คนไทยวันนี้สร้างหนี้จนท่วม โดยเฉพาะ Gen Y กลายเป็นพลังลบแทนที่จะเป็นบวกเหมือนชาติอื่นๆ เทียบกับจีนที่คนชั้นกลางและ Gen Y ของเขาเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจจนจีนขึ้นมาเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก หายใจรดต้นคอสหรัฐในขณะนี้
การที่คน Gen Y ของไทยกลายเป็นหนี้กันมากจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคนั้น สาเหตุมาจากนโยบายรัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจโครงสร้างและการส่งเสริมการลงทุนที่ผลีผลาม ดำเนินการทั้งๆที่ยังกลั่นกรองกันไม่ตกผลึก
นอกจากนี้ ยังเกิดจากนโยบายประชานิยม ที่แฝงมาในชื่อเก๋ไก๋ว่า “ไทยนิยมยั่งยืน” และโครงการ “ประชารัฐ” มาในรูปโครงการต่างๆ ตั้งแต่ตลาดนัดไปจนถึงสวัสดิการ เบี้ยคนจน ฯลฯ
อัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคประชาชนในรูปเบี้ยคนจนโดยหวังว่าจะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ แต่แจกเท่าไรก็หายไปเท่านั้น ไม่ได้หมุนเวียนเหมือนการรับจำนำหรือประกันราคาพืชผลเกษตร หรือการสร้างงานในชนบท หรือโครงการหนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล ที่ให้เงินลงไปหมุนเวียนในชุมชนฐานราก
เงินพันล้าน หมุน 3 รอบมูลค่าเพิ่มเป็น 3 พันล้าน ไม่ได้หายวาบไปแบบเงินแจกคนจน
นโยบายประชานิยมลักษณะนี้ มีตัวอย่างความล้มเหลวและปัญหาจนเข้าขั้นวิกฤตทางการเงินและการคลังของอาร์เจนตินาเป็นตัวอย่างในขณะนี้
มีผู้ทักท้วงนโยบายเอาใจประชาชน จะทำให้รัฐก่อหนี้สูงจนเป็นภาระแก่รัฐบาลถัดไปรวมถึงประชาชนคนไทยผู้เสียภาษี แต่รัฐบาลก็แย้งกลับมาว่า ยังไม่ถึงเพดานก่อหนี้ 60% ต่อจีดีพี
แม้กระทั่งภาษีมอมเมาเสพติด คือสรรพสามิต ซึ่งภาษีหดหายไปกว่าครึ่งก็สร้างโรงงานบุหรี่แห่งใหม่ขึ้นมา ภาษีน้ำ ภาษีแดด ภาษีลาภลอย ค่าปรับไม่พกใบขับขี่ ฯลฯ เพื่อให้รัฐมีเงินไปเป็นค่าซื้อใจจากประชาชน ไม่ว่าจะในการให้สวัสดิการรูปแบบต่างๆ ชนิด “อะไรๆก็เบิกได้” ไปจนการจ่ายเงินแบบหว่านโปรย
อีกด้านหนึ่ง ภาคประชาชน การเติบโตของชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่วัยทำงาน ดูแล้วน่าจะเป็นฐานเสริมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เหมือนกับจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) แต่กลับตรงกันข้าม กลายเป็นตัวถ่วง และตัวถ่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จนไทยเป็นชาติที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงระดับที่ 3 ของเอเชีย (อันดับ 1-2 เป็นเกาหลีเหนือกับเมียนมา
เพราะ Gen Y ของไทยขยันสร้างหนี้มากกว่าสร้างมั่งคั่งมั่นคง
อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การส่งเสริมและสร้างเสริมงานแก่ประชาชนของรัฐปัดๆเป๋ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนวิสาหกิจระดับกลางและล่าง เพื่อยกฐานะชนชั้นรายได้ปานกลางให้ขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นปานกลางระดับสูงและชนชั้นสูง
การกระตุ้นจีดีพีด้วยการสนับสนุนคน Gen Y ด้วยโครงการต่างๆซึ่งที่เป็นหน้าเป็นตาก็คือคนรุ่นใหม่ในวิสาหกิจขนาดย่อม (SME) ด้วยสโลแกน “อายุน้อยร้อยล้าน” หมายจะให้สร้างงาน สร้างเงิน สร้างผลผลิต สร้างกำลังซื้อและการใช้จ่ายภายในประเทศอันเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพี
ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุว่า อุปสงค์ในประเทศหรือการจับจ่ายใช้สอยของประชาซบเซาก็เพราะ คนไทยมีรายได้ต่ำ อัตราจ้างงานที่ดูตัวเลขสวยนั้น เป็นการจ้างงานแรงงานต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขว่างงานและจ้างงานต่างระดับของคนไทยสูงมาก เป็นตัวเลขแฝง โดยเฉพาะคนจบปริญญาตรียังตกงานกว่า 2 แสนคน
ที่น่าห่วงกว่านั้นก็คือ ชนชั้นกลางของประเทศที่เป็นกำลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด เป็นหนี้กันมาก
ตัวเลขไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หนี้เอ็นพีแอลที่อยู่กับธนาคาร 10 แห่ง พุ่งถึง 2.93% มูลค่ารวมกัน 441,843 ล้านบาท หนี้ส่วนใหญ่เป็นของวิสากิจรายย่อย โดยเฉพาะขนาดเล็กและกลาง(SME)
นอกจากหนี้เอสเอ็มอีแล้ว หนี้ครัวเรือนก็ยังโตไม่หยุด โดยเฉพาะ กลุ่ม Gen Y (generation Y) ทำให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กังวลว่า ภาวะ Gen Y หนี้พุ่ง จะทำให้เมื่อถึงวัยชราไม่มีเงินใช้
ขณะเดียวกันพบว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระดับหนี้ครัวเรือนได้ขยายตัวในปริมาณที่สูงอย่างก้าวกระโดด เฉพาะปี 2560 พบว่าครัวเรือนไทยกว่า 91.1% ยังคงมีหนี้สินอยู่ และมีเพียง 8.9% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สิน ถึงปีนี้ กลุ่มที่ยังไม่มีหนี้สิน 8.9% ลดลง แต่ย้ายมาเพิ่มที่กลุ่มมีหนี้สิน
การที่กลุ่ม Gen Y สร้างหนี้ได้ง่ายและกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลนั้น สาเหตุหนึ่งก็คือการเป็นหนี้ง่าย โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต
สัดส่วนคนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 30% ในปีที่ผ่านมา มูลหนี้เพิ่มจาก 7 หมื่นบาทต่อหัวเป็น 1.5 แสนบาท จึงไม่แปลกที่คำว่าอายุน้อยร้อยล้านจะถูกเปลี่ยนเป็น “อายุน้อยร้อยหนี้”
ในบรรดาคนเป็นหนี้จำนวน 21 ล้านคน เป็นคนในวัยไม่เกิน 30 ปีหรือกลุ่ม Gen Y ถึง 50% โดยในกลุ่มนี้ เป็นเอ็นพีแอลถึง 50%
ค่าใช้จ่ายก่อหนี้สูงที่สุด 5 อันดับ คือ ซื้อสินค้าออนไลน์ ที่ปีนี้มีอัตรา เพิ่มสูงสุดคือขึ้นถึง 169% เช่าซื้อรถ สินค้าอุปโภค ท่องเที่ยวและรับประทานอาหาร
เมื่อคนกลุ่มนี้อันเป็นกลุ่มที่มีรายได้รวมสูงที่สุดในชนชั้นรายได้ปานกลางซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ต้องติดบ่วงหนี้ ก็ย่อมทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง เนื่องจากภาระหนี้
ภาวะเช่นนี้ จะยืนยาวไปอย่างน้อย 3 ปีหรือจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากพลเรือนและต้องมาจากภาคธุรกิจ