top of page
312345.jpg

กอดหุ้นไว้...ห้ามทิ้งช่วงนี้ เลือกตั้งแค่น้ำจิ้ม


โดย คุณณัฏฐะ มหัทธนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ทหารไทย (TMBAM)

นักวิเคราะห์หุ้นมือฉมัง “ณัฏฐะ มหัทธนา” แนะนักลงทุนในหุ้นอ่านเกมหุ้นให้ขาดทะลุปรุโปร่ง อย่าพลาดโอกาสทองของหุ้นรอบขาขึ้น แถมยังอยู่ในช่วงแรกๆ ของรอบขาขึ้นซะด้วย มองการเลือกตั้งกับปัจจัยการเมืองไทยเหมือนน้ำจิ้ม ไม่สำคัญเท่าปัจจัยหลักอย่างเศรษฐกิจมหภาคกับเศรษฐกิจโลก

เวลาที่เหลือของปี 2561 นี้งวดเข้ามาทุกทีๆ ขณะที่มีเรื่องต่างๆมากมายที่ดูเหมือนเป็นความเป็นความตายเลยสำหรับนักลงทุน คุณณัฏฐะ มองอย่างไร

เรื่องต่างๆหลายเรื่องมองดูแล้วมันใหญ่เหมือนจะเป็นความเป็นความตายเลย แต่ความจริงแล้ว ในเวลาที่กำลังเกิดขึ้น เราจะรู้สึกว่ามันใหญ่เหมือนจะเป็นจะตายทุกครั้งเลย แต่ผมอยากไล่ย้อนไปในช่วงเวลาที่เทียบเคียงกัน เช่น S&P500 ของสหรัฐเองอยู่ในช่วงขาขึ้น All Time High ถือว่าเป็นขาขึ้นมาอย่างยาวนาน เกิน 9 ปีครึ่ง ก็ถือว่ายาวนานมากที่สุดของประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐเลยทีเดียว เพราะไม่เคยมีรอบขาขึ้นรอบไหนที่ยาวได้เท่ารอบนี้ ... ขาขึ้น ก็คือ ไม่มีสะดุดด้วยขาลงเลย

ขาลง/ตลาดหมี จะนิยามด้วยการลงของหุ้นเกิน 20% ...แต่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับลงราวๆ 10% ไม่เกิน 20% หรือที่เรียกว่า คอลเล็คชั่นปรับฐาน 5 ครั้งด้วยกัน แล้วครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี 2011 ถือว่าเป็นปีที่ 3 ของการขึ้นรอบนี้ที่ยาวนาน 9 ปีกว่า เพราะว่าตลาดหุ้นสหรัฐถือว่าผ่านจุดต่ำสุด 9 มีนาคม 2009 นั่นเป็นปีที่ 1 ปี 2010 เป็นปีที่ 2 ปี 2011 เป็นปีที่ 3 ซึ่งเป็นการปรับฐานครั้งที่ 2 ในรอบขาขึ้นทั้งหมดของการปรับฐานทั้งหมด 5 ครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุดคือ 19% กว่า

ในปี 2011 นั้นเองลองย้อนไป จับความรู้สึกกันดู ... ในปี 2011 นั้นเราเผชิญกับสึนามิ ญี่ปุ่น แผ่นดินไหวรุนแรงมาก แล้วก็มีเรื่องปัจจัยภายนอกสหรัฐ คือวิกฤตหนี้ยูโรโซน ที่ปะทุขึ้นมารอบใหญ่ๆในปี 2011

ดังนั้น เรื่องที่ทำให้หุ้นสหรัฐลงไปถึง 19% กว่า ก็คือเรื่องที่ดูเหมือนรุนแรงตอนนั้น รุนแรงขนาดไหน ตอนนั้น สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเอสแอนด์พี ได้หั่นอันดับเครดิตของสหรัฐ จาก AAA เหลือ AAA- เพราะตอนนั้นมีประเด็นเรื่องรีพับลิกันกับเดโมแครตงัดข้อกัน ยื้อกันเรื่องของจัดงบประมาณ จนกระทั่งเลยเส้นตาย จนเกิดเพดานหนี้ การลดแค่อันดับหนึ่งคือเติมเครื่องหมายลบ( -) ไปเท่านั้น แต่ทำให้นักลงทุนในตลาดตื่นตระหนกกันมากๆ แล้วก็เทขายหุ้น จนกระทั่งวันนั้นเอง ถ้านับจากจุดยอดคือลงไปราว 20% ซึ่งถ้านับตอนนั้นเท่ากับตลาดกระทิงจบไปแล้ว แต่ก็มีกระเตื้องขึ้นมานิดหนึ่ง ทำให้ลบไปไม่ถึง 20% ไม่ถึงจุดยอดเลยรอดพ้นมาได้

ตรงนี้ ผมอยากชี้ให้คิดนิดหนึ่ง ว่าสถานการณ์ตอนนั้นมันรุนแรงจริงหรือเปล่า? ซึ่งมันรุนแรงที่สุดใน 5 ครั้งที่ปรับฐานเลย ทั้งที่ครั้งอื่นๆลงแรงกว่า เช่นปี 2015-2016 ที่มีปัญหากับจีน ดูแล้วร่อแร่ๆ มีเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง ส่งผลต่อไฮยิลด์ของบริษัทน้ำมัน ปี 2015-2016 สถานการณ์แย่กว่าอีก แต่ตลาดหุ้นกลับปรับลงไม่เท่าปี 2011

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ปี 2011 ตอนนั้นเพิ่งผ่านพ้นจากภาวะวิกฤตปี 2008 ทีนี้เราพูดเพราะ 15 กันยา 2008 เลห์แมนบราเธอร์สยื่นล้มละลาย ล่มสลาย ปีนี้ครบ 10 ปีพอดี แล้วหุ้นก็ไปบอตทอม ตอนมีนาคม 2009 ดังนั้น ปี 2011 ที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤต 2008 มาแค่ 2-3 ปี เท่านั้นเอง แผลยังไม่แห้งดีเลย ยังมีความทรงจำเลยคิดว่าหากมีความเสี่ยงหนีได้ให้หนีออกมาก่อน ความเสี่ยง เราไม่เคยมีช่วงเวลาไหนเลยที่เราไม่เผชิญความเสี่ยง คนที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายมา 2-3 ปี ซึ่งเป็นจังหวะที่ ปี 2001 เพิ่มขึ้นจากปี 2008 ทำให้คนมีกำไรกันส่วนหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อเกิดว่าจะต้องเจอความเสี่ยงจึงขายเอากำไรกันออกมาก่อน เพราะไม่อยากเจ็บแบบปี 2008 อีก ก็ขายง่ายๆ ดังนั้น การปรับฐานที่รุนแรงที่สุดในปีที่ 3 ของรอบขาขึ้นจึงเป็นไปได้ และเป็นไปแล้ว

ทีนี้เรามาดู ณ ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นไทยเอง หรือว่าตลาดหุ้นใหญ่ต่างประเทศ และตลาดเกิดใหม่ ผมมองว่าเป็นโอกาสของรอบขาขึ้น เป็นช่วงแรกๆของรอบขาขึ้น

รอบขาขึ้นของตลาดเกิดใหม่เริ่มเมื่อไหร่ รู้ไหมครับ ... มกราคม 2016 นั่นคือปีที่ 1 ...ปี 2017 เป็นปีที่ 2 และปี 2018 ก็เป็นปีที่ 3 ไงครับ

ในปี 2018 นี้เราเจอกับอะไร ... เฟดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งความจริงเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ธันวาคม 2015 ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ธันวาคม 2016 และ 2017 ขึ้นอีก 3 ครั้ง รวมเป็น 5 ครั้งแล้วนะครับ มาปี 2018 ขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง นับได้เป็น 7 ครั้ง และกำลังจะขึ้นอีกในไม่กี่วันข้างหน้า เป็นครั้งที่ 8 แล้วหุ้นค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ก็เพิ่งมาร่วงหนักๆในปีนี้ ความจริงแล้วมันเป็นเรื่องของเฟดหรือเปล่าครับ

ถ้าเราจำกันได้ ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากๆ ตั้งแต่ปี 2013-2014-2015 และขี้นไปพีค 35-36 บาทต่อดอลลาร์ในปลายปี 2015 ด้วยซ้ำ จากนั้นมาถึงปัจจุบันค่าเงินบาทก็อยู่ในระดับไม่ได้ใกล้เคียงกับตอนนั้นเลย แปลว่าอะไร แปลว่าดอลลาร์แข็งค่า เป็นเหตุให้มีการเทขายในตลาดเกิดใหม่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงในช่วงปี 2013-2015 เท่านั้นเอง หลังจากนั้นดอลลาร์เป็นขาลง ในปี 2018 นี้ เงินดอลลาร์มีการรีบาวด์ขึ้นมาแต่มันเป็นเพราะปัจจัยอื่นด้วยซ้ำ มันคือการร่วงลงของเงินยูโร การร่วงลงของเงินปอนด์ เพราะว่าตลาดปรับการคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป อีซีบี ธนาคารกลางอังกฤษ อาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่เร็วอย่างที่เคยคาดไว้ ที่เคยมีมุมมองเชิงบวกมากในปีที่แล้ว ก็เป็นการปรับฐานเท่านั้นเอง เงินดอลลาร์ก็จะตื้อๆตันๆ ในเดือนสองเดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเงินบาท เงินบาทก็เริ่มจะแข็งค่าขึ้นมาบ้างแล้ว

ดังนั้น ในปีที่ 3 มีเรื่องราวของการขึ้นดอกเบี้ย ...ความจริงเฟดก็ขึ้นมาตั้งหลายครั้งแล้ว มันก็ดูจะรุนแรงขึ้น ดูเป็นเรื่องราวใหญ่โตจะเป็นจะตาย แล้วเรื่องราวของสงครามการค้าก็เข้ามาในปีนี้

แต่ที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไปหลายครั้งในหลายที่นะครับว่าทำไมทรัมป์จะทำสงครามการค้าในปีนี้ ทั้งที่เขาชูประเด็นนี้มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง พฤศจิกายน 2016 แล้ว ปีที่แล้วไม่ทำ มาทำปีนี้ ก็เพราะว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2018 จะมีการเลือกตั้งกลางเทอม เป็นการเลือก ส.ส.ทั้งสภาเลย 435 ที่นั่ง แล้วก็เลือก ส.ว. 35 ที่นั่งจากทั้งหมด 100 ผู้ว่าการรัฐ 36 รัฐ แล้วก็สมาชิกสภาท้องถิ่นอีกเยอะแยะเลย ก็เชื่อมโยงมาว่าทำไมถึงต้องทำสงครามการค้าในปีนี้ เพราะว่ามันเป็นธีมในการหาเสียงไงครับ

เพราะเศรษฐกิจสหรัฐเองก็พึ่งพาภายในประเทศตั้ง 70% ถามว่าการทำแล้วดุลการค้าของเขาดีขึ้นหรือเปล่า ลองไปดูตัวเลขก็ได้นะครับที่ผ่านมา เรียกว่าจีนก็ยังเกินดุลการค้าของเขากับอเมริกา ยังส่งออกมาอเมริกาได้มากอยู่เลย เพราะว่าอะไร มันแก้ไม่ได้หรอกครับด้วยการตั้งกำแพงภาษี เพราะว่าการตั้งกำแพงภาษีไปแต่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมันร้อนแรงไงครับ แล้วก็กำลังผลิตของเขาก็ใกล้เต็มแล้ว

ดังนั้น ความต้องการสินค้า กำลังการผลิตมันเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจมันร้อนแรง แล้วเขายังไปลดภาษีอีก ปีนี้เศรษฐกิจดีมากนะครับ ยังไงความต้องการมันเยอะเนี่ย ของแพงขึ้นเขาก็ซื้อ ไม่ซื้อจากจีนเขาก็ไปซื้อจากที่อื่น เพราะฉะนั้นเรื่องของดุลการค้าก็ช่วยไม่ค่อยได้

แล้วที่สำคัญคือพอทำเรื่องนี้ไปก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นมาในปีนี้ พอดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่า มันไม่ได้ช่วยส่งออกอะไรให้เขาได้มากมาย มันก็ไปลดทอนอะไรที่เขาตั้งใจจะทำ มันไม่ได้อะไรหรอกครับ นักเศรษฐศาสตร์เขาก็รู้ แม้แต่รัฐบาลสหรัฐเอง ทรัมป์เองลึกๆ แล้วเขาจะไม่รู้เลยเชียวหรือ.... แต่ว่าเรื่องนี้เอง เป็นเรื่องที่เขาใช้ในการหาเสียง แล้วก็เรียกคะแนนเสียงได้ค่อนข้างดี ...

แต่ระยะหลังๆก็เริ่มมีเสียงจากการวิจัย การวิเคราะห์ ออกมาเหมือนกันว่า เออมันจะกลับไปทิ่มแทงตัวเองหรือเปล่า เพราะว่าการตั้งกำแพงภาษี 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แล้วจีนก็ตอบโต้ด้วยปริมาณที่เท่ากัน ที่ทำไปแล้ว ปรากฏว่าก็ยังไม่กระทบกับสินค้าที่คนสหรัฐจะซื้อโดยตรงเท่าไหร่ คนที่ต้องกลืนเลือด คนที่เดือดร้อนเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ผลิตต่างๆที่ต้องซื้อเหล็กแพง ต้องซื้อวัตถุดิบแพง คือรอบกีดกันด้วยภาษี 5 หมื่นล้านนี้ กระทบแค่เจ้าของธุรกิจ ซึ่งเจ้าของธุรกิจก็แค่ วันแมน วันโหวต คนเดียว ทรัมป์ก็ไม่แคร์ แต่ส่วน 2 แสนล้านจะเห็นว่าทำไมทรัมป์ต้องยื้อยุดฉุดกระชากเป็นหนังแขก เต้นไปเต้นมา ไม่ทำสักที แล้วก็สลับกับการบอกว่าจะเจรจากันนะ เพราะส่วน 2 แสนล้านนี้แยกลำบากว่าจะไม่ให้กระทบผู้บริโภค จะเห็นครับว่าตั้งแต่ไม้เซลฟี่ที่ต้องซื้อแพงขึ้น ไม่นับสินค้าอื่นๆ เพราะฉะนั้นมันมีผลดีกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในโค้งสุดท้ายเดือนพฤศจิกายน เป็นการขู่ไปขู่มา ขณะที่ทรัมป์คุยกับอีกวงหนึ่งคือแคนาดา กับเม็กซิโก ก็บอกว่า เดี๋ยวค่อยไปคุยกันเรื่องนาฟต้า ไว้ค่อยไปเซ็นไปจบอะไรกันหลังเลือกตั้งแล้วกัน แม้แต่จีนเองเขาก็เข้าใจ เขาก็บอกว่า ตอนนี้คุยกับคุณ คุณพูดไม่รู้เรื่องหรอก เอาไว้ไปคุยหลังเลือกตั้งแล้วกัน

ดังนั้น ทุกคนก็เข้าใจนะครับว่านี่เป็นเกมการเมืองใช้สำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งความจริงผลโพลล่าสุด เลือกตั้ง ส.ส ดูเหมือนรีพับลิกันจะเพลี่ยงพล้ำ จากที่เขามีทั้ง 2 สภา ทั้งสภาบน สภาล่าง แต่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนเดโมแครตจะมานะ สภาล่าง ส.ส. น่าจะได้เกินครึ่ง ส่วนสภาบน เชื่อว่าน่าจะเป็นของรีพับลิกัน ประธานาธิบดีก็เป็นทรัมป์คนเดิม

คุณณัฏฐะ จะบอกว่าบางทีนักลงทุนกำลังมองเรื่องต่างๆ ร้ายมากไป

ผมตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเทียบเคียงกับตลาดหุ้นสหรัฐในปี 2011 ในการปรับฐานครั้งใหญ่ของรอบขาขึ้นนะครับ เพราะว่าตอนนั้นคนเพิ่งผ่านพ้นความเจ็บปวดจากปี 2008 มาแค่ 3 ปี จากนั้นมาอีก 3 ปี หุ้นมีการปรับขึ้น ทำให้มีกำรี้กำไรกันพอสมควร ในปี 2011 ก็เลยเทขายกัน

ผมเปรียบกับตลาดเกิดใหม่ในปี 2018 ที่มีการปรับฐานแรงในปีที่ 3 ของรอบขาขึ้นเช่นเดียวกัน คือเริ่มตั้งแต่ มกราคม 2016 นั่นคือจุดเริ่มขาขึ้น มาตอนนี้ก็เทขายกันง่ายๆด้วยเรื่องของเฟดขึ้นดอกเบี้ย และเป็นความกังวลมากขึ้นในปีนี้ เรื่องของสงครามการค้าที่ดูแล้วเป็นเรื่องเป็นราวเหลือเกิน แต่ว่าผมก็ตั้งคำถามว่ามันน่าจะเป็นแค่เกมการเมืองหรือไม่ เพราะประโยชน์ต่อสหรัฐเองก็ค่อนข้างน้อย ทีนี้ก็เชื่อมโยงกับการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ 6 พฤศจิกายนนี้ ที่น่าจะเป็นแรงจูงใจการหาเสียงให้เข้มข้นขึ้น

ทีนี้มาถึงมุมมองว่าเรามองอย่างไร ในเมื่อเดโมแครต พรรคฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์น่าจะกลับมาได้สัก 1 ใน 3

ผมยังเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐก็น่าจะยังดีอยู่ ด้วยกฎหมายภาษีที่เขาลดไปแล้ว แล้วก็ทำอะไรหลายๆ อย่างไปแล้ว การจะมาแก้กฎหมายมันไม่ได้จะแก้กันง่ายๆ โดยเฉพาะกฎหมายที่ผ่านสภามาเวลาจะแก้ก็ต้องผ่านสภาไปด้วย ถ้าเดโมแครตได้มาสภาเดียวคือสภาผู้แทน ก็จะติดที่สภาสูงอยู่ดี หรือไม่ก็ติดที่ประธานาธิบดีใช้สิทธิ์วีโต้อยู่ดี

ทีนี้ มุมมองนักวิเคราะห์ นักลงทุนระดับโลกเริ่มชี้แล้วว่า ในปี 2020 หรือ 2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจอเมริกาน่าจะกลับทาง ซึ่งสอดคล้องกับเรา /TMBAM ที่มีมุมมองว่าใน 2 ปีข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งใหญ่เลย คือเลือกประธานาธิบดีครั้งใหม่ ถ้าโมเมนตั้มมันดูเหมือนว่ามีความเป็นได้มากขึ้นที่เดโมแครตจะกลับมากวาดที่นั่ง เพราะว่า รอบ 2016 รีพับลิกันก็กวาดหมดทั้งสภาบนและล่าง เป็นแบบนั้นคนก็จะหันกลับมาถามว่า กฎหมายลดภาษีจะกลับมามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะว่าเดโมแครตจะชูประเด็นขยายสวัสดิการให้ครอบคลุมจึงจำเป็นต้องใช้เงิน ดังนั้น ภาษีที่ลดไปเขาจะต้องปรับขึ้นมาเป็นบางรายการหรือไม่ นี่คือคำถามในใจนักลงทุนที่จะเกิดขึ้นใน 2 ปีข้างหน้า แต่ถามล่วงหน้าไว้แล้ว ณ ตอนนี้

มีคนจำนวนมากที่ออกมาบอกว่าวิกฤตขาลงน่าจะเกิดใน 2 ปีข้างหน้า เมื่อเป็นแบบนี้ทำอย่างไร…

เมื่อเป็นแบบนี้ในขณะที่เศรษฐกิจระยะสั้นยังดีอยู่ เฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อยู่...การปรับขึ้นดอกเบี้ยทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น แต่ว่าความไม่แน่นอนระยะยาวนี่จะไปกดดอกเบี้ยระยะยาวให้ปรับตัวลง ถ้ามันเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนสหรัฐ หรือ Yield curve นี่เป็นลักษณะของดอกเบี้ยสั้นสูงกว่าดอกเบี้ยยาว ซึ่งในทุกครั้งที่เป็นแบบนี้มันจะเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย แล้วพอคนเชื่อแบบนี้ก็จะไปซื้อพันธบัตรดอกเบี้ยยาว กดดอกเบี้ยยาวลงไปอีก แล้วสัญญาณก็จะชัดขึ้นไปอีก วิกฤตมันจะเกิดขึ้นได้เอง โดยที่อาจไม่มีอะไรก็ได้ แต่มันวิกฤตจากที่คนมีความเชื่อมั่นลดลง จากที่เดิมมีความเชื่อมั่นสูงมากนะครับ เศรษฐกิจมันก็จะชะลอลงไปเอง มันจะเป็นแบบย้อนกลับแบบนั้น

เพราะฉะนั้น เราจะวางโพสิชั่นการลงทุนอย่างไร

ผมเชื่อว่าในเดือนสองเดือนข้างหน้าจะมีความไม่แน่นอนสูง น่าจะมีการปรับมุมมองเศรษฐกิจระยะยาวสหรัฐ ดังนั้น ผมคิดว่าทองน่าสนใจ แต่ทองน่าจะเป็นตัวที่ใช้กระจายความเสี่ยงนะครับ อย่าไปหวังผลตอบแทนอะไรเป็นกอบเป็นกำจากทองนะครับ เพราะว่าทองไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีปันผล แค่ใช้กระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนเท่านั้นเอง

ส่วนกองทุนที่เน้นพันธบัตรของสหรัฐ คือ TMB Global Bond, TMB Global Income น่าจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี รวมถึงสินทรัพย์ที่จ่ายปันผลอย่างเช่น พวกพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ ในเมื่อยิลด์พันธบัตรอาจจะลงได้มากกว่าขึ้น เพราะฉะนั้นก็น่าสนใจ TMB Property Income Plus ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของกองอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในพอร์ต

กลางเดือนกันยายน บอนด์ 10 ปีของอเมริกากลับมาที่ระดับ 3% อีกครั้ง มองว่าส่งสัญญาณอะไร เพราะเมื่อแถวๆ เดือนพฤษภาที่ขึ้นมาเหนือ 3% ซึ่งตอนนั้นเกิดความวิตกมาก หุ้นก็ตก

รอบนี้ตลาดไม่ค่อยตกอกตกใจมาก เพราะไม่ใช่แค่ยิลด์ของพันธบัตรสหรัฐที่ขึ้นมา เราเห็นว่าเมื่อวันก่อน อีซีบี ก็ส่งสัญญาณว่าเขาก็ค่อนข้างพอใจนะ ตัวเงินเฟ้อก็ค่อยๆทยอยขึ้นไป เรียกว่ามีมุมมองที่ดี ตลาดเริ่มเชื่อมั่นมากขึ้น เดี๋ยวสิ้นปีก็จะหยุดคิวอี แล้วก็ดอกเบี้ยฤดูร้อนหน้าหรือไตรมาส 3 ปีหน้าก็น่าจะขึ้นได้ นั่นคือมุมมองที่ดีขึ้น เราเห็นแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. หรือการขึ้นดอกเบี้ยในหลายประเทศ เช่นรัสเซีย อังกฤษ หรืออื่นๆ

ดังนั้น การขึ้นผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีกว่า 3% รอบนี้จึงไม่ทำให้คนตกใจ และไม่ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่กลับอ่อนค่าลงด้วยซ้ำ เพราะโลกของการเปรียบเทียบไม่ได้มีแค่ของสหรัฐเท่านั้นที่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ เมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับดอกเบี้ยสหรัฐจะน้อยลง และทำให้เงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่ามาก ก็ไม่ได้เป็นความกังวลกับตลาดเกิดใหม่

ส่วนที่กล่าวว่า ให้ลงทุนบริหารความเสี่ยง เช่นทองคำ ไม่ได้หมายความว่าจะให้ไปลงตรงนั้นทั้งหมด แค่ใช้เป็นตัวกระจายความเสี่ยง เพราะไม่ได้อยากให้ทิ้งหุ้นในช่วงเวลานี้ อยากให้คงการลงทุนในหุ้นไว้ แม้ว่าจะมีความเสี่ยง เราแค่เติมสินทรัพย์อื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงเข้าไปเท่านั้นเอง

การให้คงลงทุนในหุ้นไว้ แปลว่ายังมั่นใจในหุ้นขาขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ใช่หรือไม่

ครับ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ สิ้นปีนี้เราเชื่อมานานหลายเดือนแล้วว่าจะมีสิ่งที่เกิดขึ้น 2 อย่าง หนึ่งคือสงครามการค้าคลี่คลาย สองคือการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ประกาศมาสองเดือนก่อน เวลากระตุ้นเศรษฐกิจโดยคลายเรื่องของการคลัง มันจะมีผลช้าไปสัก 3-6 เดือนหลังจากที่ประกาศไป ดังนั้น การประกาศเมื่อ 2 เดือนก่อนก็จะไปมีผลต่อเศรษฐกิจจีนซึ่งตอนนี้ก็มีการชะลอลงบ้างตามธรรมดาของจีน ซึ่งมันน่าจะดีขึ้น ฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงสิ้นปี เมื่อสงครามการค้าเบาลงในช่วงปลายปีหลังเลือกตั้งอเมริกาตามที่เราตั้งสมมติฐาน เศรษฐกิจจีนก็ดีขึ้นในปลายปี เศรษฐกิจโลกก็จะดูดีขึ้น มันมี 2 แรงบวกเข้ามา เชื่อว่าหุ้นที่ถูกกระทบมาหนักๆ โดยเฉพาะในตลาดที่โดนหนักๆ ในเรื่องเฟด เรื่องทรัมป์ ในตลาดเกิดใหม่ หรือแม้แต่หุ้นไทยเองก็มีโอกาสฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี อาจมีเซอร์ไพรส์ให้กับนักลงทุนแบบดีๆก็ได้

2 แรงบวกนี้จะทำให้หุ้นไทยขึ้นไปได้ระดับ ดัชนี 2,000 อย่างที่คุณณัฏฐะเคยพูดไว้หรือไม่

ผมเคยพูดไว้ที่ 2,000 แม้เวลามันเหลือน้อยลงในปีนี้ และมีโอกาสที่ยากขึ้นก็จริง แต่ว่ามันยังมีความเป็นไปได้ แล้วปัจจัยนี้ก็เป็นปัจจัยที่ค่อนข้างแรงนะครับกับสงครามการค้าที่สมมติมันคลี่คลายลงจริง และเศรษฐกิจจีนดีสร้างบรรยากาศที่ดีและเป็นพื้นฐานต่อเศรษฐกิจโลกและกำไรของบริษัทจดทะเบียน

สำหรับไทยเป็นหนึ่งในลักษณะที่ คริติคอล (Critical) คือขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ เรามีกลุ่มแบงก์ พลังงานที่มีผลเยอะในดัชนี แล้วเวลาฝรั่งเขามองเข้ามาเวลาเศรษฐกิจดี ไทยก็เป็นประเทศแรกๆในเอเชียเหมือนกันนะครับที่เขามองเข้ามา

แล้วปัจจัยเรื่องเลือกตั้งของไทยเอง คุณณัฏฐะมองอย่างไร มีผลกับหุ้นหรือไม่

เรื่องเลือกตั้งหรือปัจจัยการเมืองของไทย ผมมองเป็นปัจจัยรอง แม้ในระยะสั้นจะดูมีผลอย่างที่เห็น แต่ในภาพใหญ่เป็นปัจจัยรองจากเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจโลก

เรื่องปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นเหมือนน้ำจิ้ม ที่เรียกว่าถ้าฝรั่งเขามาดันหุ้นขึ้นและมีคนตามเยอะ ก็เรียกว่าเป็นปัจจัยรองแล้วกัน ผมไม่ได้ตั้งสมมติฐานการตัดสินใจลงทุนบนปัจจัยนี้

22 views
bottom of page