ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ตามคาด กดดันมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านภายใน 90-180 วันจากนี้ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง เงินเฟ้ออเมริกาตามเป้า ทำให้มีความชัดเจนว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบ 12-13 มิถุนายนนี้ตามนัด ขณะที่บาทอ่อนขึ้นเป็นลำดับ นักลงทุนต่างชาติรักษาสถานะ “ขาย” หุ้นไทยต่อไป และยังขายได้อีก กดดันหุ้นพฤษภาคมไปต่อไปไม่ได้ แนะอย่าซื้อหุ้นจนกว่าจะเห็น ดัชนี 1,800
ตลาดหุ้นไทย หนีไม่พ้นสภาพ Sale In May อีกปี หลังจากที่เห็นแนวทางว่า นักลงทุนต่างชาติจะยังคงเป็นฝ่ายขายไม่หยุดอีกต่อไป ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคมนี้ เว้นเสียแต่ว่าจะมีปัจจัยบวกแรงๆเท่านั้นที่มาดึงให้หุ้นไทยปรับขึ้นไปได้ ส่งผลให้เป้าหมายดัชนีที่ 1,800 จุดเป็นเรื่องยาก แต่หลุดแนวรับ 1790 1760 1750 มาได้ง่ายกว่า
ทั้งนี้จะเห็นว่าค่าเงินบาทของไทย ที่อ่อนค่าอีกครั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ทำให้ยังคงมีแรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ต่างชาติ เดินหน้าขายหุ้นทั่วทั้งเอเชีย และแน่นอนหุ้นไทยย่อมไม่พลาดถูกขายด้วย โดยระบุว่า ต่างชาติ ขายหุ้นสุทธิในภูมิภาค กว่า 1,200 ล้านดอลลาร์ กดดันให้หุ้นแต่ละประเทศในย่านนี้ดิ่งลงแรง โดยกดดันฟิลิปปินส์ -3.6%, อินโดนีเซีย -3.6%, เกาหลีใต้ -1.8% และไต้หวัน -1.2%
และขายหุ้นไทยเฉพาะ 1-8 พฤษภาคม อีกกว่า 12,700 ล้านบาท รวมตลอดจากต้นปี ฝรั่งขายหุ้นไทยสุทธิแล้ว กว่า 92,000 ล้านบาท และเชื่อว่าจะยังขายหุ้นต่อไป
“เชื่อว่า Fund Flow ยังไม่ไหลกลับเข้ามาในเอเชีย โดยเฉพาะไทยในเร็วๆนี้ จากประเด็น ความกังวลสงครามการค้าจีนกับอเมริกาที่ยังมีอยู่ รวมถึงค่าเงินในภูมิภาคที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า
ตั้งแค่ บอนด์ยิลด์ 10 ปีของอเมริกาปรับขึ้นสูงกว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปีของไทย ราว 0.37% ทำให้ค้าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงอีก โดยเฉพาะเดือนเมษายนอ่อนลงไป 1.39% กดดันให้ฟันด์โฟลไหลออกต่อเนื่องจากต้นปี ซึ่งจากนี้ไปจะยังไม่ไหลเข้ามา แต่จะไหลออกต่อเนื่อง โดยเฉพาะยังเห็นสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟด อเมริกา จากตัวเลขเศรษฐกิจเชิงบวก ยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า บอนด์ยิลด์อเมริกา ยังสูงต่อไป
ขณะที่ การประกาศผลการดำเนินเงินของบริษัทจดทะเบียนของไทย ไตรมาสแรกของปี 2561 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเผชิญกับแรงขายทำกำไร และการจ่ายปันผล
ทำให้คาดว่า ตลาดหุ้นไทย จะผันผวนใต้กรอบ 1,800 จุดต่อไป”
ขณะเดียวกันกับที่ ปัจจัยต่างประเทศ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในหุ้น กรณีที่ ประธานาะธิบดีทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ เป็นไปตามความคาดหมาย โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งอิหร่านในการพัฒนาขีปนาวุธได้ และสหรัฐฯ จะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรในระดับสูงสุดต่ออิหร่าน แต่ก็มีช่องเปิดให้ตรงที่ จะให้เวลาอีก 90-180 วันในการประกาศคว่ำบาตร ทำให้มีการประเมินว่า อาจมีช่องทางการเจรจา เกิดขึ้นอีกก็เป็นได้
บริษัทไทยออยล์ประเมินว่าผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านไม่รุนแรงเท่ากับในช่วงก่อนการเซ็นสัญญาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในปี 2015 หากยุโรปยังไม่ถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวและผู้ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านในเอเชียไม่ได้เข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตร ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และเข้าใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ส่งผลให้เกิดแรงขายทำกำไร
บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (KTBST) ให้ความเห็นว่า ในอดีตสหรัฐฯเคยมีการคว่ำบาตรกับทางอิหร่านในด้านการตัดขาดกิจกรรมทางการเงินและกิจกรรมเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ แต่การที่สหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรใน"ระดับสูง" นั่นอาจหมายถึงการใช้มาตรการตอบโต้ในแบบเดียวกันที่เคยทำกับเกาหลีเหนือซึ่งเป็นการตัดขาดทางเศรษฐกิจกับอิหร่านสิ้นเชิง พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติทำตามด้วยเช่นกัน ซึ่งหากไม่มีประเทศใดปฏิบัติตาม สหรัฐฯจะถือว่าประเทศดังกล่าวให้ความร่วมมือกับประเทศที่ถูกกล่าวหาโดยทันที เป็นประเด็นที่ต้องตามต่อ แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 76 ดอลลาร์ และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เกิดความกังวลต่อระดับเงินเฟ้อและการไหลของเงินลงทุนออกจากเอเชียและไทย
“โดยรวมยังมองว่าแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศยังเป็นตัวดึงไม่ให้ดัชนีฯไปได้ไกล จึงยังคงแนะนำชะลอลงทุนหุ้นที่เสี่ยงถูกต่างชาติขาย เน้นลงทุนหุ้นมีปัจจัยเฉพาะตัว”
เป็นแบบนี้แล้ว...การขายหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม ของนักลงทุนต่างชาติจึงยังจะเกิดต่อไป และทำให้หุ้นไม่ขึ้นมาเกิน 1,800 จุดได้ และหลุดแนวรับลงมาจนเกิดคำแนะนำว่า อย่าซื้อหุ้นจนกว่าจะเห็นตลาดแข็งแรงขึ้นจริงๆแล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงควรจะข้ามผ่านด่าน 1,800 จุดไปได้อย่างมั่นคงก่อนก็ไม่สายเกินไป