top of page
312345.jpg

ธุรกิจประกันภัยยังคงร้อนแรง...BKI ชูแผนยุทธศาสตร์ แข่งเดือด-ลุยดิจิทัล


ธุรกิจประกันภัยปีนี้ ยังคงร้อนแรงปรอทแตกเหมือนเช่นเคย ทุกสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้อง บริษัทขนาดใหญ่ทุกรายต้องปรับตัวรองรับผลกระทบจากการแข่งขันที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะโจทย์ของธุรกิจประกันภัยในปัจจุบัน ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการแข่งขันด้วยกันเอง แต่ยังต้องสร้างเกราะป้องกันตัวเองให้ทันกระแสโลกธุรกิจและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็วตามยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคแทบทุกธุรกิจอุตสาหกรรมอีกด้วย

นายชัย โสภณพนิช ที่ปรึกษาด้านกิจการต่างประเทศและประธานกรรมการ มูลนิธิกรุงเทพประกันภัย (BKI) เปิดเผยภาพรวมการลงทุนในธุรกิจประกันภัยปีนี้ว่า แม้แนวโน้มธุรกิจจะมีทิศทางกระเตื้องขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ทั้งธุรกิจเติบโตในอัตราชะลอตัว แต่คาดว่าภาพการลงทุนโดยรวมจะไม่ทรุดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ เพียงแต่ภาคธุรกิจต้องระมัดระวังความผันผวนในตลาดทุนและตลาดเงิน ซึ่งประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้ จะมีโอกาสแตะหลัก 2,000 จุดได้

“ในส่วน BKI ปีที่ผ่านมา มีกำไรจากการลงทุน 1,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% แม้ว่ากำไรจากการรับประกันภัยจะปรับลดลงเล็กน้อยเหลือ 1,396 ล้านบาท เพราะผลพวงจากการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่องในธุรกิจภาพรวม ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงไป 1% แต่การบริหารพอร์ตลงทุนของบริษัท โดยเฉพาะพอร์ตหุ้นที่มีราคาทุนทั้งหมด 2.09 หมื่นล้านบาท เทียบกับมูลค่าราคาตลาดที่ 4.96 หมื่นล้านบาท ยังคงมีทิศทางค่อนข้างดีสำหรับการเข้าไปปรับพอร์ตในส่วนของหลักทรัพย์ต่างๆ”

นายพนัส ธีรวณิชย์กุล กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร BKI กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยปีนี้ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คาดการณ์ธุรกิจจะเติบโตประมาณ 5% จากปีก่อนที่มีเบี้ยประกันรับตรง 2.19 แสนล้านบาท โดยตลาดประกันภัยรถยนต์ยังคงเป็นเป้าหมายหลักในการขยายงาน ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายรถใหม่ในปีก่อนที่เติบโต 13.4%จากที่เคยติดลบ 4 ปีติดต่อกัน ซึ่งคาดว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์จะมีประมาณ 9 แสนคัน เติบโตประมาณ 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดังนั้น จะทำให้บริษัทประกันภัยต่างๆในระบบยังมีการแข่งขันด้านราคาเบี้ยอยู่ เพียงแต่อาจไม่รุนแรงเท่ากับช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านั้น เพราะอัตราความเสียหายด้านสินไหม (Loss Ratio) ของประกันรถยนต์ทั้งระบบเริ่มสะท้อนค่าที่สูงขึ้น ประกอบกับการเติบโตของยอดขายรถยนต์ใหม่นี้ อาจจะส่งผลให้การเพิ่มประมาณลูกค้ารายใหม่ในตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บรรยากาศในการแข่งขันผ่อนคลายลง

สำหรับการประกันภัยนันมอเตอร์ (Non-Motor) มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน โดยประกันภัยทรัพย์สินคาดว่าจะได้รับผลจากโครงการก่อสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งมีการเปิดประมูลและเบิกจ่ายงบประมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา

ธุรกิจประกันวินาศภัยยังจะได้รับผลบวกจากความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ เช่น ประกันภัยโดรน (Drone) ที่ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายบังคับให้เจ้าของโดรนที่มีขนาดใหญ่ตามเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องจดทะเบียนและทำประกันภัย รวมถึงประกันภัย Cyber Insurance ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงจากความเสี่ยงด้าน Cyber Crime ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ หรือการจับจ่ายซื้อสินค้าโดยไม่ใช้เงินสด (Cashless) เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต E-Wallet ที่มีปริมาณการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนเทคโนโลยีการชำระเงินใหม่ๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบการชำระเงินด้วย QR Code หรือ QR Payment

นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยหลายแห่ง มุ่งเน้นนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าและคู่ค้า ได้แก่ ช่องทางจัดจำหน่ายที่บริษัทประกันภัยต่างๆ พัฒนาการขายผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ที่ต้องการความรวดเร็วและเลือกสรรผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวเพิ่มว่าปีที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยประกันรับรวม 1.59 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.6% ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2559 มีกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายดำเนินงานและต้นทุนทางการเงิน 1,396 ล้านบาท ที่สำคัญมีการบริหารการลงทุนที่ดี ทำให้มีกำไรก่อนหักภาษีเงินได้ 2,762 ล้านบาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว มีกำไรสุทธิ 2,403 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 22.57 บาท

สำหรับปี 2561 วางเป้าหมายเติบโต 5% หรือเบี้ยรับรวมประมาณ 1.68 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป้าหมายนี้อยู่บนสมมติฐานที่ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นด้วยแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของภาครัฐ การท่องเที่ยวและการนำเข้า-ส่งออกที่ขยายตัวขึ้น

สรุป ภาพรวมทิศทางของบริษัทในปีนี้ ได้แก่ การขยายเบี้ยประกันภัยทั้งจากการเพิ่มอัตราการต่ออายุและการหาลูกค้าใหม่ การติดตามพอร์ตรับประกัยภัย เพื่อดูแนวโน้มของผลประกอบการของลูกค้าและคู่ค้าอย่างใกล้ชิด การคัดเลือกรับประกันภัยงานที่มีคุณภาพ รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุนให้คู่ค้า ตัวแทนและนายหน้าที่มีพอร์ตงานประกันภัยจำนวนมากส่งให้แก่บริษัทเพิ่มขึ้น

การขยายตลาดลูกค้ารายย่อย เน้นเป้าหมายสำคัญสำหรับการประกันภัยรถยนต์ โดยเน้นกลุ่มงานรถบรรทุกใหญ่ ซึ่งยังมีอัตรา Loss Ratio ในระดับที่ยอมรับได้และในตลาดมีอัตราการเติบโตสูงตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าชายแดนและการก่อสร้างโครงการก่อสร้างพื้นฐานคมนาคมของภาครัฐ

ส่วนการประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่นๆนั้น บริษัทยังคงนโยบายกำหนดเบี้ยตามความเสี่ยงภัยที่แท้จริง ไม่เน้นการลดเบี้ยประกันภัยเพื่อการแข่งขัน ซึ่งบริษัทนำ Analytic Tool เข้ามาใช้ เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าอย่างจริงจัง เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าและจะนำมาซึ่งการปรับปรุงแพ็กเกจกรมธรรม์ประกันภัยให้มีศักยภาพในการขยายงาน สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เช่น ประกันภัย 2+, ประกันรถยนต์ประเภท 1 Motor Pricing by region

ส่วนงานประกันภัยนันมอเตอร์ จะเน้นขยายตลาดเฉพาะกลุ่ม (นิชมาร์เก็ต) มากขึ้น เช่น ประกันภัย D&O, ประกันภัย Trade Credit ซึ่งมีฐานลูกค้าเฉาะกลุ่มและยังมีคู่แข่งขันน้อยราย รวมถึงประกันภัยโดรน

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนงานจะนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ โดยได้ศึกษาและสร้างหน่วยงานเฉพาะด้านนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในธุรกิจ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการขายประกันภัย เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการแจ้งเคลม หรือชำระเงิน เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพในการให้บริการลูกค้าและคู่ค้าได้ดียิ่งขึ้น ลดข้อผิดพลาดในการทำงานของพนักงาน ช่วยลดต้นทุนดำเนินงานของบริษัท ประกอบกับในปัจจุบัน บริษัทให้ความสำคัญกับการนำระบบ CRM มาใช้ในการบริการลูกค้า เช่น จัดทำแผนเยี่ยมเยือนลูกค้า คู่ค้า การต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย การจัดแคมเปญการขาย ฯลฯ

ทั้งนี้ ช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยสวนทุเรียน ซึ่งถือเป็นบริษัทประกันภัยรายแรกที่มีการรับประกันภัย โดยให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัย ได้แก่ ภัยลมพายุ ลูกเห็บ น้ำท่วม ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ไฟไหม้ป่า พุ่มได้หรือพงรกโดยอุบัติเหตุ หรือเหตุที่ลุกไหม้ขึ้นมาเอง รวมถึงการกระแทก การชน หรือลำต้นหักโดยสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยงด้วย

“บริษัทเห็นถึงความสำคัญของทุเรียน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่ผ่านมา เกษตรกรมักจะประสบกับปัญหาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย โดยได้ทำลายสวนทุเรียน ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การประกันภัยสวนทุเรียนจะสามารถตอบโจทย์ในการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี”

88 views
bottom of page