ในยุคสื่อไซเบอร์ครองโลก ข้อมูลข่าวสารไหลผ่านสมาร์ทโฟนสู่สังคมแบบไร้ขีดจำกัด ไร้พรมแดน ไร้เส้นแบ่งเวลา และการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลยังเป็นคำถาม
กรณีเฟซบุ๊กละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของสมาชิกด้วยการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการ (users) ไปใช้ทางการเมืองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความระแวงว่า จะมีการนำไปใช้ทางการค้าและด้านอื่นๆอีกหลายด้าน และยังอาจจะหละหลวมจนเกิดอาชญากรรมทางการเงินและอาชญากรรมด้านอื่นๆรวมถึงการก่อการร้ายระหว่างประเทศ
หลังความลับถูกเปิดโปงว่ารายชื่อของ users เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านคน ถูกบริษัทCambridge Analytica อันเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเมือง และว่าอาจนำไปใช้ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อ 2 ปีก่อน จนโดแนลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกอย่างพลิกความคาดหมาย ส่งผลให้ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กในตลาดนิวยอร์กตกรูดถึง 14% เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
โดยเฉพาะเมื่อมีโพลสำรวจถึงเรื่องความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันจากกรณีดังกล่าวพบว่า 44% ของประชากรสำรวจไม่เชื่อถือไว้วางใจ ( trust) ต่อเฟซบุ๊กอีกต่อไป
เฟซบุ๊กเป็นสื่อสังคมออนไลน์เครือข่าย (social media network) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก การที่ผู้บริหารเครือข่ายเฟซบุ๊กปล่อยให้มีการนำข้อมูลของสมาชิก ไปใช้ในทางมิชอบทำให้เกิดความระแวงไปทั่วโลกว่า ข้อมูลของพวกเขาในสังคมออนไลน์ อยู่ในที่ปลอดภัยหรือไม่ โดยเฉพาะกับเฟซบุ๊ก
ที่ว่าทั่วโลกนั้น หมายรวมคนไทยที่วันนี้จดทะเบียนใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตกว่า 121 ล้านเลขหมาย และนิยมเล่นเฟซบุ๊คสูงทีสุดประเทศหนึ่งด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์สุ่มสำรวจความเห็นของคนอเมริกันเมื่อสัปดาห์ก่อน พบว่ากว่า50% ให้ความเชื่อถือไว้วางใจในเฟซบุ๊กต่ำกว่าบริษัทเทคโนโลยีสื่อสารอื่นๆที่รวบรวมข้อมูลของผู้ใช้บริการ เช่น Apple Inc., Google ของ Alphabet Inc., Amazon.com Inc., Microsoft Corp. และ Yahoo.
ขณะที่ 41% ของประชากรสำรวจเรียกร้องให้เฟซบุ๊กปฏิบัติตามกฎหมายข้อมูลส่วนตัวของสหรัฐอย่างเคร่งครัด โดย 66% ให้ความเชื่อถืออะเมซอน 62% ให้ความเชื่อถือกูเกิล60% .ให้ความเชื่อถือไมโครซอฟท์และ 47% ให้ความเชื่อถือยะฮู
คนไทยที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต ส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้เอะใจว่า ตัวเองทำงานหรือใช้งานบริการอินเทอร์เน็ตในด้านต่างๆนั้น ล้วนต้องผ่านเครือข่ายข้อมูลเชื่อมโยงเหล่านี้ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเปิดอ่านข่าวจากทั่วโลก อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ดูคลิปวีดิโอ ดูหนังฟังเพลง เล่นเกม แชทกับเพื่อน ส่ง-รับอีเมล จ่าย-โอนเงิน ฯลฯ
ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง (internet of things) ภัยมืดที่มากับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตนี้ มาประชิดตัวเราโดยที่เราไม่รู้สึกตัว
ข้อมูลส่วนตัวที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตระบุเมื่อสมัครใช้บริการกับบริษัทสื่อสารไซเบอร์เช่น username, password วันเดือนปีเกิด การศึกษา ประวัติส่วนตัวด้านต่างๆ อาชีพ ข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ ฯลฯ นั้น
ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เข้ามามีบทบาท มีการซื้อขายข้อมูลเหล่านี้กันอย่างลับๆกันนานแล้ว
จากแหล่งข้อมูล ตั้งแต่สำนักทะเบียนราษฎร โรงเรียน (รายชื่อศิษย์เก่า) มหาวิทยาลัย สมาคม โรงพยาบาล สหกรณ์ สมาคม ฯลฯ
จนแม้แต่วัดก็เป็นแหล่งข้อมูลรายชื่อจากหน้าซองกฐิน ซองผ้าป่า...สนนราคาเริ่มตั้งแต่ชื่อละ 1 บาทไปจนถึง 10 บาทขึ้นอยู่กับจำนวนชื่อและความสำคัญของเจ้าของชื่อ
ชื่อและที่อยู่เหล่านี้ นักขายประกันชีวิต ประกันภัย ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ นักขายตรง ธุรกิจเครือข่ายรูปแบบต่างๆ เป็นลูกค้า
การใช้วิธีนำโบชัวร์หรือจดหมายหรือเอกสารไปเสียบตามประตูบ้านหรือกล่องรับวัสดุไปรษณีย์ตามบ้านได้ผลน้อยกว่า การส่งจดหมายที่ระบุชื่อผู้รับ
เหตุผลก็คือ ผู้รับรู้สึกว่า ผู้ส่งให้ความสำคัญต่อตน เป็นการเฉพาะตัว
เมื่อนำมาเทียบกับการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในวันนี้ รายชื่อที่เรา register กับ Gmail, yahoo, hotmail, Facebook, LINE ฯลฯ ซึ่งต้องตั้งชื่อ username และรหัสผ่าน password นี้
หากตกไปถึงมือคนที่ทำมาหากินกับข้อมูล หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลถือเป็นความเสี่ยงยิ่งยวด
ลำพังส่งเอกสารเสนอขายประกันชีวิต ขายประกันสุขภาพ ขายสินค้าหรือขายตรงแบบส่ง
จดหมายระบุชื่อไปยังที่อยู่ตามรูปแบบเก่า หรือเป็นโฆษณาอย่างที่เฟซบุ๊กทำอยู่ ก็คงจะพอทำเนา
แต่ถ้าเกิดอาชญากรไซเบอร์ที่ช่ำชองสามารถเข้ามาแฮกข้อมูลของเราได้ ก็จะนำไปตรวจสอบสถานะทางการเงินของเรา ตรวจสอบบัญชีเงินฝาก ตรวจสอบการเบิก โอน ส่งเงินเข้าบัญชี ฯลฯ เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของเรา
คนที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีวงเงินสูงๆ จะโดนโจมตีด้วยการสวมรอยเป็นตัวเจ้าของบัญชีผ่านพาสเวิร์ดที่ถูกแฮก
พวกคอลเซ็นเตอร์ พวกสวมรอยธนาคาร ส่งข้อความมาตรวจสอบหรือให้ตอบกลับ ด้วยหมายเลขโทรศัพท์ตอนนี้โดนกันหลายรายแล้ว พวกสื่อออนไลน์แจ้งเตือนกันเป็นประจำ
หลังจากยูสเซอร์เฟซบุ๊กถูกนำชื่อไปใช้ทางการเมือง ทำให้เกิดคำถามว่า
เมื่อสามารถนำไปใช้ทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิผล แล้วหากนำไปใช้ทางอื่นล่ะ?
ขณะนี้ fake news กำลังระบาด มีการส่งข่าวหลอก ข่าวลวง ข่าวเท็จ กันไปทั่ว ถึงขนาดบางแห่งเช่นอินเดียรัฐบาลออกมาจัดการกับเว็บและผู้โพสต์เฟคนิวส์อย่างเด็ดขาด
บ้านเราขณะนี้เริ่มโหมโรงโจมตีกันถี่ขึ้นระหว่างผู้ฝักใฝ่ในพรรคการเมืองด้วยกันเอง กับผู้สนับสนุน และผู้คัดค้าน
หากไม่มีการเลื่อนโรดแมปออกไปจากเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป สื่อไซเบอร์ของไทยจะแออัด คับคั่งด้วยข้อมูล ข้อความ fake news, hate speech การให้ร้ายป้ายสี แออัด คับคั่ง ตลอด 24 ชั่วโมง
ปัญหาเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริหารสื่อออนไลน์ในไทยคงจะไม่ร้ายแรงเท่ากับในสหรัฐ แต่สิ่งหนึ่งที่พึงสังวรก็คือ ทุกวันนี้ มีคลิปโฆษณา ภาพนิ่ง ข้อความเกลื่อนกล่นเข้ามาในจอภาพสมาร์ทโฟนของเราวันละเป็นร้อยๆชิ้น
เฉพาะส่วนตัวยูสเซอร์เฟซบุ๊กเอง มีข้อความทักทายตั้งแต่เช้า บ่าย มีข้อความกระตุ้นให้สร้างกิจกรรม ทำควิชมีการเชิญชวนให้อวยพรวันเกิด ชักชวนเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนในเฟซ ฯลฯ
เฟซบุ๊กเข้ามารบกวน ความเป็นส่วนตัว (privacy) ของเรามากไปหรือเปล่า?
เรื่องโฆษณานั้น หากเป็นการโฆษณาสาธารณะ ก็คงจะไม่เป็นปัญหา เพราะถือเป็นสื่อไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์หรือทีวี ย่อมต้องมีการขายโฆษณาเพื่อเป็นรายได้
เฉพาะปีที่แล้วเฟซบุ๊กทำรายได้จากการขายโฆษณาได้ถึง 40,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยมีผู้ใช้บริการ (active users) ถึง 2 พันครั้งต่อเดือน
ไม่ว่าจะเพียง 1 ครั้ง 5-10-100 ครั้ง ในจำนวนนั้น ย่อมเป็นของเรา ของเพื่อนเรา ญาติเรา คนใกล้ชิดเราฯลฯ
การสื่อสารที่ใกล้ชิด การนำข้อมูลส่วนตัวของเรามาแชร์เช่นนี้
คิดไหมว่า วันหนึ่งเราอาจจะถูกล้วงความลับถูกมิจฉาชีพแฮกเอาไปใช้ก่ออาชญากรรมโดยเราไม่รู้ตัว ไม่รู้อะไรเลย อย่างที่คนอเมริกันกว่า 50 ล้านคน โดนมาแล้ว?