top of page
312345.jpg

ผู้ส่งออกอาหารครวญ ‘บาท’ หนัก...ค่าจ้างซ้ำ!!


ผู้ประกอธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งไทยกัดฟันสู้ ตั้งป้อมรับมือทั้งค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย รวมทั้งต้องควบคุมมาตรฐานสินค้าที่ EU คุมเข้มเต็มพิกัด พร้อมย้ำ...ตอนนี้ยังพอสู้ไหว แต่ถ้าปัญหาค่าแรง-ค่าเงินบาทยังยืดเยื้อต่อ 2-3 ปี มีสิทธิ์เจ็บหนักเป็นลูกระนาด

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงปัญหาการทำธุรกิจในปี 2561 ว่า ไม่เฉพาะธุรกิจแช่เยือกแข็งเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบทั้งค่าแรงขั้นต่ำหรือค่าเงินบาทที่แข็งค่า เพราะอุตสาหกรรมอื่นต่างได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ทั้งภาคการเกษตรและ SME ที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

“ตอนนี้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว อย่างน้อยดีตรงที่การปรับค่าแรงขั้นต่ำจำนวนไม่เท่ากัน ตอนแรกจะให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมดซึ่งจะส่งผลทำให้เดือดร้อนทั้งหมด โดยการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นประมาณ 5-22 บาท ซึ่งทางกกร. หรือ กรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน มีการหารือประชุมเพื่อหาข้อมูลกับหอการค้าจังหวัดเพื่อให้แสดงความคิดเห็น คาดว่าน่าจะได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วรวบรวมแถลงข่าวให้รัฐบาล เพราะคนปรับไม่ใช่คนใช้แรงงาน ซึ่งคนใช้แรงงานมีทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม บริการ ท่องเที่ยว หรือ SME เป็นผู้ใช้แรงงานตัวจริง ก็ต้องให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ออกความคิดเห็นบ้าง”

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นประมาณ 5-22 บาทนั้น นายพจน์กล่าวว่า ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบต่างกันไป อยู่ที่แต่ละจังหวัดมากหรือน้อย ยกตัวอย่างจังหวัดระนอง ที่มีการปรับขึ้นค่าแรง 10 บาท ซึ่งข้อมูลจาก กกร.ระบุว่าแรงงานในจังหวัดระนองเป็นแรงงานต่างด้าวถึง 90% มีคนไทยอยู่น้อยมาก จึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถึง 10 บาท และในจังหวัดระนองมีโรงงานอุตสาหกรรมไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร ประมง และ ท่องเที่ยว เป็นหลัก

“ทำให้ไม่เข้าใจหลักการของคณะกรรมการค่าจ้างใช้วิธีการคิดอย่างไร เพราะบางจังหวัดมีความเหมาะสมแต่บางจังหวัดไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ซึ่งแบบนี้ต้องให้หอการค้าแต่ละจังหวัดแสดงความคิดเห็นออกมา อย่างภาคการเกษตรจะมีปัญหาหนัก ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะออกมาตรการช่วยเหลือ ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะออกมาตรการอะไรมา และทางกกร.จะรอฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนแล้วจะแจ้งให้รัฐบาลทราบ หลังจากนั้นจะได้นำข้อเสนอแต่ละจังหวัดมาออกมาตรการช่วยเหลือ ภาคการเกษตรจะอีกแบบหนึ่ง ภาคแรงงาน SME ก็จะอีกแบบหนึ่ง ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่ไม่มีปัญหาเพราะอาจจะจ้างแรงงานลดลงแล้ว เพราะใช้เครื่องจักรแทน สิ่งที่กกร.ตัดสิน ไม่ค่อยคำนึงถึง SME และภาคการเกษตร”

นายพจน์ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของธุรกิจแช่เยือกแข็งไทยถือว่าได้รับผลกระทบหนักในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปัญหาเรื่องกุ้งตายด่วน ทำให้ไม่มีวัตถุดิบ รวมไปถึงปัญหาที่ EU จัดระเบียบมาตรฐาน อีกทั้งยังเจอกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งมากทำให้แข่งขันไม่ได้

“ตอนนี้อาหารแช่แข็งหรืออาหารทะเลถือว่าขายในราคาที่แพงมาก หากไม่ได้ทำ Value Added ตั้งแต่แรกคงจะล้มไปแล้ว และยังต้องมากับปัญหาเจอค่าแรงขั้นต่ำอีก ซึ่งธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปมีต้นทุนเรื่องค่าแรงถึง 20% ของการขาย เรื่องปัญหาของธุรกิจแช่เยือกแข็งมีแน่นอน แต่ก็มีความพยายามปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้กำลังทำเรื่องเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยากจะให้มีมาตรการหลายอย่างออกมาช่วยเหลือ เพราะจุดเด่นของประเทศไทยคือมีการแปรรูปมานานและมีความชำนาญเรื่องสินค้า ชำนาญเรื่องตลาดทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง แต่ในวันนี้เรื่องธุรกิจแช่เยือกแข็งไทยมีปัญหาก็ต้องมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ ซึ่งตอนนี้ได้นำเสนอรัฐบาลไปแล้ว...

“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคงไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้าย เพราะมีการปรับตัวมาตลอด ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วแรงงานต่างด้าวอยากจะมาทำงานเพิ่มหรือไม่นั้น อย่างในจังหวัดสมุทรสาครมีการปรับขึ้น 15 บาท เท่าที่ทราบมาจังหวัดสมุทรสาครไม่ได้มีการเสนอขอขึ้น เพราะจังหวัดสมุทรสาครโดนหนักสุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา GDP รายได้จังหวัดลดลงมาก และเรื่องประมงก็ได้รับความเสียหายมาก จังหวัดสมุทรสาครเพิ่มขึ้นมา 15 บาทน่าจะเป็นประเด็นพอสมควร”

ทั้งนี้ นายพจน์ยังกล่าวถึงการแข่งขันกับต่างประเทศของสินค้าเยือกแข็งแปรรูปของไทยด้วยว่า ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวมากขึ้น เพื่อให้ชนะคู่แข่งขัน โดยต้องปรับตัวหนีขึ้นไปอีก โดยการปรับตัวทั้งกับระบบ สินค้า หรือตลาด รวมไปถึงการปรับแพ็คเกจจิ้งเพื่อความสะดวกสบายของผู้บริโภค การวางจำหน่ายต้องทั่วถึงเพื่อให้แข่งขันได้

“แต่ยังมีความกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่ยังจะแข็งค่าต่อ เพราะตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมา 13-14% ถือว่าเร็วมาก ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายแล้วสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสินค้าการเกษตร อย่าง เกษตร 4.0 หรือ Innovation ไม่สามารถปรับระเบียบการทำเกษตรได้ เพราะฉะนั้นจะเป็นปัญหาที่น่าห่วงในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าถ้าค่าเงินและค่าแรงยังเป็นแบบนี้ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาล”

32 views
bottom of page