top of page
312345.jpg

เรียกร้องแบงก์ชาติทบทวน มาตรการควบคุมการซื้อบ้านหลังที่ 2


อธิป พีชานนท์ แจง...สินเชื่ออสังหาฯยังห่างไกลจากคำว่าวิกฤตฟองสบู่ และ Over Supply ผู้ประกอบอสังหาฯเครียดและสับสนกับมาตรการเข้มงวดเกินเหตุของแบงก์ชาติเรื่อง LTV บ้านหลังที่ 2 ที่มุ่งสกัดนักเก็งกำไร แต่ที่สุดแล้วจะพ่นพิษใส่ธุรกิจอสังหาฯทั้งระบบ รวมถึงผู้ที่ต้องการมีบ้าน พร้อมยื่นขอเรียกร้องต่อแบงก์ชาติให้ผ่อนปรน ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการ LTV เพื่อทุกฝ่ายจะได้ตั้งหลักทัน ควรบังคับใช้มาตรการ LTV กับการซื้อบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป แต่ไม่ควรบังคับใช้กับการซื้อบ้านจัดสรร เพราะส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง อีกทั้งไม่ควรกีดกันการซื้ออสังหาฯของคนต่างชาติ ซึ่งขัดกับนโยบายรัฐที่เรียกร้องให้ต่างชาติมาลงทุนในไทย

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” กล่าวถึงกรณีที่แบงก์ชาติออกมาตรการควบคุมการซื้อบ้านหลังที่ 2 เพื่อป้องกดดันการเก็งกำไร โดยให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมว่า การออกมาตรการของแบงก์ชาติมาจากความกังวลว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เหมือนบางประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแบงก์ชาติควรให้ความสำคัญกับตัวเลขหรือข้อมูลภายในประเทศไทยว่าจะเกิดปัญหานั้นหรือไม่

“ขณะนี้สถานการณ์ในไทยไม่ได้รุนแรงถึงจะต้องออกมาตรการอะไร เพราะจะสร้างความตระหนกตกใจและเป็นการชะลอวงจรเศรษฐกิจ ก็สับสนนิดหน่อยว่าภาครัฐบอกให้ภาคเอกชนช่วยลงทุนหรือกระตุ้นการบริโภคเพราะเศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเติบโต จะอาศัยการลงทุนแต่ภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวไม่ได้ ภาคประชาชนต้องบริโภคหรือเอกชนต้องลงทุน แต่แบงก์กลับมาชะลอทั้งที่ไม่มีสัญญาณการเกิดขึ้นของฟองสบู่ คือ คำว่าฟองสบู่กับ Over Supply ในเวลาเดียวกัน สองตัวนี้จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน ฟองสบู่หมายความว่ามีการปรับเปลี่ยนราคาสินค้าตัวหนึ่งขึ้นไปโดยไม่มีเหตุผลของต้นทุน เหมือนกับมีความต้องการมากแต่ของมีน้อย คนอยากได้โดยยินดีที่จะจ่ายเพิ่ม แต่ขณะนี้ไม่มีปัญหานี้อยู่ การที่ราคาคอนโดมิเนียมสูงขึ้นในขณะนี้มาจากต้นทุนที่ดิน เวลาที่รถไฟฟ้าสายใหม่เกิดขึ้น เจ้าของที่ดินรู้สึกว่ามูลค่าที่ดินของตัวเองน่าจะสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็น ทำให้มีการปรับราคาขึ้นมา และเผอิญที่ดินมีจำกัด คนทั่วไปก็อยากจะไปซื้อ กลายเป็นต้นทุนราคาที่ดินสูง ทำให้ราคาคอนโดมิเนียมสูงขึ้นตามต้นทุน เพราะที่ดินเป็นส่วนผสมของต้นทุนด้วย...

ส่วน Over Supply หมายความว่า ทำของออกมาแล้ว มีของเหลืออยู่เยอะ แต่ยังไม่มีคนมาซื้อ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่มี ถ้าจะมีก็แค่ 2 จังหวัดคือ ภูก็ตและพัทยา ในกรุงเทพฯยังไม่มีของคงเหลือ ทุกตึกคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จจะมีของคงเหลือเฉลี่ยของตลาดประมาณ 10% บางตึกเมื่อสร้างเสร็จแล้วอาจจะขายหมด แต่บางตึกอาจมีของเหลืออยู่บ้าง ซึ่งไม่ได้เป็นข้อน่ากังวลใจมาก เพราะของที่คงเหลือมีจำนวนน้อย เพราะจุดคุ้มทุนของคอนโดมิเนียมอยู่ที่ประมาณ 65% จึงเลยจุดคุ้มทุนไปแล้ว รวมถึงคืนหนี้ธนาคารได้หมด ทำให้ยังนึกไม่ออกว่าการวิตกกังวลของแบงก์ชาติมาจากเรื่องอะไร ถ้าอ้างเรื่อง NPL ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วถึงจะมาเกิด NPL ในปัจจุบัน ขณะนี้ตัวเลข NPL ที่ขยับขึ้นมาสูงกว่าเดิมเพียงแค่ 0.02% จึงไม่ได้ขยับแตกต่างมากมาย และที่ไปกังวลว่าเป็นกลุ่มของไฮเอนด์โปรดักซ์ คือเป็นบ้านราคาสูง คนซื้อเพื่อไปเก็งกำไร แต่คนที่ซื้อในกลุ่มไฮเอนด์โปรดักซ์ 100 คน มีคนไปขอสินเชื่อไม่ถึง 50 คน ส่วนใหญ่จ่ายเงินสด และกลุ่มคนที่ขอสินเชื่อมีจำนวนไม่ถึง 10% ของ Market Share ถ้าไปกังวลของน้อย แล้วนำมาตรการมาคุมของเยอะ คิดว่าน่าจะเกินกว่าเหตุหรือไม่...

ปัญหาที่ตามมาคือ ตอนนี้มีคนซื้อแล้วรอโอนกรรมสิทธิ์โดยเงื่อนไขของ LTV เดิมซึ่งยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ แต่ LTV ใหม่ จะออกมา 1 มกราคม 2562 โดยคอนโดมิเนียมบางที่จะโอนกรรมสิทธิ์หลังจากที่ได้ตัดสินใจซื้อเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่อาจจะไปสร้างเสร็จอีก 3 ปีข้างหน้า ปรากฎว่าลูกค้าไม่ได้เตรียมผ่อนชำระเพิ่มขึ้น และการจะไปเปลี่ยนสัญญาขายก็ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นลูกค้าต้องมีเงินมาจ่ายทั้งหมดในตอนท้าย ซึ่งบางคนอาจจะทำไม่ได้ก็ได้ ทำให้อาจเกิดความอลหม่านตรงนี้ ยกตัวอย่างมาเลเซียมีความเข้มงวดเรื่องซื้อบ้านพร้อมกันเกิน 3 หลัง คือคุมการซื้อ หลังที่ 3 ขึ้นไป เพราะคิดว่าที่จะมีบ้านพร้อมกัน 2 หลังนั้นมีความเป็นไปได้ บางคนอาจจะซื้อคอนโดมิเนียมอยู่ก่อนในช่วงโสด เมื่อทำงานได้ 2-3 ปีแล้วเริ่มมีฐานะ เงินเดือนปรับขึ้น และเริ่มมีความมั่นคงจึงได้แต่งงาน ก็จะมาซื้อบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์ แต่คอนโดมิเนียมเดิมไม่ได้ขายได้ภายในพรุ่งนี้ หรือเปลี่ยนมาเป็นบ้านเดี่ยวทันทีคงทำไม่ได้ ดังนั้นคนจะมีบ้าน 2 หลังในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องปกติทั่วไป เพราะไม่ได้เกินกำลังของคนซื้อ และธนาคารจะเป็นคนตรวจสอบเครดิต ทำให้มาเลเซียกำหนดสัญญากู้ครั้งที่ 3 ในการไปปรับเป็น LTV”

นอกจากนี้ นายอธิปยังกล่าวความกังวลของแบงก์ชาติที่เกรงว่าจะมีการซื้อเพื่อเก็งกำไรมากเกินไปว่า ในความเป็นจริงนั้น นักเก็งกำไรตัวจริงเมื่อซื้อคอนโดมิเนียมจะไม่ถึงครองไปจนถึงขั้นการโอนกรรมสิทธิ์ แต่จะขายเฉพาะใบจองหรือขายระหว่างผ่อนดาวน์เท่านั้น เพราะจะเป็นการไม่ทำให้นักเก็งกำไรลงทุนสูงเกินไป

“ถ้าโอนกรรมสิทธิ์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน ค่าธรรมเนียมจดจำนอง ภาษี และจะต้องมีการจ่ายมิเตอร์น้ำ-ไฟ ค่าส่วนกลางล่วงหน้า เพราะฉะนั้นคนเก็งกำไรจะไม่ปล่อยถึงขั้นนั้น บางทีจอง 50,000 บาท แต่ตั้งขายใบจองในเว็บไซต์ต่างๆ เอากำไรเพียง 100% หรือ 50,000 บาท ส่วนบางคนที่ขายต่อในช่วงระหว่างผ่อนดาวน์อาจจะตั้งกำไรเยอะ โดยอาจจะตั้งขายในราคาที่เพิ่มขึ้น สังเกตราคาวันที่ลูกค้าจองกับวันที่โอนกรรมสิทธิ์เฉลี่ยเปลี่ยนแปลงประมาณ 15-20% ระหว่างทางมีโอกาสกำไรถ้าเทียบกับเงินลงทุน สมมุติว่าดาวน์ 10% ก็มีโอกาสขายได้มากกว่าเงินลงทุน ทำให้นักเก็งกำไรตัวจริงจะทำกำไรได้จากตรงนี้...

ดังนั้น ถ้าจะไปป้องกันไม่ให้คนเก็งกำไรโดยการไปเปลี่ยนหลักเกณฑ์ LTV ก็ไม่ได้ลดคนเก็งกำไรลงไป เพราะนักเก็งกำไรจะขายก่อนโอนกรรมสิทธิ์ ก่อนจดจำนองกับแบงก์ ไม่มีนักเก็งกำไรคนไหนขอสินเชื่ออย่างแน่นอน คนที่ขอสินเชื่อคือคนที่ต้องการซื้อเพื่อปล่อยเช่า ซึ่งบางคนไม่กล้าที่จะเล่นหุ้นหรือจะไปซื้อทองก็มีความเสี่ยง จึงมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมให้เช่า เพราะผลตอบแทนจากการเช่าเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่เกิน 5% ต่อปี และราคาต่อปีปรับตัวขึ้นไปเฉลี่ยทั้งตลาดประมาณ 3% แต่ละปีมีเงินเพิ่ม 8% ซึ่งคนจะที่มาซื้อคอนโดมิเนียมจริงจะไม่ได้มาซื้อเพื่อขายต่อทันที อาจจะปล่อยเช่า 3-5 ปี แล้วมาดูราคาว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากขนาดไหน คุ้มหรือไม่ที่จะขาย เพราะทุกครั้งที่ขายจะมีต้นทุนค่าธรรมเนียมโอน ค่าจดจำนอง ภาษี ตรงนี้ถ้าเข้าใจขั้นตอนจะทราบดีว่าคนเก็งกำไรจะไม่ได้อยู่ไปถึงขั้นสินเชื่อ”

ทั้งนี้ นายอธิปกล่าวด้วยว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมาธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยมีอัตราปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารเกินกว่า 30% มาโดยตลอด ซึ่งเป็นความเข้มงวดที่ผิดปกติมาก ส่วนที่แบงก์ชาติมีความกังวลว่าจะมีบางธนาคารปล่อยสินเชื่อเกินหลักประกัน 100% นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในความเป็นจริง ซึ่งถ้ามีจริงแบงก์ชาติก็ควรไปลงโทษกับธนาคารนั้นๆ ไม่ใช่มาลงโทษกับผู้บริโภคด้วยการออกระเบียบที่เข้มงวดเกินความจำเป็น

“ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องว่าจะไปขอกู้เงินเกิน 100% อย่างที่ขายกันลูกค้ามีสิทธิ์กู้ได้ไม่เกิน LTV เดิม 90% ซึ่งขณะนี้ธนาคารเข้มงวดมาก ผู้กู้ที่ไม่มีหลักฐานรายได้ชัดเจนแทบจะกู้ไม่ได้เลย ธนาคารเข้มงวดถึงขนาดนี้แล้ว และที่รัฐบาลไปส่งเสริม Start Up .ให้ออกจากงานประจำมาเปิดธุรกิจส่วนตัว กลุ่มนี้จะกู้ไม่ได้เลย เพราะไม่มีหลักฐานทางการเงินเพียงพอที่จะมากู้”

ส่วนในเรื่องของสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่มีมากขึ้น จนแบงก์ชาติกังวลนั้น นายอธิปกล่าวว่าต้องโทษแบงก์ที่แข่งกันปล่อยสินเชื่อเพราะแบงก์มีเป้าสินเชื่อ เมื่อสินเชื่อไม่ถึงเป้าก็มีการไปแย่งลูกค้าจากแบงก์อื่นโดยการขโมยสินเชื่อเพื่อนมา ซึ่งขณะนี้มีรีไฟแนนซ์และโบรกเกอร์เป็นจำนวนมาก “โบรกเกอร์จะมาแหย่ลูกค้าว่าถ้าย้ายมาจากแบงก์อื่น จะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยทำการรีไฟแนนซ์ ซึ่งสินเชื่อเหมือนเดิมแต่แค่เปลี่ยนสีแบงก์จากเหลืองมาเขียว เขียวมาชมพู ชมพูมาม่วง แต่ปริมาณสินเชื่อไม่ได้เพิ่มขึ้น ที่จริงการทำแบบนี้ทำขึ้นเพื่อสนองเป้าหมายสินเชื่อของแต่ละแบงก์ แต่ไม่ควรจะมาลงโทษกับผู้บริโภคเพราะผู้บริโภคไม่เกี่ยว ควรจะไปเล่นงานว่าเหตุใดมีบริษัทรีไฟแนนซ์โบรกเกอร์เกิดขึ้นได้อย่างไร อีกทั้งแบงก์ยังให้การสนับสนุนเพราะตัวเองอยากแย่งสินเชื่อจากคนอื่น รวมไปถึงการเข้มงวดเรื่องบัตรเครดิต ปัจจุบันที่มีปัญหา NPL มาจากบัตรเครดิต คือคนที่มีบ้านคงไม่มีคนไหนอยากเสียบ้านเพราะมีการผ่อนชำระมามากแล้ว บางคนผ่อนมา 20-30% แต่หนี้ที่เสียเกิดจากการยุให้ลูกค้าถือบัตรเครดิต 5-6 ใบ หรือบางคนมีเป็น 10 ใบ ซึ่งคนพวกนี้ยังไม่มีวินัยในการใช้บัตรเครดิต ทำให้มีการใช้จ่ายเกินกำลังผ่อนได้ พอถึงจุดหนึ่งก็เอาบัตรเครดิตนี้เบิกมาจ่ายอีกบัตรจนเป็นงูกินหาง สุดท้ายเป็นหนี้เสียและลามมาเป็นหนี้เสียของหนี้ประเภทอื่นด้วย ทำให้ควรป้องกันที่ต้นทาง ไม่ปล่อยให้มีบัตรเครดิตเกินกว่าความสามารถของลูกค้า อย่างบางคนทำงานใหม่ๆ เงินเดือนไม่เยอะแต่มีบัตรเครดิตแล้ว...

สำหรับการกระจายตัวของอสังหาริมทรัพย์ในเมืองกับต่างจังหวัดมีความแตกต่างกัน และเป็นอีกข้อกังวลว่าเป็นฟองสบู่หรือไม่นั้น ในต่างจังหวัดตอนนี้ภาวะของอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างชะลอตัว คนที่อยู่ในภาคสนามจะรู้ดีว่าแม้กระทั่งค้าปลีกก็ชะลอตัว เวลาดูเศรษฐกิจภูมิภาคจะดูไม่กี่ตัว ยอดขายรถจักรยานยนต์ ยอดขายรถปิกอัพ ยอดขายวัสดุก่อสร้าง ยอดขายค้าปลีก และยอดขายบ้าน ถ้าพวกนี้พร้อมใจไปในทางเดียวกัน คือชะลอตัว จะไปพูดให้ตายว่าเศรษฐกิจในต่างจังหวัดดีก็คงจะฝืน แต่กรุงเทพฯและปริมณฑลต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจแตกต่างจากภูมิภาค อยู่กันเหมือนคนละเศรษฐกิจ ในกรุงเทพฯและปริมณฑลยอดขายอสังหาริมทรัพย์ยังดีแต่ในต่างจังหวัดช้าลงมาก คำว่ายังดีอยู่ไม่ใช่ฟองสบู่ คือมีอยู่ 2 ตลาดเท่านั้น ตลาดส่วนกลางคือกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ไปเปรียบเทียบกับภูมิภาคที่มี 72 จังหวัด ปรากฎว่าตัวเลขในภูมิภาคสู้ตัวเลขในกรุงเทพฯและปริมณฑลไม่ได้”

อนึ่ง ในวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางแบงก์ชาติเชิญผู้ประกอบการอสังหาฯเข้าไปพูดคุยหารือ โดยทางผู้ประกอบการเสนอให้แบงก์ชาติมองภาพรวมให้ชัดเจนว่า

1. ถ้าจำเป็นจะต้องออกมาตรการจะต้องมีวิธีการผ่อนคลายผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และถ้ารัฐประกาศใช้มาตรการในวันที่ 1 มกราคม 2562 โดยทันที คนจะตั้งตัวกันไม่ติดและยังเป็นการช็อคตลาด ดังนั้น ควรจะมีระยะเวลาให้เตรียมตัวระยะหนึ่งเพื่อให้รับรู้ คนจะซื้อบ้านจะได้เตรียมตัวในการผ่อนมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนถอยหลังและไปตั้งหลักกันใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้มีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ตลาดทรุดลงทันที

2. ควรจะบังคับใช้มาตรการนี้กับผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่ 3 เพราะบ้านหลังที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นบ้านชานเมือง ส่วนคอนโดมิเนียมใกล้ที่ทำงาน ใกล้โรงเรียนถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ที่พักอาศัยในวันธรรมดาหรือส่งลูกไปเรียนหนังสือ ดีกว่าขับรถไปกลับวันละ 3 ชั่วโมงในการขับรถเข้ามาในเมือง

3. ที่สำคัญที่สุดคือควรจะดูตัวเลขบ้านจัดสรรว่ามีการไปเก็งกำไรจริงหรือไม่ เพราะบ้านจัดสรร 100% คือการซื้อเพื่ออยู่อาศัย ดังนั้น มาตรการนี้ไม่ควรบังคับใช้ในกรณีของการซื้อบ้านจัดสรร

4. กรณีคนต่างชาติเช่นคนจีนมาซื้อบ้าน หรือคอนโดมีเนียมในเมืองไทยนั้น ควรพิจารณาว่าทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่จริงหรือไม่ การกีดกันไม่ให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาฯถือว่าขัดกับนโยบาย รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีการเชิญให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนหรือไม่

“พวกหนึ่งเรียกเข้ามาอีกพวกหนึ่งผลักออกไป ต้องมาคุยกันแล้วว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาอยู่จะนำที่ดินหรือคอนโดมิเนียมใส่กระเป๋ากลับไปคงทำไม่ได้ นับว่าเป็นการนำเงินเข้าประเทศเพียงข้างเดียว จุดนี้ทำให้ภาคเอกชนสับสนตามไปด้วยว่าถ้าจะไม่ให้มีการขายคอนโดมิเนียมให้กับชาวต่างชาติก็ต้องส่งสัญญาณออกมาให้ชัดเจน ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้คนต่างชาติซื้อคอนโดมิเนียมได้ถึง 49% ของพื้นที่ขาย กรณีที่ชาวต่างชาติขายไปแล้วมีการพิสูจน์แล้วว่ามีการชำระเงินไปแล้ว อีกทั้งยังไม่ได้ขอสินเชื่อภายในประเทศ ทำให้นึกไม่ออกว่าจะมีข้อกังวลอะไร...

“สมมุติว่าถ้าแบงก์ชาติยังยืนยันว่าสิ่งที่เขามองยังเป็นแบบนั้น มีการต่อเวลาให้ แต่ในจังหวะนั้นเป็นจังหวะที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้มีการออกมาตรการจริง ทุกฝ่ายก็ต้องปรับตัว ผลกระทบที่ออกมาก็ต้องประเมินภายหลังว่ามีผลกระทบอะไรบ้าง ต้องดูว่าการกระทำนี้ส่งผลดีหรือไม่ดีต่อเศรษฐกิจไทย การ Over Protection ดี แต่ควรปกป้องในระดับปกติ อย่างเมืองไทยไม่มีหิมะแล้วไปสั่งซื้อยางสโนว์หรือโซ่มาคล้องยาง ต้องถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ วิธีการที่พูดมาทั้งหมดคิดว่าต้องการป้องกันต้นเหตุ แต่จุดนี้เป็นปลายเหตุ ต้นเหตุ คือโปรเจกต์ไฟแนนซ์ เหตุผลอะไรถึงปล่อยให้คนทำบ้านระดับราคาแพง ทำไมไม่ป้องกันให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ Developer Over Supply คือ ปล่อยให้เขาทำแล้วค่อยมาป้องกันว่าไม่ให้ไปซื้อ ของก็จะยังค้างอยู่ตรงนั้นและเงินก็กู้ไปแล้ว ซึ่งจะเป็น NPL โปรเจกต์ไฟแนนซ์ ถ้าป้องกันไม่ให้คนมาซื้อ NPL ฝั่งของผู้ซื้อไม่มีก็จริง แต่จะไปโผล่ใน NPL ใหญ่ที่โปรเจกต์ไฟแนนซ์แทน ควรจะไปป้องกันและบอกธนาคารว่าเริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าไม่ควรปล่อยสินค้าอะไร”

15 views
bottom of page