top of page
379208.jpg

เตือนรัฐทำผิดกฎหมาย..สาวไส้ประมูล! เอราวัณ-บงกช เอื้อประโยชน์เสือนอนกิน


อดีตขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล” นั่งดูดายต่อไปไม่ไหว ออกโรงแจกแจงการเปิดประมูลแหล่งก๊าซ “เอราวัณ-บงกช” ว่าทำให้ประเทศเสียประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์ เมื่อไม่ได้มีการตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” มาดูแลผลประโยชน์ทั้งหมด เท่ากับเอื้อประโยชน์กับผลกำไรตกแก่เอกชน ผูกขาดฟันกำไรแบบเสือนอนกินสบายๆ ท้วงติงรัฐกำลังทำผิดกฎหมายปล่อยให้คนประมูลได้ท่อส่งก๊าซใต้ทะเล มูลค่า 2.8 แสนล้านบาท ไปครอบครองเป็นเวลา 26 ปีทำมาหากินต่อ....ในราคาถูกๆ ต่ำกว่ามูลค่าลงทุน

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานเดินหน้าเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและแหล่งก๊าซบงกชว่า ก่อนหน้านี้ทางภาคประชาชนพยายามที่จะแนะนำรัฐบาลว่าการบริหารจัดการแหล่งก๊าซเอราวัณและแหล่งก๊าซบงกชซึ่งกำลังหมดสัญญาสัมปทานนั้นต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน

โดยจากเดิมที่เรามีวิธีการในการที่จะให้สิทธิ์ในรูปแบบสัมปทาน ก็มีการบอกว่าควรจะเปลี่ยน และเพิ่มรูปแบบเป็นในลักษณะการแบ่งปันผลผลิต หรือในรูปแบบการจ้างผลิตที่ในต่างประเทศเขาทำกัน เพราะจะทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงกว่า

“ปรากฏว่ามีการไปแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เปิดทางเลือก 2 ทางที่ว่านี้ แต่ทางเลือกที่เปิดมานั้นปรากฏว่าไปออกประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมเพื่อปิดช่องทางในรูปแบบการจ้างผลิต เนื่องจากไปกำหนดปริมาณสำรองที่จะใช้ในระบบจ้างผลิตมันมาก เลยปิดช่องทางนี้ ซึ่งส่วนตัวสงสัยการออกประกาศปิดช่องทางนี้เพราะอะไร โดยปัจจัยหลักในการจ้างผลิตคือปิโตรเลียมทั้งหมดเป็นของรัฐ เพราะฉะนั้นถ้าใช้ระบบจ้างผลิตเมื่อไหร่ มันต้องสร้างบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และพอสร้างบรรษัทพลังงานแห่งชาติเมื่อไหร่ คนที่จะบริหารจัดการเรื่องก๊าซของประเทศไทย มันจะไม่ใช่บริษัท ซึ่งปัจจุบันผูกขาด เท่าที่ส่วนตัววิเคราะห์มันเกิดการยืมเพื่อที่จะให้วิธีการดำเนินงานมันกลับไปเป็นผลประโยชน์กับบริษัทปัจจุบันที่ผูกขาด ให้มีการผูกขาดเช่นเดิม”

นายธีระชัยกล่าวว่า การดำเนินการอย่างนั้น มันทำให้ประเทศเสียประโยชน์ตามประกาศ คือเราต้องเข้าใจว่าบริษัทที่ผูกขาดในปัจจุบันมีเอกชนที่ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย และผู้ถือหุ้นบางคนเป็นคนไทยก็จริง บางคนเป็นต่างชาติ โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้น เราก็ไม่รู้ว่าจะมีคนแบบจอร์จ โซรอสหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ถ้าเราไปทำผลประโยชน์ที่มันเกินเหตุเกิดขึ้นกับบริษัทที่ผูกขาดที่เป็นบริษัทเอกชน แทนที่จะเป็นการให้ประโยชน์ไปเกิดกับบรรษัทพลังงานแห่งชาติมันก็เท่ากับเราเอาผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศไปให้เป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นกลุ่มเล็กและผู้ถือหุ้นต่างชาติ

“เวลานี้ที่เขาตัดรูปแบบการจ้างผลิตไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว มันก็จะเหลือรูปแบบแบ่งปันผลผลิต แต่ปรากฏว่ากติกาที่ออกมามันก็ไม่ได้ทำแบบสากล ส่วนที่หนึ่งก็คือว่า ระบบในการคัดเลือกไปใช้วิธีการในการให้น้ำหนักอะไรวุ่นวายไปหมด แต่ปัญหาคือเขาไปให้น้ำหนักการกำหนดราคาขายก๊าซมากเลย โดยบอกว่าถ้าใครเสนอขายก๊าซในราคาต่ำกว่าคนอื่น เขาจะให้คะแนนถึง 65% และถ้าใครแบ่งผลกำไรให้กับรัฐมากกว่าคนอื่น เขาให้คะแนน 25% โดยอ้างว่าที่ทำอย่างนั้น เพื่อให้มีการขายก๊าซให้กับประชาชนได้ใช้ในราคาถูก แต่ว่าถ้าเป็นอย่างนั้นรัฐบาลต้องการให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกจริง รัฐบาลจะต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติขายก๊าซโดยตรงให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตโดยไม่ต้องบวกกำไร ถ้าทำแบบนั้นก็ทำได้เลย ไม่ต้องขายผ่านคนกลาง ทำให้มีคนที่มีกำไรในลักษณะนอนอ้าปากอยู่ก็มีเหยื่อเข้ามา แล้วก็ไปมีอำนาจผูกขาดต่อไปดั่งเดิม” นายธีระชัยกล่าว

“ตรงนี้ผมคิดว่ามันทำให้ผลประโยชน์มันไม่เกิดต่อประเทศชาติและประชาชนเท่าที่ควร คือการที่ไปอ้างว่าการขายก๊าซในราคาที่ต่ำโดยเฉพาะก๊าซที่เป็นส่วนแบ่งของรัฐ แล้วจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค อย่าลืมว่ารัฐบาลมีหน้าที่ต่อทุกคนไม่เฉพาะคนที่บริโภค เพราะคนที่ใช้ไฟมีทั้งบริษัท ห้างร้าน โรงงาน นักลงทุนต่างประเทศ พวกเอาไปใช้ในสถานบันเทิงอะไรต่างๆไปทำกำไรต่ออีก เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ รัฐบาลมีวิธีการขายก๊าซที่เป็นส่วนแบ่งของรัฐ แทนที่จะขายในราคาต่ำสุดไม่ใช่ แต่ต้องขายได้ราคาที่สูงสุด ยกเว้นถ้าเขาต้องการจะให้การผลิตไฟฟ้าราคาต่ำ ก็ขายให้โดยไม่มีกำไร แต่ที่เหลือต้องขายในราคาสูงสุด เพื่อรัฐบาลจะได้บริษัทพลังงานแห่งชาติจะได้มีกำไรมากที่สุดสำหรับเอาไปพัฒนาประเทศ หากประชาชนผู้ใช้จะเดือดร้อน ก็ไปอุดหนุนให้การช่วยเหลือ เป็นการให้โดยตรงกับผู้มีรายได้น้อย อย่างนี้ถึงจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินอย่างถูกต้อง

นอกเหนือจากนั้นในเรื่องกฎกติกาการเปิดประมูล นายธีระชัยตั้งข้อสังเกตว่าพยายามบิดไปบิดมา ให้มีลักษณะเป็นสัมปทานเหมือนเดิมอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอย่างที่มองเห็นส่วนหนึ่งก็คือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชขณะนี้มันมีแท่นผลิตปิโตรเลียมอยู่ทั้งหมดประมาณ 178 แห่ง แต่ละแท่นจะมีสายท่อต่อลงไปจำนวนมาก เพราะฉะนั้นทั้งหมดมันมีหลุมเจาะทั้งหมด 2,980 หลุม นอกเหนือจากนั้นข้างล่างมันยังมีระบบส่งก๊าซทางท่อภายในแหล่งเอราวัณและภายในแหล่งบงกชของเขาเอง เพื่อที่จะวิ่งออกไปแล้วไปต่อกับท่อข้างนอก ทั้งหมดภาษากฎหมายเรียกว่าสิ่งติดตั้ง เอกชนลงทุนเอาไว้มูลค่าทั้งหมดประมาณ 2.8 แสนล้านบาท แล้วทั้งหมดนี้กำลังตกเป็นของรัฐ

“ถ้ามีการต่อสัมปทาน เอกชนจะได้ใช้ตรงนี้ฟรีไปเลย แต่พอมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตตัวพลับบลิกที่ตกเป็นของรัฐมันต้องคิดค่าเช่า ค่าตอบแทนให้รัฐ ปรากฏว่าเขากำหนดค่าตอบแทนสำหรับแหล่งเอราวัณ 350 ล้านบาท ส่วนแหล่งบงกช 175 ล้านบาทและไม่ใช่ต่อปี แต่เป็นทั้งอายุโครงการ และ

“เขาบอกว่าการสำรวจให้ 3 ปี บวกอีก 3 ปี เป็น 6 ปี ส่วนการผลิตให้ 10 ปี บวก อีก 10 ปีก็เป็น 20 ปี เท่ากับรวมเป็น 26 ปี และถ้าหารด้วย 26 ตกปีละ 20 ล้านบาท ถือว่าถูกมาก ตรงนี้ถือว่าผิดกฎหมายไหม การให้ทรัพย์สินของรัฐออกให้เช่าในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ส่วนตัวมองว่าผิดกฎหมาย” นายธีระชัยกล่าวและแนะว่าสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการคือไปเลือกผู้เชี่ยวชาญสากลมาทำการตีราคา ว่ามีราคาเท่าไหร่แล้ว ลงทะเบียน/ลงบัญชีให้สรรพากรตรวจสอบให้เรียบร้อย แล้วก็ให้ผู้เชี่ยวชาญตีออกมาว่าควรคิดค่าเช่าเท่าไหร่ “ไม่ใช่ทำแบบเวลานี้ ผมคิดว่าผิดกฎหมาย แล้วค่าเช่าก็กำหนดต่ำไป”

นายธีระชัยยังกล่าวถึงระบบท่อ ที่ส่งกันแบบใยแมงมุมอยู่ทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช ยังเป็นท่อทางผ่านสำหรับคนอื่นมาใช้ด้วย โดยคนอื่นหมายถึงคนที่ได้สัมปทานนอกเอราวัณและบงกช เขาก็มาขออาศัยท่อนี้ด้วย ขณะที่ท่อนี้จะตกเป็นของรัฐ ปรากฏว่าเขาก็ไปกำหนดกติกาว่าให้เอกชนรายไหนที่ชนะให้ไปเจรจากับคนที่ใช้ท่อจะแบ่งค่าใช้จ่ายอะไรอย่างไร อย่างนี้ก็ไม่ได้เรื่อง เพราะเป็นทรัพย์สินของรัฐ และดันไปมอบให้เอกชนไปเจรจากับเอกชนรายอื่น ตรงนี้ก็ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน

“อย่าลืมว่าเวลานี้มันมีแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช แล้วก็มีคนได้สัมปทานอยู่นอกแล้วมาใช้ระบบท่อ สมมุติว่าวันหนึ่งเกิดไปเจอแหล่งก๊าซเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ทำการสำรวจ เช่นไปเจอแหล่งแถวกัมพูชา เวียดนาม หรือส่วนหนึ่งทางมาเลเซียเพิ่มเติม แล้วเกิดจำเป็นต้องมาอาศัยท่อแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อตัวทรัพย์สินตรงนี้กลายเป็นว่าไปมอบอำนาจเอกชนเข้าไปบริหารจัดการเป็นคนเจรจา เพราะฉะนั้น ตัวติดตั้งทั้งหมด การบริหารจัดการที่ดีคือต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติให้เข้ามาเป็นผู้รับดูแล เพราะว่ามันต้องใช้ดูแลในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่ทำมาแล้วมันเกิดเฉยๆ มันจะต้องมีการใช้ และต้องมีการซ่อมบำรุงรักษา มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ตรงนี้มันต้องมีการตรวจสอบได้โดยสตง.ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้มันเท่าไหร่ ขณะนี้ค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปเขาเอามาหักจากผลผลิตแล้วก็พอหักแล้วก็คือว่ารัฐต้องเข้าไปร่วมรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วย แล้วสตง.ไม่สามารถตรวจได้มันจะเป็นธรรมได้อย่างไร”

79 views
bottom of page