟองภายใน 1 สัปดาห์นั้น นายมาโนชกล่าวว่า ทำไม่ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากไข่ไก่ออกเต็มที่เดือนละประมาณ 30 ล้านฟอง ดังนั้น จึงควรนำไข่ไก่ไปเก็บสต็อกไว้แล้วรอการระบายส่งออกนอก ซึ่งเป็นมาตรการเตรียมสินค้าที่โอเวอร์ซัพพลายอยู่ในตลาด มาเก็บไว้ในห้องเย็นเพื่อรอระบายส่งออกนอกและหาตลาดใหม่จะเหมาะสมกว่า

“การส่งออกไข่ไก่ตอนนี้เป็นเรื่องยาก การส่งออกไข่ไปต่างประเทศในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไม่มีใครทำแล้วได้กำไร เพราะตลาดไข่ไก่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดไข่สดหรือไข่แปรรูปมีลักษณะเหมือนถังขยะ มีมูลค่ากลับมานิดหน่อย แต่ราคาไม่ดีพอที่จะได้กำไร เพราะฉะนั้นคนที่ส่งออกไข่ไก่นั้นจะต้องเกณฑ์กันมาทำ ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ทำเขาถึงจะมีกำลังใจทำ ถ้าทำแล้วมีกำไรทุกคนก็แห่กันทำ”

นายมาโนชกล่าวต่อด้วยว่า การปลดล็อกปัญหาเรื่องไข่ไก่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นการทำธุรกิจแบบเสรี ในอดีตที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่าปัจจุบัน เพราะเกษตรกรจริงมีสัดส่วนในการเลี้ยงไก่ปริมาณ 80-90% แต่ปัจจุบันบริษัทรายใหญ่เข้ามาทำธุรกิจเลี้ยงไข่ไก่ ส่งผลให้สัดส่วนของเกษตรกรที่เลี้ยงไก่น้อยลง และบริษัทใหญ่ก็ไม่มีทางถอย ต่างคนต่างเลี้ยง แข่งกันขาย ปัญหาที่เคยแก้ได้ก็แก้ได้ยากขึ้น ไม่เหมือนขนาดของธุรกิจที่เท่ากันพอล้าก็ถอยลงไปแล้วก็กลับมาใหม่ แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำมีแบบครบวงจร ต่างคนต่างเล็กไม่เป็น ถ้ารู้จักเล็กเป็นหรือมีความโลภน้อยก็จะไม่ยุ่งยากเหมือนปัจจุบัน

ส่วนปัญหาที่คนอาจกินไข่น้อยลงนั้น นายมาโนชกล่าวว่าในภาวะเศรษฐกิจดีไข่อาจจะขายไม่ดีก็เป็นได้ เพราะคนมีเงินอาจจะไปกินอาหารอย่างอื่นแทนไข่ แต่โดยรวมแล้วถ้าพูดถึงกำลังการบริโภคไข่ไก่ยังไม่เปลี่ยนมากนัก ไม่ว่าจะเป็นช่วงนี้กินเจ โรงเรียนปิดเทอม นักท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลง

“ปัจจุบันต้นทุนของผู้เลี้ยงไก่รายย่อยเฉลี่ยประมาณ 2.85 บาทต่อฟอง ซึ่งเป็นตัวเลขจากสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร บางคนก็ถามว่าตัวเลขเอามาจากที่ไหน ซึ่งก็นำมาจากนักวิชาการที่ไปเก็บตัวอย่าง มีตัวแทนราชการและตัวแทนเกษตรกรไประดมความคิดเห็นกัน กว่าจะได้ตัวเลขมาต้องตกผลึกจริง...

วิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่อยากพูดคำว่าเจ๊งแต่มันเป็นภาวะวิกฤตที่เลี้ยงไก่มา 40-50 ปี ครั้งนี้นับเป็นวิกฤตที่สุดของชีวิตครั้งหนึ่ง ราคาไข่ที่บอกว่าตกต่ำมากถึงฟองละ 2.40 บาทนั้นไม่ใช่ ที่จริงต่ำกว่า 2 บาทไปแล้วในตลาดทั่วไป ที่สำคัญคือราคาไข่ไก่ที่ถูกขนาดนี้แต่ยังขายไม่ได้ด้วยซ้ำ มีของเหลืออยู่ในสต็อกมากมาย ส่วนกรมการค้าภายในที่ออกมากระตุ้นการทำงานเร็วมาก ก็ต้องขอขอบคุณด้วย แต่เนื่องจากปัญหามันทับถมและเรื้อรังมานาน จะมาแก้ไขปัญหาแบบทันทีคงต้องใช้เวลา ซึ่งต้องขอบคุณอีกครั้งที่เรียกประชุมมากและแก้ไขปัญหาทันที…

ส่วนเรื่องของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่พยายามจะลดลงมีอยู่ 2 ส่วน คือรุ่นปู่ย่าที่มาทำเป็นพ่อแม่ ซึ่งบริษัทใหญ่ได้นำเข้าไก่รุ่นปู่ย่ามาอย่างเดียวแล้วก็นำมาผลิตเป็นพ่อแม่ และมีบางบริษัทใหญ่ที่ผลิตเฉพาะพ่อแม่หรือนำเข้ามา ตัวเลขพ่อแม่ทั้งหมดปีที่แล้วมีประมาณกว่า 600,000 ตัว ก็ลดลงมาเหลือกว่า 500,000 ตัว ตอนนี้ก็พยายามจะทำให้ลดลงโดยปีหน้าจะนำเข้ามาเหลือประมาณ 460,000 ตัว ตัวเลขที่เหมาะสมจริงน่าจะอยู่ที่ 400,000 ตัว เพราะในอดีตที่ผ่านมามีตัวเลขประมาณ 400,000-450,000 ตัว ไข่ไก่ยังไม่ค่อยรอด แล้วจะไปเร่งให้คนกินไข่ 300 ฟองต่อคนต่อปี คือคนกินอาหารมีทางเลือกมากขึ้น จะไปบังคับให้คนกินไข่อย่างเดียงคงไม่ได้ การเลี้ยงที่มีการพัฒนาก็ต้องยอมรับว่าในส่วนนี้ทำให้ปริมาณไข่ในระบบมีมากขึ้น”

46 views
bottom of page