top of page
312345.jpg

ห่วงเงินบาทแข็ง ทำ ‘ข้าวไทย’ แพง...แพ้ข้าวเวียดนาม


ภาพรวมส่งออกข้าวปีนี้สดใส คาดทำสถิตินิวไฮ ปริมาณส่งออกเพิ่ม 20-30% แต่ในแง่ราคาลดต่ำลงเล็กน้อย ห่วงบาทแข็งพ่นพิษ ทำข้าวไทยแพงกว่าข้าวเวียดนาม 400 เหรียญต่อตัน ด้านผู้บริโภคชาวไทย เตรียมใจ ตั้งรับราคาข้าวหอมมะลิ แพงขึ้นโลละ 10 บาท

นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) หรือ PRG กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการประเมินและสำรวจผลผลิตข้าวนาปีของปี 2560 นี้ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิมีจำนวนลดลงเล็กน้อยประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับผลผลิตปีที่แล้ว แต่ผลผลิตของปีนี้จะไม่นำไปเปรียบเทียบกับผลผลิตจากตัวเลขประเมินของปีที่แล้ว เพราะตัวเลขประเมินของปีที่แล้วค่อนข้างสูงเกินความเป็นจริง โดยสรุปคือถ้าเทียบกับผลผลิตจริงอาจจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีบางพื้นที่ถูกน้ำท่วมในที่ลุ่มและน้ำในที่ดอนก็ไม่ดีเท่าที่คิด

ส่วนของข้าวขาวนั้น นายสมเกียรติกล่าวว่ายังไม่ใช่เวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด โดยช่วงจังหวะนี้เป็นข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่จะออกสู่ตลาดเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของข้าวหอมมะลิคาดว่ากำลังเก็บเกี่ยวได้ประมาน 30-40%

“จากการประเมินสถานการณ์ตลาดข้าวในประเทศปีนี้ เท่าที่ดูจากปริมาณผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาดคาดว่า ข้าวหอมมะลิมีราคาสูงขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเมินผลผลิตว่าอาจจะไม่ได้มากกว่าปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกับปัจจุบัน ราคาข้าวเปลือกชนิดเดียวกันกับปีที่แล้วจะมีราคาสูงขึ้นมาประมาณ 4,000 – 5,000 บาทต่อตัน และถ้าเป็นข้าวสารหอมมะลิในปัจจุบันเทียบแล้วมีราคาเพิ่มขึ้นมา 7,000 – 8,000 บาทต่อตัน เพราะต้องใช้ข้าวเปลือกประมาณ 2 ตันถึงจะมาเป็นข้าวสาร 1 ตัน ทำให้ราคาข้าวสารสูงขึ้นมา”

สำหรับการส่งออกข้าวในปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมานั้น นายสมเกียรติกล่าวว่าถือว่าส่งออกได้มากขึ้น คาดการณ์ว่าถึงสิ้นปี 2560 ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด จะมีตัวเลขเรคคอร์ด นิวไฮสำหรับการส่งออก เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีการระบายข้าวจากสต็อคและผลผลิตภาครัฐ นอกจากนั้นมีหลายประเทศที่เป็นตลาดเกิดขึ้นใหม่ เป็นลูกค้ารายใหม่ที่ประสบภัยธรรมชาติ ทำให้มีการนำเข้าข้าวมากขึ้นกว่าเดิม

“ราคาส่งออก หากเทียบเป็นรายชนิดในช่วงหลังจะมีราคาดี แต่ในช่วงต้นปี 2560 มีการระบายข้าวออกไปทำให้ราคาไม่ได้สูงกว่าเดิมมากนัก ถ้าเทียบราคาเฉลี่ยในปีนี้กับปีที่แล้ว ราคาต่อหน่วยอาจจะลดต่ำลงเล็กน้อย ประมาณไม่กี่เหรียญต่อตัน แต่ถ้าเป็นปริมาณการส่งออกถือว่าสูงขึ้นประมาณ 20 – 30%”

อย่างไรก็ตาม นายสมเกียรติแสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคค่อนข้างมากต่อการส่งออก โดยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่แข่งผู้ส่งออกข้าวด้วยกันนั้น ค่าเงินบาทของไทยเทียบค่าเงินดอลล่าร์จะแข็งค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน

“ยังถือว่าไทยยังแข่งขันได้ แต่ถ้าค่าเงินของไทยอ่อนพอกันกับคู่แข่งก็อาจจะส่งออกได้มากกว่านี้ โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่มีอินเดียตามมาติดๆ และมีการคาดการณ์ของ USDA (U.S. Department of Agriculture) ว่าอินเดียจะแซงหน้าไทยช่วง 2 เดือนสุดท้าย เพราะผลผลิตของอินเดียกำลังออกเยอะ แม้ว่าไทยมีตัวเลขนิวไฮ แต่อินเดียก็ทำนิวไฮด้วยเหมือนกัน...

สำหรับตลาดข้าวลูกค้ารายใหญ่คือฮ่องกง เมื่อ 3 ปีที่แล้วไทยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 42-43% และของเวียดนามมีสัดส่วนประมาณ 40% แต่ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 70% และของเวียดนามลดลงไปเหลือ 20% แต่ก็อย่าดีใจไป เพราะในช่วงปีนี้ข้าวในช่วงปลายปีมีราคาค่อนข้างสูง อาจจะทำให้ตลาดฮ่องกงที่เป็นลูกค้าข้าวหอมมะลิต้องคิดหนัก เพราะราคาข้าวหอมมะลิไทยส่งออกไปในตลาดฮ่องกงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,000 เหรียญต่อตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิเวียดนามส่งออกอยู่ที่ประมาณ 600 เหรียญต่อตัน ต่างกันถึง 400 เหรียญต่อตัน ซึ่งก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก่อนหน้าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่เมื่อราคาข้าวไทยแตะระดับนี้แล้วทำให้สัดส่วนการตลาดของฮ่องกงลดลง โดยก่อนหน้าปี 2554 ไทยมีสัดส่วนมากถึง 70-80% แต่พอปี 2556-2557 ไทยได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวทำให้สัดส่วนข้าวไทยลดลงอยู่ที่กว่า 40% ตอนนี้ส่วนแบ่งตลาดได้กลับขึ้นมา แต่ก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด”

ทั้งนี้ นายสมเกียรติยังกล่าวถึงผลผลิตข้าวในช่วงปลายปีนี้ที่เก็บเกี่ยวออกมาแล้วว่า มีจำนวนเพียงพอต่อการบริโภค โดยข้าวหอมมะลิมีปริมาณเพียงพอไปจนถึงปีหน้า และปัจจุบันยังมีข้าวของฤดูกาลปี 2559-2560 เหลืออยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับข้าวในฤดูกาลก่อน ถือว่าจำนวนข้าวในปีนี้เหลือจากฤดูกาลที่แล้วน้อยที่สุด เพราะปีที่แล้วมีการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตค่อนข้างผิดพลาด โดยคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตจำนวนมากกว่าจำนวนผลผลิตข้าวที่แท้จริง ขณะที่มีการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และมีตลาดใหม่ที่เกิดขึ้น อีกทั้งปีที่ผ่านมาเมื่อราคาข้าวหอมมะลิลดลงมามาก คนไทยจึงหันมาบริโภคข้าวหอมมะลิมากขึ้น ทำให้ปริมาณข้าวหอมมะลิในปีที่ผ่านมาทั้งการส่งออกและบริโภคภายในประเทศมีจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณข้าวข้ามปีในช่วงที่ผ่านมาเหลือน้อยที่สุด

ส่วนสถานการณ์ข้าวถุงในประเทศช่วงนี้นั้น นายสมเกียรติกล่าวว่ามีการแข่งขันหรือการส่งเสริมการขายข้าวถุงในประเทศค่อนข้างมาก อาจจะมีบางช่วงที่วัตถุดิบในปีนี้โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ หายออกไปจากตลาดค่อนข้างมากปริมาณการหมุนเวียนค่อนข้างน้อย ขณะที่วัตถุดิบใหม่มีราคาสูง

“มีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะมีการปรับราคาข้าวหอมมะลิในช่วงปลายปีหรือต้นปี อย่างข้าวถุง 5 กิโลกรัม ราคาวัตถุดิบต่อกิโลกรัมของข้าวสารปรับราคามาค่อนข้างมาก ประมาณ 7 – 8 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นถุงละ 50 บาท ผู้ผลิตก็ต้องแบกรับภาระไว้ส่วนหนึ่ง และจะมีการส่งเสริมการขายต่างๆ คิดว่าการปรับราคาในครั้งนี้ค่อนข้างมีนัยยะพอสมควร ขณะที่ข้าวในสต็อกที่รัฐบาลระบายออกมาไม่ได้อยู่ในข้าวถุง เพราะว่าข้าวในสต็อคของภาครัฐเก่าเกินกว่าที่บริโภค ส่วนใหญ่จะส่งออกไปแถบแอฟริกาที่บริโภคข้าวเก่าหรือบางประเทศที่บริโภคข้าวเก่ามากๆ ส่วนในประเทศไทยตอนนี้ผู้บริโภคหันมานิยมบริโภคข้าวใหม่ โดยจะสังเกตได้จากข้าวหอมมะลิต้นฤดูมียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ...

สำหรับการแข่งขันของผู้ประกอบการข้าวถุงที่มีความดุเดือดในขณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยไทยมีข้าวถุงในตลาดมากกว่า 200 แบรนด์ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคและเป็นการแข่งขันที่สมบูรณ์ แต่ปัญหาของผู้ประกอบการข้าวถุง คือ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขาย เป็นปัญหามาแต่โบราณ ปัจจุบันต้องพูดว่าค่าใช้จ่ายทางการตลาดหรือช่องการขายไม่ได้มีมาตรฐานมากำกับ ทำให้ผู้ประกอบการข้าวถุงต้องไปต่อรองกันเองในด้านการค้า หากเป็นแบรนด์ที่มีพาวเวอร์หรือเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอาจจะมีข้อได้เปรียบ...

ในส่วนของผู้ประกอบการข้าวถุงก็อยากจะลดต้นทุนเพื่อจะได้แข่งขันกันในการส่งเสริมการขาย ส่วนราคาตลาดทางผู้ประกอบการข้าวถุงคงไม่สามารถบีบได้ การรับซื้อก็เป็นไปตามปกติ ราคาตลาดเป็นแบบไหนก็เป็นแบบนั้น ซึ่งตลาดเป็นเรื่องของการต่อรองในส่วนหนึ่งก็มีผลกระทบจากการซื้อขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

34 views
bottom of page