ปี 2560 ผ่านพ้นไปพร้อมกับความยากลำบากกันถ้วนหน้า ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจประกันชีวิตไทย เพราะแม้ยังพอมีการเติบโตไม่ติดลบ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเปรี้ยงปร้าง ในขณะที่เศรษฐกิจไทยทยอยเริ่มฟื้นตัว แต่กลับไม่สะท้อนกำลังซื้อในธุรกิจประกันชีวิต
ส่วนปี 2561 ทิศทางธุรกิจประกันชีวิตไทย จะดำเนินไปอย่างไรนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยออกแถลงการณ์มาว่า ไม่ถึงกับมีการเติบโตแบบเร่งตัว เพราะยังมีปัจจัยต่างๆที่ทั้งเอื้อและไม่เอื้ออำนวยมากนัก ที่สำคัญ ตัวเลขเป้าหมายของปีนื้ ถูกวางพิกัดหลักให้ขับเคลื่อนไปกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่าธุรกิจประกันชีวิตในปีที่ผ่านมายังมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ เพราะภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว มูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีเบี้ยประกันชีวิตรวมในปีที่ผ่านมา 6.01 แสนล้านบาทเติบโต 5.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้านั้น
ที่สำคัญ ถือเป็นอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวในรอบ 3 ปี นับจากปี 2558-2560 จากที่ก่อนหน้านั้น ธุรกิจประกันชีวิตจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก หรือค่าเฉลี่ยมากจีดีพีทางเศรษฐกิจ 2-3 เท่าตัว
เบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป 4.33 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์เฉลี่ย 84% คิดเป็นสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตต่อ GDP 3.89% ค่าเฉลี่ยเบี้ยประกันรับตรงต่อประชากร (ประมาณ 9,000 บาท/คน เพิ่มขึ้น 5.48% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีค่าเฉลี่ยเบี้ยต่อกรมธรรม์ที่ประมาณ 8,000 บาท
ในส่วนช่องทางจัดจำหน่ายพบว่าตัวแทนประกันชีวิต ยังคงเป็นช่องทางหลักและสำคัญโดยสิ้นปี 2560 มีสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทางนี้มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 49.2% ด้วยมูลค่าเบี้ยประกันชีวิตรวม 2.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.08% รองมา อันดับสอง ช่องทางขายผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) มีสัดส่วน 44.9% มูลค่าเบี้ยประกันรวม 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.17% อันดับสาม ช่องทางการตลาดแบบตรง มีสัดส่วน 2.45% มูลค่าเบี้ยประกันชีวิตรวม 1.47 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.78% นอกนั้นที่เหลือเป็นช่องทางอื่นๆ สัดส่วน 3.45% มูลค่าเบี้ยประกันชีวิตรวม 2.07 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.03% ตามลำดับ
แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตในปี 2561 สมาคมคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องประมาณ 4-6% โดยมีปัจจัยส่งเสริมจากเศรษฐกิจในประเทศที่จะขยายตัวดีขึ้นประมาณ 3.6-4.6% จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวและมีแรงขับเคลื่อนภายในประเทศจากภาคส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐและเอกชน การบริโภคของภาคเอกชนทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น ทำให้เกิดการกระจายรายได้ ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของอนาคต
ที่สำคัญ มาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยกรมสรรพากรให้สิทธิผู้เอาประกันภัยสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเมื่อนำมารวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดที่ 1 แสนบาท นับเป็นแรงจูงใจสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันรับรวมจากประกันสุขภาพช่วงระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย. 2560 จำนวน 4.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.42%โดยปี 2561 นี้คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10%
นายกสมาคมกล่าวเพิ่มถึงทิศทางธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ว่าภาคธุรกิจจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย รองรับการวางแผนเกษียณอายุ อันเนื่องจากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีประมาณการว่าอัตราคนทำงานที่มีความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบัน เฉลี่ยคิดเป็นอัตราส่วน 4:1 แต่มีแนวโน้มว่าอีกไม่เกิน 15-20 ปีข้างหน้า จะปรับลดลงมาเป็นอัตราส่วน 1:1
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญหรือเงินได้ประจำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งแบบเหมาจ่าย ความคุ้มครองโรคร้ายแรงต่างๆ เพราะค่ารักษาพยาบาลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนและการประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น แบบประกันชีวิตควบการลงทุน จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังมีบทบาทต่อธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และจากการที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมีการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ นับเป็นโอกาสดีที่ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น โดยได้พัฒนาช่องทางขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายเพื่อรองรับช่องทางการขายนี้ เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถทำธุรกรรมด้วยความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยสูง ซึ่งคาดว่าช่องทางนี้จะสามารถเติบโตได้ดีต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตยังต้องจับตาดูผลกระทบจากปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ IFRS 9 และ IFRS17 ตารางมรณะไทยใหม่ อัตราดอกเบี้ยและ Market Conduct ถือเป็นความท้าทายภาคธุรกิจอย่างมาก
มาตรฐานบัญชีใหม่นั้น จะถูกนำมาใช้ในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะกระทบต่อบริษัทประกันชีวิตทุกแห่ง เพราะการขายผลิตภัณฑ์ต่อจากนั้นไป จะต้องสามารถรับรู้ต้นทุนกำไรตั้งแต่ขั้นตอนการนำเสนอขายออกไป ทำให้บริษัทประกันชีวิตต้องเตรียมปรับตัวรองรับผลกระทบและความรู้ความเข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ
ส่วนอัตรามรณะ หรือตารางมรณะไทยใหม่ ซึ่งจะต้องถูกปรับเปลี่ยนทุกๆ 10 ปี ปัจจุบัน คปภ.ให้ปรับมาใช้แบบใหม่ตั้งแต่ปี 2560 หลังแบบเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2551 โดยอัตรามรณะจะผันแปรตามปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทกรมธรรม์ เพศ อายุของผู้เอาประกันอายุของกรมธรรม์และอัตราการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยในแต่ละช่วงอายุ รวมถึงค่าใช้จ่ายและอัตราดอกเบี้ย
“ทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบของอัตราเบี้ยประกันชีวิต ซึ่งบริษัทประกันชีวิตอาจได้รับผลกระทบในแง่ของผลิตภัณฑ์บางแบบที่มีเบี้ยประกันปรับลดลง แต่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตต้องปรับตัวตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุนค่าคอมมิชชั่น หรือปรับลดผลประโยชน์การขายด้านต่างๆลงมา”
รายงานสมาคมประกันชีวิตไทย ระบุสถิติเบี้ยประกันรับรวมในปี 2560 พบว่าเฉพาะในส่วนเบี้ยรับปีแรก (FYP) 1.03 แสนล้านบาท ติดลบ 6% นั้น เฉพาะในกลุ่มท็อป 10 บริษัทประกันชีวิตแรกที่มี FYP สูงสุดตามลำดับ ในจำนวนนี้ 7 ใน 10 ราย มีตัวเลขเบี้ยลดลง หรือติดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
เมื่อแยกย่อยรายชนิด เบี้ยประกันประเภทสามัญ ซึ่งเป็นตัวนำตลาดประกันชีวิตมาตลอดนั้น พบว่าในปีที่ผ่านมา ทั้งระบบมีเบี้ยรับปีแรกรวมกันทั้งสิ้น 8.83 หมื่นล้านบาท ติดลบ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยพบว่าในกลุ่มบริษัทระดับท็อป 10 ที่มีเบี้ยรับสามัญสูงสุดนั้น 7 ใน 10 ราย มีเบี้ยประกันติดลบ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
เบี้ยประกันชีวิตแบบอุตสาหกรรมรวมทั้งระบบ 6,727 ล้านบาท ลดลง 4% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน เฉพาะในส่วนที่เป็นเบี้ยรับปีแรก พบว่ามีทั้งสิ้น 663 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เบี้ยประกันชีวิตกลุ่มทั้งระบบ 6.59 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% ในจำนวนนี้เป็นเบี้ยรับปีแรก 8.93 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และเบี้ยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลทั้งระบบ 5.25 พันล้านบาท ลดลง 3% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน