ไก่ยืนกรงล้นเล้า ส่งผลไข่ไก่ล้นทะลัก ซ้ำถูกไข่ไก่นำเข้ามาแย่งตลาด ฉุดราคาไข่ตกแล้วตกอีกมากว่าปี ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขาดทุนสะสม หลายรายเลิกเลี้ยงเด็ดขาด หลายรายเลี้ยงๆ หยุดๆ เผย...ร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด ทั้งกดราคารับซื้อ ทั้งจ่ายเงินช้า ทั้งขอร้องแกมบังคับให้ร่วมทำโปรขายไข่ราคาถูก ผู้เลี้ยงไก่เหมือนถูกปล่อยเกาะ รอภาครัฐยื่นมือมาช่วยเหลือ
นายมาโนช ชูทับทิม ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงไก่ไข่แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ผู้เลี้ยงไก่ในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมามีวิกฤตเรื่องไข่ไก่ล้นตลาด แม้ขณะนี้จะเริ่มมีข่าวดีบ้าง แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคขวากหนามบ้างพอสมควร
“ไข่ไก่ในช่วงที่ผ่านมามีราคาถูกยาวนานมาเป็นปีๆแล้ว ราคาที่ขึ้นมาบ้างก็ขึ้นมาเล็กน้อยแล้วก็ลงไปต่อ ซึ่งซัพพลายมันเกินเยอะ และมีการนำเข้าจากที่เราเปิดเสรี จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในรอบหลายสิบปี คือขาดทุนเฉลี่ย 1 ฟอง 80 สตางค์ถึง 1 บาท ทำให้คนเลี้ยงอยู่ไม่ได้ เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ออกไปเรียกร้องและทำความเข้าใจกับทางราชการและผู้ประกอบการที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ด้วยว่า ต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นก็อยู่กันไม่ได้ ช่วงที่วิกฤตสุดๆ ถือว่าได้ผ่านไปแล้วคือช่วงต้นเดือนมกราคมไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งช่วงที่เริ่มวิกฤตก็คือก่อนเดือนมกราคม ก็รอการแก้ปัญหา รอท้องฟ้าใส แต่ก็แก้ไม่ได้สักที เนื่องจากพ่อแม่พันธุ์ที่ปั๊มลูกไก่ แล้วมาเป็นไก่ยืนกรงที่ผลิตไข่ส่วนเกินมันเยอะและมีมาเติมตลอดเวลา ทางเอ้กบอร์ดจึงมีมาตรการต้องลดพ่อแม่ปู่ย่าไก่ให้น้อยลง สามารถให้มันบาลานซ์ทั้งการผลิตและการบริโภคให้ได้ คือจากกว่า 6 แสนตัว ให้เหลือ 5.5 แสนตัว แต่มาตรการนี้ก็จะส่งผลในปีหน้า เพราะไก่ยืนกรงมันยังอยู่...
ส่วนมาตรการที่สองคือการปลดไก่ให้ต่ำกว่า 72 สัปดาห์ คืออย่าให้เกิน 80 สัปดาห์ ให้มีการปลดไก่ ส่วนมาตรการที่สามคือให้ส่งไข่ไก่ส่วนเกิน ออกไปในทุกตลาด เพื่อระบายส่วนเกิน ซึ่งก็จะช่วยได้บ้าง เป็นมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่ได้ทำควบคู่กันหมด ที่ผ่านมาก็ได้รับทั้งความร่วมมือและไม่ได้รับความร่วมมือ แต่ก็โชคดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ยื่นมือลงมาช่วย ทำให้ทางผู้ประกอบการโดยทั่วไปโดยเฉพาะพ่อแม่พันธุ์ให้ความร่วมมือ และทางส่งออกก็ให้ความร่วมมือ เกษตรกรก็ให้ความร่วมมือ จนราคาไข่ไก่มีการปรับตัวสูงขึ้น เมื่อวันที่ 9 เมษายน คือขึ้นมา 20 สตางค์ และราคามีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายนขึ้นมาอีก 20 สตางค์ ซึ่งก็จะมีราคาที่ 2.45 บาท แต่ว่าต้นทุนอยู่ที่ 2.80 บาทต่อฟอง ราคาที่ขึ้นนั้นก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป เราต้องคำนึงถึงความเป็นไปของกลไกตลาด ไม่ใช่ว่าเราจะเอาแต่ราคาของเราเพื่อให้คุ้มทุนอย่างเดียว ซึ่งต้องดูผู้บริโภคและกลไกตลาดด้วยว่ารองรับได้หรือไม่ แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ทางการได้เข้ามาช่วยรวมถึงได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เข้ามาช่วยกัน”
สำหรับวิกฤตราคาไข่ไก่ครั้งนี้ นายมาโนช กล่าวว่ามีผลต่อผู้เลี้ยงไก่บ้างพอสมควร เพราะขาดทุนซ้ำซ้อนกันมา 2-3 ปีแล้ว ทำให้ผู้เลี้ยงที่สายป่านสั้นต้องเลิกกิจการไปโดยปริยายทั้งเลิกขาดและรอเวลาเลิก
“ที่ผ่านมาถือว่าเลิกเลี้ยงไปเยอะ ส่วนรายใหญ่ที่ผ่านมาก็พออยู่ได้ ซึ่งก็ไม่ได้เข้ามาช่วยรายเล็ก คือต่างคนต่างเลี้ยง ตัวใครตัวมัน เพราะเขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน ขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มาจากพ่อแม่พันธุ์ที่มันเกินในระบบ คือมีการปั๊มไก่กันมาอยู่เรื่อยๆ ทั้งลูกเจี๊ยบ ทั้งไก่ยืนกรง ไข่ที่ออกมาจึงเป็นลูกโซ่ของมัน เมื่อโอเวอร์ซัพพลายขึ้นมาก็เกิดปัญหา สมมุติมีการประกาศว่าไข่ไก่ ขายอยู่ที่ 2 บาทต่อฟอง พอขายแล้วจะเหลือ 1.80 บาท คนที่ไม่มีตลาด ไม่มีกำลัง และไม่มีช่องทาง ก็ต้องยอมพ่อค้าไป และก็เกิดการขาดทุน พร้อมเลิกกิจการไปในที่สุด...
ถามว่าโอกาสผู้เลี้ยงรายย่อยที่จะส่งไข่ไก่ไปขายร้านสะดวกซื้อ มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน ก็ต้องบอกว่าปิดประตูไปเลย โดยส่วนตัวถือว่าเป็นผู้เลี้ยงระดับรายกลางๆ มีการเลี้ยงไก่ 2-3 แสนตัว ซึ่งเราเองเมื่อดูเงื่อนไขของโมเดิร์นเทรด รวมถึงห้างต่างๆ ก็รับไม่ได้แล้ว เครดิตเป็นเดือนสองเดือน เราไม่มีเงินทุนที่จะอยู่ตรงนี้ได้ ซึ่งเขามีเงื่อนไขเยอะ แล้วก็มาต่อรองราคาสินค้าของเรา มาจัดทำโปรโมชั่น ตรงนี้ต้องแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เราก็ได้ไปร้องเรียนที่กรมการค้าภายใน เนื่องจากมีการขายไข่ไก่ในราคาที่ถูกเกินไปทั้งผู้ประกอบการที่ส่งให้ ทั้งซัพพลายเออร์ โดยทั้ง 2 รายก็บอกว่าไม่ได้ขายให้ในราคาถูก แต่ว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไปตั้งราคาขายถูกเอง ทำให้กลไกตลาดเสียหมด ทั้งนี้อำนาจต่อรองของเราไม่มี นอกเสียจากจะมีการรวมตัวกันเรียกร้องให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาให้เรา”
ส่วนการขายไข่ไก่ผ่านออนไลน์นั้น นายมาโนช กล่าวว่า เกษตรกรรุ่นใหม่ๆ พยายามทำอยู่ แต่ยังไม่ได้ผลเท่าไหร่ เพราะสินค้าไข่ไก่ คนซื้อต้องมีความเชื่อมั่น กลัวไม่สด ไม่ได้ขนาดตามที่สั่ง ความน่าเชื่อถือไม่เท่ากับซื้อจากคนขายโดยตรง
“ช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวไทยมีการช่วยกันบริโภคไข่ไก่จำนวนมาก และการรณรงค์การบริโภคไข่ไก่ 300 ฟองต่อคนต่อปี ก็ยังเป็นโครงการที่เอ้กบอร์ดสนับสนุนอยู่ ซึ่งหากใครต้องการซื้อไข่ไก่ในราคาที่ไม่สูงมาก ให้ไปที่ตลาดสด ส่วนที่ขายในสถานค้าปลีกก็ต้องดูช่วงที่จัดโปรโมชั่น ขณะเดียวกัน การที่เราจะไปจัดแผงแล้วค้าขายไข่ไก่เองตามสถานที่ทั่วไปก็คงทำไม่ไหว ซึ่งก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพ่อค้าเขาเองน่าจะดีกว่า เราเองเต็มที่ได้แค่ไปออกงานกับกรมการค้าภายในที่จัดขึ้นตามสหกรณ์ทั่วไปเท่านั้น”