เดือนนี้เมื่อปี 2540 เป็นเดือนที่ไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ที่แม้จะผ่านพ้นไป 21 ปี ทว่าผู้บริหารนโยบายการเงินของไทยก็ยังเห็นภาพนั้นติดตาอยู่ ยิ่งช่วงนี้ฝรั่งเตือนว่า ชาติตลาดเกิดใหม่อยู่ในข่ายถูกโจมตีค่าเงิน ก็ยิ่งเห็นเป็นภาพหลอนหนักขึ้น
วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งครั้งนั้น ใครๆ พากันชี้มาว่าไทยเป็นต้นตอ แต่แท้ที่จริงแล้วรวมๆ กันหลายประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ แต่เพราะไทยถูกพ่อมดการเงิน จอร์จ โซรอส โจมตีค่าเงินบาทจากการเก็งกำไรส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเดาใจรัฐบาลไทยถูกว่าจะต้องลดค่าเงินบาทจากอัตรา 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็นลอยตัวไม่ผูกพันกับดอลลาร์
ไทยมีสำรอง FOREX แค่ 70.49% เท่านั้น จึงถูกพวกกองทุนสินทรัพย์เสี่ยง (hedge funds) ฉวยโอกาสเข้ามาเก็งกำไร
รายที่ทำเจ็บแสบที่สุดคือ Quantum Fund ของโซรอส จึงทำให้คนไทยพากันคิดว่า นายโซรอส เป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง
เมื่อกลับคืนสู่ภาวะปกติในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1 องค์กรการเงินแห่งหนึ่งได้เชิญนายโซรอสมาปาฐกที่กรุงเทพฯ โดยไม่ฉุกคิดว่า คนไทยยังไม่ลืมชื่อและการกระทำของคนคนนี้อยู่
จึงปรากฏว่า เมื่อเขาจะเดินทางเข้าไทย มีคนไทยจำนวนหนึ่งแห่ไปต้อนรับและขับไล่ออกจากประเทศ
นับแต่นั้นมาจนบัดนี้ 21 ปีหรืออาจจะชั่วชีวิต โซรอส คงจะไม่มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทยอีก
ทั้งๆ ที่โดยแท้ที่จริงแล้ว วิกฤตการณ์การเงินครั้งนั้นเกิดจากคนไทยทำกันเอง โดยเฉพาะรัฐบาลที่สร้างหนี้สาธารณะเอาไว้สูงกว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) คือเกิน 100% (ปัจจุบัน 41.76% เมื่อ ก.พ. 2561) และถึงจุดเลวร้ายที่สุด (peak) ที่ 180%
แม้ไทยจะได้รับความเสียหายมากที่สุด แต่เป็นเฉพาะด้านการเงินและเศรษฐกิจ แต่ที่อินโดนีเซียนั้น ได้รับหนักกว่า เพราะค่าเงินรูเปียะห์อ่อน จนแทบเป็นเศษกระดาษ เกิดจลาจลไปทั่วจนถึงกับประธานาธิบดีซูฮาร์โต ที่อยู่ในอำนาจมาถึง 30 ปีต้องลาออก
ของไทยไม่ถึงขนาดนั้น โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกไป และ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาแทนที่เป็นสมัยแรก
การที่หนี้สาธารณะของรัฐบาลไทยสูงมากนั้น สาเหตุมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงสร้างมากเกินกำลัง อุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์เบ่งบาน เพราะธนาคารและสถาบันการเงินหละหลวมในการปล่อยสินเชื่อ
การเก็งกำไรที่ดินมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่เมื่อเกิดฟองสบู่ “นักเล่นที่” มีที่ดินคามือกันเป็นล้านๆ ไร่ ติดหนี้แบงก์ ติดไฟแนนซ์ เต็มไปหมด ผลสุดท้ายกลายเป็น เอ็นพีแอล
หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลเหล่านั้น มีถึง 52.3% (ปัจจุบัน 2.9 %) ส่งผลให้ธนาคารและสถาบันการเงินขาดสภาพคล่องรุนแรง ลงท้ายต้องปิดตัวลงหรือรัฐบาลสั่งปิด
ตัวเลขธนาคารและสถาบันการเงินถูกปิดรายสุดท้ายอยู่ที่ 58 แห่ง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จึงตั้งกองทุนช่วยเหลือ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ชาติสมาชิกที่ประสบวิกฤตการณ์การเงินครั้งนั้น ซึ่งไทยก็ได้อาศัยเงินก้อนนี้เป็นส่วนหนึ่งในการกู้วิกฤต
ก่อนหน้านี้ มีเงินกู้ก้อนหนึ่งที่เป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาลชวน หลีกภัย มาจนถึงรัฐบาลทักษิณ คือเงินกู้มิยาซาว่า
รัฐบาลทักษิณใช้เวลากอบกู้วิกฤตการณ์ทางการเงิน 2 ปี ก็ฟื้นตัว สามารถใช้หนี้ทั้งเงินกู้มิยาซาว่าและไอเอ็มเอฟ
การเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟ เป็นเหตุให้ต้องทำตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ โดยเฉพาะนโยบายการเงิน จนทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ทาสไอเอ็มเอฟ” แต่ทักษิณไม่แยแสต่อเงื่อนไขเหล่านั้น ซ้ำตอบโต้อหังการว่า “ไอเอ็มเอฟไม่ใช่พ่อ (กู)”
วันนี้ภาพหลอนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งยังคงอยู่ ทำให้ไทยดำรงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้สูงถึง 213,277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก ทำให้เกิดคำถามว่า เรามีความจำเป็นขนาดไหนที่ต้องสำรองเงินทุนระหว่างประเทศไว้ถึงขนาดนั้น
ยิ่งช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ เงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยไหลกลับไป เหตุจากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีส่วนต่างสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยไทยมาก
ค่าเงินบาทไม่มีเงินตราต่างประเทศเข้ามาหนุนหลัง ก็เลยอ่อนยวบ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า สำรองเงินทุนระหว่างประเทศไม่ได้เป็นหลักค้ำค่าเงินบาทให้มีประสิทธิภาพ หากแต่เป็นพลวัตของเงินตราที่เป็นผลจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเสียมากกว่า
อย่างไรก็ดี ในส่วนของสัญญาณเตือนภัยจากต่างประเทศว่า ชาติ emerging markets มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีค่าเงินและตลาดการเงินเหมือนครั้งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งอีก แต่ในจำนวนนั้นไม่มีไทย มีแต่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา บราซิล ตุรกีและรัสเซีย
ถ้าเกิดขึ้นจริง แม้ไม่ใช่เกิดกับเราโดยตรง ทว่าก็มีผลกระทบมาถึง อย่างน้อยก็กระทบจากหางคลื่น
แนวโน้มที่ค่าบาทจะถูกโจมตีไม่มีก็จริง ทว่าเงินบาทก็อ่อนลง คาดว่าไตรมาส 3 ที่กำลังก้าวย่างเข้าไปนี้ ค่าบาทจะอยู่ที่ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทอ่อนย่อมเป็นผลดีต่อการส่งออก ซึ่งปี 61 นี้คาดว่าไทยจะได้เปรียบดุลการค้าประมาณ 29-30 พันล้านดอลลาร์
ไม่ห่วงค่าเงินบาท แต่ห่วงหนี้สาธารณะที่เขยิบตัวสูงขึ้นๆ ทุกปีงบประมาณ
ตัวเลขล่าสุดเมื่อสิ้นเมษายน 61 จำนวน 6.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.04% ของจีดีพี แต่การเร่งโตด้วยเศรษฐกิจโครงสร้างที่รัฐบาลนี้พยายามสร้างผลงานก็ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินการคลังเป็นกังวล
หนี้สาธารณะยังไม่ชนเพดาน 60% ของจีดีพีก็จริง แต่อัตราเร่งสูงและเร็วมาก
รัฐบาลชุดถัดไปที่อาจจะเป็นชุดเดิมนี้ก็ได้....จะมีปัญญาหาใช้หนี้โดยไม่ใช้วิธีกู้ใหม่มาจ่ายเก่าแบบดินพอกหางหมูกันล่ะหรือ?