top of page
369286.jpg

ไทยไม่จำเป็นต้องขยับดอกเบี้ยตามเฟด

Interview: ดร. เชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

มั่นใจ...ไทยไม่จำเป็นขยับอัตราดอกเบี้ยตามเฟด เหตุดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังเกินดุลอยู่มาก อีกทั้งกระแสเงินนอกยังไหลเข้ามาไทย แม้จะไม่ปรับเพิ่มดอกเบี้ยก็ตาม เพราะต่างชาติมองไทยเป็นแหล่งพักเงินที่มั่นคงปลอดภัยที่สุดในภูมิภาคนี้ ส่งผลค่าเงินบาทแข็งแกร่งต่อเนื่อง แต่ถ้าสถานการณ์ของอาร์เจนตินา ตุรกี อินโดฯ อินเดีย ปรับตัวดีขึ้น กระแสเงินนอกที่มาพักในไทยจะลดลง แนะ...นักธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยอัปเดตสถานการณ์ที่มีผลกระทบให้ถี่ขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เรื่องเงินบาทที่แข็งค่าในลักษณะที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผล เรื่องสงครามการค้าโลกที่ส่งผลชัดเจนแล้วว่าทำให้การส่งออกไทยใน 2 เดือนที่ผ่านมาชะลอตัวลง แต่ที่สุดแล้วมั่นใจว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวในทิศทางที่เป็นบวกคือเกิน 4% ทั้งปีนี้และปีหน้า เพียงแต่เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะเป็นลักษณะกระจุกตัวในยอดปิรามิด ส่วนฐานรากยังลำบาก รอปีหน้าฐานรากอาจดีขึ้น

ทางธนาคารกลางสหรัฐ FOMC ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อปี และยังส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอีกในปีหน้า จับสัญญาณนี้อย่างไร

ตลาดมองไปที่รอบการประชุมวันที่ 18-19 ธันวาคม ให้โอกาสของการขึ้นดอกเบี้ย 70% แต่หลังการประชุมของเฟด เขาปรับโอกาสเพิ่มให้ไปที่ 78% ฉะนั้น จึงค่อนข้างแน่ว่าปลายปีนี้ดอกเบี้ยของเฟดจะขึ้นไปเกาะกลุ่มที่ 2.5% ส่วนปีหน้าเราดูถ้อยแถลงของเฟด ดูประมาณการของเขาที่ออกมา อย่างวันที่ประชุม 26 กันยายน เขาก็ชี้ชัดและยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีหน้า ฉะนั้นเราคาดว่าเขาจะขึ้นรอบมีนาคมและรอบมิถุนายน แล้วไปปิดกลางปี คาดการณ์กันว่าดอกเบี้ยของเฟดน่าจะไปที่ 3%

จากทิศทางเช่นนี้ คาดว่ากนง.ไทยจะมีท่าทีอย่างไร

สถานการณ์ของไทยอาจจะไม่เหมือนหลายประเทศที่จะขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด อย่างเราเห็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดียปรับขึ้นดอกเบี้ย คือเขามีฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล และจำเป็นต้องพึ่งเงินตราต่างประเทศ พอเฟดขึ้นดอกเบี้ย เขาก็ต้องขึ้นตาม ส่วนไทย ดุลบัญชีเดินสะพัดเรายังเกินดุลเยอะ และเราจะสังเกตได้จากสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม แต่นักลงทุนต่างชาติยังนำเงินเข้ามาในไทยโดยสุทธิเป็นบวก ตลาดตราสารหนี้ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมมามีการนำเงินเข้ามาเยอะมาก แม้ตลาดจะมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแน่ๆ ซึ่งก็ขึ้นไปแล้ววันที่ 26 กันยายน ฉะนั้น ยังมีเงินไหลเข้ามา เพราะเขามองว่าเราเป็นแหล่งพักเงินที่มั่นคงปลอดภัยในขณะที่บรรดาประเทศต่างๆ มีข่าวที่น่ากังวลกันทั้งเรื่องอาร์เจนตินา เรื่องตุรกี โดยในภูมิภาคนี้ฐานะการเงินของไทยจะแข็งแกร่งที่สุด ฉะนั้น แม้ว่าดอกเบี้ยเราจะไม่ขยับ เขาก็ยังไว้ใจเอาเงินมาไว้กับเรา จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งอย่างที่เราเห็นกัน

การที่ต่างชาตินำเงินมาพักที่ไทย จะเป็นปรากฎการณ์ระยะสั้นหรือระยะยาว

ในฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดยังไปอีกระยะหนึ่ง เรายังเกินดุลไปอีกช่วงยาวๆทีเดียว เพียงแต่ว่าขนาดของการเกินดุลมันจะค่อยๆน้อยลง ซึ่งประเด็นคงอยู่ที่ว่าความกังวลของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่ออาร์เจนตินา ต่อตุรกี หรือความกังวลในภูมิภาคนี้ในเรื่องปัญหาของอินโดนีเซีย อินเดีย จะคลายกังวลได้เมื่อไหร่ ถ้าเขาคลายความกังวล ความจำเป็นที่เขาจะเอาเงินมาฝากไทยก็จะลดน้อยลงไป

ส่วนอีกประเด็นที่ต้องติดตามคือการเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีผลกดดันเงินดอลลาร์บ้าง โดยเฉพาะตัวประธานาธิบดีหรือตัวแคนดิเดท เพราะช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมของสภาคองเกรส คิดว่าจังหวะนี้จะเห็นผลการเลือกตั้งออกมา จะเห็นคะแนนของ 2 พรรคใหญ่ ที่นั่งในสภาสูง สภาล่างของสหรัฐอเมริกา แล้วค่อยมาแยกกันอีกทีว่าดอลลาร์จะฟื้นหรือไม่ หลังจากนั้นก็ค่อยไปรอผลการประชุมของเฟดครั้งสุดท้ายของปีนี้ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 18-19 ธันวาคมที่เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้

สถานการณ์แบบนี้จะทำให้เรื่องของค่าเงินดอลลาร์ ทิศทางการไหลเข้า-ออกของเงินสู่ไทยยังไม่น่ากังวล

คือมันอาจจะยังมีอยู่ ส่วนตัวคิดอย่างนี้คือ คาดว่าจะต้องรอไปจนถึงผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ดูแล้วไม่มีประเด็นที่สร้างความไม่แน่นอนมากจนทำให้กังวลกันจนต้องเปลี่ยนคะแนน จนทำให้มีประเด็นคาดกันว่าจะมีการถอดถอนประธานาธิบดี สมมุติว่าสภาล่างของสหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยน สามารถรวบรวมคะแนนยื่นถอดถอนประธานาธิบดีได้ ตรงนี้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีประเด็นระดับขนาดนั้น แล้วผ่านพ้นเดือนพฤศจิกายนไป ตลาดก็มารอดูการยืนยันของเฟดในรอบการประชุมสุดท้ายว่าเฟดยังมีมุมมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจ และยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีหน้าเหมือนเคยที่ระบุมาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเฟดยังยืนยันอย่างนั้น ส่วนตัวคิดว่าดอลลาร์น่าจะทยอยมีแรงหนุนกลับมา

ของไทยเราเอง แรงกดดันเรื่องขึ้นดอกเบี้ยกนง.ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ ก็อาจจะเป็นในทางที่คงดอกเบี้ยไว้ก่อน

เราคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้ามากกว่า

นักธุรกิจไทย ต้องเตรียมรับมืออย่างไร

แยกออกเป็น 2 เรื่อง

เรื่องแรก คือเรื่องต้นทุนทางการเงิน เห็นได้ชัดว่าดอกเบี้ยเชื่อมโยงกับดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา อันนี้ก็อาจจะโยงมาที่หุ้นกู้ ซึ่งทยอยขยับผลตอบแทนขึ้นตามการคาดการณ์ของเฟดไปแล้ว และรวมไปถึงดอกเบี้ยธนบัตรระยะยาวของสหรัฐอเมริกาก็เริ่มปรับขึ้น ฉะนั้น ตรงนี้ก็จะเดินหน้าของมันไปโดยเฉพาะเมื่อเราคิดว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีหน้า เมื่อเป็นอย่างนั้นต้นทุนจะผูกโยงกับดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาและกระทบกับมาที่ตลาดเงินของไทย ผู้ประกอบการซึ่งเพิ่งระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ก็เห็นแล้วว่าต้นทุนจะค่อยๆขยับขึ้น ก็ต้องเตรียมที่จะรับมือในเรื่องนี้

เรื่องที่สองคือ เรื่องของค่าเงินบาท จะมีปัจจัยกระทบจากดอลลาร์ค่อนข้างเยอะ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องดอกเบี้ยของเฟด แต่เป็นเรื่องการเมืองเป็นหลัก และมีเรื่องความตึงเครียดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สอง เรื่องนี้จะมีจังหวะเวลาของมัน บางทีเรื่องข้อพิพาททางการค้าก็กดดันเรื่องดอลลาร์ เรื่องการเมืองของสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่จะกดดันดอลลาร์อยู่แล้ว ดังนั้น เราจะเห็นในลักษณะที่แม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย แต่เงินดอลลาร์ไม่ค่อยได้รับแรงหนุนมากนัก ขณะเดียวกันเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเพราะต่างประเทศกังวลเรื่องอื่นๆ แล้วเขาก็มาฝากเงินกับเรา

ฉะนั้น ประเด็นเหล่านี้จะทำให้ทิศทางค่าเงินบาทเคลื่อนในลักษณะที่มันแตกต่างไป คืออธิบายไม่ได้ด้วยผล ต่างกับอัตราดอกเบี้ยในภาวะปกติที่มันควรจะเป็น

กรอบของอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐอเมริกาจะห่างไปเรื่อยๆ จะมีผลกับเรื่องของค่าเงินบาทมากน้อยแค่ไหน

จะค่อยๆมีผล ไม่ได้มีผลในทันที คือตลาดต้องใช้เวลารับมือและมั่นใจว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทั้งในประเด็นเรื่องความกลัวในเรื่องการเมืองสหรัฐอเมริกา เรื่องข้อพิพาททางการค้ากับประเทศต่างๆที่สหรัฐอเมริกามี มันไม่ได้ยุติในเวลาอันสั้น ข่าวต่างๆตลาดทยอยรับรู้ แล้วก็ปรับมุมมองเป็นช่วงๆไป ฉะนั้น จึงคิดว่าสถานการณ์ต่างๆตอนนี้ทำให้การคาดการณ์อยู่ในกรอบที่สั้นลง ซึ่งการคาดการณ์ยาวๆ บอกได้ว่าในที่สุดอย่างไรมันต้องขึ้นอยู่กับผลต่างของดอกเบี้ย เรื่องเงิน แต่ว่าในระยะใกล้มันมีเรื่องอื่นเข้ามาแทรก และในเรื่องที่เข้ามาแทรกทำให้ผู้ประกอบการต้องอัปเดตสถานการณ์สัปดาห์ละครั้ง

กรอบของค่าเงินบาทไทย ควรอยู่ในช่วงไหน

ในระยะใกล้ อย่างช่วงนี้ หลังปิดตลาดวันศุกร์ต้นเดือนตุลาคมน่าจะอยู่ที่ 32.3 บาทต่อดอลลาร์ เราก็มองว่าระยะใกล้น่าจะไป 32.6 ยังค่อนข้างแข็งอยู่ ในที่สุดแล้วช่วงปลายปีดอลลาร์น่าจะได้รับแรงหนุนจากเรื่องของเฟด เราก็ยังคิดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแข็งแกร่งพอที่จะทำให้เฟด ยืนยันมุมมองเดิมของเขาเรื่องขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งอย่างน้อยในปีหน้า

จะกระทบกับการส่งออกของไทยมากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้ สิ่งที่ต้องติดตามคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปก็คาดว่าจะชะลอตัวนิดนึงในปีหน้า แล้วก็ข้อพิพาททางการค้าต่างๆทางสหรัฐระบุไว้แล้วว่า เป็นไปได้ที่จะบังคับใช้อีกชุดหนึ่ง คือตัว 2 แสนล้านดอลลาร์ใช้ไปแล้ว และยังมีอีก 2.67 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งทางทำเนียบขาวเคยขู่ไว้ ถ้ามีการบังคับใช้ช่วงปลายปีนี้หรือมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ก็จะทยอยกระทบเรามากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านตัวซัพพลายเชน ตรงนี้ผลกระทบเรื่องการส่งออกน่าจะเห็นมากขึ้นตามลำดับ

ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าการส่งออกของไทยตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกากับจีนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามันชะลอลง เราก็คิดว่าตรงนั้นเป็นเครื่องชี้ว่ามาจากผลของข้อพิพาททางการค้าระดับหนึ่ง

เศรษฐกิจไทยใน 3 เดือนหลังของปี 2561 จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่

เราเพิ่งปรับประมาณการขึ้น แต่เดิมศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการจีดีพีไว้ที่ 4.5 และปรับขึ้นมาเป็น 4.6 ซึ่งเป็นเพราะครึ่งปีแรกของปีจีดีพีไปที่ 4.8 ทีนี้เรามองครึ่งหลัง ว่าโมเมนตั้มอาจจะยังดีอยู่ คือหมายความว่าเกิน 4% เราตีความว่าค่อนข้างดี ซึ่งครึ่งหลังเรามองที่ 4.4% ฉะนั้น เฉลี่ยทั้งปีคือ 4.6% ก็ยังถือว่าเป็นโมเมนตั้มที่ค่อนข้างดี และธนาคารแห่งประเทศไทยหลังการประชุมกนง.เมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมาเขาก็มองจีดีพีปีหน้าอยู่ที่ 4.2% ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ใช้ได้ เพราะยังเกินกว่าร้อยละ 4

เรื่องอัตราการทำกำไรของบริษัท โดยทั่วไปเป็นอย่างไร

โครงสร้างที่ผลักดันเศรษฐกิจปีหน้ากับปีนี้อาจจะเปลี่ยนบ้าง อย่างปีนี้มาจากภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะครึ่งปีแรกตัวส่งออกดีมากและตัวท่องเที่ยวก็ดีมาก ครึ่งหลังทั้งส่งออกและท่องเที่ยวเริ่มชะลอลงอย่างที่เราทราบกัน ส่วนปีหน้าส่งออกน่าจะชะลอลงบ้างจากเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลง เรื่องผลกระทบข้อพิพาททางการค้าที่จะเห็นมากขึ้น

สำหรับประเด็นที่จะเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจไทยน่าจะเป็นการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศ โดยคาดว่าภาครัฐน่าจะเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนเอกชน เรามีเลือกตั้งทั่วไป คิดว่าความมั่นคงทางภาคเอกชนในการตัดสินใจเรื่องการลงทุนน่าจะดีขึ้น และเราน่าจะมีส่วนการลงทุนของภาคเอกชนไทยเข้ามาช่วยทดแทนในส่วนที่ชะลอลงจากภาคต่างประเทศ แต่โดยรวมเราก็มองเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่าน่าจะยังเกิน 4%

ความเชื่อมั่นภาคการบริโภค มากน้อยแค่ไหน

ประเด็นที่คุยกันเยอะคือเศรษฐกิจไทยปีนี้ดี แต่ว่าดีค่อนข้างกระจุก ฐานรากอาจจะไม่ดีเท่าไหร่ ประเด็นเรื่องฐานราก เราคิดว่ารัฐบาลมีมาตรการออกมาแล้วในเรื่องช่วยผู้มีรายได้น้อย มาตรการที่ช่วยภาคการเกษตร มาตรการเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาที่จะมีผล และเราคิดว่าปีหน้ารายได้ในระดับฐานรากน่าจะดีขึ้นจากมาตรการต่างๆที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว ดังนั้น ส่วนที่เป็นฐานรากน่าจะค่อยๆขยับขึ้น คืออย่างน้อยไม่ได้แย่ไปกว่าที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา

แบงก์ชาติออกมาพูดเรื่องฟองสบู่ โดยเฉพาะปัญหาการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นสัญญาณอะไรหรือไม่

เป็นข้อกังวลเรื่องเสถียรภาพที่ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุมาเรื่อยๆ และเราก็เห็นในข่าวแล้วว่า เขาอาจจะมีมาตรการออกมาเฉพาะภาค หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือการปล่อยสินเชื่อให้มีความรัดกุมมากขึ้น ดังนั้น อาจจะมีผลกระทบสำหรับธุรกิจเป็นกรณีๆไป แต่เราไม่ได้มองตรงนี้เป็นผลกระทบในวงกว้างเศรษฐกิจ เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์เองนั้น เราคิดว่าภาพรวมกับการก่อหนี้โดยรวมยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และเรามองว่ามันไม่ได้เป็นประเด็นทั้งหมด มันอาจจะเป็นกรณีๆไป และมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยเรามองในเชิงบวกว่าน่าจะทำให้ระบบธุรกิจต่างๆมีความแข็งแกร่งมากขึ้น จึงได้นำมาตรการในเชิงคุณภาพออกมาใช้เลย คิดว่าความเสี่ยงจะลดลงในระยะถัดไป

ดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาที่แซงหน้าไทยขึ้นไป จะมีผลต่อภาคธุรกิจไทยหรือไม่ เช่นทำให้สถาบันการเงินไม่อยากจะปล่อยกู้ เพราะต้นทุนไม่ค่อยสอดรับความเป็นไปในโลก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้นโยบายดึงภาคเอกชนมาตู่สู้กับค่าเงินบาทด้วยการบอกให้ไปลงทุนในต่างประเทศ มองว่ากลไกเช่นนี้ผิดเพี้ยนไปหรือไม่

เรื่องแรกคือดอกเบี้ยไทยในระบบ ดอกเบี้ยเงินกู้ระบบการเงินไทยอาศัยสภาพคล่องในประเทศไทยเป็นหลัก แบงก์เองก็ปล่อยสินเชื่อจากการระดมเงินฝาก ไม่เหมือนกับช่วงปี 2540 ซึ่งรอบนั้นสินเชื่อของแบงก์มาจากเงินกู้ต่างประเทศ รอบนี้ต่อให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแล้วเงินไหลออกก็ยังไม่กระทบสภาพคล่องหลักที่แบงก์ใช้ในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งแบงก์มีเงินออมในประเทศ มีสภาพคล่องในระดับที่สูงอยู่ คิดว่ายังไม่กระทบอะไรกับการดำเนินธุรกิจ หรือทิศทางการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เพราะต้นทุนทางการเงินของไทยมาจากเงินออมในประเทศ ไม่ได้มาจากต่างประเทศ แต่ว่าในระยะยาว สภาพคล่องในประเทศที่เยอะอยู่ก็จะทยอยลดลงเพราะว่าเมื่อเศรษฐกิจปกติ การนำเข้าสินค้าต่างๆก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นแล้วว่าการนำเข้าขยายตัวขึ้น พอธุรกิจไปได้ ประชาชนเริ่มบริโภค การนำเข้าที่เยอะขึ้นก็จะไปค่อยๆลดการเกินดุลการค้าของเราลง ตรงนี้เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า มากกว่าที่จะเกิดในช่วง 1 ปีข้างหน้า

การนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ คิดว่ายังควรทำต่อ

ควร คือไม่ใช่เหตุผลเรื่องของค่าเงิน เศรษฐกิจไทยเราทราบกันดีว่าโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากร ซึ่งประชากรสูงอายุเริ่มเยอะขึ้น ฉะนั้น กำลังซื้อในประเทศ ถูกกำหนดโดยลักษณะของประชากร ตลาดเติบโตในประเทศในอัตราที่ช้าลง แต่เมื่อดูตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเก็บก็จะเห็นว่าสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตน้อยมาก บางเดือนติดลบ แต่จะดีในกลุ่มยานยนต์ เราจะเห็นภาวะแบบนี้ ฉะนั้น กำลังซื้อในประเทศโตค่อนข้างจำกัด ซึ่งความสามารถในการจัดการบริหารและการวางแผนธุรกิจรองรับได้ ส่วนตัวคิดว่าโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ และประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีอัตราการขยายตัวที่ดี และมีประชากรที่อ่อนวัยกว่า คือยังต้องการจับจ่ายใช้สอยอยู่ ดังนั้น ก็ควรไปหาตลาดตรงนั้นดู มันเป็นเรื่องโครงสร้างตลาด

27 views
bottom of page