top of page
312345.jpg

ประกันชีวิตครึ่งปีฉลุย...ขายผ่านแบงก์ยังโลด


สมาคมประกันชีวิตไทย วางเป้าหมายอัตราการเติบโตของธุรกิจทั้งปี 2561 อยู่ในช่วง 4-6% ซึ่งปรากฏว่าช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ทั้งระบบทำเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 3.12 แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.01% โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ 8.99 หมื่นล้านบาท เติบโต 8.47% และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไป 2.22 แสนล้านบาท เติบโต 3.68% คิดเป็นอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์เฉลี่ย 84%

เบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ประกอบด้วยเบี้ยประกันชีวิตปีแรก 4.63 หมื่นล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 4.36 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากช่องทางธนาคารเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วน 48.39% โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 1.51 แสนล้านบาท เติบโต 6.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากยอดขายกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบจ่ายครั้งเดียวที่ขายผ่านช่องทางธนาคารจำนวนมาก รองมาคือช่องทางตัวแทนประกันชีวิต สัดส่วน 44.61% มีเบี้ยประกันชีวิตรวม 1.39 แสนล้านบาท เติบโต 2.35% การขายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น โบรกเกอร์อินเทอร์เน็ตเคาน์เตอร์เซอร์วิส วอล์กอิน สัดส่วนรวมกัน 4.74% มีเบี้ยประกันชีวิตรวม 1.48 หมื่นล้านบาท เติบโต 34.01% การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง สัดส่วน 2.26% มีเบี้ยประกันชีวิตรวม 7,051 ล้านบาท ลดลง 10.04%

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่าภาคธุรกิจยังคงยืนยันว่าในครึ่งปีหลังนี้ (ก.ค.-ธ.ค.) จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตในประเทศไทยในปีที่แล้ว เฉลี่ยประมาณ 39% สะท้อนว่าตลาดประกันชีวิตไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการมีความคุ้มครองและการวางแผนการเงินเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมถึงมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้เอาประกันนำเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคธุรกิจ เช่น การปรับนโยบายบริหารการขายของแต่ละแห่งให้มีความเหมาะสมกับภาวการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายต่อเนื่องและเหมาะกับบุคคลแต่ละช่วงวัย รวมถึงการพัฒนาบริการที่มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศในทุกด้านด้วยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาสนับสนุนและการเพิ่มช่องทางขายที่ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ทิศทางของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในอนาคตนั้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำหรืออาจจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาการลงทุนลักษณะอื่นเพิ่มเติม ขณะที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประกันชีวิต การวางแผนทางการเงินเพิ่มมากขึ้น จึงไม่ได้ต้องการที่จะซื้อประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองการลงทุนอื่นที่ได้รับผลตอบแทนสูงด้วย จึงทำให้ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์-ยูนิเวอร์แซลไลฟ์) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เบี้ยประชีวิตควบการลงทุนในปี 2560 เพิ่มขึ้นกว่า 300% เมื่อเทียบกับปี 2556 หากพิจารณาเฉพาะยูนิตลิงก์เติบโตเกือบ 4,000%

ส่วนกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) เพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมถึงแผนสุขภาพผ่านผลิตภัณฑ์ที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพและสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรงต่างๆซึ่งตอบโจทย์ลูกค้ายุคปัจจุบันที่ต้องการตัดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยคาดว่าอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า ค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มขึ้น 15-20% ขณะที่ผลิตภัณฑ์สำหรับขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสดเพื่อตอบสนองกลุ่ม Gen M (Millennials) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี ใช้ Social Media ทุกวันและเป็นกลุ่มที่ซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจยังคงมีปัจจัยที่ท้าทายและการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น กรอบการดํารงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC2) การยกระดับมาตรฐานพฤติกรรมทางการตลาดของระบบประกันชีวิต (Market Conduct) การยกร่างประกาศ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตและธนาคาร พ.ศ. 2561 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกำกับดูแลส่งเสริมให้กระบวนการขายผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพ

การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ IFRS 9 และ IFRS 17 ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจประกันชีวิตในแง่ของการจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน การแสดงรายการเปิดเผยข้อมูลงบการเงินของบริษัทประกันชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) การเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยท้าทายธุรกิจประกันชีวิตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจของโลกให้เปลี่ยนไปรวดเร็ว หลายสิ่งถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่สะดวกสบายรวดเร็วและแม่นยำสามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาและ InsureTech ที่ทำให้ต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินงานและบริการทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

นายอิก เจ ฮาน ซีอีโอ บริษัท ไทยซัมซุงประกันชีวิต ประกาศเป้าหมายองค์กรภายใต้รหัส “20•5•5” ซึ่งเป็นการรวมตัวเลข 3 ส่วน คือ ภายในปี 2020 บริษัทวางเป้าหมายเติบโตในส่วนของยอดขายปีแรกในช่องทางจัดจำหน่ายรายบุคคล เพื่อให้ขึ้นเป็นอันดับ 5 ของอุตสาหกรรมและมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 5% ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับ 8ดังนั้น เพื่อให้พิชิตเป้าหมายเหล่านั้น บริษัทได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานภายในและเพิ่มการสนับสนุนการทำงานของฝ่ายขายทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารภายในการบริหารฝ่ายขายและการสนับสนุนฝ่ายขาย

นอกจากนี้ บริษัทจัดให้มีโครงการสนับสนุนการขายที่มีความเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านเบี้ยประกัน ด้านการสรรหาทีมงานใหม่ โดยเน้นสร้างความเชื่อมั่นกับตัวแทน ให้ผลประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Samsung Leader Academy โครงการ Samsung VVIP privilege Trip, สนับสนุนโครงการ Joining เพื่อเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายขายสามารถขยายทีมงานได้อย่างรวดเร็วและทำ New Training Road Map เน้นการสร้างคุณภาพตัวแทนและผู้บริหารฝ่ายขายเพื่อมุ่งสู่การเป็น Financial Planning และ Wealth Management

ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทวางแผนออกแบบผลิตภัณฑ์ระยะสั้นเพื่อตอบสนองตลาดในภาวะที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและยังมีแผนขยายการใช้ระบบดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต สำหรับงานใหม่เพื่อการบริการที่รวดเร็วภายในปีนี้อีกด้วย

29 views
bottom of page