top of page
379208.jpg

'น้ำมัน' ไม่พลิกผัน ซัพพลายเหลือเฟือ...มะกันกลายเป็นยักษ์ No.2 โลก


มองสถานการณ์ราคา/ปริมาณ “น้ำมันดิบ” ในตลาดโลกวันนี้จนถึงอนาคตปลายปี 2561 ยังไม่น่ากลัว แม้ “อิหร่าน” โดนสหรัฐอเมริกาบีบหนักหลังฉีก “ดีลนุก” กับการเมือง “เวเนซุเอลา” ปั่นป่วน แต่มีหลายชาติไม่เล่นด้วยกับสหรัฐอเมริกา เรื่องแซงก์ชั่นอิหร่าน ขณะที่ผลผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐออกมาบานเบอะ No.2 ของโลกรองจาก No.1 รัสเซีย สามารถทดแทนส่วนที่หดหายไปได้ เผยสถานการณ์ผลผลิตน้ำมันดิบโลกกำลังเข้าสู่ยุคดีมานด์-ซัพพลายสมดุล ส่วนที่เกินความต้องการเหลือน้อยลงแค่ 30 ล้านบาร์เรล/วัน จาก 300 ล้าน/วัน ในปีที่แล้ว สะท้อนว่าตลาดมีเสถียรภาพ

นางอนินทิตา เพราแก้ว ผู้จัดการงานฝ่ายแผนและบริหารบริษัทในเครือสายการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์สหรัฐและอิหร่านในปัจจุบันหากพูดถึงกรณีของสหรัฐที่ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน โดยข้อตกลงนิวเคลียร์มีสาระสำคัญ คือ JCPOA หรือ Joint Comprehensive Plan of Action ระบบกรอบการดำเนินการตรวจสอบและติดตามรวมถึงโครงการยับยั้งนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในข้อตกลงนี้ได้มีการทำขึ้นมาเมื่อปี 2558 ริเริ่มโดยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และได้มีการลงนามร่วมกันกับประเทศมหาอำนาจอีก 5 ชาติ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และ เยอรมนี โดยทั้ง 6 ชาติร่วมกันผ่อนผันการคว่ำบาตรอิหร่าน ส่งผลทำให้อิหร่านสามารถกลับมาสู่ระบบการเงินโลกได้และสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง

“แต่เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการประกาศขอถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ทำให้วงการธุรกิจน้ำมันมองว่าการที่อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้โดยเฉลี่ย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ในส่วนของการที่ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้อิหร่านมีการส่งออกน้ำมันประมาณกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวยังมีข้อสังเกตว่าในขณะที่สหรัฐมีการถอนตัวออกมา แต่กลุ่มในประเทศยุโรป รวมถึงจีนและรัสเซียยังคงสถานภาพรักษาข้อตกลงอยู่ทำให้เป็นจุดที่น่าสนใจ คาดว่าผลกระทบที่เกิดจากการถอนตัวของสหรัฐ ไม่น่ารุนแรงเท่าครั้งเมื่อในอดีตที่ทุกประเทศร่วมมือร่วมใจกันคว่ำบาตรอิหร่าน แต่การถอนตัวของสหรัฐในครั้งนี้มีประเด็นที่สำคัญ เพราะว่าตลาดได้มีการตอบรับอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นสูงเมื่อเทียบกับต้นปี 2561 ที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 80 เหรียญต่อบาร์เรล โดยน้ำมันดิบของ Brent ปิดตัวที่ 77.12 เหรียญต่อบาร์เรล , น้ำมันดิบของสหรัฐปิดตัวที่ 70.51 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นไปอยู่ที่ 78.40 เหรียญต่อบาร์เรล นับว่าปัจจุบันราคาน้ำมันเป็นสถิตินิวไฮอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2557” นางอนินทิตากล่าวและว่า...

ในระยะสั้นปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบตลาดจนกว่าความชัดเจนว่าสหรัฐจะคว่ำบาตรอิหร่านมากน้อยขนาดไหน และความรุนแรงของการคว่ำบาตรในเบื้องต้นทางสหรัฐได้ประกาศออกมาเป็นช่วง 90 และ 180 วัน โดยนับตั้งแต่การประกาศ 90 วัน โดยประมาณต้นเดือนสิงหาคมสหรัฐจะจำกัดการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดอลลาร์กับอิหร่าน ทำให้การจัดกิจกรรมที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับธนาคารอิหร่านหรือธนาคารกลางอิหร่าน และในระยะต่อมาที่ 180 วันประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน สหรัฐต้องการให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านลดการนำเข้าลงประมาณ 20% ของมูลค่าการนำเข้าแต่ก็สามารถเจรจาขอผ่อนผันได้ ทำให้นักวิเคราะห์โดยทั่วไปมองว่าปริมาณน้ำมันที่จะกระทบอาจจะหายไปจากที่อิหร่านจึงต้องลดการส่งออกลง คาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 200,000 - 500,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนความต้องการใช้ของไทยอยู่ที่เฉลี่ย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาอย่างน้อยเป็นเวลา 20 ปีที่ไทยไม่เคยนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน

“สาเหตุที่ไทยไม่เคยนำเข้าจากอิหร่านเพราะคุณภาพน้ำมันดิบเป็นข้อจำกัดหลัก น้ำมันดิบของอิหร่านเมื่อกลั่นออกมาโดยหลักเป็นน้ำมันเตาและมีปริมาณกำมะถันค่อนข้างสูง ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของไทยเป็นน้ำมันดีเซลค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ประเทศไทยที่นำเข้าหลักนอกจากตะวันออกกลางที่นำเข้ามากกว่า 60% โดยไทยยังนำเข้าจากตะวันออกไกลหรือนำเข้าจากมาเลเซีย และยังมีการนำเข้าจากประเทศอื่น ล่าสุดมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐแล้วสำหรับโรงกลั่นในไทย สำหรับการขนส่งยังขนส่งทางเรือปกติ ด้วยราคาของน้ำมันพบว่าการสำรวจและผลิตของสหรัฐ จะทราบว่าปริมาณการผลิตของสหรัฐ ตอนนี้อยู่ประมาณ 10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถ้าดูกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียล่าสุดอยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรล ทำให้สหรัฐขึ้นมาแซงแล้วเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากรัสเซีย ขณะที่อิหร่านอยู่อันดับ 5 ของโลก”

ส่วนกรณีที่สหรัฐบอกให้ผู้นำเข้าน้ำมันลดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน แต่ยุโรปยังเห็นด้วยกับข้อตกลงนิวเคลียร์นี้ นางอนินทิตา กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ยุโรปยังเห็นด้วยกับข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและไม่สนใจในเรื่องที่สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ เห็นได้จากผู้นำยุโรปไม่ว่าจะเป็นเยอรมนีหรืออังกฤษได้ออกมาประกาศแล้วว่ายังยืนยันในข้อตกลงนิวเคลียร์ตามเดิม ซึ่งถ้ายุโรปไม่เข้าข้างจะทำให้ผลกระทบจำกัดอยู่ในวงแคบ เพราะยุโรปยังนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านตามปกติ รวมถึงจีนที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่โดยมีการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านประมาณ 650,000 บาร์เรลต่อวัน แม้ว่าในอดีตอิหร่านถูกคว่ำบาตร แต่จีนก็ยังมีการซื้อน้ำมันจากอิหร่านอยู่ตลอด แต่ถ้าได้สังเกตนับตั้งแต่ต้นปี 2561 ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นเป็นการปรับทยอยขึ้นมาโดยตลอด นอกเหนือจากปัจจัยประเด็นอิหร่านในช่วงที่ผ่านมา ยังมีปัจจัยพื้นฐานอื่นในส่วนของราคาน้ำมัน เพราะความต้องการน้ำมันของโลกยังอยู่ในระดับสูงและยังมีอัตราการเติบโตที่ดี เศรษฐกิจดีความต้องการใช้น้ำมันดี

นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันที่เคยผลิตเกินความต้องการใช้เริ่มลดลง โดยในปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันส่วนเกินอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาร์เรล แต่ปัจจุบันส่วนเกินตรงนี้ลดลงแล้วประมาณ 30 ล้านบาร์เรล ทำให้ภาพรวมของน้ำมันถือว่าสามารถผลักดันด้วยตัวเองได้ นอกจากอิหร่านก็จะเป็นส่วนของเวเนซุเอลาหากมีการประเมินว่าอิหร่านจะทำให้ปริมาณการส่งน้ำมันลดลงหายไปวันละ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนเวเนซุเอลาจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลาลดลงจากปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้มีความเสียหายไปแล้ว 500,000 บาร์เรล เมื่อถึงสิ้นปีนี้ที่จะมีการเลือกตั้งถ้าเหตุการณ์ยังไม่สงบคาดว่าอาจจะลดลงเหลือ 1.3-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนที่น้ำมันหายไปอาจจะมากกว่าส่วนของน้ำมันอิหร่านที่หายด้วยซ้ำไป

“มีโอกาสความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบโดยรวมทุกตลาดจะปรับขึ้นไปแตะ 100 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ทีมวิเคราะห์ของปตท.ยังมองไม่ถึงระดับนั้น โดยในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการประชุมโอเปกวันที่ 22 มิถุนายน นับเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่าโอเปกจะลงมติอย่างไรในกรณีที่อิหร่านขาดหายไป โดยจะมีใครมาผลิตเพิ่มหรือไม่ จะเป็นซาอุดีอาระเบียผลิตเพิ่มหรือต้องแบ่งสรรปันส่วนกับสมาชิกโอเปกด้วยความยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน นับว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคายังทรงตัวได้ในระดับสูง ในส่วนของสหรัฐเชื่อว่าสามารถเข้ามาชดเชยได้ในบางส่วน และสหรัฐยังออกมาพูดว่าถ้าตลาดตึงตัวสหรัฐนอกจากการเก็บสำรองน้ำมันเชิงพาณิชย์ ยังมีการเก็บน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ก็ยังสามารถนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉินได้เช่นกัน” นางอนินทิตากล่าวและว่า

ในส่วนของไทยมองว่าราคาน้ำมันในช่วงระยะสั้นน่าจะมีการปรับตัวขึ้น เนื่องจากเป็นประเทศนำเข้า โดยไทยต้องนำเข้าน้ำมันประมาณ 80% ของความต้องการใช้ในประเทศ ตรงนี้เป็นผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าราคาน้ำมันคงต้องมีการปรับขึ้นตามต้นทุน แต่มองว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นช่วงพีคระยะสั้น ต่อด้วยการประชุมของโอเปกถ้ามีความชัดเจนขึ้นและเวเนซุเอลาสามารถดำเนินการผลิตน้ำมันต่อไปได้โดยไม่ลดลงอย่างรุนแรงตามที่คาดการณ์ไว้ มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจจะมีการชะลอตัวลงมา เพราะกำลังการผลิตของสหรัฐอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ก็สามารถที่จะมาชดเชยได้ โดยของไทยมีการเก็บสำรองน้ำมันอยู่แล้วและมีการติดตามเหตุการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด ผกระทบที่จะไปถึงผู้บริโภคในเรื่องการขาดแคลนคงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

“ปริมาณน้ำมันที่ใช้เหลือในปีก่อนๆ จะบอกถึงตลาดเริ่มเข้าสู่สมดุลมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เพราะว่าในช่วงที่ราคาลดลงมาจาก 100 เหรียญต่อบาร์เรลลงมาเหลือ 40 เหรียญบาร์เรล ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาด Over Supply อยู่ที่ 300 ล้านบาร์เรล แต่ตอนนี้การเติบโตที่ดีและด้วยความรุ่งเรืองของกลุ่มโอเปกและนอน-โอเปกในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกช่วยกันควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันของตัวเอง ทำให้ปริมาณน้ำมันส่วนเกินค่อย ลดลง แต่ถ้าเจอเหตุการณ์สำคัญหรือข่าวด้านลบก็อาจจะทำให้ราคากลับขึ้นมาได้ง่าย เพราะยังมีความผันผวนสูงโดย Supply มีการตึงตัวมากขึ้น”

67 views
bottom of page