top of page
379208.jpg

10 นิคมฯ ‘คลัสเตอร์’ หมื่นไร่...WHA ผงาด! รับเต็ม EEC


WHA Group รับส้มหล่นเต็มๆ จากโครงการ EEC มี 10 นิคมอุตสาหกรรมในชลบุรี-ระยอง พื้นที่ 46,000 ไร่ เหลือกว่า 1 หมื่นไร่พร้อมขาย ทั้ง 10 นิคมฯยังเชื่อมโยงเป็น “คลัสเตอร์” ให้นักลงทุนเลือกได้ว่าจะทำคลัสเตอร์แบบไหน สามารถรองรับได้หมดทุกอุตสาหกรรม เผยทุกวันนี้หัวกะไดนิคมฯของ “WHA Group” ไม่แห้ง มีนักลงทุนทั้งโลกยกทีมมาเยี่ยม ชื่นชอบเมืองไทย เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานดีที่สุด

นางจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน WHA Group มีกลุ่มธุรกิจทั้งหมด 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิตอลแพลทฟอร์ม ด้านนิคมอุตสาหกรรมดำเนินงานโดยบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) โดยมีที่ดินทั้งหมด 46,000 ไร่ ถือว่ามีมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้บริษัทกำลังมีการพัฒนาใน 9 นิคมอุตสาหกรรมขึ้นเป็น 12 นิคมอุตสาหกรรม ซึ่ง 10 แห่งจะอยู่ที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor : EEC ทางชลบุรีและระยอง นับว่าบริษัทเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดของนิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่แถบ EEC นี้

ขณะที่จุดเด่นนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทที่นักลงทุนจะซื้อที่ดิน คือ 1. ที่ดินของบริษัทที่อยู่ใน 2 จังหวัด 10 แห่ง ถือว่าตอบโจทย์นักลงทุนเพราะอยู่ในเส้นทางหลักของถนนธุรกิจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นนักลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนตรงพื้นที่ไหน 2. การจัดเรคคอร์ดของบริษัทที่จะลงทุน หากจะไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งนักลงทุนอาจจะไม่มีชื่อเสียงมาก่อนจะทำให้เกิดความมั่นใจได้อย่างไร เพราะเหมือนจับคู่แต่งงานซึ่งต้องฝากชีวิตไว้กับบริษัท เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานหรือเรื่องการผลิตเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะในส่วนของบริษัทเป็นเบอร์ 1 มาตลอดกว่า 30 ปี 3. โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพราะนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทมีการแบ่งคลัสเตอร์ให้อยู่แล้ว อย่างคลัสเตอร์ยานยนต์หรือคลัสเตอร์ปิโตรเคมีก็มีให้ แต่ละคลัสเตอร์ต่างๆ หากอยู่รวมกันหมดอาจจะมีประเด็นเรื่องการผลิต ในรอบนี้บริษัทมีที่ดินใกล้กับอู่ตะเภาจะเปิดเป็นคลัสเตอร์การบินและหุ่นยนต์ และคลัสเตอร์ยานยนต์แห่งอนาคต ด้วยนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 10 แห่งนี้จะเชื่อมโยงด้วยกันหมดให้เป็นคลัสเตอร์ทั้งหมด หมายความว่านักลงทุนหากจะมาลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะทำคลัสเตอร์แบบไหนสามารถเลือกได้เลยว่าจะลงในนิคมอุตสาหกรรมที่ใดเพราะนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทรองรับได้ทุกประเภท

“เราซื้อบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) มาปีกว่าแล้ว พอเราซื้อมาแล้วก็ปรับเป็น 4กลุ่มธุรกิจทันที เพื่อให้เป็นไปตามฟังก์ชั่นของบริษัทอย่างรวดเร็ว นับว่าประสบความสำเร็จมาก ขยายธุรกิจไปได้เยอะมากทั้งแนวราบและแนวดิ่ง พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทมีทั้งหมด 46,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรีและระยอง โดยบริษัทขายไปแล้ว 36,000 ไร่ เหลืออยู่กว่า 10,000 ไร่ที่พร้อมจะขาย” นางจรีพรกล่าวและเปิดแผนการรองรับ EEC ว่า ปีที่ผ่านมา WHA Group มีการประกาศแผนการดำเนินงานออกมา แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ใส่แผนการรองรับ EEC แต่ในแผนการดำเนินงาน 20 ปีของบริษัทได้มีการกำหนดเป้าหมายของนิคมอุตสาหกรรม WHA Group ว่าจะมีการพัฒนาให้มีความโดดเด่นโดยมองว่าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อ ประกอบกับมีเรื่อง EEC เข้ามาทำให้มีการปรับแผนใส่เรื่อง EEC เข้าไปและรวมไปถึง One Belt One Road ของจีนด้วย ภาพลักษณ์ของ EEC จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนไป ส่งผลทำให้บริษัทได้มีการดำเนินการเรื่อง EEC มาตลอด

“อีกทั้งเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงเรื่อง EEC ที่ต้องทำให้เกิดให้ได้ ถ้า EEC ไม่เกิดประเทศไทยจะแข่งขันลำบาก หาก EEC เกิดขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จภายใน 5 ปีนี้เชื่อว่าประเทศไทยจะกลับขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของภูมิภาคนี้อีกครั้ง นอกจากนี้บริษัทเห็นการทำงานและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลมาโดยตลอดจะเห็นได้ว่าท่านรองนายกรัฐมนตรีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ขับเคลื่อนและเดินสายพูดมาตลอด รวมถึงนายกรัฐมนตรียังได้ซัพพอร์ตเรื่อง EEC มาตลอดเช่นกัน รวมถึงทีมทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนตัวมองว่าจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากเกษตรกรรมมาเป็นภาคการผลิตขึ้นมาได้ก็เริ่มจากอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยกลับนิ่งมาก ไม่มีการลงทุนเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานใหม่ แต่ถ้าหากได้ฟังรองนายกรัฐมนตรีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ยังพูดถึงเรื่อง EEC ว่าในรอบนี้ยังไม่ใช่การผลักดันในประเทศเท่านั้น แต่ EEC จะเป็นศูนย์ของภูมิภาคนี้ เพราะฉะนั้นการวางแผนทุกอย่างจึงเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านเพื่อเติบโตไปด้วยกัน

ส่วนราคาที่ดินมีการปรับขึ้นทุกปีนั้น นางจรีพรกล่าวว่า ถ้า EEC เกิดขึ้นมาราคาที่ดินในนิคมอุตสากรรมคงมีการปรับเพิ่มขึ้น ตอนนี้ที่ดินนอกนิคมอุตสาหกรรมมีการปรับขึ้นหมดแล้ว แต่ในส่วนของบริษัทไม่อยากให้มีการปรับขึ้น เพราะถ้ามีการปรับขึ้นมากเกินไปก็จะกระทบต่อการลงทุน เวลานักลงทุนลงทุนจะเลือกหลายปัจจัยประกอบกัน อย่างดูราคาที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน หรือ คน ถ้าหากราคาสูงก็จะเป็นอุปสรรคในการลงทุน แต่เรื่องของราคานับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเท่านั้น “ส่วนเรื่องที่ภาครัฐเสนอให้นักลงทุนต่างชาติทำสัญญาเช่าซื้อพื้นที่ 99 ปีนั้น นักลงทุนต่างชาติต้องดูรายละเอียดให้ดีเพราะสัญญาเช่าซื้อที่ดินของประเทศไทยมีความได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้านเพราะเป็น Free Hold โดยนักลงทุนต่างชาติที่ได้สิทธิ์การลงทุนจาก BOI จะสามารถได้สิทธิ์ Free Hold ไม่ต้องเช่าซื้อถึง 99 ปี แต่ของประเทศเพื่อนบ้านได้ระยะเวลาเช่าซื้อเพียง 40-50 ปีเท่านั้น แต่ในประเทศไทยบางคนไม่เข้าใจและยังได้นำเรื่องนี้ไปพูดโจมตีรัฐบาล เพราะบริษัทได้ขายที่ดินให้นักลงทุนต่างชาติเป็นประจำ แต่นักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนจะต้องประกอบธุรกิจตามที่ได้รับสิทธิ์จาก BOI หากไม่ได้ทำธุรกิจแล้วก็ต้องขายที่ดินคืนให้คนไทยอยู่ดี”

การผลักดันโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC นั้น นางจรีพรเปิดเผยว่า ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2560 นี้ นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทรองรับนักลงทุนต่างชาติทุกอาทิตย์ มาแต่ละครั้งไม่ได้มาแบบบุคคลแต่มากันเป็นกลุ่มทั่วโลกทั้งฝั่งยุโรป, สหรัฐอเมริกา หรือเอเชียอย่างญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ทุกคนให้ความสนใจเรื่อง EEC มาก การเข้ามารอบนี้ของนักลงทุนต่างชาติทุกคนมีความสุข เพราะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยดีที่สุด อย่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรอบใหม่ 1.5 ล้านล้านบาท และเรื่องการทำภาษีเพื่อให้เป็น Best of ASEAN โดยเป็นภาษีสำหรับนักลงทุนเทคโนโลยีอนาคต นับว่าเป็นเรื่องที่เห็นด้วยเพราะประเทศไทยต้องผ่านจุดนี้ให้ได้ เพราะถ้ามองภาพว่าจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยแรงงานราคาถูกถือว่าผ่านจุดนี้มานานแล้ว ประเทศไทยพัฒนามามากน่าจะมองถึงเรื่องเทคโนโลยี

“รวมไปถึงรัฐบาลให้สิทธิ์เรื่องคลัสเตอร์ นวัตกรรมเรื่องการบิน ดิจิตอล อาหารและยา นับว่าเป็นเรื่องของอนาคต ถ้าหากประเทศไทยทำจุดนี้ได้ก็จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการลงทุนที่มีเรื่องเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง อย่างกรณีที่รัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เดินทางมาประเทศไทยเมื่อเดือนที่ผ่านมาโดยได้พานักลงทุนญี่ปุ่นมากว่า 500 คน และมีความคิดเห็นตรงกันว่า EEC รอบนี้ในส่วนของภาษีคลัสเตอร์คนญี่ปุ่นเห็นด้วย ทำให้รัฐมนตรีญี่ปุ่นจะพานักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนเพิ่มในเรื่องเทคโนโลยี” นางจรีพรกล่าวและว่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทเหมาะที่จะทำคลัสเตอร์ได้ทุกกลุ่ม เพราะนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทที่มีการพัฒนาไปแล้วไม่ใช่ว่าขายที่หมดแล้ว แต่ละนิคมอุตสาหกรรมที่มีการเปิดตัวอาจจะมี 3,000 – 10,000 ไร่ ก็จะมีการพัฒนาและทยอยขายออกไป และ 10 นิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ต้องพัฒนารองรับคลัสเตอร์ของนักลงทุนเพราะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่นิคมอุตสหกรรมที่บริษัทจะเปิดใหม่ตรงอู่ตะเภาจะทำเกี่ยวกับคลัสเตอร์การบินและหุ่น คลัสเตอร์ยานยนต์แห่งอนาคต

“ทุกคนมองภาพว่ารัฐบาลทำเพื่อเอกชนถือว่าไม่จริง เพราะมีการช่วยเหลือให้กับ SME เนื่องจาก SME เป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศเติบโตด้วยเช่นกัน หากมองภาพตั้งแต่ Start UP จะทำอย่างไรให้เป็น SME แล้วทำอย่างไรให้เป็น Corporate ซึ่งเป็นภาพระยะยาวที่ต้องทำแบบนี้ขึ้นมา หากมองย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วจังหวัดระยองมีแต่สวนทุเรียน แต่หากมองในปัจจุบันคนระยองมีฐานะดีขึ้น ถ้าดูจากรายได้ต่อหัวของคนจังหวัดระยองมีจำนวนสูงที่สุดของประเทศ ทำให้คนยังเข้าใจผิดกันว่า EEC ไม่ได้เน้นรายย่อย เพียงแต่ว่า SME หรือ Start UP ขอให้มีการปรับตัวเพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามเทคโนโลยี และต้องติดตามข่าวสารเรื่องของเทคโนโลยีเพราะถ้าไม่มีการปรับตัวตามก็จะตกเทรนด์อย่างแน่นอน จึงต้องมีการเตรียมตัวเรื่องคนหรือเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพราะรอบนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่มาก คาดการณ์ปี 2025 มีจุดสำคัญคือเรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น E-commerce หรือ AI ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลง”

นางจรีพรเสนอแนะคนในพื้นที่หรือคนต่างพื้นที่ที่จะเข้ามาทำงานใน EEC จะต้องพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพราะเรื่องคนสำคัญที่สุดในตอนนี้ หากดูเรื่องคลัสเตอร์ที่จะเข้ามาไม่ใช่เรื่องของแรงงานแบบสมัยก่อนแต่เน้นคนที่มีความรู้ เพราะฉะนั้นคนต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา สมมุติว่าโรงงานเปลี่ยนแผนการผลิตมาใช้หุ่นยนต์ + AI+IOT เข้าไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือการแข่งขันได้ จากคนงานที่เคยนั่งขันน็อตอาจจะไม่ต้องการ แต่จะไปเน้นเรื่องคนงานที่จะมาควบคุมหุ่นยนต์แทน ซึ่งด้านการศึกษาต้องเตรียมความพร้อมเรื่องคนที่จะพัฒนาเพื่อป้อนให้แก่อุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันโลจิสติกส์ต้องมีการปรับตัวอย่างรุนแรงเช่นกัน อย่างเรื่อง E-commerce มาแล้วเพราะสมัยก่อนการทำธุรกิจต่างๆอาศัยหน้าร้านในการโชว์สินค้า แต่ปัจจุบันไม่ต้องมีหน้าร้านแล้วเพราะมีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ แต่การสั่งซื้อออนไลน์ไม่สามารถรับสินค้าทางออนไลน์ได้ทันที เพราะฉะนั้นโลจิสติกส์จึงสำคัญมากสำหรับธุรกิจ E-commerce ที่มีความสำคัญถึง 95% ทำให้ E-commerce ที่เป็นบริษัทใหญ่ทั่วโลกยังให้ความสนใจเรื่องโลจิสติกส์ ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ก็ต้องปรับตัวตามเช่นกัน

ส่วนปัญหาของภาคตะวันออกคือเรื่องน้ำและไฟฟ้ามีให้ใช้เพียงพอหรือไม่นั้น นางจรีพรเปิดเผยว่า เรื่องน้ำในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทไม่เคยขาดแคลนเรื่องน้ำ เพราะน้ำเป็นหัวใจของการพัฒนาอุตสาหกรรม การจะทำนิคมอุตสาหกรรมจุดแรกคือต้องมีแหล่งน้ำที่สะอาด ถ้าไม่มีแหล่งน้ำแล้วจะทำอุตสาหกรรมได้อย่างไร แหล่งน้ำที่เข้ามาก็จะมาจากหลายภาคส่วน ได้แก่ 1. มาจากภาครัฐโดยในตัวสัญญามีการระบุชัดเจนว่าให้มีการจ่ายน้ำอย่างเพียงพอ 2. บริษัทมีน้ำในนิคมอุตสาหกรรม เพราะหากเกิดการขาดน้ำขึ้นมาจริงก็ยังสามารถส่งให้ลูกค้าบริษัทได้ 3. การพัฒนาระบบรีไซเคิล แต่ละปีบริษัทมีการบำบัดน้ำเสียมากถึง 30-40 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่บริษัทขายน้ำดีประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้ทางบริษัทกำลังทำการนำน้ำเสียมารีไซเคิลและได้ทำไปแล้วในบางส่วน

“น้ำที่ได้ออกมาจะดีกว่าน้ำประปาและได้ทำการจ่ายน้ำให้ลูกค้าไปแล้วในบางส่วน โดยคนที่พูดกันมากมายว่าเมื่อ EEC เกิดขึ้นมาจะมีการขาดน้ำหรือไม่ซึ่งทางกรมทรัพยากรได้มีการเตรียมแหล่งน้ำเพื่อรองรับไว้แล้ว แม้ว่าจังหวัดระยองมีพื้นที่ติดกับทะเล แต่ก็มีโครงการที่จะนำน้ำทะเลมาทำน้ำดีได้แต่ต้นทุนตอนนี้ยังสูงอยู่ ซึ่งถ้าต้นทุนถูกลงก็สามารถนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืดได้ทันที” นางจรีพรกล่าวและพูดถึงเรื่องไฟฟ้าตอนนี้ยังมีพลังงานเกินอยู่ บริษัทยังไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่ไฟฟ้าขาดแคลนแล้วรัฐบาลเปิดให้มีการประมูลซึ่งทุกคนจะวิ่งเข้าหาทันทีทุกครั้ง ทำให้บริษัทชอบมากเวลาที่มีข่าวไฟฟ้าขาดแคลนแล้วมีคนเข้าไปประมูล จะเห็นได้ว่า IEC หรือ SPP ภายใน 4-5 ปีนี้จะยังไม่เกิดขึ้นมา เพราะรัฐบาลมองว่าไฟฟ้ายังมีพอเพียง อีกทั้งยังมีพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณกว่า 10 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็นของบริษัท 2 ล้านตารางเมตร และของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 9 ล้านตารางเมตร โดยพลังงานแสงอาทิตย์สามารถเปลี่ยนเป็นเมกะวัตต์ได้ถึง 100 เมกะวัตต์ เมื่อไฟฟ้ามีปัญหาขึ้นมาก็สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ต่อได้ทันที โดยเรื่องของพลังงานยังไม่มีความกังวล บางคนชอบเสพข่าวที่ไม่ดี หากเสพข่าวที่ดีก็จะมีความสุข ภาพของประเทศไทยมีดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากมาย

“การห่วงเรื่องสภาพแวดล้อมคิดว่าเป็นเรื่องของอดีต เพราะ 30 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยในการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม ตอนนั้นกฎระเบียบยังไม่มีอะไร แต่ตอนนี้ลองมาดูมีทั้ง EIA ESI หรือ AI อีกทั้งยังต้องทำประชาพิจารณ์ต่างๆ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะยังเป็นการยกระดับประเทศอีกด้วย การรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องรับผิดชอบ และนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทยังได้รับรางวัลต่างๆในเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ทำเพียงในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้นแต่ยังทำเพื่อชุมชนรอบด้าน อย่างเรื่องน้ำท่วมอาจไม่ได้เกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมเพราะไม่ได้ทำให้น้ำท่วมแต่ก็ต้องเข้าไปดู นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องดูแลสังคมต้องตอบแทนสู่สังคม”

232 views
bottom of page