top of page
312345.jpg

อย่าเพิ่งตื่นตูม! กฎหมายภาษีลาภลอย...หลักการดีแต่ขาดความชัดเจน


กูรูอสังหาฯ ชี้ กฎหมายภาษีลาภลอยยังมีช่องโหว่ ขาดความชัดเจนในประเด็นสำคัญๆ หลายเรื่อง อีกทั้งยังขัดแย้งกับกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายผังเมือง เชื่อ...ไม่สะเด็ดน้ำได้ง่ายๆ ในเร็ววัน

นายสัมมา คีตสิน นักเศรษฐศาสตร์อสังหาริมทรัพย์และผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงภาษีลาภลอยที่รัฐบาลจะจัดเก็บจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงการของภาครัฐว่า ในทางทฤษฎีสามารถจัดเก็บได้ทั้งจากนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดภาษีรูปแบบใหม่ของรัฐบาล

“คำว่าลาภลอยหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าบุญหล่นทับ ในบางประเทศมีการเก็บจากบุคคลธรรมดา เช่น คนที่รับมรดก, คนถูกรางวัลที่ 1 หรือเงินได้จากการพนันจากบ่อนถูกกฎหมาย ในต่างประเทศการเก็บภาษีลาภลอยไม่เป็นที่นิยม มีการจัดเก็บได้ไม่กี่ปีก็ต้องยกเลิกไป การจัดเก็บก็เก็บคนละแนวกับร่างพ.ร.บ.ในขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.คิดว่าเป็นพ.ร.บ.ภาษีที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการคมนาคมของรัฐ ชื่อมีความยาวมาก แต่ถ้าจะยาวกว่านี้ต้องเติมคำว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะโดยเนื้อหาคือการเก็บภาษีจากภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก...

ในต่างประเทศเท่าที่ดูมาไม่เคยเจอว่ามีการเก็บภาษีจากอสังหาริมทรัพย์ ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ดังในอดีต เช่น ย้อนกลับไปเมื่อปี 1980 ของสหรัฐ เกิดปัญหาเรื่องวิกฤตน้ำมันในตะวันออกกลาง ซึ่งเริ่มมาก่อนที่จะเกิดวิกฤตในปี 1980 จากกรณีที่โอเปกปรับขึ้นราคาน้ำมันเมื่อเกิดสงครามระหว่างอาหรับและอิสราเอล ซึ่งชาติในตะวันตกสนับสนุนอิสราเอล ทำให้ประเทศในอาหรับโมโห เป้าจะจัดการสหรัฐ อังกฤษ แคนนาดา และ ญี่ปุ่น ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง ในสมัยก่อนราคาน้ำมัน 3 เหรียญต่อบาร์เรล พอเกิดสงครามทำให้เกิด Oil Shock ครั้งที่ 1 ในปี 1973 ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 4 เท่า ทำให้สะเทือนไปหลายปี ต่อมาในปี 1979 มีปัญหาครั้งที่ 2 เกิดปฏิวัติขับไล่พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ในอิหร่าน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นสูงทั่วโลก ในตอนนั้นราคาน้ำมันได้ปรับขึ้นมา 100% มีราคาประมาณเกือบ 40 เหรียญต่อบาร์เรล ถ้าจำกันได้ทั้งไทยและต่างประเทศมีข่าวเข้าไปต่อคิวซื้อน้ำมันกัน…

ในช่วงนั้นเมื่อเกิด oil embargo ทำให้บริษัทน้ำมันในสหรัฐที่ผลิตน้ำมันได้รับประโยชน์ เพราะน้ำมันหายาก บริษัทน้ำมันในสหรัฐทำกำไรได้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นโมบิลหรือเชฟรอน ปรากฏว่ารัฐบาลสหรัฐในสมัย จิมมี คาร์เตอร์ ประกาศจัดเก็บภาษีจากราคาน้ำมันที่ขึ้นรุนแรงอย่างรวดเร็ว จึงได้มีการประกาศเก็บภาษีลาภลอยนี้เกิดขึ้น แต่พอมาในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนได้มีการประกาศยกเลิกกฎหมายนี้ออกไป เพราะในช่วงหลังราคาน้ำมันปรับลดลงมาในช่วง 10-20 ปี ส่วนในอังกฤษมีการเก็บภาษีสาธารณูปโภคที่แต่เดิมเป็นของรัฐและได้เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกับปตท.ของไทย เมื่อราคาหุ้นปรับขึ้น กำไรดี จึงได้มีการเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ที่เป็นบริษัทสาธารณูปโภค

นายสัมมา กล่าวว่า จากกรณีการเก็บภาษีลาภลอยของต่างประเทศดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าคอนเซปต์ในการเก็บภาษีลาภลอยไม่เหมือนของไทย โดยของต่างประเทศการเก็บภาษีลาภลอยจะเก็บจากบริษัทที่ได้ประโยชน์ แต่ของไทยเก็บภาษีลาภลอยจากบริษัทเหมือนกันแต่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์และรวมไปถึงบุคคลธรรมดาที่นำที่อยู่อาศัยมาทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์ เช่นซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมเพื่อเก็งกำไร เพื่อขายต่อ

“แต่ก็จะมีเงื่อนไขคือราคาต้องไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดยังไม่ชัดเจนแ ซึ่งถ้าดูจากราคา 50 ล้านบาท ในรัศมี 5 กิโลเมตรเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วกับปัจจุบันไม่เหมือนกัน คิดดูว่าในอีก 5-10 ข้างหน้ารถไฟฟ้าเกิดขึ้น 10 สาย แล้วรัศมี 5 กิโลเมตรที่ว่านับจากอะไร ขณะนี้บอกว่านับจากรัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่โครงการ แล้วพื้นที่โครงการคืออะไร แสดงว่านับจากโครงการหมดเลยทั่วกรุงเทพฯ เกือบทุกตารางเมตรของพื้นที่โครงการเป็นส่วนใหญ่...

“เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ต้องมีความชัดเจนให้มากกว่านี้ว่ารัศมี 5 กิโลเมตรนับจากไหน จากทางขึ้นลงทางด่วนหรือจากสถานีรถไฟฟ้าหรือไม่ ไม่ใช่นับจากรัศมี 5 กิโลเมตรจากแนวทางด่วนหรือแนวรถไฟฟ้า คิดว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องมีรายละเอียดชัดเจนกว่านี้ และรัศมี 5 กิโลเมตรก็คงไม่ใช่ อาจจะเหลือ 500 เมตรหรือ 1 กิโลเมตร เช่น ผังเมืองของจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครที่มีการสนับสนุนจ้างผู้อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าในรัศมีไม่เกิน 500 เมตร ก็จะมีการให้โบนัสในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ถือว่าเป็นการสนับสนุนให้ใช้สาธารณูปโภครถไฟฟ้า ในผังเมืองจะมีเรื่อง FAR หรือ Floor Area Ratio หมายความว่า ถ้ามีพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าสมมุติ FAR ให้ 10 เท่า พื้นที่ 1 ไร่หรือ 1,600 ตารางเมตร สามารถสร้างได้ 16,000 ตารางเมตรในอาคารนั้น จะเห็นได้ว่าในผังเมืองจะมีการสนับสนุนให้คนสร้างตามแนวรถไฟฟ้า แต่ตามกฎหมายนี้กลายเป็นว่าให้คนสร้างออกนอกแนวสาธารณูปโภคคมนาคมขนส่ง”...

นับว่ากฎหมายการเก็บภาษีลาภลอยยังขัดแย้งกันอยู่กับกฎหมายผังเมือง และรถไฟฟ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีที่ดิน 230,000 ไร่ทั่วประเทศ ใช้ที่ดินไปประมาณ 85% ของ230,000 ไร่ทั่วประเทศในการเดินรถไฟฟ้า ถามว่าถ้าปัจจุบันมีโครงการบ้านตามแนวรถไฟฟ้า และในอนาคตสิบปีข้างหน้ามีการสร้างรถไฟความเร็วสูงแต่ใช้แนวรางรถไฟเดิม ยังถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคมนาคมหรือไม่ แล้วอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวรางรถไฟนี้จะยังเข้าข่ายเดิมหรือไม่ ซึ่งจะเป็นปัญหาของข้อกฎหมายปลีกย่อยอีกมากพอสมควรที่ต้องพิจารณา ซึ่งเผอิญว่าช่วงนี้มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์หลายกฎหมาย และกฎหมายที่ค้างคามานานคือภาษีสิ่งปลูกสร้างที่ได้ขยายเวลาการพิจารณามา 6-7 ครั้ง ตอนนี้ยังแก้กฎหมายกลับไปกลับมาจากบ้านหลังแรก 50 ล้านบาท ลดลงมาเหลือ 20 ล้านบาท แล้วแก้กลับขึ้นไปที่ 50 ล้านบาทอีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม นายสัมมา มีความเห็นว่าพ.ร.บ.ภาษีสิ่งปลูกสร้างยังค่อนข้างเป็นธรรม เพราะบ้านราคา 50 ล้านบาทจ่ายภาษีเพียง 0.02% หมายความว่า 100 บาทจ่าย 2 สตางค์, 1,000 บาทจ่าย 20 สตางค์, 10,000 บาทจ่าย 2 บาท, 100,000 บาทจ่าย 20 บาท และถ้าราคา 1 ล้านบาทจ่าย 200 บาท หากบ้านมีราคา 50 ล้านบาทจะจ่ายภาษีเพียงหลักพันบาทซึ่งถือว่าเล็กน้อยมาก

“ขนาดว่าจ่ายภาษีไม่มากยังไม่ผ่านกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายง่ายๆ แล้วถ้าเป็นกฎหมายยากอย่างกฎหมายภาษีลาภลอยจะผ่านหรือไม่ในรัฐบาลชุดนี้ก่อนการเลือกตั้ง โอกาสที่จะผ่านคงมีริบหรี่เพราะยังมีเงื่อนไขอีกมากพอสมควร เนื่องจากมีปัญหาความชัดเจนหรือปัญหาการตีความ เช่นทำไมต้องใช้ระยะรัศมี 5 กิโลเมตร ทำไมไม่ลดลงเหลือ 1-2 กิโลเมตร แล้วจะเก็บภาษี 5% ซึ่งบอกว่าเก็บไม่มาก แล้วยังเก็บจากราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป ต้องถามว่าเมื่อราคาเกิน 50 ล้านบาทจะเก็บทันทีหรือไม่แล้วถ้ารัศมีเกินมา เช่น รัศมี 5.1 กิโลเมตร กับ 4.9 กิโลเมตร มีความต่างกันอย่างไรถึงไม่เก็บเป็นขั้นบันได จึงเกิดการเปรียบเทียบกันระหว่างบ้านที่อยู่ห่างกัน 200 เมตร บ้านหลังหนึ่งอยู่นอกรัศมีกับบ้านหลังหนึ่งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งยังต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกจำนวนมากในการกำหนดอัตราการจัดเก็บและเพดานที่เป็นธรรม…

“ตอนนี้อย่างเพิ่งแตกตื่นเพราะถ้าดูจากพ.ร.บ.ภาษีสิ่งปลูกสร้างเอาให้ผ่านเสียก่อนแล้วค่อยไปว่ากันอีกที หลังจากนี้ยังมีพ.ร.บ.อื่น อย่างพ.ร.บ.ทรัพย์เพื่อการจัดการ พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนบุคคล ซึ่งยังมีอีกหลายพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกัน”

36 views
bottom of page