top of page
312345.jpg

มีโอกาสพักฐานต่อในระยะสั้น


เศรษฐกิจโลกฟื้น ! สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นโลกยังคงไม่เห็นการพักตัวลงแบบเป็นเรื่องเป็นราวคงมีเหตุผลมาจากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่สดใสต่อเนื่องเป็นหลัก ซึ่งไม่เฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนเท่านั้น ล่าสุดในฝั่งยุโรปเยอรมนีในฐานะประเทศที่ใหญ่ที่สุดในยูโรโซนรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวที่ระดับ 0.8% QoQ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ที่มีการขยายตัว 0.6% QoQ และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.6% QoQ ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวได้ดีขึ้นนั้น มาจากความแข็งแกร่งของยอดส่งออก และการลงทุน

ขณะที่ในฝั่งของเอเชียจีนในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดรายงานว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเดือน ต.ค.2560 ปรับตัวขึ้น 5% YoY สู่ระดับ 6.012 หมื่นล้านหยวน และยอดการลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 7.8% YoY ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2560

ในส่วนของแนวโน้มในระยะต่อไปของเศรษฐกิจโลก ผลสำรวจที่จัดทำโดย IFO ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจทั่วโลกปรับตัวขึ้น 3.9 จุด แตะที่ 17.1 จุด ในไตรมาส 4 ของปี 2560 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554

อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคทั่วโลกจะขยายตัวรวดเร็วขึ้น ยกเว้นตะวันออกกลางและแอฟริกา

แนวโน้มในปี 2561 รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกประจำปี 2561 ฉบับล่าสุดของคอนเฟอเรนซ์บอร์ดระบุว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3% YoY ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 2.8% YoY ขณะนี้น่าจะขยายตัวราว 3% ในปี 2560 และต่อเนื่องจนถึงปี 2561

ทั้งนี้ถ้าถาม “นายหมูบิน” ว่าการฟื้นตัวดังกล่าวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบด้านบวกกับสินทรัพย์เสี่ยงกลุ่มใดมากที่สุด “นายหมูบิน” มองไปที่น้ำมันดิบ และตลาดหุ้น ซึ่งจะส่งผลเกื้อหนุนกัน

ล่าสุดกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกรายงานประจำเดือน พ.ย.2560 ระบุว่าประเทศต่างๆทั่วโลกจะมีความต้องการใช้น้ำมันโอเปกในปี 2561 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 33.42 ล้านบาร์เรล/วัน โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 360,000 บาร์เรล/วันจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวถือเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน เมื่อประกอบกับโอกาสที่ในการประชุมโอเปกที่กรุงเวียนนาในวันที่ 30 พ.ย.2560 จะมีมติเกี่ยวกับการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือนจนถึงสิ้นปี 2561 ออกมาน่าจะส่งผลกระทบด้านบวกกับราคาน้ำมันดิบ และหุ้นในกลุ่มพลังงานของโลกอย่างต่อเนื่องได้

ระยะสั้นยังมี Downside Risk : อย่างไรก็ดีประเด็นที่เป็นปัจจัยกดดันทิศทางของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้น ยังคงเป็นความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ หลังจากที่สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2562

ทั้งนี้ การชะลอการบังคับใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวอาจจะส่งผลให้บริษัทของสหรัฐที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเลื่อนการตัดสินใจย้ายฐานกลับสู่สหรัฐ เนื่องจากต้องการรอให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้ แนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา SET ยังคงไม่สามารถกลับขึ้นไปปิดเหนือบริเวณ 1,720 จุดได้ ประกอบกับการที่ SET ถอยตัวลงมาต่ำกว่าบริเวณค่าเฉลี่ย EMA25 วันของ SET ที่ 1,695 จุดอีกครั้ง ทำให้สัญญาณการพักตัวในระยะสั้นของ SET ยังคงมีอยู่ต่อไป และมีโอกาสค่อนข้างมากที่บริเวณ 1,650 จุดจะทำหน้าที่เป็นแนวรับถัดไป ซึ่ง “นายหมูบิน” มองว่าบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นแนวรับที่มีความปลอดภัยพอสมควร โดยมีปัจจัยในประเทศเป็นปัจจัยที่ช่วยจำกัด Downside Risk โดยเฉพาะความพยายามในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยที่ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐเอง

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาก่อหนี้ผูกพัน และเบิกจ่ายเงินโครงการตามมาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และสังคมในท้องถิ่น ในกรณีขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับอนุมัติแล้วแต่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ โดยให้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มี.ค.2561 ขณะที่ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ในช่วงเดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 ตุลาคม 2560 พบว่า มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้ 413,946 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.3% สูงกว่าเป้าหมายที่ 9.3% ค่อนข้างมาก

ในส่วนของการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ผ่านนโยบาย "ช็อปช่วยชาติ" เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2560 และเป็นปัจจัยหนุนผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคได้ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ประเมินว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายของร้านค้าภายในศูนย์การค้าของบริษัทได้ประมาณ 30%

กลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดเหนือกว่า 1,695 (+/-5) จุดได้ ยังคงแนะนำ “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” กลับมา “ถือเงินสด” หรือ “Wait and See” เพื่อรอซื้อกลับในหุ้น PTTGC, KBANK, SCB, STEC, CK, SCC, LH, SIRI, INTUCH และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น. ทาง FM 101 เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

62 views
bottom of page